ค้นรากวาทกรรม “สหรัฐฯ แทรกแซงไทย” จากยุค 14 ตุลาฯ สู่หลังเลือกตั้ง 66
การไปยื่นหนังสือของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกายุติการแทรกแซงการเมืองไทยทั้งในเรื่องการเลือกตั้งและการสนับสนุนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดคำถามว่า สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยจริงหรือไม่
นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. ได้เรียกร้องให้สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยุติการแทรกแซงกิจการในไทย ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้ง หลังจากทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ออกมาแสดงความยินดีกับผลการเลือกตั้งและระบุว่าขอให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว
“พวกเราไม่ได้ขัดข้องกับผู้ที่มีเสียงข้างมาก และการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 เด็ดขาด” นายอานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่ม ศปปส. ระบุ
ด้านนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ชี้แจงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของสถานทูตฯ ย้ำว่า “สหรัฐฯ เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย รวมทั้งการที่ประชาชนไทยยกย่องเทิดทูนพระบรมวงศานุวงศ์อย่างสูง” และ “สหรัฐฯ ไม่ได้หวังให้ผลการเลือกตั้งเป็นแบบหนึ่งแบบใด และไม่ได้สนับสนุนพรรคหรือผู้สมัครใด”
ทูตสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ “ตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยของไทย ประชาชนชาวไทยเท่านั้นควรเป็นผู้เลือกว่าใครจะเป็นผู้บริหารประเทศ”
สถานทูตสหรัฐฯ ยังชี้แจงต่อสื่อมวลชนในประเด็นอื่นที่ถูกกล่าวหาด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย และไม่ได้พยายามควบคุมสื่อไทย พร้อมยืนยันการสนับสนุนเสรีภาพสื่อในทั่วโลก และชี้ว่าสื่อที่เป็นอิสระถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ไม่เพียงแต่กลุ่ม ศปปส. แต่ในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ยังมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการแทรกแซงของต่างชาติของบุคคลใน “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และการให้สัมภาษณ์ของคนมีชื่อเสียง หลังผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสียงข้างมากเป็นอันดับหนึ่ง และกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล
“เราก็ไม่ต้องการไปเป็นทาสของอเมริกา เราไม่ต้องการเป็นทาสของประเทศอะไร” คือคำให้สัมภาษณ์ของ จารุณี สุขสวัสดิ์ นักแสดงหญิงที่เดินทางไปให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระแสวาทกรรม “อเมริกาหยุดแทรกแซงไทย” ที่ปรากฏขึ้นในช่วงกำลังจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
“วาทกรรมต่างชาติแทรกแซงไทย” เกิดขึ้นมาได้ยังไง หากปักหมุดเวลาไปที่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 นับได้ว่าวาทกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการต่อต้านการรัฐประหารของกลุ่มนักศึกษาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “ประชาธิปไตยใหม่” หรือกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง”
ปี 2557 ปรากฏการเผยแพร่ข้อมูลจาก “ฝ่ายอนุรักษนิยม” อย่าง นายสมชาย แสวงการ ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่าเป็นภาพการพบปะหารือของผู้นำนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ
ปี 2563 ช่วงการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” มีการเกิดขึ้นของกลุ่ม “ไทยภักดี” ที่กล่าวหาว่า “ต่างชาติ” อยู่เบื้องหลังกระแสการชุมนุมและมีการไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐฯ ในไทย
สหรัฐฯ แทรกแซงไทยจริงไหม แล้วประเทศอื่นมีหรือไม่
ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สหรัฐฯ มีนโยบายในการ “แทรกแซง” ทุกประเทศในโลกอยู่แล้ว ในบทบาทของการส่งเสริมประชาธิปไตย แต่เป็นไปในแง่ของการติดตามว่านโยบายของประเทศนั้น ๆ จะส่งผลทางบวกหรือทางลบอย่างไรในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ “การแทรกแซง” ในที่นี้ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยในทางใด
“สหรัฐฯ ต้องการจะดูว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ มันจะมีผลในทางบวกทางลบต่ออเมริกาอย่างไร เป็นจุดหลัก ๆ ที่อเมริกาอยากทราบ” ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว พร้อมอธิบายด้วยว่าในทางการทูต การแทรกแซงมีทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย
แต่ในขณะเดียวกันมีประเทศอื่นหรือไม่ที่ทำเช่นนี้ อย่างจีนที่ถูกมองว่ามีอิทธิพลต่อประเทศไทย นักวิชาการด้านการต่างประเทศจาก มธ. ระบุว่า จีนก็มีเช่นกัน แต่วิธีการแทรกแซงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากสหรัฐฯ เพราะความเป็นพี่เป็นน้องกับไทย ซึ่งสถานะของไทยตอนนี้ จีนเองก็มองว่าไทย “ไม่ได้โปรอเมริกา” ดังนั้นหากไทยดำเนินนโยบายแบบ “คบทั้งจีน ทั้งอเมริกา” จะปลอดภัยกับประเทศไทย แต่ถ้าเมื่อใดที่ไทยเลือกข้างชัดเจนจะสร้างปัญหาให้เกิดกับไทย
“เพราะจีนอยู่ใกล้ไทย เพราะฉะนั้น อิทธิพลของเขาสูงมาก ถ้ามีปัญหากับเขาจะมีผลต่อการค้ากับประเทศเราอย่างชัดเจน”
วาทกรรม “ไทยจะตกเป็นของจักวรรดินิยมอเมริกา” มาจากไหน
แล้วข้อกล่าวหาที่มีต่อสหรัฐฯ ของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ระบุว่า ไทยจะตกเป็นของ “จักวรรดินิยมอเมริกา” และสหรัฐฯ หนุนหลังกระแส “ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย” ในไทย มีที่มาอย่างไร
ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอเมริกาบอกว่า ไม่อาจรู้ได้ แต่เห็นว่าพฤติการณ์เช่นนี้น่าจะใช้อธิบายความเป็นไปในช่วงที่ประเทศไทยปราบปรามคอมมิวนิสต์เมื่อ 50-60 ปีที่แล้วมากกว่า นั่นคือในสมัยรัฐบาลทหารหลังปี 2506 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
“สมัยที่ฐานทัพสัตหีบ อเมริกาส่งทหารจากฐานทัพในไทยไปรบในเวียดนาม ตอนนั้นชัดเจนเลยว่าเรายืนอยู่ข้างอเมริกาแน่นอน แต่ตอนนี้ผมคิดว่านโยบายอย่างนั้น คงใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่า อเมริกาเองก็ไม่ได้จะจริงจังกับเรามากขนาดนั้น ไม่มีประโยชน์ต่อเขา” ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว พร้อมยืนยันว่า “ประเทศไทยไม่ได้มีประโยชน์ต่ออเมริกาเหมือนเมื่อสมัยทศวรรษ 1960-70 นี่คือการเมืองของโลก ที่มันเปลี่ยนแปลงไป”
สหรัฐฯ กับสถาบันกษัตริย์ของไทย
บางส่วนของการออกมาเผยแพร่วาทกรรมสหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองไทย ยังปรากฏกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ด้วย
การออกมาของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเลิกแทรกแซงประเทศไทย พร้อมแสดงความไม่พอใจที่ ส.ส. สหรัฐฯ เสนอร่างมติที่มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยให้แก้กฎหมายมาตรา 11 2 และเรื่องให้ปล่อยนักโทษนักกิจกรรมทางการเมือง
เมื่อถามถึงการวิเคราะห์ประเด็นนี้ ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ มองว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในไทย และไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่สหรัฐฯ จะได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
“destabilize (สร้างความไร้เสถียรภาพ) แก่ประเทศไทย ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับอเมริกาเลย ถ้า destabilize ขึ้นมาจริง ๆ มันจะยิ่งเลวร้ายกับอเมริกาเสียอีก โอกาสที่จะ destabilize แล้วจะทำให้ไทยไปเข้ากับอเมริกามากขึ้น กลับไม่ใช่แบบนั้น อาจจะทำให้ไทย เป็นศัตรูกับอเมริกามากขึ้นด้วยซ้ำไป” ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ กล่าว พร้อมชี้ว่า ไทยมีความสัมพันธ์ในทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อย่างเช่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยพำนักที่นั่น
“ตรงกันข้าม ถ้าสามารถทำให้มันมี stability (ความมีเสถียรภาพ) ในประเทศไทย มันน่าจะเป็นประโยชน์กับเขามากขึ้น”
สงครามเย็น “ระบอบสฤษดิ์-ถนอม” กับ “ยุคอเมริกันในไทย”
สำหรับยุคที่สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลต่อไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คือยุครัฐบาลเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงปี 2500-2516
รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ว่า ในช่วงนั้นมีทหารสหรัฐฯ ประจำการในไทย 3-4 หมื่นนาย และรัฐบาลทหารยอมให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพในไทยถึง 7 แห่ง โดยปกปิดต่อประชาชนและสื่อ จนถูกขบวนการนักศึกษาและประชาชนต่อต้าน
ในงานศึกษาของ รศ.ดร.ประจักษ์ ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ดีเด่น “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)” ซึ่งต่อมาถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ระบุว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้เข้าสู่ยุคสงครามทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ กับค่ายทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ หรือที่เรียกว่า “สงครามเย็น”
