ข่าวสารกรุงเทพฯ

จอร์จ ฟลอยด์ : อคติและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน – BBC News ไทย


Artists Lyonsie (left) and Micky Doc put the finishing touches to a mural to George Floyd at Belfast"s International Wall on the Falls Road.

ที่มาของภาพ, PA Media

แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จะกำหนดชัดเจนว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่คนที่ถูกมองว่าไม่ใช่อเมริกันชนอย่างแท้จริงยังคงต้องเผชิญกับอคติมาโดยตลอด

เหตุการณ์ที่ตำรวจในรัฐมินนิโซตา จับกุม นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ที่ต้องสงสัยว่าใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปลอมในร้านค้าแห่งหนึ่ง โดยตำรวจใช้เข่ากดทับลำคอเขาจนเสียชีวิตต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์ ปลุกกระแสการชุมนุมประท้วงและก่อเหตุจลาจลในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน และการที่คนผิวดำต้องตกเป็นเบี้ยล่างการเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกันมายาวนาน

เริ่มต้นจากการค้าทาส

หากย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวผิวดำเข้าไปอยู่ในอเมริกา เนื่องจากถูกชาวยุโรปบังคับขายเป็นแรงงานทาส เมื่อราว 400 ปีก่อน

ขบวนการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอันเลื่องชื่อในขณะนั้นครอบคลุมสามทวีป คือ ยุโรป แอฟริกา และอเมริกา กับมีชาวแอฟริกันอย่างน้อย ๆ 12 ล้านคนถูกค้าเป็นทาสในช่วงปี 1532-1832 ในเส้นทางค้าทาสที่เรียกว่า ‘triangular trade (สามเหลี่ยมค้าทาส)’ โดยทาสเหล่านั้นถูกนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ขนไปจากยุโรป จากนั้นเรือสินค้าจะนำทาสเดินทางไปขายในหมู่เกาะเวสต์อินดีส และทวีปอเมริกาเหนือ จากนั้นเรือจะขนสินค้ากลับมายังยุโรปอีกครั้ง

slaves
คำบรรยายภาพ, ภาพการใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้ายตามมลรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา

ทาสซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกันตะวันตกราว 2 ล้านคน เสียชีวิตระหว่างเดินทางในเรือที่มีสภาพแออัดและกินระยะเวลายาวนาน

ในสหรัฐฯ เองการค้าทาสได้กลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง เพราะมลรัฐทางตอนเหนือไม่เห็นด้วยกับการใช้แรงงานทาสของมลรัฐทางตอนใต้

การกดขี่ บังคับใช้และขายแรงงานทาสกระทำกันมาจนกระทั่งนายอับราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 1860 ไม่กี่ปีหลังจากนั้นเขาก็ลงนามในประกาศเลิกทาส ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนผิวขาว

ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ได้ลงนามประกาศเลิกทาส ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนผิวขาว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ได้ลงนามประกาศเลิกทาส ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนผิวขาว

กฎหมายจิมโครว์

แม้จะมีการเลิกทาสตั้งแต่ปี 1865 แต่ชาวอเมริกันผิวดำที่อาศัยอยู่ในมลรัฐทางตอนใต้ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ เพราะคนผิวขาวในตอนใต้ไม่ยอมรับสิทธิและความเท่าเทียมตามกฎหมายของคนผิวดำ

มีการออกกฎหมายที่รู้จักทั่วไปว่ากฎหมายจิมโครว์ กีดกันและแบ่งแยกผิวทั้งในสถานที่สาธารณะและการให้บริการทุกรูปแบบ ตั้งแต่ห้ามเข้าโบสถ์ โรงพยาบาล โรงละคร โรงเรียน ห้องน้ำ และอื่น ๆ

ที่สำคัญคือกีดกันการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งว่าต้องอ่านออกเขียนได้ ต้องเสียภาษีรายหัว และยังกำหนดคุณสมบัติอื่น ๆ ที่แม้แต่ชนผิวขาวที่ยากจนเองก็ไม่ได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเช่นกัน

คูคลักซ์แคลน เป็นกลุ่มเหยียดเชื้อชาติที่ก่อตั้งขึ้นในมลรัฐทางตอนใต้หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, คูคลักซ์แคลน เป็นกลุ่มเหยียดเชื้อชาติที่ก่อตั้งขึ้นในมลรัฐทางตอนใต้หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง

แต่หลังจากนั้นมลรัฐทางภาคใต้ก็ได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า Grandfather clause กำหนดให้ผู้ที่จะมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งต้องมีปู่หรือตาที่เคยใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งมาแล้ว กฎหมายนี้ช่วยให้ชนผิวขาวที่ยากจนและไม่รู้หนังสือมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แต่คนผิวดำกลับไม่ได้รับสิทธิ์เดียวกัน

ในช่วงทศวรรษ 1920 ชาวอเมริกันผิวดำเริ่มอพยพขึ้นไปทางเหนือเพื่อหางานทำ แม้ที่นั่นจะไม่มีกฎหมายจิมโครว์ แต่คนผิวดำก็ยังถูกกระทำในหลายรูปแบบ รวมทั้งการถูกทำร้ายจากกลุ่มคูคลักซ์แคลน กลุ่มเหยียดเชื้อชาติที่ก่อตั้งขึ้นในมลรัฐทางตอนใต้หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง

โรซา พาร์กส์ ปฏิเสธสละที่นั่งให้ชายผิวขาว

เหตุการณ์ที่ชนผิวดำอเมริกันต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเกิดขึ้นเรื่อยมา แต่ที่เลื่องชื่อเหตุการณ์หนึ่งคือโรซา พาร์กส์ ผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งที่ถูกจับเพราะปฏิเสธที่จะสละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับชายผิวขาวเพราะเธอเหนื่อยล้าจากการทำงาน

โรซา พาร์กส์ สตรีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ผู้จุดชนวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทั่วประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, โรซา พาร์กส์ สตรีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ผู้จุดชนวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทั่วประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองมอนต์โกเมอรีเมื่อ 65 ปีที่แล้ว โรซา พาร์กส์ ต้องถูกดำเนินคดี เพราะถือว่าทำผิดกฎหมายของอเมริกาตอนใต้

เหตุการณ์นี้เองทำให้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิและคว่ำบาตรระบบขนส่งมวลชนในมอนต์โกเมอรี เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมือง ในที่สุดศาลฎีกาตัดสินว่าการแบ่งแยกที่นั่งบนรถโดยสารขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในปี 1956

แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ถูกชายผิวขาวลอบสังหารที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ในปี 1968

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ คือ ศาสนาจารย์นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

จอร์จ ฟลอยด์ เป็นเหยื่อกระทำรุนแรงโดยตำรวจผิวขาว

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันนั้นแตกต่างกัน จอร์จ ฟลอยด์ ตกเป็นเหยื่อของการกระทำรุนแรงโดยฝีมือของตำรวจซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ข้อมูลที่ นสพ.วอชิงตันโพสต์รวบรวมไว้ พบว่าเมื่อปีที่แล้วมีคนผิวดำถูกตำรวจยิงเสียชีวิตถึง 1,014 คน ส่วนการศึกษาขององค์กรไม่แสวงหากำไรอย่าง Mapping Police Violence ก็ชี้ว่าคนผิวดำมีโอกาสถูกตำรวจสังหารมากกว่าคนผิวขาวถึง 3 เท่า

BLM protest at Belfast City Hall 3 June

ที่มาของภาพ, PAcemaker

การกระทำรุนแรงของตำรวจจุดกระแสประท้วงและก่อจลาจลจนขยายตัวเป็นความรุนแรง จนถึงขั้นที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติเข้าไปควบคุมฝูงชน การใช้กระสุนยาง ยิงแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่าการจลาจลรอบนี้รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1968 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากนายมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหาร และการเสียชีวิตของนายฟลอยด์ เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่อง ความเหนือกว่าของคนขาว การเหยียดเชื้อชาติ และอื่น ๆ ในสหรัฐฯ ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างแท้จริง



Source link