ทักษิณ ชินวัตร: ในหลวง รัชกาลที่ 10 “พระราชทานอภัยลดโทษ” ทักษิณ ชินวัตร เหลือจำคุก 1 ปี
เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี
พระราชหัตถเลขา ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 ส.ค. 2566 มีความว่า ตามที่ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คือ
- คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี
- คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี
- คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี
รวม นช.ทักษิณ มีกำหนดโทษจำคุก 8 ปี โดยรับโทษมาแล้ว 10 วัน เหลือโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
“ความว่าเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” พระราชหัตถเลขา ระบุต่อ
“เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”
“ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยหลังมีการพระราชทานอภัยลดโทษนายทักษิณว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ก็จะดำเนินการปกติเช่นนักโทษทั่วไป นั่นคือถ้านายทักษิณหายป่วยก็จะต้องกลับเข้าเรือนจำ ส่วนการพระราชทานอภัยลดโทษ ขณะนี้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่ามีผลบังคับทันที อีกทั้งนายทักษิณจะไม่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้เพิ่มอีก นั่นหมายความว่านายทักษิณต้องโทษจำคุกอีก 1 ปี และไม่มีการลดหย่อนโทษอีก เพราะถือเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดแล้ว
ขอพระราชทานอภัยโทษ 9 วัน หลังถึงไทย
9 วันหลังเดินทางกลับไทย ในที่สุดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.
เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขา พระราชทานอภัยลดโทษในวันที่ 31 ส.ค. หมายความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวัน พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ นักโทษชายทักษิณ
อย่างไรก็ดี วานนี้ (31 ส.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว แต่ขอตรวจสอบเอกสารก่อน ยังบอกไม่ได้ว่าจะนำส่งทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
นายวิษณุกล่าวให้คำยืนยันว่า นายทักษิณป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจริง ออกจากเรือนจำพิเศษจริง เพราะป่วย ความดันโลหิตขึ้นเกือบ 200 และกินยาสลายลิ่มเลือดและมีภูมิแพ้ ร่วมกับสลดหดหู่ใจ ทำให้อาการทรุดหนักลง แต่ขนาดไหนนั้นตนไม่ทราบ จึงได้มีการส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งนี้นายวิษณุกล่าวว่า ได้พูดคุยกับนายแพทย์ใหญ่ของ รพ.ตำรวจ เพื่อฝากฝังให้ช่วยดูแลช่วงที่นายทักษิณอยู่ รพ.ตำรวจ ด้วย
สำหรับนายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อ 22 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก่อนได้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกฯ คนใหม่
นายทักษิณต้องรับโทษจำคุกรวม 8 ปี จาก 3 คดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงเที่ยงของวันที่ 22 ส.ค. อย่างไรก็ตามอดีตนายกฯ วัย 74 ปีถูกส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจกลางดึกของคืนนั้น และอยู่ในโรงพยาบาลดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ หากถูกยกฎีกา ผู้ต้องขังต้องรอเวลาอีก 2 ปี จึงจะยื่นฎีกาได้ใหม่อีกครั้ง
ทักษิณ รับโทษใน รพ. ไม่ใช่เรือนจำ ?
ก่อนหน้าการเผยแพร่พระราชหัตถเลขา ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า การอภัยโทษมี 3 อย่างคือ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ และปล่อยตัว ซึ่งการปล่อยตัวก็จะมีเงื่อนไขอื่นด้วยได้
สื่อมวลชนสอบถามว่านายทักษิณอยู่ที่โรงพยาบาล จะถูกนับว่า “จำคุกด้วยหรือไม่” นายวิษณุ กล่าวว่า “นับอยู่ในกำหนดระยะเวลาด้วย” และ ถือว่าอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ตลอด
“เราถึงต้องส่งพนักงานกรมราชทัณฑ์ 4 คนไปเฝ้า และมีอำนาจออกระเบียบว่าใครเข้าเยี่ยมบ้าง และเข้าเยี่ยมได้กี่คน คนละกี่นาที รวมทั้งตัดผมหรือไม่ตัดผม เสื้อผ้าใส่ชุดไหน กรมราชทัณฑ์เป็นผู้กำหนดทั้งหมด”
เมื่อถามว่า “อภิสิทธิ์” ที่นายทักษิณได้รับ จะเป็นน้ำผึ่งหยดเดียวที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่เห็นว่าเป็นอภิสิทธิ์อะไร แต่เป็นสิทธิ์ที่นักโทษพึ่งมี ถ้าป่วยจริง ถือเป็นสิทธิ์ธรรมดา ไม่ใช่อภิสิทธิ์”
“นักโทษธรรมดาก็ส่งไปโรงพยาบาลตั้งเยอะแยะ และภายใน 1-2 วันตนก็จะพ้นเกี่ยวกับกระทรวงยุติธรรมก็คงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เอาไว้ถามรัฐมนตรียุติธรรมคนใหม่” เขาตอบ