ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย คนเสื้อแดงเผย เป็นความฝันที่รอคอย 17 ปีเป็นจริงแล้ว
การกลับมาสู่แผ่นดินเกิดของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ที่จำต้องลี้ภัยเพื่อหนีคดีในต่างแดนกว่า 15 ปี เป็นไปตามกำหนดการที่ได้วางไว้ทุกประการ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวผู้ที่ใช้เวลาลี้ภัยในต่างประเทศกับนายทักษิณกว่า 6 ปี เดินทางมาส่งพี่ชายด้วยตัวเองที่สิงคโปร์ หลังจากเดินทางร่วมกันมาจากนครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เธอบรรยายความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมแนบภาพการสวมกอดพี่ชายเป็นครั้งสุดท้ายว่า เธอรู้สึกใจหาย เพราะเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้เดินทางด้วยกัน แต่ก็อวยพรให้พี่ชายโชคดี และไม่ต้องห่วงน้องสาวคนนี้
ต่อมาสื่อหลายสำนักทั้งในไทยและต่างชาติรายงานตรงกันว่า เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวที่มีผู้โดยสารชื่อ นายทักษิณ เดินทางออกจากสนามบินที่สิงคโปร์เมื่อเวลา 7.09 น. ตามเวลาในไทย
ความสนใจของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตพุ่งตรงไปที่การติดตามเครื่องบินรุ่น Gulfstream G650 รหัส GLF6 ที่คาดว่ามีนายทักษิณโดยสารมาด้วย แบบเรียลไทม์บนเว็บไซต์ Flightradar24 จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเผยแพร่ภาพการร่อนลงจอดของเครื่องบินลำดังกล่าวบนรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองเวลา 9.08 น. ถือเป็นการยืนยันว่า อดีตผู้นำพลัดถิ่นได้เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว
2 นาทีที่มีความหมาย
ต่อมาเวลา 9.25 น. นายทักษิณ ได้ปรากฏตัวหน้าทางเข้าอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล ก่อนที่จะเดินไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร โดยมีสมาชิกในครอบครัวชินวัตรยืนประกบด้านหลัง ไม่ว่าจะเป็นนายพานทองแท้ บุตรชายคนโต, พินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรสาวคนรอง และแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก พร้อมด้วย 2 ลูกเขยอุ้มและจูงหลาน ๆ มารอรับด้วย
ทันทีที่นายทักษิณปรากฏตัว เสียงเชียร์จากบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงผู้สนับสนุนที่เดินทางมาต้อนรับทั้งในพื้นที่ด้านในเขตรับรองกลุ่มวีไอพี และเขตรับรองด้านนอกเขตสนามบินก็ดังขึ้นด้วยความปลื้มปีติยินดี
“เรารักทักษิณ เรารักทักษิณ ไชโย ๆ สู้ ๆ ”
แม้การปรากฏตัวของอดีตนายกฯ จะยาวนานเพียง 2 นาทีเท่านั้น แต่ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นการจุดความหวังของกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงให้ลุกโชนขึ้นมา หลังจากที่เฝ้ารอมานานกว่า 17 ปี สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากสีหน้าและรอยยิ้มของผู้ที่มารอต้อนรับ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีโอกาสพบหน้านักการเมืองในดวงใจของเขาก็ตาม
“เห็นท่านในวิดีโอเมื่อเช้า เห็นว่าท่านยังมีชีวิตอยู่แค่นั้นก็ดีใจมาก และก็ตามมาส่งท่าน (ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ) และก็จะรอจนกว่าจะรู้ว่า ท่านเป็นอย่างไรก็เท่านั้น อยากฝากถามท่านว่า ท่านรู้สึกอย่างไร รู้สึกดีใจเหมือนพวกเราไหม” นางชยาพัฒน์ ไรท์ ชาว จ.มหาสารคาม ที่เดินทางมาต้อนรับนายทักษิณทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ บอกกับบีบีซีไทย
“พวกเราห่วงสุขภาพท่านนะคะ และดีใจ ผืนแผ่นดินนี้เป็นของท่านเหมือนกัน แต่เราไม่ขอพูดถึงประเด็นอื่น ๆ นะคะ รักท่านค่ะ”
“คอยท่านมา 17 ปีแล้ว วันนี้มีความสุขที่สุด”
ก่อนเหตุการณ์ที่ต้องจารึกในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยจะเกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยสังเกตว่า มวลชนคนเสื้อแดงที่เดินทางมาร่วมต้อนรับผู้นำจิตวิญญาณของพวกเขา ได้ตกแต่งสถานที่รอบทางเข้าถนนเทวฤทธิ์พันลึก ซึ่งใช้เป็นช่องทางเข้าสนามบินดอนเมืองที่ 9 ใกล้ทางเข้าอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล (MJets) ด้วยป้ายไวนิลขนาดใหญ่และเล็กตลอดระยะทาง พร้อมกับรถกระจายเสียงเปิดเพลงประจำของชาวเสื้อแดงอย่างคึกคัก
มีรายงานว่า คนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับทักษิณที่สนามบินดอนเมืองนี้ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย กาฬสินธุ์ หนองคาย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และนครราชสีมา เป็นต้น บางคนมาปักหลักตั้งแต่เวลา 5.30 น.
“คอยท่านมา 17 ปีแล้ว วันนี้มีความสุขที่สุด วันที่ได้เห็นกลับมาเมืองไทย” นางศิริพร วิบูลย์จันทร์ วัย 75 ปี ชาวบ้านไผ่ จากจังหวัดขอนแก่น บอกกับบีบีซีไทย
เธอบอกว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีคนบอกว่านายทักษิณเป็นคนไม่ดี แต่เขาก็มีหัวดีทางการค้า จึงทำให้เศรษฐกิจดี สิ่งที่ชื่นชอบที่สุดคือ นโยบายการปราบปรามยาเสพติดที่ทำให้ลดปัญหาทางสังคมขึ้น ด้วยเหตุนี้เธอจึงคาดหวังว่าการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรีจะส่งผลให้ฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ หากว่าเขาได้มีโอกาสในการให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น
นายประวิตร ปองขุนทศ วัย 62 ปี ชาวนครราชสีมา บอกกับบีบีซีไทยว่า นายทักษิณถือเป็นคนดีมีความสามารถ แต่ที่ผ่านมาก็รู้สึกเหนื่อยใจหลังจากที่รัฐบาลของนายทักษิณถูกรัฐประหาร เพราะกลุ่มคนรากหญ้าอย่างพวกเขาต้องเผชิญความยากลำบากอย่างมาก
หวนคิดถึงนโยบายที่ทำสำเร็จในอดีต
นายอุ้ม อายุ 49 ปี จาก อ.พนมดงรัก ที่เดินทางมาด้วยกับคณะชาวสุรินทร์เสื้อแดง 10 คันรถ ที่ปักหลักรอที่ริมถนนเทวฤทธิ์พันลึก บอกว่า อยากให้นายทักษิณกลับมานานแล้ว ยังคิดถึงนโยบายที่ประสบความสำเร็จของนายทักษิณเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค และการรับประกันราคาสินค้าการเกษตร
อย่างไรก็ตาม เขามีความคาดหวังไม่มากในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายทางการเมืองในขณะนี้ แม้ว่าจะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากในฝ่ายรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นไม่ได้มีเพียงพรรคเพื่อไทย และไม่สามารถคุมเสียงแบบเบ็ดเสร็จได้เหมือนแต่ก่อน จึงไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็อยากให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน
นางบัวหลวง อาษาพล นักธุรกิจจากอุบลราชธานี กล่าวว่า เธอดีใจกับครอบครัวของนายทักษิณ และอดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งประชาชนไทย พร้อมแสดงความรู้สึกว่า เสียดายโอกาสของไทยที่สูญหายไประหว่างที่นายทักษิณลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ
“หากว่าท่านไม่ได้ลี้ภัยทางการเมือง ประเทศไทยน่าจะกลายเป็นประเทศชั้นนำของเอเชียไปแล้ว” เธออธิบายความรู้สึก
ขณะที่นายไพศาล จันปาน อายุ 50 ปี พนักงานแท็กซี่ส่วนบุคคลที่มาร่วมส่งนายทักษิณที่ด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ บอกว่า มีหลายนโยบายในอดีตของรัฐบาลของนายทักษิณที่ถูกพรากไปหลังจากการเกิดรัฐประหารในปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่คนกรุงเทพฯ ควรจะได้เริ่มใช้ในปี 2555 เช่นเดียวกันกับในปัจจุบัน แต่โครงการถูกทำให้ล่าช้า
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหนึ่งอำเภอหนึ่งดอกเตอร์ที่ถูกยกเลิกไป ทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และนโยบายหวยบนดิน ซึ่งหากว่ายังคงดำเนินการ รัฐคงมีรายได้เพิ่มเติมในการพัฒนาประเทศ
เชื่อการกลับมาของทักษิณ ส่งสัญญาณของความสามัคคี
นายไพศาลกล่าวยอมรับว่า เขาเคยไปมอบดอกไม้ให้กับเหล่าทหารหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 แต่หลังจากเข้ารับการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงทำให้เข้าใจเกี่ยวกับการเมืองของไทยมากขึ้น
