ข่าวสารกรุงเทพฯ

ตรุษจีน : หนังสือพิมพ์จีนในไทย โซเชียลยุคกระดาษของคนไทยเชื้อสายจีน ยังมีคนอ่านอยู่แค่ไหน


  • ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ผุสดี คีตวรนาฏ บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน วัย 82 ปี

สี่ทุ่มกว่า ๆ ของคืนหนึ่งกลางเดือน ม.ค. ย่านตลาดน้อยชุมชนเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน เริ่มหลับใหลกันหมดแล้ว แต่ชีวิตของหนังสือพิมพ์จีนรายวันฉบับหนึ่ง คล้ายว่าเพิ่งเริ่มต้นวันเมื่อแท่นพิมพ์เก่าแก่จากอเมริกาเดินเครื่องทำงาน

นี่คือความเป็นไปภายในตึกแถวอาคารปากซอยเจริญกรุง 22 ที่อวลด้วยกลิ่นหมึกพิมพ์ ด้านหน้าติดป้ายอักษรที่มีทั้งไทย จีน ฝรั่ง ว่า “หนังสือพิมพ์ ซิงจงเอี๋ยน” (NEW CHINESE DAILY NEWS) หนึ่งในหนังสือพิมพ์จีนรายวันในไทยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี

ท่ามกลางความโรยราของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ภาษาจีนรายวันในไทยยังยืนระยะอยู่ทั้งสิ้น 6 ฉบับ และเป็นเช่นนี้มาแล้ว 40- 50 ปี ทั้งหมดตีพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณไชน่าทาวน์

“คนจีนไปถึงไหนก็ต้องมีหนังสือพิมพ์จีน คนจีนไปถึงไหนก็ต้องมีโรงเรียนจีน นี่เป็นธรรมดา” ผุสดี คีตวรนาฏ บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน วัย 82 ปี เล่าถึงหนังสือพิมพ์จีนที่อยู่คู่คนไทยเชื้อสายจีนมาหลายยุคหลายสมัย

คำบรรยายวิดีโอ,

รู้จักหนังสือพิมพ์จีนในไทย ใครทำ-ใครอ่าน

อะไรทำให้หนังสือพิมพ์จีนอยู่มาจนถึง พ.ศ. นี้ ในโอกาสเทศกาลปีใหม่จีน บีบีซีไทยพาไปรู้จักว่าในหนังสือพิมพ์จีนที่ตีพิมพ์ในไทยมีอะไรให้อ่าน ใครทำหนังสือพิมพ์ภาษาจีน แล้วอ่านของพวกเขาคือใคร

ทำไมถึงมีหนังสือพิมพ์จีนในไทย

คำถามนี้ ผุสดีหยุดคิดอยู่ชั่วครู่หนึ่งก่อนตอบว่า เพราะคนจีนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เรื่องความรู้ “ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ก็สนใจเรื่องการเมืองนะ การเมืองระหว่างประเทศ สนใจข่าวของมาตุภูมิ บ้านเกิดของเขา”

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

เมื่อเปิดดูหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์จีน ที่ต้องเริ่มพลิกอ่านจากหน้าหลังสุดหรือจากขวาไปซ้าย ข่าวหน้าหนึ่งของซิงจงเอี๋ยนฉบับในมือที่ผุสดีนำมาให้ดูนั้น เป็นข่าวประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ชื่นชมมาเก๊าที่ดำรงความเป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

“เป็นเทรดิชั่น (ธรรมเนียม) ของหนังสือพิมพ์จีน แทบจะทุกฉบับทุกวันนี้ คือ หน้าหนึ่งจะต้องเป็นข่าวการเมืองระหว่างประเทศ แต่แน่นอนที่สุดสำหรับหนังสือพิมพ์จีน ก็ต้องเป็นเรื่องของประเทศจีน”

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

สำนักงานและโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน ตั้งอยู่ในย่านตลาดน้อย เจริญกรุง 22

แต่หน้าหนังสือพิมพ์ที่เปรียบเสมือนหัวใจไม่ต่างจากฟีดข่าวบนเฟซบุ๊กที่ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนได้เห็นความเป็นไปของคนที่มีเทือกเถาเหล่ากอเดียวกัน คือหน้าข่าวสังคมที่มีพื้นที่สองหน้ากระดาษเต็ม

เนื้อหาบนสองหน้ากระดาษนี้คือข่าวคราวความเคลื่อนไหวของบรรดาเศรษฐีจีน สมาคมคนจีนจากทั่วประเทศ บ้างเป็นสมาคมแซ่คนจีน หรือสมาคมคนจีนในระดับมณฑล อำเภอ

“ข่าวพวกนี้แทบจะลงไม่ไหว เขาส่งมาให้ เราไม่ต้องไปหา” ผุสดีบอก “พวกเขามีความภูมิใจที่ข่าวมีรูปอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ เวลาผู้ยิ่งใหญ่ในเมืองจีนมาเยือนไทย มีโอกาสเลี้ยงคนจีนในไทยเขาก็มาลง (ข่าว) กัน”

ที่มาของภาพ, BBC THAI

ส่วนข่าวในหน้าอื่น ๆ ของหนังสือพิมพ์จีนฉบับนี้ก็มีตั้งแต่ข่าวต่างประเทศ ข่าวการเมืองในไทย ข่าวอาชญากรรม ส่วนกรอบในส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของนวนิยาย ตั้งแต่วรรณกรรมจีน งานเขียนหลากหลายประเภทสลับสับเปลี่ยนกันให้อ่านทั้งในรูปแบบสารคดี เรื่องสั้น และบางครั้งยังตีพิมพ์วรรณกรรมจากสมาคมนักเขียนจีนในไทย

ส่วนเรื่องที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านของซิงจงเอี๋ยน คือ เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารการกิน คนอ่านต้องการรู้ว่าของกินประเภทไหนที่ทำให้สุขภาพดี

ประวัติศาสตร์ น.ส.พ. จีน และซิงจงเอี๋ยน

หนังสือพิมพ์ ซิงจงเอี๋ยน ก่อตั้งขึ้นมาด้วยแรงหนุนของบรรดานักธุรกิจจีนชื่อดังในไทย เมื่อปี 2481 ในยุคแรกใช้ชื่อว่า “ตงง้วน” ซึ่งอ่านออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว

ในเวลานั้นมีหนังสือพิมพ์จีนอยู่ 4 ฉบับ แต่ละฉบับต่างมีจุดยืนต่างกันไป บางฉบับสนับสนุนข้างฝ่ายเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนอีกฝ่ายหนุนแนวคิดของ เจียง ไค เช็ก ผู้นำกองทัพชาตินิยม ส่วนหนังสือพิมพ์ตงง้วน ผุสดีบอกว่าทำข่าวโดยดำเนินตามนโยบายสายกลาง “แต่เอียงซ้ายนิด ๆ” ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนในขณะนั้น

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ร้านขายหนังสือ “รัตนแสง” ย่านสะพานควาย ยังคงรับหนังสือพิมพ์จีนมาขายทุกวัน ทั้งหมด 5 ฉบับ รวมทุกฉบับคละกันวันละ 15 เล่ม ส่วนฉบับที่ขายขาดไม่รับคืน ทางร้านไม่ได้รับมาขายหน้าร้าน แต่รับให้ผู้ซื้อที่เหมาประจำ

ตงง้วน ผ่านยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหนังสือพิมพ์จีนฉบับนี้ถูกญี่ปุ่นเข้าควบคุมกิจการอยู่ 1 ปี ซึ่งผุสดีบอกว่าเพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นครองอำนาจผ่านการรัฐประหาร ผู้นำได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์จีน 2 ฉบับ คือตงง้วน และกงฮั้ว ด้วยเหตุผลว่า “เขาบอกว่าซ้าย ก็เลยปิดไป” เหลือเพียงหนังสือพิมพ์ซินเสียงเยอะเป้า และสากล

หนังสือพิมพ์จีนในไทยมีอยู่ 4 ฉบับ จนกระทั่ง ตงง้วน กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหลังปี 2516 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ พร้อมกับชื่อที่เปลี่ยนจาก “ตงง้วน” เป็น “ซิงจงเอี๋ยน” ซิง แปลว่า ใหม่ จงเอี๋ยน เป็นคำที่เขียนแบบเดิม ทว่าอ่านออกเสียงแบบจีนกลางแมนดาริน

“กลางวันทำหนังสือพิมพ์ไทย กลางคืนทำหนังสือพิมพ์จีน”

ในวัย 82 ปี ผุสดียังคงเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ เธอเริ่มเข้ามาดูแลกิจการและเป็นเจ้าของในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบราวปี 2525 แต่ก่อนหน้านั้น ผุสดีก็มีอาชีพเป็นนักข่าวมาตั้งแต่ปลายยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

“เริ่มทำข่าวที่หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์เป็นที่แรก ทำได้ไม่กี่วันจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อนิจกรรม” ผุสดีเล่าถึงการทำงานที่แรกหลังจากจบวารสารศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์เมื่อปี 2507

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เริ่มใส่เพลทหนังสือพิมพ์ 4 ทุ่ม และพิมพ์เสร็จเกือบเที่ยงคืน

หลังจากนั้นก็ผ่านการทำงานกับทีวีสีช่อง 7 และสิ้นสุดที่เนชั่น ก่อนจะมารับไม้ต่อทำหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน ผุสดีบอกว่าตัดสินใจแบบนั้นเพราะ “คนรู้ภาษาจีนน้อยก็เลยทิ้งเนชั่น แล้วมาอยู่ตรงนี้”

ตลอดเวลาที่มีอาชีพนักข่าวเขียนข่าวภาษาไทยในช่วงกลางวัน แต่อีกภาคหนึ่งผุสดีอุทิศให้กับหนังสือพิมพ์จีน วิถีชีวิตแต่ละวันของเธอคือ “กลางวันทำหนังสือพิมพ์ไทย กลางคืนทำหนังสือพิมพ์จีน” ที่มีจุดเริ่มต้นจากการชักชวนของสามีที่ทำหนังสือพิมพ์จีนอยู่แล้ว และคลุกคลีอยู่ในวงของคนจีนด้วยกัน

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

สำนักงานหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน ในปัจจุบัน ชั้นล่างเป็นฝ่ายการเงิน ส่งกอง บก. ชั้นบน เป็นส่วนทำงานของพนักงานเข้าหน้าหนังสือพิมพ์

การทำงานของกองบรรณาธิการในอดีตจะมีแผนกแปลข่าวภาษาต่างประเทศจากอังกฤษเป็นจีน อีกแผนกหนึ่งแปลจากภาษาไทยเป็นจีน แต่ทุกวันนี้เหลือคนแปลข่าวเพียง 2-3 คน กับคนเข้าหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะทำงานจนถึง 3-4 ทุ่ม ก็ปิดหน้าหนังสือพิมพ์เรียบร้อย

“กอง บก. (ในอดีต) คนเยอะ คึกคักดี ไม่เหมือนทุกวันนี้ ทุกวันนี้ดูเหมือนมีแต่คนพิมพ์ดีด พิมพ์คอมพ์ คนสองคน แล้วก็คนเข้าหน้าเท่านั้น ทุกอย่างงานมันรวดเร็วขึ้นไม่เหมือนสมัยก่อนที่ใช้เป็นตัวเรียงพิมพ์”

ถ้ามีเต็งลั้ง (โคมไฟจีน) แขวนหน้าบ้านอันนึง เท่ากับคนอ่าน นสพ.จีน ลดลง 1 ฉบับ

“ยอดพิมพ์ในยุคนั้น หนังสือพิมพ์จีนไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ ทุกฉบับรวมกันไม่เกินแสน” ผุสดี เล่าถึงยุคทอง หลังจากหนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิดทุกฉบับในสมัยที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใช้อำนาจพิเศษสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายครั้งในปี 2519

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ปัจจุบันผุสดียังเขียนคอลัมน์ประจำ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีเล่าเรื่องสถานที่ที่เดินทาง รวมทั้งวิเคราะห์การเมืองเศรษฐกิจ

ปัจจุบันนอกจากเป็น บก.ผู้พิมพ์โฆษณาแล้ว ผสุดียังถือหุ้นร่วมกับหุ้นส่วนอีก 4-5 ราย โดยมีธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

ทุกวันนี้แทบจะไม่มีหนังสือพิมพ์จีนฉบับใดในไทยที่ตีพิมพ์เกิน 10,000 ฉบับต่อวัน ซิงจงเอี๋ยนเอง ส่งหนังสือพิมพ์ถึงมือผู้อ่านด้วยวิธีบอกรับสมาชิก ซึ่งทำให้ควบคุมปริมาณการพิมพ์ได้ และแทบจะไม่มีการวางขายตามแผงหนังสือพิมพ์

บก.ผู้พิมพ์โฆษณาซิงจงเอี๋ยน เปรียบเทียบจำนวนผู้อ่านที่ลดลงในปัจจุบันให้ฟังอย่างเห็นภาพได้ไม่ยากว่า “คนจีนรุ่นเก่าตายไปคนหนึ่ง ต้องมีเต็งลั้ง (โคมไฟ) แขวนหน้าบ้าน ถ้ามีโคมไฟอันหนึ่งก็แปลว่า (คนอ่าน) น้อยไปฉบับหนึ่ง”

ในยุคหนึ่งรัฐมีการควบคุมการอ่านเขียนภาษาจีนในไทยทำให้เกิดสิ่งที่ผุสดีเรียกว่า “เป็นคนจีน ลูกจีนแต่อ่านภาษาจีนไม่ออก” ต่างจาก พ.ศ. ปัจจุบันที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนยุคใหม่เข้ามา แม้จะทำให้ภาษาจีนมีความสำคัญขึ้นและมีคนเรียนมากขึ้น แต่ก็ผ่านเลยยุคสมัยที่คนอ่านข่าวจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ไปแล้ว

“ลูกหลานเขาน้อยมากที่จะอ่าน รุ่นคนจีนที่เกิดเมืองไทย อย่างรุ่นพี่ที่เกิดเมืองไทย รุ่นนี้สามารถที่จะอ่านหนังสือพิมพ์จีนได้ แต่มีน้อยมาก คิดว่าต่ำกว่า 40 (ปี) ไม่มี จะเรียกว่าต่ำกว่า 50 ก็ได้”

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/BBC THAI

หนังสือพิมพ์จีน กับอิทธิพลจีนสองฝ่าย

ชีวิตของหนังสือพิมพ์จีนในไทยยังนับเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองของจีนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง

“ภาษาจีนในยุคที่เฟื่องที่สุด คือ ยุคที่ฮัน เน วู เป็น ทูตไต้หวันประจำประเทศไทย ยุคนั้นเป็นช่วงที่ไทยยังไม่เปิดสัมพันธ์กับจีนแดง อิทธิพลของสถานทูตไต้หวันมีมากในขนาดนั้น” ผุสดีเล่าประวัติศาสตร์ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

บทความของ ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นักวิชาการรัฐศาสตร์สำนักธรรมศาสตร์ บนฐานข้อมูลการเมืองการปกครองเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีเหมา เจ๋อตุง เป็นผู้นำที่ได้อำนาจในกรุงปักกิ่งแผ่นดินจีนมาตั้งแต่ 2492 นั้น “ไทยไม่ได้รับรอง” และไทยได้เลือกรับรองและมีความสัมพันธ์กับจีนไต้หวันของรัฐบาลเจียง ไคเช็ก เรื่อยมา ก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

“นอกจากหนังสือพิมพ์สากลที่ขวาจัด ฉบับอื่นก็กลาง ๆ เพราะว่าปฏิวัติแล้ว รัฐบาลยุคนั้นก็ขวาจัด ทุกคนก็อยู่ในกรอบ ไม่กล้าลงอะไรที่สนับสนุนจีนแดง และก็ไม่ได้ใช้ข่าวของจีน ใช้แต่เอเอฟพี เอพี รอยเตอร์ แปลจากอังกฤษเป็นจีน” ผุสดีเล่า และบอกว่าทุกวันนี้ข่าวภาษาจีนได้หันมาใช้เนื้อหาจากสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนแทน

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโสที่เคยอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์จีน เล่าให้เราฟังในเรื่องนี้เช่นกันว่า “ในอดีตหนังสือพิมพ์จีนค่อนข้างเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลไต้หวันฝ่ายขวา การเสนอข่าวเกี่ยวกับจีนคอมมิวนิสต์หรือจีนแผ่นดินใหญ่ถือเป็นความผิด”

ฟัง “เฮียหงวน” เล่าชีวิตนักข่าวหนังสือพิมพ์จีน

ชีวิตของ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ หรือที่รู้จักกันดีในกลุ่มแวดวงคนรักประชาธิปไตยว่า “เฮียหงวน” เริ่มต้นการทำงานที่แรกที่หนังสือพิมพ์เกียฮั้วตงง้วน (ศิรินคร) ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่กี่วัน

เฮียหงวน ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 65 ปีแล้ว เล่าความหลังเมื่อครั้งเป็นนักข่าวหนุ่มที่อายุน้อยที่สุดในกองบรรณาธิการว่า หลังเรียนจบจากไต้หวันและเดินทางกลับไทย เขาได้รับเงินเดือน 3,000 บาท ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวราคาเพียงชามละ 5 บาท

กองบรรณาธิการเกียฮั้วตงง้วนตั้งอยู่ชั้นบนของโรงพิมพ์ ส่วนชั้นล่างเป็นฝ่ายโฆษณาและการเงิน

