กัญชา กัญชง: เปิดอาณาจักรกัญชากลางผืนนากาญจนบุรี ในวันที่ “กัญชาเสรี” ไทย อาจปิดฉากสิ้นปี 2567
- Author, ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
- Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
-
“พอถือถุงช่อดอกกัญชาแบบนี้ ผมนี่เหมือนเอสโคบาร์นะครับ รูปนี้หลุดไปอเมริกา ผมโดนหมายหัวแล้วนะ”
ชายวัยกว่า 30 ปี นั่งในห้องมืดสลัว อากาศเย็นฉ่ำ หันไปทางไหนก็จะเห็นขวดโหลแก้ว ถุงพลาสติกใส ที่เต็มไปด้วยช่อดอกกัญชาหลากหลายขนาด ประเมินมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ที่ทำให้ แบงค์-สาธุพล ช่วงฉุน รู้สึกเหมือนตัวเองเป็น ปาโบล เอสโคบาร์ เจ้าพ่อยาเสพติดแห่งโคลอมเบีย หรือไม่ก็ตัวละครในซีรีส์ Narcos หรือ Breaking Bad
ทีมข่าวบีบีซีไทยนั่งคุยกับ สาธุพล ในบรรยากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นช่อดอกกัญชา ซึ่งเมื่อเปิดประตูออกจากห้องเก็บผลผลิตต้นกัญชา ก็พบกับผืนนาที่เพิ่งเก็บเกี่ยว กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
“ทุ่งนานี่แหละโอเอซิส (แห่งกัญชาไทย)” เจ้าของโรงปลูกกัญชา “พนมทวน ออร์แกนิค ฟาร์ม” พูดด้วยรอยยิ้มกว้าง ซึ่งเขายืนยันว่า ไม่ได้เพิ่งสูบกัญชามา
บีบีซีไทยสำรวจผืนนาและที่ดินทางการเกษตรทั่ว จ.กาญจนบุรี พบว่ามีฟาร์มกัญชา ตั้งอยู่อีกหลายแห่ง สอดคล้องกับข้อมูลจากระบบกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ขออนุญาตปลูกกัญชามากที่สุดของไทย รวมกว่า 563,390 ต้น (คิดเป็นพื้นที่เกือบ 550,000 ตารางเมตร )
ฟาร์มกัญชาขั้นสูงกลางผืนนาไทย สะท้อนพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมกัญชา ที่ขยายตัวอย่างมากในเวลาไม่ถึง 2 ปี หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมาย “ปลดล็อก” กัญชง กัญชา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ รวมถึงจัดจำหน่ายผลผลิตกัญชาที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษได้ จนทำให้ร้านจำหน่ายกัญชา-ดิสเพนซารี ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขร้านจำหน่ายกัญชาว่า ปัจจุบัน มีมากกว่า 20,000 ร้านทั่วไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2567 จะมีมูลค่าถึง 36,525 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 42,851 ล้านบาทในปี 2568
แต่มาวันนี้ อุตสาหกรรมกัญชากำลังสั่นสะเทือน ตั้งแต่ผู้ผลิตต้นน้ำ (ฟาร์มกัญชา) ผู้จัดจำหน่าย ไปจนถึงผู้ใช้กัญชา เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ…. ต่อคณะรัฐมนตรี โดยเนื้อหาเน้นหนักไปที่การห้ามใช้กัญชาเพื่อการ “สันทนาการ”
- ห้ามขายคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลตามที่กำหนด
- ห้ามขายเพื่อสันทนาการ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
- ห้ามบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการสันทนาการ หากฝ่าฝืนปรับเงินสูงสุด 60,000 บาท