“ท่านเป็นนายกฯ มาสองสมัย คงรู้อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรปลอดภัย และคนที่ศรัทธาเคารพท่านก็ยังคงมีเยอะอยู่ คงรู้ว่าเวลาไหนที่ควรไม่ควรที่ท่านจะกลับมา ผมว่า ท่านกลับมาก็ดี ก็สื่อว่าเราเริ่มที่จะคุยกัน เริ่มที่จะสามัคคี เริ่มที่จะจับมือกัน บ้านเราไม่ควรเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ไม่ควรเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ให้มองตัวอย่างอย่างความขัดแย้งทางการเมืองในเวียดนาม หรือ เยอรมนี ที่ในที่สุดก็มาจับมือกัน” เขากล่าว
นักกิจกรรมทางการเมืองรายนี้มองว่า การกลับมาของนายทักษิณเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะกลับมาเลี้ยงหลาน หรือมาบริหารบ้านเมือง หรืออยู่เบื้องหลังการทำงานทางการเมือง เขาเคารพการตัดสินใจของอดีตผู้นำอันเป็นที่รักของเขา
พิพากษาจำคุกทักษิณ 8 ปี จาก 3 คดี
การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลังจากผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ นำนายทักษิณ บุคคลตามหมายจับมาส่งต่อศาลแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แจ้งคำพิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลารวม 8 ปี
เอกสารข่าวจากศาลฎีกาฯ ระบุรายละเอียดว่า นายทักษิณยอมรับว่าเป็นจำเลยในคดีทั้ง 3 คดี ได้แก่
- คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 หรือคดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาทให้แก่เมียนมา ลงโทษจำคุก 3 ปี
- คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 หรือคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือที่เรียกกันว่า “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ ลงโทษจำคุก 2 ปี
- คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 หรือคดีให้นอมินีถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี
เอกสารข่าวระบุต่อด้วยว่า ศาลฎีกา ให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ดังนั้น รวมโทษจำคุกนายทักษิณจึงเป็นเวลาทั้งสิ้น 8 ปี
เส้นทางหลังม่านเรือนจำของทักษิณ
หลังจากกรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเรียบร้อยแล้ว โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ตรวจสุขภาพนายทักษิณ พบว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากอายุเกิน 60 ปี จากประวัติ พบว่ามีโรคประจำตัวต้องรักษาอย่างต่อเนื่องจึงต้องมีการแยกการคุมขังไว้ที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
นอกจากนี้ยังพบว่านายทักษิณมีโรคประจำตัวที่ต้องเฝ้าระวัง เกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งปัจจุบันมีการรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ นอกจากนี้ยังมีภาวะเกี่ยวกับปอด จากประวัติการติดเชื้อโควิด-19 ที่เคยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง และมีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ และมีการตรวจพบว่ามีการกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง รวมทั้งอาการเดินที่ผิดปกติ
ในเบื้องต้นนายทักษิณเข้าสู่ระบบการกักตัวก่อน 10 วัน
ส่วนกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณนั้น นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าให้เป็นไปตามแนวทางที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า นายทักษิณ สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขัง
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของกระบวนการนี้ว่า โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 1-2 เดือน เรื่องจึงจะไปถึงสำนักองคมนตรี “ส่วนขั้นตอนกระบวนการวินิจฉัยข้างบนก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่พระราชอำนาจ ไม่มีเงื่อนกำหนดเวลา” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุ