‘ททท.’ ชี้ไทยเคยผ่านม็อบมาแล้ว มีแผนรับมือชัดเจน รับตั้งรัฐบาลช้าทำเสียโอกาส
‘ททท.’ ชี้ไทยเคยผ่านม็อบมาแล้ว มีแผนรับมือชัดเจน รับตั้งรัฐบาลช้าทำเสียโอกาสที่ควรได้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจล่าช้ากว่ากำหนด รวมถึงการชุมนุมประท้วงที่เริ่มมีสัญญาณเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยหรือไม่นั้น ประเมินว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยเจอการชุมนุมมาแล้ว ซึ่งก็มีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยง รวมถึงยังเห็นการจองเที่ยวที่อื่นอยู่ อาทิ ภูเก็ต สมุย ยังสามารถเที่ยวได้ปกติ แต่ในกรณีการชุมนุมประท้วงจะมีการออกคำเตือน ซึ่งเชื่อมโยงกับประกันการเดินทางที่อาจไม่คุ้มครอง แต่เนื่องจากเราเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว จึงมีแนวปฏิบัติในการรับมือที่ชัดเจนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงต้องมองแยกกัน เพราะปี 2566 เราต้องการให้รายได้ท่องเที่ยวฟื้นกลับมา 80% ส่วนปี 2567 จะกลับมาที่ 100% ทำให้หากปีนี้ท่องเที่ยวหลุดจากเป้าหมายไปมาก ปีหน้าก็อาจเหนื่อยกว่าเดิม จึงต้องแยกเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว และการเมืองออกจากกัน เพราะหลายประเทศก็ยังเดินทางท่องเที่ยวกันแบบปกติด้วย และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคำถามหรือส่งความห่วงใยสถานการณ์การรเมืองไทยเข้ามาทั้งสิ้น
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า หากได้นายกรัฐมนตรีทันไทม์ไลน์ตามกำหนดจะเป็นผลบวกมากน้อยอย่างไรนั้น มองว่าไม่ได้มีผลเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่หากได้รัฐบาลเร็ว ก็จะได้คนที่สามารถตัดสินใจในการทำงานอย่างชัดเจนได้ เพราะท่องเที่ยวไทยมักเผชิญปัญหาที่ไม่คาดคิดอยู่เสมอ อาทิ สถานการณ์ความล่าช้าของงบประมาณ แม้สิ้นปีนี้คงไม่มีปัญหา แต่ต้องมองไปต้นปี 2567 เพราะต้องเราต้องนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มตามเป้าหมายการฟื้นท่องเที่ยวกลับมา 100% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ประกอบกับที่ทุกคนคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น เราจึงต้องทำให้เครื่องยนต์เดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อพร้อมแก้ไขปัญหาและรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเสนอรอโหวตนายกฯ ไปจนถึง 10 เดือน เพื่อรอส.ว.หมดวาระการทำงาน จะส่งผลกระทบต่อกรอบงบประมาณหรือไม่นั้น มองว่าก็คงไม่ได้เกี่ยวข้องมากนัก แต่จะกระทบเฉพาะงบลงทุน ที่รัฐวิสาหกิจต้องวางแผนล่วงหน้า 2 ปี แต่เนื่องจากของททท.ไม่ได้มีมากขนาดนั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลกระทบอาจทำให้เราเสียโอกาสในบางเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าหลายประเทศก็กลับมารุกทำการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแล้ว หากเราเริ่มต้นก่อนก็ได้โอกาสก่อน แต่เมื่อทุกประเทศเริ่มกลับมา เราก็มาติดขัดเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567 ซึ่งทั้งหมดก็เป็นข้อจำกัดที่ถือเป็นความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการให้ได้
“การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจต้องพิจารณาสถานการณ์ตามฤดูของการท่องเที่ยว เพราะหากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) อยู่แล้ว แม้กระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มเติมแบบมากๆ แต่ตลาดต่างประเทศเข้ามาจนเต็ม ตลาดไทยก็อาจเข้าไปเพิ่มไม่ได้ เพราะจำนวนมีมากแล้ว รวมถึงราคาห้องพักก็อาจอยู่ในระดับสูงตามความต้องการ (ดีมานด์) ที่มีอยู่สูงๆ ด้วย ทำให้อาจต้องหันไปทำในมิติอื่นเพิ่มเติม อาทิ เมืองรอง เที่ยววันธรรมดา เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ก็เป็นสิ่งที่อยากเห็นมากสุด” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการประกาศหยุดยาว 6 วันต่อเนื่องนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มี จึงยังไม่สามารถประเมินการใช้จ่ายที่มีผลต่อภาพเศรษฐกิจได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยให้ออกเดินทางเที่ยวในประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดระยะใกล้ เดินทางประมาณ 200-30 กิโลเมตร โดยไทม์ไลน์การประกาศที่มองว่าอาจกระชั้นชิดเกินไป ประเมินว่ารัฐบาลมองถึงการกระตุ้นการเที่ยวในประเทศเป็นหลัก เพราะหากประกาศล่วงหน้า อาทิ ก่อนหยุดจริง 1 เดือน ถามว่าคนจะไปเที่ยวต่างประเทศหรือในประเทศมากกว่ากัน ซึ่งปกติระยะเวลาในการตัดสินใจท่องเที่ยวต่างประเทศก็ประมาณ 30 วันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่พอมีการประกาศออกมา คนน่าจะวางแผนเดินทางกันแล้ว นอกจากนี้ ความกังวลในแง่การปรับราคาขึ้นของโรงแรมในช่วงวันหยุดยาวนั้น ถือเป็นเรื่องของกลไกการตลาด ซึ่งต้องปล่อยให้เป็นไปตามดีมานด์ที่มีมากในแต่ละช่วงเวลา