ซีเซียม : เปิดไทม์ไลน์วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายที่ปราจีนบุรี – BBC News ไทย
กว่า 10 สัปดาห์นับตั้งแต่ได้รับแจ้งกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ใน อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี ล่าสุด คาดว่า ถูกถลุงหมดแล้ว
“ได้รับรายงานว่า หลังมีการถลุงแร่ซีเซียม-137 (เศษซาก) ได้ถูกส่งต่อมายังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่ง” จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวช่อง 3 โดยเปิดเผยว่าโรงงานที่ถลุงซีเซียม-137 เป็นโรงถลุงเหล็ก อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี
“บริษัทฯ รับซีเซียม-137 มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว” แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารับมาจากที่ไหน แต่สิ่งที่ต้องตามต่อ คือ ทางโรงงานที่ถลุงดังกล่าว ได้ขออนุญาตส่งฝุ่นแดงไปรีไซเคิลที่โรงงานไหนแล้วบ้าง
วันนี้ (20 มี.ค.) อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และทีมเจ้าหน้าที่ จะลงพื้นที่โรงถลุงเหล็กดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด
ไม่เพียงเท่านั้น กรมโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง และศูนย์วิจัยจังหวัดชลบุรี จะเข้าพื้นที่โรงงานรีไซเคิลในจังหวัด ที่พบว่ารับฝุ่นแดงไปเพื่อตรวจสอบ แต่เบื้องต้น ยังไม่พบคนงานได้รับสารกัมมันตภาพรังสี
“มันขึ้นอยู่กับปริมาณการรับ ถ้าไม่ได้สัมผัสตลอดเวลา ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร” จุลพงษ์ ตอบ เมื่อถูกถามถึงอันตราย
สังคมแสดงความกังวลและจับตาการค้นหาวัตถุกัมมันตรังสีดังกล่าว เนื่องเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ได้สัมผัส
วัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหายไป มีลักษณะเป็นแท่งกระบอกทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ติดอยู่ที่ปลายท่อโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด
ตัวแทนบริษัทระบุว่า เหล็กที่บรรจุกัมมันตรังสีที่หายไป มีจำนวน 1 ชิ้น จากทั้งหมด 14 ชิ้น
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. สื่อหลายสำนัก รวมถึงไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงพื้นที่ออกตรวจการปฏิบัติงานที่โรงงานหลอมเหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
ต่อมา นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เข้าตรวจสอบ โดยทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็กอย่างละเอียดและยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็ก เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137
ยังไม่ยืนยันว่า เป็นซีเซียมที่สูญหาย
วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แถลงความคืบหน้ากรณีพบสารซีเซียม-137 ในโรงงานหลอมเหล็ก โดยไม่ยืนยัน เป็นวัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายไปนานกว่า 10 วันห
บีบีซีไทยสรุปใจความสำคัญจากการแถลงข่าวกว่า 1 ชั่วโมง 40 นาที ได้ว่า
- ไม่พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งไปรีไซเคิลที่ จ.ชลบุรี ตามที่สื่อหลายสำนักรายงาน
- ทางการได้ปิดล้อมโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 แล้ว และไม่มีการปนเปื้อนไปยังสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
- ยังไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137
- ยังไม่ยืนยันว่า ฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ที่พบนั้น มาจากวัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำในปราจีนบุรีหรือไม่
เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนกรานว่า ทาง ปส. สนธิกับทางจังหวัดปราจีนบุรี ทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ได้รับแจ้งเหตุวัตถุซีเซียม-137 สูญหายเมื่อ 10 มี.ค.