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ เมื่อ 29 ก.พ. ประกาศไทม์ไลน์เป็นครั้งแรกว่า จะออกกฎหมายห้ามการจำหน่ายและใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ “ภายในสิ้นปี” 2567 และจะอนุญาตเฉพาะการใช้กัญชา “ทางการแพทย์”
“หากไม่มีกฎหมายควบคุม คนก็จะใช้กัญชาในทางที่ผิด” ชลน่าน กล่าว โดยอ้างถึงการใช้ในเชิง “สันทนาการ” ว่าเป็นการใช้ในทางที่ผิด
เขายังประกาศว่า ร้านจำหน่ายกัญชาที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมายจะถูกกวาดล้าง โดยร้านที่มีใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย จะดำเนินการต่อไปได้จนครบกำหนด หลังจากนั้น หากจะต่อใบอนุญาต จะต้องเปลี่ยนเป็น “คลินิกกัญชา” ภายใต้ข้อบังคับใหม่ พร้อมเสริมว่า กฎหมายสั่งห้ามกัญชาเพื่อสันทนาการ จะไม่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
หาก ครม.เห็นชอบ และส่งต่อให้รัฐสภาโหวตอนุมัติ นี่อาจจะกลายเป็นฝันร้ายของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกัญชาของไทยหรือไม่ บีบีซีไทยจะพาไปสำรวจ
กาญจนบุรี… อาณาจักรกัญชาไทย
“แกร๊ง” เสียงประตูเลื่อนเหล็กที่ติดแผ่นป้าย “สถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5” เปิดออก ภายในเรียงรายด้วยอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 คูณ 100 เมตร ที่ภายในเต็มไปด้วยต้นกัญชาอาคารละราว 1,000 ต้น
นี่คือฟาร์มกัญชาขนาด 350 ไร่ (พื้นที่ปลูกจริงไม่ถึง 350 ไร่) ซึ่งถูกห้อมล้อมไปด้วยภูเขา ใกล้แม่น้ำแควน้อยของอำเภอไทรโยค ของนิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทย
วิศารท์ พจน์ประสาท ประธานบริหารนิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทย เล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่พยายามผลักให้กัญชาขึ้นมา “อยู่บนดิน” โดยเริ่มจากการปลูกในพื้นที่ 43 ตร.ม. ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน จนเมื่อปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติด จึงขยายเป็นนิคมอุตสาหกรรมกัญชา ที่มีพลังการผลิตช่อดอกเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 ตัน จากการปลูกแบบอินดอร์ (ในร่ม) และเอาท์ดอร์ (กลางแจ้ง)
“ถ้าในเอเชีย เราคือเบอร์หนึ่ง” เขาประกาศ โดยผลผลิต 80% จัดจำหน่ายภายในประเทศ และ 20% เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีกฎหมายรองรับกัญชา
เหตุผลที่เขาเลือก จ.กาญจนบุรี เป็นแหล่งปลูกกัญชา เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และในอนาคต จะเข้าถึงท่าเรือน้ำลึกทวายได้ง่าย อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และยังเป็นต้นกำเนิดกัญชาไทยขึ้นชื่อหลายสายพันธุ์ จึงมีศักยภาพเป็น “ศูนย์กลางกัญชา” ของไทย
วิศารท์ พาบีบีซีไทยชมกระบวนการปลูกกัญชาที่เขามองว่าเป็น “ศิลปะ” เพราะต้องคุมคุณภาพ-ปริมาณแสง แตกต่างกันในแต่ละช่วงของการปลูก และการ “ทำช่อดอก” นอกจากนี้ ยังต้องให้ปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ หมั่นเล็มใบกัญชา และเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ทำให้ค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนของฟาร์มขนาดยักษ์แห่งนี้ พุ่งสูงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