“ตอนเด็ก ๆ ผู้จัดการก็บอกว่า หงวน ลื้อต้องช่วยหาโฆษณาด้วยนะ” เฮียหงวน เล่า “หลัง 2-3 ทุ่ม ไปหนังสือพิมพ์จีนดีกว่าคนอื่น เพราะเขามีข้าวต้มกุ๊ยแจกฟรี แล้วอร่อยด้วย”

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หน้าสำนักงานซิงจงเอี๋ยนที่ย่านตลาดน้อย ได้ติดกระดานที่นำหนังสือพิมพ์มาติดไว้ทุกวัน

วันทำงาน วันหยุดและวันตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์จีนอ้างอิงตามวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ของไทย แต่ฉบับที่ออกขายก่อนวันหยุดนั้น “หนังสือพิมพ์จะหนาปึ้ก”

จากความทรงจำของเฮียหงวน หนังสือพิมพ์จีนที่ขายดีที่สุดคือเมื่อครั้งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนที่ขึ้นครองอำนาจหลังเหมา เจ๋อตุง เดินทางมาเยือนไทย หลังเปิดสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว เฮียหงวนเล่าอย่างภูมิใจว่า เขาเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์จีนคนเดียวที่ได้สัมภาษณ์ทำข่าวผู้นำที่คนไทยเชื้อสายจีนในไทยตั้งตารออ่านข่าว

ส่วนเรื่องราวของการเมืองในไทย สงวน บอกว่า หนังสือพิมพ์หัวจีนทุกหัว “ไม่แตะต้องการเมืองภายในหรือเขียนบทวิจารณ์รัฐบาลไทยเลย” มาแต่ไหนแต่ไร โดยส่วนใหญ่เสนอข่าวต่างประเทศเป็นหลัก

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ข้อมูลจากวงเสวนาเรื่องหนังสือพิมพ์จีน โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เมื่อปี 2559 มีการประเมินว่า หนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับรวมกันมียอดจำหน่ายวันราว 20,000 ฉบับ

แต่แม้กระนั้นแล้วหนังสือพิมพ์จีนก็ยังเป็นหน้ากระดานที่นักการเมืองชั้นนำของไทยใช้สื่อสารไปยังกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญในการเลือกตั้ง

“เวลาพรรคการเมืองเลือกตั้ง พวก ส.ส. บางคนที่มีชื่อจีนก็ต้องลงหนังสือพิมพ์จีน เวลาเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็เช่นกัน อย่างอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีชื่อจีนนะ เสียงคนจีนยังสำคัญ มียุคหนึ่งที่พูดกันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของลูกจีน ก็ยังเห็นมีความเชื่ออย่างนั้น พรรคอื่นใช้วิธีนี้ด้วย แต่น้อยมาก”

หนังสือพิมพ์จีน จะยืนหยัดไปได้อีกนานแค่ไหน

ไม่ต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ในไทย ซิงจงเอี๋ยนในวันนี้ แม้จะยังมีโฆษณาเข้าอยู่แต่ก็ลดลงไปมาก ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่หนังสือพิมพ์จีนฉบับอื่น ๆ เริ่มหันไปทำเว็บไซต์เพื่อลงข่าวทางอินเทอร์เน็ต

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/bbc thai

เกือบเที่ยงคืน แท่นพิมพ์เก่าแก่หยุดทำงาน พนักงานโรงพิมพ์ที่มีอยู่สองชีวิตทยอยจับเล่มไส้ในเข้ากับปกด้านนอก ก่อนจัดห่อ และใช้ปากกาเมจิกเขียนชื่อร้านผู้รับสายส่งปลายทางที่มีตั้งแต่ย่านสะพานควาย เบตง ปัตตานี เชียงใหม่ แต่ที่ห่อหนากว่าปลายทางที่อื่นคือห่อหนังสือพิมพ์ที่ส่งไปหาดใหญ่

“ทุกวันนี้ก็หาคนทำยาก ไม่ใช่หาคนอ่านยาก ไม่มีรุ่นใหม่ที่จะมารับมือ ดิฉันก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าในอนาคตเจ้าของธนาคารกรุงเทพ จะยืนหยัดนานเท่าไหร่ หรือจะมีใครมารับมือไป” ผุสดีทิ้งท้าย

“หนังสือพิมพ์จีนยังมีความหมายที่จะมีชีวิตอยู่…. มันยังมีความหมายสำหรับผู้อ่าน”



Source link