สงครามเย็นได้ส่งผลกระทบให้แต่ละประเทศในหลายภูมิภาคถูกพาเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งไทย ซึ่งนักวิชาการรัฐศาสตร์ มธ. อธิบายในงานศึกษาของเขาว่า “ประเทศไทยดำเนินบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในสงครามอินโดจีน”
สำหรับการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม เริ่มขึ้นตั้งแต่มีการสู้รบในลาว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มเข้ามาสร้าง ปรับปรุง ขยาย และยกระดับฐานทัพในประเทศไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ช่วงปี 2504 เป็นต้นมา
ฐานทัพอากาศที่สหรัฐอเมริกาใช้ในประเทศไทยช่วงปี 2504-2519
- ฐานทัพอากาศดอนเมือง (2504) – สหรัฐฯ เริ่มติดตั้งระบบเตือนภัยทางอากาศ
- ฐานทัพตาคลี จ.นครสวรรค์ (2504) – ฐานทัพกองบินขับไล่ที่ 421, 255 และ 390 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ / กองบินที่ 4 ย้ายจากดานัง เวียดนามใต้ มาประจำการที่นี่
- ฐานทัพนครราชสีมา (2505) – สหรัฐฯ เริ่มส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการในปี 2505 เริ่มปฏิบัติการโจมตีจากฐานทัพนี้ในปี 2507
- ฐานทัพนครพนม (2505) – ฐานปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศ, ฐานปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์, ฐานปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์และการลำเลียง, ฐานกองบินปฏิบัติการพิเศษ และสนับสนุนการรบในลาว
- ฐานทัพอุดรธานี (2507) – ฐานส่งหน่วยบินขับไล่, ฐานปฏิบัติการเครื่องบินขับไล่ RF-4C มีภารกิจในอินโดจีน และส่งยุทธปัจจัยสนับสนุนการรบในลาว, กองบินส่งกำลังบำรุงที่ 13, โรงเรียนฝึกบินให้กองทัพอากาศลาว, สำนักงานของ CIA ดูแลทหารรับจ้างในลาว และสำนักงานของแอร์อเมริกาและคอนติเนนตัลแอร์เซอร์วิสเซส
- ฐานทัพอู่ตะเภา (2508) – ฐานวางแผนทางยุทธ์ศาสตร์, หน่วยสนับสนุนการต่อสู้ที่ 635 และฐานเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ใช้ในปี 2510
- ฐานทัพอุบลราชธานี (2509) – ฐานส่งกองบินขับไล่ที่ 8 และสำนักงาน CIA เพื่อประสานหน่วยข่าวในลาว
- ฐานทัพน้ำพอง จ.ขอนแก่น (2515) – รองรับหน่วยบินทิ้งระเบิดขับไล่ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งย้ายมาจากฐานทัพดานังในเวียดนาม
ที่มา : หนังสือ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ” ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
การต่อต้านอเมริกาและรัฐบาลเผด็จการจอมพล ของขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลาฯ 2516
งานของ รศ.ดร.ประจักษ์ ชี้ว่า “ยุคอเมริกันในไทย” ไม่เพียงมีอิทธิพลต่อนโยบายทางการเมืองและการทหารของรัฐบาล และเศรษฐกิจ แต่ยังมีอิทธิพลต่อการสร้างความตื่นตัวทางปัญญาให้แก่นักศึกษาและประชาชน จากการได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ การรับแนวคิดสื่อสิ่งพิมพ์ ตำราวิชาการ ข้อเขียนของปัญญาชนสหรัฐฯ รวมทั้งภาพยนตร์และเพลงของศิลปินที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและการต่อต้านสงคราม
รศ.ดร.ประจักษ์ วิเคราะห์ด้วยว่า การคัดค้านสงครามอินโดจีน เชื่อมโยงนักศึกษาปัญญาชนให้เกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารไปด้วย เนื่องจากขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนเห็นว่า “ประชาชนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อประเทศชาติ” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ และการเข้าร่วมสงคราม
นอกจากนี้ ประชาชนยังถูกรัฐบาล “โกหกพร้อมกับปิดบังความจริง” ไม่ให้รับรู้ข้อมูลมาโดยตลอด นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาเห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร พร้อมยังมองว่า การที่ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามอินโดจีน เป็นวิธีคิดแบบ “ทหาร” และเสี่ยงทำให้ไทยเสียอธิปไตย และยังทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นักศึกษาประชาชนที่ระบุว่า “เผด็จการทหารเป็นทั้งผู้ทรยศชาติและผู้ขายชาติ” ซึ่งต่างจากแนวคิดชาตินิยมของรัฐราชการสมัยนั้น
“วาทกรรมต่อต้านสงครามจึงแยกไม่ออกจากวาทกรรมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในกรณีของนักศึกษาและปัญญาชนไทยก่อน 14 ตุลาฯ” ข้อความตอนหนึ่งในรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ” ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุ