“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” รีเทิร์น? “จีนเทา” ส่งนอมินีเช่าวัดไทย ขายพระปลอม “มังกรสายมู”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – จากปรากฎาการณ์คนจีนกับกระแสนิยมพระเครื่องวัตถุมงคลของเกจิดังๆ เมืองไทย ด้วยศรัทธาในพุทธคุณต่างๆ ทั้งเรื่องของความเมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย แคล้วคลาดปลอดภัย ฯลฯ กลายเป็นช่องทางธุรกิจให้ทุนจีนสีเทารุกคืบพุทธพาณิชย์ ส่งนอมินีเช่าวัดไทย “ปั๊มพระขายเอง ปลุกกระแสพระใหม่ ราคาจับต้องได้” และ “ขายพระปลอม กว้านซื้อพระเครื่องราคาถูก หลอกขายนักท่องเที่ยวชาวจีนในราคาแพง” รูปแบบคล้ายกับทัวร์ศูนย์เหรียญ พาลูกทัวร์ไปลงซื้อสินค้าร้านเครือข่าย
ขณะเดียวกัน ผลพวงของการที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องจับตาการกลับมาของ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงเรื้อรังในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมาตั้งแต่ปี 2559 ก่อนหายไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 คลี่คลาย
“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หรือก็คือกรุ๊ปทัวร์ราคาต่ำกว่าต้นทุน รูปแบบซื้อทัวร์จากบริษัททัวร์ภายในประเทศตัวเอง จากนั้นนำส่งนักท่องเที่ยวมาให้บริษัททัวร์ในไทย โดยไม่จ่ายค่าธรรมเนียมการนำเที่ยวรวมทั้ง มีลักษณะกึ่งบังคับนักท่องเที่ยวไปร้านค้าที่กำหนดในธุรกิจเครือข่ายของนักลงทุนของชาวจีน
และด้วยกระแสศรัทธาบูชาพระเครื่องวัตถุมงคลของชาวจีนใช่หรือไม่ ทำให้ปัจจุบัน “กรุ๊ปทัวร์จีน” นิยมปักหมุดทัวร์ลงวัดดังในจังหวัดท่องเที่ยวของไทย ที่น่าจับตาคือมีกลุ่มทุ่นจีนมาเช่าพื้นที่ภายในวัด เพื่อจัดจำหน่ายพระเครื่องให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะ และที่น่าตกใจแทบทั้งหมดพระปลอมราคาถูก นำไปตบแต่งเลี่ยมกรอบทองปลอม ต้นทุนหลักร้อยแต่จำหน่ายได้ในราคาหลักหมื่น
-1.-
ย้อนรอยกลุ่มธุรกิจจีนสีเทา
ส่งนอมินีไปเช่าพื้นที่วัดขายวัตถุมงคล
กล่าวสำหรับเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับพุทธศาสนิกชนชาวไทยกรณี “วัดเขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี” นั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับโมเดลการทำธุรกิจ โดยจากการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบกลุ่มทุนจีนเทาใช้บริษัทนอมินีที่เป็นคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นไปขอเช่าที่กับทางวัดเดือนละ 150,000 บาท เพื่อจำหน่ายวัตถุมงคล ซึ่งเป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นจำนวนมาก มีการจดทะเบียนตั้งบริษัท โดยแจ้งว่าประกอบกิจการร้านอาหาร แต่กลับมาจำหน่ายวัตถุมงคล ซึ่งพบเงินหมุนเวียนในบัญชีบริษัท 100 ล้านบาท
ที่ต้องใช้คำว่า “นอมินี” ก็เพราะ เป็นบริษัทของคนจีนที่มี “ภรรยาเป็นคนไทย”ซึ่งคนขายนั้นเป็นคนจีนทั้งหมด ส่วนผู้ซื้อก็เป็นกลุ่มลูกทัวร์ก็คนจีน ซื้อขายจ่ายเงินด้วยวิธีการรูดบัตร เงินส่งเข้าจีนทันที โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2566
ร้ายไปกว่านั้นก็คือ วัตถุมงคลที่นำมาให้เช่าล้วนแล้วแต่เป็น “พระปลอม” โดยได้กว้านซื้อพระปลอมราคาถูกจากหลายแหล่ง จากนั้นนำมาตกแต่งทำกรอบทองปลอม แล้วหลอกขายให้กับนักท่องเที่ยวในราคาแพง หรือเรียกได้ว่า ปลอมทั้งตัวพระและทองที่ใช้ในการเลี่ยม ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จวัดระฆังฯ ต้นทุนไม่เกิน 400 บาท แต่หลอกขายให้กับลูกทัวร์จีน ตั้งแต่ 10,000 – 90,000 บาท
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงการสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับนายทุนและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวทั้งหมดตามกฎหมาย มีการจับกุมชาวจีนที่เป็นคนจำหน่ายพระ 12 ราย และให้ขยายผลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนคนจีนรวม 6 ราย เป็นคนไทยที่ออกหน้าเช่าแผงพระ 1 รายและดำเนินคดีกับเจ้าอาวาสซึ่งปล่อยให้มีการเช่าแผงดังกล่าวโดยไม่ทำตามขั้นตอนที่กฎกระทรวงกำหนด และไม่นำเงินจากการเช่าแผงดังกล่าวเข้าวัด
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเจ้าอาวาสมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะพบเงินหมุนเวียนในบัญชีเครื่อญาติจำนวนมาก โดยเบื้องต้นมีการแจ้งข้อกล่าวหา พระครูวิสุทธิ์ธรรมานุสิฐ (สมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ ดำเนินคดีในฐานความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คอร์รัปชัน รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ที่น่าตะหนกตกใจก็คือ จากการสืบสวนขยายผลจากคดีเช่าที่วัดขายพระปลอม นำไปสู่คดีสวมสัญชาติเด็กจีน และเตรียมขยายผลสืบสวนกลุ่มทัวร์จีนที่ตกเป็นเหยื่อว่าเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญหรือไม่
และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีการขยายผลตรวจสอบวัดที่มีพฤติการณ์ใกล้เคียงกับวัดเขาชีจรรย์เจ้าหน้าที่ตรวจสอบวัดเพิ่มเติมอีก 17 วัด พบมีคนจีนเช่าแผงขายพระเครื่องภายในวัด ในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มวัดดังกล่าวมีการยกเลิกการขายพระเครื่อง จำนวน 13 วัด รวมถึงวัดเขาชีจรรย์ด้วย และยังมีการขายพระเครื่องอยู่อีก 4 วัด แต่ไม่มีบุคคลสัญชาติจีนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายดังกล่าวแต่อย่างใด
นายอินทพร จั่นเอี่ยม รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า บริษัทเอกชนชาวไทยสามารถเช่าที่วัดประกอบธุรกิจได้ แต่ต้องขออนุญาตและทำตามวัตถุประสงค์ชัดเจน และที่สำคัญผลประโยชน์ต้องเข้าวัดไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว
เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาต้องขยายผลตรวจสอบวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะการกำกับดูแลการจำหน่ายวัตถุมงคลภายใต้เงื่อนไขของสำนักพุทธฯ ที่สามารถให้ประชาชนเช่าพื้นที่ในวัดได้ โดยวัดมีอำนาจพิจารณาได้เอง เงื่อนไขสัญญาเช่า 3 ปี และหากสัญญาเช่าเกินระยะเวลา 3 ปี จะต้องส่งให้สำนักพุทธฯ เป็นผู้พิจารณา รวมทั้ง ไม่อนุญาตให้ทุนต่างชาติเช่าพื้นที่ ทั้งหมดนี้ต้องมีการ กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการตรวจสอบติดตามอย่างโปร่งใส
อย่างไรก็ดี พระครูวิสุทธิ์ธรรมานุสิฐ (สมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า กระแสข่าวเรื่องเงินจำนวนกว่าร้อยล้านบาทไม่เป็นความจริง และยังยืนยันว่าวัดเขาชีจรรย์ อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร มีเงินเพียงแค่ใช้จ่ายภายในวัดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
“เงินจำนวนกว่า 130 ล้านบาทที่ปรากฏในข่าวไม่เป็นความจริง และวัดพร้อมให้ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับประเด็นที่มีข่าวว่าญาติพี่น้องของอาตมามีเงินกว่า 20 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน และในวันนี้ได้ไปปรับสมุดบัญชีเพื่อมอบให้พระสังฆาธิการตรวจสอบแล้ว”
เจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ ยืนยันว่าตั้งแต่บวชเรียนมามีเงินอยู่แค่เพียง 6 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น และญาติพี่น้องไม่ได้เป็นคนร่ำรวยอะไรและพร้อมให้ตรวจสอบได้ในทุกบัญชีของญาติพี่น้องเช่นกัน
“วัดเขาชีจรรย์อยู่ในที่กันดารไม่ค่อยมีประชาชนเข้ามาทำบุญมากนัก โดยวันพระจะมีคนมาทำบุญแค่ 15-20 คนเท่านั้น จึงไม่มีรายได้อะไร แม้แต่ข้าวปลาอาหารยังไม่มีจะฉันเลย และพระต้องออกไปบิณฑบาตไกลเพราะรอบวัดเป็นแต่ป่า ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีชุมชนจึงต้องใช้รถยนต์วิ่งรับพระออกไปบิณฑบาตวันละ 3 คัน ค่าใช้จ่ายเยอะ โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ค่าซ่อมรถ ต้องใช้เงินมากต่อเดือน”
อนึ่ง พระครูวิสุทธิ์ธรรมานุสิฐ (สมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ บวชเรียนเมื่อปี 2524 รวม 42 พรรษา โดยก่อนหน้านี้เคยจำวัดอยู่ที่วัดสัตหีบ ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส ก่อนจะย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ ในปี 2559 และได้ลาออกจากตำแหน่ง 1 ครั้ง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายวัดที่มีจำนวนมากจนไม่พอใช้หนี้ ก่อนจะกลับมาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้งในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
-2.
เซียนพระจีนจับมือเซียนพระไทย
ปั่นกระแสราคาวัตถุมงคลสูงลิ่ว
เป็นที่ทราบกันดีว่าพระเกจิชื่อดังของไทยได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ศรัทธา พุทธคุณทั้งเรื่องของความเมตตามหานิยม ค้าขาย ร่ำรวย และแคล้วคลาดปลอดภัย มีทั้งที่เป็นพระเครื่อง เหรียญ เครื่องรางของขลังต่างๆ
ที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์เซียนพระจีนจับมือเซียนพระคนจีนในไทยและไกด์ไทย -จีน สร้างกระแสและปั่นราคาวัตถุมงคลในไทย เปิดกรุพระเกจิดังที่เซียนพระจีนนำไปขายต่อได้ราคาสูงหลายเท่าตัว อาทิ หลวงปู่โต๊ะ – หลวงปู่ทิม, พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่, พระหลวงพ่อกวยรุ่นพระปกโพธิ์เก้าใบ ฯลฯ รวมทั้งวัตถุมงคล กุมารทอง, นางกวัก, ปลัดขิก ฯลฯ
เรียกว่าความต้องการวัตถุมงคลของคนจีนในเวลานี้ กำลังเป็นช่องทางให้เซียนพระชาวจีนในประเทศไทย และเซียนพระในประเทศจีน บุกตลาดเมืองไทยด้วยการไปจับมือเจ้าอาวาสวัดดังๆ ผลิตพระเครื่อง เหรียญวัตถุมงคล เครื่องรางต่างๆ จากนั้นปั่นกระแสปั่นราคาจำหน่ายคนจีนโกยรายได้มหาศาล
ยกตัวอย่างในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เซียนพระจีนเดินเกิมรุกสั่งควบคุมกระบวนการผลิตวัตถุมงคล ว่ากันว่าผลกระทบนั้นเหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่วนวัตถุมงคลของพระเกจิดังๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการในเวลานี้มีทั้งพระเก่าและพระใหม่ เนื่องจากพระเก่าราคาสูงหลักหลายๆ ล้านและหายาก ทำให้เซียนพระต้องหันมาปลุกกระแสพระใหม่ ราคาจับต้องได้ และหาซื้อง่าย
นายชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต เจ้าของนามปากกา มหา สุรารินทร์, ศรีสัชลาลัย ณ ลำโขง, ใบบัวน้อย ลอยกลางบึง ผู้เขียนหนังสือ “ท่องไปในดินแดนสามก๊ก อู่ฮั่น-หูเป่ย” ดินแดนวรรณกรรมแห่งประวัติศาสตร์ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งเป็นเซียนพระคนหนึ่งที่ได้เห็นความเป็นไปของวงการพระเครื่องเมืองไทย เปิดเผยว่าบรรดาเซียนพระในตลาดจีนหลายคน รวมไปถึงไกด์จีนที่มีบทบาทสำคัญในการปั่นกระแสความนิยมในวัตถุมงคล และราคาจนบางครั้งแพงเวอร์ขึ้นไปอย่างไม่มีเหตุผล เพราะทั้งหมดอยู่ที่ความเชื่อและศรัทธาเป็นหลัก
“เซียนพระคนจีนที่เข้ามาสร้างพระในไทย รู้ต้นทุนทุกอย่าง และสามารถนำไปสร้างกำไรได้หลายเท่าตัว โดยที่ราคาพระเครื่อง หรือเครื่องรางต่างๆ อยู่ที่ความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น อีกทั้งราคาของพระเกจิที่มรณภาพไปแล้วจะเป็นอมตะ จะมีราคาแพง เพราะองค์พระเครื่องจะไม่มีมลทินเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้าพระดังๆ หรือพระใหม่ที่ปลุกเสกพระยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นพระธรรมดาทั่วไป ความนิยมอาจจะเป็นช่วงเดียว ราคาถึงไม่สูงมาก ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ สามารถสะสมได้”