เขาย้ำหลายครั้งระหว่างการแถลงข่าวว่า ฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนซีเซียม-137 ที่พบในโรงหลอมเหล็ก อ.กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี ยังไม่ยืนยันว่ามาจากวัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าไอน้ำ
“เรายังไม่ยืนยันว่า อุปกรณ์นั้นเข้าไปสู่โรงงานนี้ แล้วเกิดเป็นซีเซียมฝุ่นเหล็ก ในขณะนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สนธิกับทางจังหวัด เราเริ่มจะคลำทางถูกแล้ว” เขากล่าว “จนป่านนี้หายเพราะอะไร เรายังไม่รู้เลย”
เขากล่าว พร้อมอธิบายว่า เมื่อซีเซียม-137 เข้าสู่เตาหลอมแบบระบบปิดแล้ว ซีเซียมฯ จะแปรสภาพเป็นฝุ่นเหล็ก แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะปนเปื้อนในตัวโลหะที่หล่อออกมา
“สารซีเซียมนี่ ถ้าอุณหภูมิ 60 องศาฯ หนีแล้ว แล้วความร้อน 600 องศาฯ มันกระโดดหนีออกจากเตา ไปบวกกับเขม่า เหล็กที่รีดออกมา… มันไม่อยู่ในเนื้อเหล็ก ถึงอยู่ก็น้อยเต็มที”
ในส่วนของโรงหลอมเหล็กที่พบการฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ทางจังหวัดและตำรวจได้ปิดล้อมเพื่อความปลอดภัยแล้ว พร้อมนำพนักงานโรงงาน มาตรวจว่าได้รับสารกัมมันตภาพรังสีหรือไม่ และกำลังสอบสวนที่มาของฝุ่นเหล็กปนเปื้อนเหล่านี้
ในส่วนการสอบสวนของตำรวจนั้น พล.ต.ต. วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี ชี้แจงว่า การทำงานในช่วงแรกมีอุปสรรค เพราะโรงไฟฟ้าต้นทางที่ทำวัตถุซีเซียม-137 สูญหายเป็น “บริษัทปิด” ตำรวจไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทันที
“วัตถุชิ้นนี้ ออกไปสู่ข้างนอกได้อย่างไร เราสืบสวนถึงจุดหนึ่ง เราไล่กล้องไปเรื่อย ๆ ขอความร่วมมือบริษัท กล้องติดมานานแล้ว บางตัวก็เก็บได้ บางตัวก็เก็บภาพไม่ได้” พล.ต.ต. วินัย ระบุ แต่เชื่อมั่นว่า ต้องเป็นคนในโรงไฟฟ้าที่นำวัตถุนี้ออกมา แต่ยังไม่มีใครสารภาพ
สำหรับโรงไฟฟ้าไอน้ำ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ที่วัตถุซีเซียม-137 สูญหาย ได้ถูก ปส. แจ้งความแล้ว ฐานะ “ไม่แจ้งโดยพลัน” หลังพบว่าวัตถุซีเซียม-137 สูญหายไป ซึ่งอาจเกิดความผิดปกติมาตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.
ตาม พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มาตรา 100 หากผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตภาพรังสี ไม่แจ้งโดยพลัน หลังทำสูญหาย จะมีโทษปรับ 1 แสนบาท และโทษจำคุก 1 ปี
ลำดับเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อใดและดำเนินการอย่างไรบ้าง
- 10 มี.ค. เวลา 18.30 น. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย จากสถานประกอบการทางรังสีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
- 11 มี.ค. เจ้าหน้าที่ ปส. เข้าตรวจสอบโดยละเอียดด้วยเครื่องมือวัดทางรังสีในพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับสถานประกอบการ แต่ไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ได้รับแจ้งว่าสูญหายไป
- 13 มี.ค. เจ้าหน้าที่ ปส. พร้อมเครื่องมือตรวจวัดทางรังสี เข้าตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง โดยตรวจสอบทุกพื้นที่ภายในสถานประกอบการ ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวภายในสถานประกอบการ
- 14 มี.ค. ปส. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ศรีมหาโพธิ ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย โดยการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการกิจการรับซื้อเศษโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดทางรังสีในการสำรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย และการสอบถามข้อมูลจากสถานประกอบการดังกล่าว ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่
ต่อมาในช่วงบ่าย นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ และตัวแทนบริษัทฯ ร่วมกันชี้แจงเรื่องดังกล่าว พร้อมกับตั้งรางวัลสำหรับคนที่ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามกลับคืนมาได้ 50,000 บาท
- 15 มี.ค. เจ้าหน้าที่ยังติดตามตรวจสอบค้นหา และขยายพื้นที่ไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มเติม
- 19 มี.ค. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประเมินว่า วัตถุซีเซียม-137 ถูกถลุงไปหมดแล้ว หลังตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในฝุ่นแดงของโรงงานถลุง
- 20 มี.ค. กรมโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง และศูนย์วิจัยจังหวัดชลบุรี จะเข้าพื้นที่โรงงานรีไซเคิลในจังหวัดแห่งหนึ่ง ที่พบว่ารับฝุ่นแดงไป เพื่อตรวจสอบ แต่เบื้องต้น ยังไม่พบคนงานได้รับสารกัมมันตภาพรังสี
วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน
ในการแถลงข่าวเมื่อ 14 มี.ค. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากอยู่ในสภาพปกติจะไม่เกิดผลกระทบใด ๆ ยกเว้นมีการผ่าและสารกัมมันตรังสีรั่วไหลผู้ที่สัมผัสจะเกิดอันตราย
ขณะที่ นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า สารซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีเบต้าและรังสีแกมม่า ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น
เบื้องต้น หากท่อบรรจุสารดังกล่าวยังอยู่ในสภาพเดิมยังไม่ถูกชำแหละ ปริมาณการปล่อยรังสีจะน้อยมาก แต่หากได้รับเป็นระยะเวลานานจะมีอันตราย
หากท่อบรรจุสารนั้นถูกชำแหละ ยิ่งน่ากังวลว่าจะทำให้สารถูกปล่อยออกมามากขึ้น และเนื่องจากมีลักษณะเป็นผงอาจจะทำให้มีการสูดดม หรือสัมผัสโดยตรง และเป็นอันตรายมากขึ้น เช่น หากเอามือไปจับ อาจจะทำให้ผิวหนังไหม้หรือถึงขั้นสูญเสียอวัยวะบริเวณนั้นไป นอกจากนี้ สารนี้ยังส่งผลต่อระบบเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวอีกด้วย
ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์เนื้อหา ภายหลังมีความคืบหน้าสำคัญการพบร่องรอยวัตถุซีเซียม-137
“เมื่อซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็น ‘โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี’ นั้น ก็บอกได้ยาก ว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่”
“สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ และไปร่วงหล่นเป็นฝุ่นผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค”
ข้อควรปฏิบัติ หากได้สัมผัสสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137
จากเอกสารข้อมูลของศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายภาคตะวันออก กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง กล่าวถึงข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัสสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังนี้
ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากตัวตาไปยังหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าสามารถทำได้ และควรเก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
สำหรับอาการที่พบแล้วควรพบแพทย์ ประกอบด้วย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ในที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากสัมผัสกับรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
หวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์ โคบอลต์-60 แผ่รังสี เมื่อ 23 ปีที่แล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดคำถามถึงความเคร่งครัดของสถานประกอบการร้านค้าของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 แล้ว ยังทำให้สังคมหวั่นว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่น เหตุการณ์ โคบอลต์-60 แผ่รังสี ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2543 ที่ ต.สำโรง อ.พระประแดง จ. สมุทรปราการ หรือไม่
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-22 ก.พ. 2543 มีผู้ได้รับความเสียหายทั้งหมด 12 คน
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ ผู้ค้าเร่รับซื้อของเก่าได้รับซื้อกล่องโลหะทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 ซม. ยาวประมาณ 80 ซม. ในราคา 8,000 บาท จากบริเวณลานกว้างริมถนนอ่อนนุช ต่อมานำมาเก็บไว้ที่บริเวณบ้านพัก หลังจากสัมผัสแท่งเหล็กดังกล่าว เกิดอาการอาเจียนและอ่อนเพลีย และมีอาการคันยุบยิบที่มือทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่ได้ทำการรักษาที่ไหน
ต่อมา 1 ก.พ. 2543 ผู้ค้าเร่รับซื้อของเก่าได้นำชิ้นส่วนไปขายที่ร้านค้าของเก่า และทางร้านได้ให้คนงานผ่าแท่งเหล็กออกมา โดยบางส่วนที่ไม่สามารถผ่าไม่สำเร็จเจ้าของร้านได้มอบให้ผู้ค้าเร่รับซื้อนำกลับไปแยกชิ้นส่วนต่อที่บ้าน ก่อนที่จะนำมาขายอีกครั้งที่ร้านเดิม
แต่อาการป่วยทวีความรุนแรงมากขึ้นจนต้องไปรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 57 เมื่อตรวจอาการและซักประวัติแล้ว สงสัยว่าจะได้รับสารกัมมันตรังสี จึงนำไปสู่การแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการกู้สารกัมมันตรังสีสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2543
เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การยื่นฟ้องบริษัทเอกชนโดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้ง 12 คน เนื่องจากว่าบริษัทเอกชนเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งชาติ (พปส.) ตามกฎหมาย และยังกระทำประมาทเลินเล่อไม่จัดเก็บเครื่องฉายดังกล่าวให้ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำหนด โดยนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ทิ้งไว้ในโรงรถเก่า
ต่อมาในปี 2559 ศาลฎีกาพิพากษาให้บริษัทเอกชน จ่ายค่าเสียหายกว่า 5 แสนบาท ไม่รวมดอกเบี้ยให้กับผู้เสียหาย