แต่จากที่เขาคาดหวังว่ากัญชาจะเป็น “พืชเศรษฐกิจ” ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ชูเป็นนโยบายหาเสียง แต่มันกลับ “ไม่ได้สร้างความร่ำรวยมั่งคั่ง” กับนักลงทุนมากนัก เนื่องจาก “สุญญากาศ” ที่ผ่านมาถึงรัฐบาลยุคเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังอุดช่องโหว่ไม่ได้
“คู่แข่งเยอะขึ้น แต่ไม่มีมาตรฐาน ดอกกัญชาจากต่างประเทศนำเข้ามาผิดกฎหมาย ทั้งที่เรามีต้นทุน 45,000 บาทต่อกิโลฯ ปลูกแล้วขายไม่ได้ นั่นเปลี่ยนชีวิตเราเหมือนกัน” เขาเล่าถึงสถานการณ์ที่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชาไม่ว่ารายใหญ่-รายเล็ก ต่างเผชิญในช่วงเกือบ 2 ปีมานี้
แล้วพอราคาช่อดอกกัญชาเริ่มนิ่ง จนเริ่มคิดถึงการทำกำไรคืนทุน แต่ผู้ปลูกกัญชารวมถึง วิศารท์ ก็รู้สึกเหมือนถูก “เตะตัดขา” เพราะกลายเป็นว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันห้ามกัญชาเพื่อ “สันทนาการ” และตีตราให้กัญชาเป็น “ยาเสพติด” อีกครั้ง
“ผมเป็นต้นน้ำ ผมปรับเปลี่ยนตัวเองได้ จะไปในทางการแพทย์ก็ได้ สันทนาการผมก็ไปได้ ขอให้รัฐบาลชัดเจน” แต่ “ร้านจำหน่ายเป็นกังวลที่สุด เพราะเกรงว่าจะขายกัญชาไม่ได้… ทันทีที่รัฐบาลออกคำสั่งหรือนโยบายมา ดิสเพนซารี (ร้านขายกัญชา) ก็หนาวแล้ว”
แม้อุตสาหกรรมกัญชาในไทยจะมีมูลค่ามหาศาล และมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกปี แต่ประชาชนจำนวนมากมีความเห็นต่อต้านกัญชาที่มีเสรีมากเกินไป และไร้กฎหมายควบคุม
นิด้าโพล เผยผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในช่วงปลาย ม.ค. 2567 พบว่า ประชาชน 78.09% มองว่ามีการใช้กัญชาและกระท่อมในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาประชาชนอายุ 18-65 ปี ใน 20 จังหวัดของไทย ช่วงปี 2563-2565 พบว่า 41% มองว่าการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งยังพบว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชาเพิ่มขึ้น จาก 0.9% ในปี 2563 เป็น 9.7% ในปี 2565 กล่าวคือเพิ่มขึ้น 10 เท่าในระยะเวลาเพียง 3 ปี
และเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2567 ประเด็นเรื่องการใช้กัญชาถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักอีกครั้ง หลังมีนักแสดงคนหนึ่งโพสต์ว่า ไปรับชมคอนเสิร์ตของ Coldplay ในกรุงเทพฯ และได้กลิ่น “กัญชาลอยคลุ้งมาเป็นระลอก 4-5 ครั้ง” และพบเห็นการใช้กัญชาในพื้นที่คอนเสิร์ต จนตั้งคำถามว่า “กัญชามันเสรี จนใช้สันทนาการกันได้อย่างไม่ต้องเกรงใจชาวบ้านกันเลยหรือไง”
ถนนสายกัญชาที่เงียบเหงา
เมื่อตะวันคล้อยฟ้า ทีมข่าวเดินทางจาก อ.ไทรโยค กลับมายังตัวเมืองกาญจนบุรี เมื่อเข้าสู่ถนนแม่น้ำแคว ก็จะเห็นความพลุกพล่านของนักท่องเที่ยวต่างชาติ บีบีซีไทยพบร้านจำหน่าย-คาเฟ่กัญชา บนถนนเส้นนี้ ไม่ต่ำกว่า 5 ร้าน สาดแสงนีออนรูปกัญชาสีเขียว ให้อารมณ์คล้ายย่านบันเทิงของ กทม. ที่ทุกวันนี้ แทบทุกหัวมุมต้องเห็นร้านกัญชาสะดวกซื้อจนชินตา
