กต.ประสานปาเลสไตน์ขอปล่อยตัวประกันไทย – สำนักข่าวไทย อสมท
รัฐสภา 12 ต.ค. – รมช.กต. ตอบกระทู้ยันรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล พร้อมประสานปาเลสไตน์ขอปล่อยตัวประกัน ขณะที่อิสราเอลพร้อมรับแรงงานกลับไปทำงานใหม่
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (12 ต.ค.) นายวัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย บาดเจ็บ และผู้สูญหาย รวมถึงผู้ที่รอการช่วยเหลือซึ่งเป็นแรงงานไทยในอิสราเอล และได้รับการร้องเรียนช่วยเหลือจากกลุ่มแรงงานตั้งแต่วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาลด้วยน้ำตาคลอ เสียงสะอื้น อภิปรายบรรยากาศการเข้าไปพบญาติของกลุ่มแรงงานไทยที่จังหวัดอุดรธานี พร้อมถามถึงข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน เกี่ยวกับเหตุการณ์สงครามและการรับมือ หากเหตุการณ์ขยายวงกว้าง
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ว่า ในนามรัฐบาลไทยขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ พร้อมเป็นกำลังใจกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มฮามาสยังโจมตีต่อเนื่อง ยิงจรวดลงพื้นที่อิสราเอล ส่งผลกระทบต่อสถานที่ทั้งสนามบินและไฟฟ้า ขณะที่กองทัพอิสราเอลสามารถกำจัดกลุ่มฮามาสได้บางส่วน
“ผลกระทบต่อคนไทยในเขตฉนวนกาซาประมาณ 5,000 คน จาก 30,000 คน ที่เป็นแรงงาน ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิต 21 คน ขณะนี้ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบทางการอิสราเอลยังไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ โดยจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ส่วนผู้บาดเจ็บ 14 คน สถานทูตได้เข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาล และจัดส่งผู้บาดเจ็บเล็กน้อยกลับบ้าน โดยเที่ยวบินพาณิชย์เดินทางมาเมื่อวานนี้ (11ต.ค.)” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐบาลได้ช่วยเหลือโดยตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน เป็นกลไกหลักในการพิจารณาการช่วยเหลือคนไทยเร่งด่วนไปจนถึงการอพยพ และการเสนอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ ซึ่งศูนย์ประสานงานทำงานแข่งกับเวลาทุกวินาทีด้วยเข้าใจพี่น้องประชาชน กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมทุกวัน การช่วยเหลือแบ่งออกเป็นผู้เสียชีวิต-ผู้รับบาดเจ็บ-ตัวประกัน และเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีหารือกับผู้นำมาเลเซีย โดยหยิบยกประเด็นการช่วยเหลือคนไทยจากเหตุการณ์รุนแรงในอิสราเอลที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งมาเลเซียมีสำนักงานตั้งอยู่ในปาเลสไตน์ จึงขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลทำทุกวิถีทางเพื่อดูแลชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
“รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสื่อสารไปยังปาเลสไตน์ โดยเฉพาะกลุ่มฮามาสที่จับตัวประกันกลุ่มคนไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ เพื่อให้ปล่อยตัวคนไทยทั้ง 16 คน เนื่องจากในปาเลสไตน์ไม่มีสถานทูตไทยประจำอยู่ จึงประสานผ่านสถานทูตต่างประทเศที่มีความสัมพันธ์ปาเลสไตน์ ประสานให้มีการปล่อยตัวคนไทยในโอกาสแรก รวมถึงการประสานงานองค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยบรรเทาทุกข์และปฏิบัติงานเพื่อผู้ลี้ภัยชาวตะวันออก หรือ EUNRWA สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ UNOCHA และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ICRC” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
