ข่าวสารกรุงเทพฯ

ดับฝันกลางกระแสไทยพบลิเทียม เมื่อ กพร.บอกว่า Mineral Resource ไม่เท่ากับ Lithium Resource


เป็นเรื่องตื่นเต้นกันไปทั่ว เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

ส่งผลให้ข่าวสารในตลาดหุ้นวันนี้ คาดว่าจะเป็นแรงบวกหนุนการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เพิ่มแรงเก็งกำไรต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่ รวมถึงกลุ่มยานยนต์ 

แต่…เรื่องกลับกลายเป็นว่า วันนี้ (19 ม.ค.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หน่วยงานที่ดูแลเรื่อง “เหมืองแร่” โดยเฉพาะ กลับร่อนเอกสาร ข้อความระบุว่า ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา 

โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน นั้น

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม 

ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้  

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า

อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต  

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และจังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

ส่วนวานนี้ (18 ม.ค.) รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม ล่าสุด ไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอร์รี่ EV ในภูมิภาค 

โดยจากปีก่อนหน้าที่เป็นข่าวใหญ่ว่าอินเดียค้นพบแร่ลิเทียม และกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ EV นั้น ตอนนี้ไทยก็มีลุ้นเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา 

การค้นพบแร่ศักยภาพลิเทียม-โซเดียม นี้ถือเป็นทั้งข่าวดี และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเทียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี 2573 

“จากการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การค้นพบแร่ 2 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV จะทำให้ไทยลดการนำเข้าและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งด้วยนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการค้นพบนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งในแผนที่โลกในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอร์รี่ EV” รัดเกล้าฯ กล่าว



Source link