แม้บาร์และสถานเริงรมณ์ยามค่ำคืนจะแน่นขนัดไปด้วยลูกค้า แต่ร้านจำหน่ายกัญชาค่อนข้างเงียบเหงา ทั้งที่ราคาช่อดอกกัญชาถูกลงไปมาก เหลือ 200-600 บาท เมื่อเทียบกับราคาเริ่มต้น 500-1,000 บาท เมื่อไม่ถึง 1 ปีก่อน
“ลูกค้าเราเป็นต่างชาติ 80%” แกรนิต เพ็ชรสะอาด เจ้าของร้าน Zamzara บอกบีบีซีไทย โดยอธิบายเหตุผลที่ราคากัญชาลดลง 40-50% ว่า มาจากการลักลอบนำเข้าช่อดอกกัญชาจากต่างประเทศ มาเปิดขายในราคาต่ำกว่าตลาด
แต่สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดตอนนี้ คือความไม่ชัดเจนเรื่องนิยามของคำว่า “สันทนาการ” ใน พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ…. ที่กำลังอยู่ในการพิจารณา เพราะนั่นอาจหมายความว่า เขาจะจำหน่ายช่อดอกไม่ได้อีกต่อไป
“เมืองนอกเขาก็รวมการสูบเป็นการแพทย์เหมือนกัน แต่บ้านเรา พอเห็นการสูบก็เหมารวมเป็นสันทนาการหมด” แกรนิต กล่าว พร้อมเสริมว่าเขาลงทุนไปกับร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ถึง 400,000 บาท ไม่นับรวมราคาช่อดอกที่ซื้อมาจัดจำหน่าย “อกหักเล็ก ๆ… พวกเราคุยกันเสมอ มันจะจริงไหม แล้วอาชีพเราจะไปต่อได้ไหม”
พัฒนพงศ์ ศิริคงคา ผู้ขายกัญชาอีกคนหนึ่งจากร้าน Lowland และเป็นผู้ใช้ด้วย บอกบีบีซีไทยว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องให้ถูกกฎหมายก็ได้ ให้มันใต้ดินเหมือนเดิมดีกว่า”
พัฒนพงศ์ มองว่า การที่รัฐบาลกลับไปกลับมา เปิดเสรีแล้วก็นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด กำลังทำร้ายนักลงทุน อีกทั้ง ท้ายสุดแม้กัญชาจะกลายเป็นยาเสพติดให้โทษอีกครั้ง แต่ก็เป็นแค่ใบเบิกทางให้ “ขายกันในตลาดมืด” ซึ่งเยาวชนก็ยังหาซื้อได้อยู่ดี
แล้วกัญชาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้แค่ไหน? จนถึงตอนนี้ ยังไม่ปรากฏตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากการ “ปลดล็อก” กัญชา แต่ เจมส์ เธอร์ลบี้ ประธานสมาคมสกาลสากลกรุงเทพฯ (SKAL) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับโลก ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่า กัญชาเป็นปัจจัยกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวไทยได้ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนที่บีบีซีไทยได้พูดคุยด้วย ยังค่อนข้างสับสนกับข้อบังคับการใช้กัญชาของไทย เพราะในเวลานี้ พวกเขาซื้อช่อดอกกัญชาหรือพันลำจากร้านได้ แต่ไม่สามารถจุดสูบในร้านหรือที่สาธารณะได้
“ถ้ามีกฎหมายก็จะดี จะได้ควบคุมได้ง่ายขึ้น และมีความชัดเจน” นักท่องเที่ยวชาติตะวันตกรายหนึ่ง ที่เพิ่งซื้อช่อดอกกัญชา กล่าว
สำหรับนักศึกษาชาวเนปาล โรชี ลามิชเฮน ที่มาท่องเที่ยวในไทยกับเพื่อน มองว่า กัญชาช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก
“เราไม่เคยลองมาก่อน ถ้ามันไม่ถูกกฎหมาย เราก็ไม่อยากจะลองหรอก” เธอกล่าว “แต่ตอนนี้ มันถูกกฎหมายในไทย เราก็วางใจ เหมือนว่า ‘โอเค มีที่ขายกัญชาในไทยนะ’ แต่ถ้ามันกลับไปผิดกฎหมาย คนอย่างฉันคงไม่ลอง”
กัญชา = ปีศาจ ?