นายวัชระพล ถามต่อว่ารัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศมีมาตรการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบอย่างไรหรือมีศูนย์อพยพที่ไหนบ้าง ซึ่งนายจักรพงษ์ ตอบกระทู้ว่า ประชาชนสามารถติดต่อสถานทูตและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์ 0 2572 8442 และเบอร์ 06 4019 8530 กรมคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ส่วนกระทรวงแรงงานเปิดสายด่วนฉุกเฉิน 1964 และเปิดช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากติดต่อเข้ามา ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะประสานงานไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือแรงงานที่อิสราเอล ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินในอิสราเอลขณะนี้ สถานทูตไม่สามารถทำงานได้ปกติ เพราะยังมีระเบิดตลอดเวลา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า แนวทางการเยียวยาคนไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานได้ทำงานในต่างประเทศ โดยคนที่จะเดินทางกลับ เนื่องจากภาวะสงครามจะได้รับเงินสงเคราะห์ 15,000 บาท กรณีพิการ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 30,000 บาท เสียชีวิต 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายการจัดงานศพไปต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพกลับไทยให้ไปทำงานได้ใหม่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงการต่างประเทศพร้อมสนับสนุนการหารือทางอิสราเอล ที่จะส่งรายงานกลับไปอีกครั้งหลังสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ สำหรับการอพยพขณะนี้มีรอบแรกในเช้าวันนี้ และวันที่ 15 ตุลาคม จะมีเครื่องบินของกองทัพอากาศไปรับผู้อพยพอีก 120 คน ในช่วงเช้า และอีก 100 คน ช่วงเย็น จากนั้นวันที่ 18 ตุลาคม จะมีอีกครั้งหนึ่ง โดยทางรัฐบาลยังพยามหาช่องทางอื่นๆ ที่จะพูดออกมาโดยเร็วที่สุด
“เมื่อคืนนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเทศแต่ว่าต้องเพิ่มเที่ยวบินให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะไปรับคนไทยออกมา อาจใช้หลายวิธี ทั้งทางบก อากาศ ทางน้ำ ตอนนี้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม การเดินทางทางน้ำและทางบกเป็นไปได้ยาก แม้กระทั่งทางอากาศตอนนี้ในบางช่วงเวลาในการปิดน่านฟ้าแล้วด้วย” นายจักรพงษ์ กล่าว
นายวัชระพล ถามต่อว่า รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร เช่น ครอบครัว นายจักรพงษ์ ชี้แจงว่า การเยียวยาทางจิตใจทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพบครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับการเยียวยาที่เป็นจำนวนเงินจะได้รับเงินสงเคราะห์ตามที่ได้แจ้งไป
ด้านนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้สอบถามถึงโอกาสในการเข้าไปขนคนไทยกลับประเทศ รวมทั้งอยากให้วอร์รูมของรัฐบาลรวมเพียงจุดเดียว เพื่อง่ายต่อการประสาน ซึ่งนายจักรพงษ์ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งศูนย์ที่มีกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกัน รับเรื่องร้องเรียน 24 ชั่วโมง รัฐบาลเป็นห่วงคนไทยทุกคน แต่มีข้อจำกัดเรื่องการลำเลียงแรงงาน แม้จะพยายามเจรจาเรื่องการเดินทางทางบก ทางน้ำ แต่ก็มีการปิดพรมแดนเป็นระยะ การขนย้ายคนออกต้องขออนุญาตกับทางการอิสราเอล
“การที่แรงงานกระจายกันอยู่ประกอบกับบางคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการไปอยู่ที่ปลอดภัย ไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ที่ไหน สถานทูตใช้ทุกวิถีทางในการช่วยเหลือ โดยระดมเจ้าหน้าที่จากประเทศรอบๆ เข้าไปช่วย รวมถึงตั้งศูนย์อพยพช่วยคนไทยในอิสราเอล ส่วนเรื่องหนี้สินของแรงงานที่กู้ยืมเพื่อนำเงินมาใช้ในการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลนั้น กำลังพิจารณาช่วยเหลือ และทางกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลระบุว่าพร้อมที่จะพิจารณากรณีแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการสู้รบครั้งนี้เข้าไปทำงานได้อีก” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว.-สำนักข่าวไทย