ข่าวสารกรุงเทพฯ

ซีเซียม : ทำความรู้จักโรงไฟฟ้าไอน้ำในปราจีนบุรีที่ทำซีเซียม-137 สูญหาย แต่กลับ “ไม่แจ้งในทันที”


ที่มาของภาพ, ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

คำบรรยายภาพ,

การค้นหาวัตถุซีเซียม-137

การสูญหายของวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” จากโรงไฟฟ้าไอน้ำแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี ที่แจ้งสูญหายเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ก่อนมีแนวโน้มสูงว่า วัตถุซีเซียม-137 ได้ถูก “หลอม-ถลุง” กลายเป็นฝุ่นเหล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสี สร้างความกังวลด้านสาธารณสุขและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การค้นหายาวนานกว่า 10 วัน ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สนธิกำลังกับจังหวัดปราจีนบุรี นำไปสู่ร่องรอยสำคัญ หลังตรวจพบซีเซียม-137 ปนเปื้อนอยู่ใน “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” ซึ่งเกิดจากการหลอมโลหะด้วยความร้อนสูง ณ โรงหลอมเหล็ก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แต่ทั้ง ปส. และ จ.ปราจีนบุรี ยังไม่ยืนยันว่า สารซีเซียม-137 นี้มาจากวัตถุที่สูญหาย และกำลังตามหาอยู่

เพิ่มสุข สัจจาภิวัตน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งข้อสังเกตว่า การตามหาวัตถุกัมมันตรังสีที่สูญหายเป็นเรื่องสำคัญ แต่อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ บริษัทไฟฟ้าที่ทำวัตถุกัมมันตรังสี ที่มีอันตรายถึงชีวิตหากสัมผัสและได้รับสารกัมมันตรังสี

“เรามีบริษัทไฟฟ้าที่ทำ source (วัตถุกัมมันตภาพรังสี) หาย… จนป่านนี้ ยังไม่รู้ว่าหายเพราะอะไรเลย” เพิ่มสุข ระบุ

ผู้ครอบครองวัตถุซีเซียม-137 ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว แล้วสูญหาย คือ โรงไฟฟ้าไอน้ำ “บริษัท เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด” ซึ่งทั้ง เลขาฯ ปส. และ พล.ต.ต.วินัย นุชชาพล.ต.ต.วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูภร จ.ปราจีนบุรี อธิบายว่า เป็น “บริษัทปิด”

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งทางโรงไฟฟ้าแจ้งความถึงการสูญหายของวัตถุซีเซียม-137 ตำรวจได้จัดชุดสืบสวนออกไป แต่เมื่อไปถึงโรงไฟฟ้า “ตำรวจจะเข้า ยังเข้าไม่ได้เลย ท่านผู้ว่าฯ ไป ยังเข้าไม่ได้เลย” พล.ต.ต. วินัย เล่าระหว่างการแถลงข่าวในวันที่ 20 มี.ค.

ทำความรู้จักบริษัท เอ็นพีเอส

โรงไฟฟ้าไอน้ำใน จ.ปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้า 11 แห่ง ในการดูแลของบริษัทแม่ คือ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นพีเอส (NPS) ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และไอน้ำ

ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นพีเอส คือ นายสิทธิพร รัตโนภาส อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

รายงานของบริษัทเอ็นพีเอส ระบุว่า โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัท ผลิตได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โดยจนถึง 30 ก.ย. 2565 กลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 11 โรง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 770.70 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำติดตั้ง รวม 2,661.80 ตันต่อชั่วโมง

ที่มาของภาพ, ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

โรงไฟฟ้าไอน้ำ “บริษัท เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด” ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 ต.ท่ามะตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มีทุนจดทะเบียนบนข้อมูล dataforthai.com ที่ 6,270,000,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้รวม 172.3 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 660 ตันต่อชั่วโมง (รวม 3 โรงงานที่อยู่ภายใต้ เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ หรือ NPP5A)

“เป็นบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด และมีคุณภาพสูง ระบบการจัดการเยี่ยม ทุนจดทะเบียนหลายพันล้าน” เลขาฯ ปส. กล่าวถึงเหตุผลที่ “วางใจ” ให้ใช้วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 โดยมีการต่อใบอนุญาตครอบครองมาแล้วหลายครั้ง

บริษัท เอ็นพีเอส อธิบายในเว็บไซต์ว่า เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจพลังงานและพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีประสบการณ์ในการผลิตไฟฟ้ามานานกว่า 30 ปี ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี ให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ที่มาของภาพ, NPS

บริษัท เอ็นพีเอส จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2538 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2553

บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้ลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ธุรกิจอื่น ๆ และธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดจนลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น โรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งธุรกิจดังกล่าวได้รับการบริหารจัดการภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมแต่ละแห่งที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นมาสำหรับการลงทุนในแต่ละโครงการ

บริษัทฯ ได้เพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจดังกล่าว โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ออกและชำระแล้วรวมทั้งสิ้น 9,354.04 ล้านบาท

และเมื่อปี 2565 ทางบริษัท มีรายได้รวมถึงกว่า 20,000 ล้านบาท

ซีเซียม-137 สูญหาย แต่ไม่แจ้งทันที ?

บริษัท เอ็นพีเอส ระบุในเว็บไซต์หัวข้อ “ความรับผิดชอบทางสังคม” ว่า “เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อมุ่งมั่นดำเนินการให้ดีกว่ามาตรฐานเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน”

แต่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เชื่อว่า ทางบริษัทลูกของเอ็นพีเอส คือ “บริษัท เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด” ไม่ได้แจ้ง “โดยพลัน” ถึงกรณีวัตถุซีเซียม-137 สูญหาย โดยมาแจ้งความสูญหาย เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ขณะที่ตำรวจระบุว่า จากการสืบสวน พบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ตั้งแต่ 17 ก.พ. แล้ว

“กฎหมายระบุว่า ทันทีที่ผู้ประกอบการ รู้ว่าสูญหาย ท่านต้องแจ้งโดยพลัน รู้ปับแจ้งปุ๊บ เราก็ตามไปเลย แต่ตามสำนวนการสอบ เมื่อมันไม่แจ้งโดยพลัน ก็เกิดเหตุการณ์ที่เราเห็น” เพิ่มสุข ระบุ

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี

คำบรรยายภาพ,

วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137

เพิ่มสุข อธิบายว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถือครองซีเซียม-137 มาตั้งแต่ปี 2538 แล้ว และ “ทำดีมาตลอด” อีกทั้ง วัตถุกัมมันตภาพรังสีนี้อยู่ในที่สูง มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ด้าน พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี ระบุว่า แม้จะเผชิญอุปสรรคในช่วงแรกที่เข้าไปในโรงไฟฟ้าได้ยาก แต่ภายหลัง ผู้บริหารบริษัทให้ความร่วมมือ ทำให้ตำรวจเข้าไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้าได้ แต่ก็พบว่า กล้องบางตัวในโรงไฟฟ้าใช้การไม่ได้ และบางจุดบันทึกภาพได้ไม่ครอบคลุม

ตอนนี้ ปส. ได้ร้องทุกข์กับตำรวจถึงกรณีทางโรงไฟฟ้าแล้ว ตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.นิวเคลียร์เพื่อสันติ ว่าด้วย อันตรายหรือความเสียหายอันเกิด จากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้อต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไขบรรเทาหรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น

โดยตามมาตรา 126 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 100 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



Source link