สำหรับคน กทม. อย่าง สาธุพล นั้น การเป็นเจ้าของฟาร์มกัญชารายใหญ่ถือว่าห่างไกลจากพื้นเพที่ทำธุรกิจนำเข้าภาพยนตร์และการตลาด เขายอมรับว่าไม่เคยรู้จัก-สัมผัส กัญชา จนกระทั่งปี 2565 ก่อนกระโดดมาสู่วงการนี้ เพียงเพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจ
แต่ด้วยภาพลักษณ์กัญชาที่สังคมยังมองเป็นยาเสพติด เขาจึงตัดสินใจสร้างฟาร์มกัญชานอกแหล่งชุมชน โดยเลือกสร้างบนผืนนาใน อ.พนมทวน เพราะอยู่ใกล้ถนนเส้นหลัก
“อย่าเรียกว่าเปลี่ยนผืนนาเลย แค่บอกว่าจะปลูกกัญชาเขาก็ยี้แล้ว” สาธุพล ระบุ แต่เมื่อเขาประสานขอจ่ายไฟฟ้าแรงสูง ให้ถนนตัดผ่าน และสร้างร้านคาเฟ่ จึงเริ่มมีผู้คนเดินทางมาแถบนี้มากขึ้น อีกทั้งการจ้างงานคนในพื้นที่ให้มีรายได้เสริมนอกฤดูทำนา ยังทำให้ทัศนคติของผู้คนในพื้นที่เริ่มเปลี่ยนไป
“ผู้นำท้องถิ่นแถวนี้ก็มีความสุข เห็นการเติบโต เขาบอกผมเลยนะว่า ถ้าไม่มีสิ่งก่อสร้างแบบฟาร์มของเรา ไม่รู้อีก 30 ปีจะเจริญหรือเปล่า”
เฉลี่ยทุก ๆ 6 เดือน โรงปลูกกัญชา “พนมทวน ออร์แกนิค ฟาร์ม” ผลิตช่อดอกได้ 150 กิโลกรัม หากคิดราคาตลาดเฉลี่ย 40,000 – 60,000 บาทต่อกิโลกรัม หมายความว่า ทุก 6 เดือน ทางฟาร์มจะผลิตช่อดอกได้มูลค่า 6-9 ล้านบาท
แต่ข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขพยายามแบนการจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการ ก็ทำให้แม้แต่ฟาร์มกัญชาขนาดกลางแห่งนี้ เผชิญความไม่แน่นอน
“ไม่อยากใช้คำว่าเบื่อแล้ว ใช้คำว่า ตลก ติงต๊องอะ ไม่จบสักที” สาธุพล กล่าวถึงการปลดล็อกกัญชาที่ไม่มีกฎหมายควบคุม แล้วมาวันนี้ จะสั่งห้ามกัญชาเพื่อสันทนาการ
“คนขายคนปลูก ขอใบอนุญาตตั้งแต่วันแรกที่คุณมีกติกา ทุกคนทำตามกติกา… แต่กลับโทษคนที่ทำธุรกิจว่า เนี่ย กัญชาไม่ดี”
บีบีซีไทยถามว่า หากรัฐบาลออกกฎหมายห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาเพื่อสันทนาการ หรือนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้ง เขาจะทำอย่างไร
“ถ้ากัญชากลายเป็นยาเสพติด ผมคงเปลี่ยนไปปลูกสตรอว์เบอร์รี” เขาพูดติดตลก แต่ด้วยศักยภาพของฟาร์มเกษตรในร่มที่เขามี สามารถปลูกพืชได้หลายชนิด ไม่เพียงกัญชาเท่านั้น
สาธุพล หยุดพูดครู่หนึ่ง แล้วมองไปรอบห้องที่เต็มไปด้วยช่อดอกกัญชาเกรดพรีเมียม ซึ่งเป็นภาพที่ครั้งหนึ่งเขาไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในไทย ก่อนกล่าวต่อว่า “เราอยากให้กัญชาได้ไปต่อ มันไม่ได้เป็นปีศาจ ไม่ได้เป็นผีอย่างที่เราเข้าใจกัน”