ข่าวสารกรุงเทพฯ

ข่าวดี และ ข่าวร้าย ของคนไทย


*** สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ จะทยอยปรับตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) ในอัตรา 10% ภายใน 2 ปี เช่น คุณวุฒิระดับปริญญาตรี จากเดิม 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท ในปีที่ 1 และปรับเป็น 18,150 บาท ในปีที่ 2 , การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการ ก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี

                               ข่าวดี และ ข่าวร้าย ของคนไทย

*** สำหรับกลุ่มข้าราชการที่จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนนั้น ประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล (สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ (สตง. สนง.ป.ป.ช. สนง.กสม. และข้าราชการธุรการอัยการ)

*** ในส่วนของการปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ประกอบด้วย ปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวจากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท, ปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท, ปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาทครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ทหารกองประจำการ และ ผู้รับบำนาญ คาดว่าจะใช้งบประมาณ เพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี … ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ปริญญาตรี ต้องได้เงินเดือน 25,000 บาท มารอดูกันว่าในยุค “รัฐบาลเพื่อไทย” จะทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

*** จาก “ข่าวดี” ไปดู “ข่าวร้าย” เป็นข่าวร้ายเรื่อง “ค่าไฟแพง” ที่จะกลับมาแล้วหลังปีใหม่ 2567 เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 53/2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และมีมติเห็นชอบให้ “ปรับค่าเอฟที” ขายปลีกสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

การพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ดังกล่าวนี้ กกพ.คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น …หมดโปรช่วยเหลือ “ค่าไฟแพง” คนไทยก็หันมาเดือดร้อนกับไฟแพงกันต่อไป…

                    
 



Source link