ยกตัวอย่าง พระเครื่องที่คนจีนนิยม “พระสมเด็จ วัดระฆังฯ” เพราะเชื่อในเรื่องของเมตตามหานิยม ตอนหลังก็มั่นใจในเรื่องทำมาค้าขาย เฮงๆ “พระปิดตา ของหลวงปู่โต๊ะ” หรือพระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) แห่งวัดประดู่ฉิมพลี มาก โดยเฉพาะพระปิดตาที่สร้างในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ อย่างพระปิดตา รุ่นที่ 1 จัมโบ้ ราคาจะสูงมาก และหายากมาก
“พระขุนแผนผงพรายกุมาร ของหลวงปู่ทิม” วัดละหารไร่ ระยอง เป็นพระเมตตามหานิยม ที่ทำให้ผู้ที่บูชาไปแล้วมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง ค้าขาย ร่ำรวย และเป็นที่รักใคร่ “หลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน” ที่วัดไร่แตงทอง จังหวัดนครปฐม เพราะคนจีนเชื่อว่าเต่าคือลูกคนเล็กของมังกร เป็นพวกนักคิด ปราชญ์ อายุยืน และตามมาด้วยเมตตา ค้าขาย รุ่งเรือง ส่วนพระใหม่ที่คนจีนกำลังนิยมเพราะชื่อดีก็คือ “หลวงพ่อรวย” วัดตะโก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มานพ จันทร์ศรี หรือ ต้อม สำนักจันทร์ หนึ่งในเซียนพระที่คลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ มากว่า 20 ปี มองว่าการที่คนจีนนิยมบูชาพระเครื่องหรือเครื่องรางของไทย เป็นเพราะเขาเชื่อและศรัทธาในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลในเรื่องความร่ำรวย โชคลาภ ทำมาหากินได้ดี มีความปลอดภัยในชีวิต โดยเฉพาะความนิยมในเรื่องเครื่องรางที่เกี่ยวข้องกับภูต พรายผี ที่ประหลาดๆ พวกผสมกระดูกผี ที่มีส่วนประกอบกับซากมนุษย์ ตะกรุดเล็กๆ สีผึ้ง อันดับต้นๆ พวกเสน่ห์ เช่น ขี้ผึ้ง พระขุนแผน กุมารทอง อะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ผ้ายันต์ แนวทะลึ่งตึงตัง จะได้รับความนิยมในหมู่คนจีน
และสิ่งที่สังคมไทยต้องจับตาคือกระแสและเป็นเรื่องจริงที่คนจีนหันมานิยมพระใหม่ ถึงขั้นสร้างพระใหม่ของตัวเอง โดยไปติดต่อวัดและพระใหม่ เช่นเกจิ หรือครูบาที่มีชื่อเสียงดังๆ ในภาคเหนือให้ผลิตพระเครื่อง เหรียญ เครื่องรางออกมากันแล้ว
“เซียนจีนพวกนี้รู้ลู่ทางในการจัดตั้ง ผลักดันให้เป็นเกจิของวัดนั้นๆ แล้วให้เงินหลวงพ่อเดือนละล้าน เพื่อให้ออกวัตถุมงคลให้ สั่งผลิตกันล็อตใหญ่ๆ โดยวัดต้องทำตามออเดอร์ที่เซียนจีนสั่งให้ผลิต จะเน้นสีสันสวยงาม สีเพนต์ พวกขุนแผน หรืออะไรที่เกี่ยวกับทางเพศก็มีหลายวัด เป็นวัดที่รับนักท่องเที่ยวที่เป็นคนจีน”
ทั้งนี้ การที่คนจีนเข้ามาสั่งผลิตเองได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำ เพราะทำทั้งกระบวนการ เมื่อไปปั่นกระแส ปั่นราคาติดตลาดก็แพงทันที คนจีนเข้ามาสั่งการในวัดให้ผลิตวัตถุมงคลเพื่อนำออกไปขายโดยคนจีนเป็นคนควบคุมราคาทั้งหมด
ในประเด็นนี้ต้องจับตาว่าการรุกเข้ามาของเซียนพระจีน กับการเข้ามาควบคุมตลาดผลิตวัตถุมงคลในวัดไทยโดยตรง จะส่งผลกระทบเหมือนกับกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญหรือไม่? ประเทศไทยได้ประโยชน์หรือเสียดุลอย่างไร?