ข่าวสารกรุงเทพฯ

ท่านอ้น ท่านอ่อง: วัชเรศร-จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ กลับสหรัฐฯ หลังมาไทยครั้งแรกในรอบ 27 ปี “ในฐานะสามัญชน”


ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

วัชเรศร (ซ้าย) และ นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ (ขวา) โอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

วัชเรศร และ นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ เดินทางกลับสหรัฐฯ แล้ว หลังการเดินทางกลับไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี ที่สื่อมวลชนไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจและติดตามกิจกรรมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

เมื่อคืนที่ผ่านมา เวลา 23.08 น. (14 ส.ค.) วัชเรศร วิวัชรวงศ์ หรือที่ประชาชนคนไทยเรียกอย่างคุ้นเคยว่า “ท่านอ้น” และ นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ หรือ “ท่านอ่อง” โอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางกลับสหรัฐฯ ด้วยเที่ยวบินเช้าตรู่ของวันที่ 15 ส.ค.

“ตั้งแต่มาที่ประเทศไทยคราวนี้ ได้รับความอบอุ่นจากทุกคนที่เราพบเจอ ก็ได้พบเจอกับคนไทยที่หลากหลายวิถีชีวิต ได้คุยกับเขาอย่างใกล้ชิด และได้เรียนรู้หลายอย่าง เกี่ยวกับเพื่อนชาวไทยของเราในประเทศนี้” วัชเรศร ให้สัมภาษณ์สื่อไทยและสื่อต่างชาติ รวมถึงรอยเตอร์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

วัชเรศร เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ส่วน นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ น้องชาย เดินทางกลับมาไทยตามหลังพี่ชายในวันที่ 12 ส.ค. โดยปรากฏภาพเดินทางไป รพ.ศิริราช ร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ก่อนทั้งคู่จะเดินทางกลับสหรัฐฯ พร้อมกันในวันที่ 15 ส.ค.

นพ.จักรีวัชร ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สนามบิน ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

“อาทิตย์นี้ก็ค่อนข้างยุ่งเหยิงหน่อย ผมมาแค่ 7-8 วัน น้อง (นพ.จักรีวัชร) เขาก็มา 3-4 วัน เป็นอาทิตย์ที่ค่อนข้างไปค่อนข้างเร็ว มีหลายอย่างที่เราอยากจะทำ อยากจะดูที่เมืองไทย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ใจเราต้องการอยากจะเติมให้เต็ม แต่เวลาก็น้อยเกินไป” วัชเรศร กล่าว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ทั้งสองเดินทางกลับสหรัฐฯ เที่ยวบินเช้าตรู่วันที่ 15 ส.ค.

กลับไทยครั้งแรกในรอบ 27 ปี

วัชเรศร วิวัชรวงศ์ หรือ “ท่านอ้น” เกิดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2524 เป็นโอรสหรือลูกชายคนรอง ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเกิดกับ สุจาริณี วิวัชรวงศ์ โดยมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันอีก 4 คน ได้แก่ จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์ พี่ชายคนโต, นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ น้องชายคนกลาง, ดร.วัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ น้องชายคนเล็ก และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กนิษฐาองค์สุดท้อง

จากบทความ “อ่านประวัติศาสตร์ ‘สาธิตจุฬาฯ’ เรื่องเล่าลบเลือนของศิษย์เก่าผู้เกือบจะได้เป็นเจ้าฟ้า (?)” โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ The 101.World เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ระบุว่า วัชเรศร เริ่มเข้ารับการศึกษาชั้นปฐมวัยที่โรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ในกรุงเทพมหานคร

และเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงสั้น ๆ ระหว่างปี 2530-2532 จากนั้นย้ายไปเข้าโรงเรียนจิตรลดาเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรในปี 2534

จนกระทั่งปี 2540 สี่พี่น้องจึงได้โยกย้ายไปใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนที่สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยมารดา โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุล “วิวัชรวงศ์” แก่พวกเขาทั้งหมด

หลังลงหลักปักฐานในดินแดนแห่งใหม่ วัชเรศร ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทรินิตี (Trinity Preparatory School) รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ จนจบชั้นมัธยมปลาย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วัชเรศร ประสบความสำเร็จในการศึกษาเป็นอย่างดี โดยสามารถคว้าปริญญาตรีและโท สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสเต็ตสัน (Stetson University) และเข้าสู่เส้นทางอาชีพทนายความ

ปัจจุบัน วัชเรศร ทำงานกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย แมนีย์ กอร์ดอน เซลเลอร์ (Maney Gordon Zeller, P.A.) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา

สำหรับ วัชเรศร การเดินทางมาไทยช่วงต้นเดือน ส.ค. 2566 จึงถือเป็นการกลับมาไทยเป็นครั้งแรก หลังพำนักในต่างประเทศมาตลอด 27 ปี โดยพำนักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ และเดินทางไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มาถึงไทย

“จากประเทศนี้มานาน 27 ปี ก็เหมือนฝันที่เป็นจริงที่ได้กลับมา” วัชเรศร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ระหว่างไปเยี่ยมมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ บ้านแห่งความหวัง ถนนอ่อนนุช

อย่างไรก็ดี วัชเรศร กล่าวว่า การเดินทางมาไทยครั้งนี้ “ไม่ได้กลับมาในฐานะอะไรเป็นพิเศษ กลับมาในฐานะสามัญชนธรรมดา” ตามการรายงานของไทยรัฐ

และก่อนขึ้นเครื่องบินกลับสหรัฐฯ พร้อมน้องชาย วัชเรศร ให้สัมภาษณ์กับสื่ออีกครั้งว่า การเดินทางมาไทยครั้งนี้ เป็นการ “เติมเต็มช่องโหว่ในหัวใจ”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

วัชเรศร เดินทางมาที่วัดบวรนิเวศวิหารราชรวิหารเพื่อสักการะสมเด็จพระพุทธชินสีห์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.

“หลังได้จากมานาน ก็ได้เติมเต็มในหัวใจหนึ่ง อะไรที่เป็นช่องโหว่ในหัวใจ ก็เติมเข้ามาให้เต็ม เป็นความรู้สึกที่ดีเป็นอย่างมาก เราก็ทำให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยของวันนี้ กับประเทศไทยของ 27 ปีที่แล้ว ก็เป็นที่ที่ต่างกัน”

“สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ”

วัชเรศร โพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่อยู่ในไทย ไม่ว่าจะภาพการเดินทางไปถนนเยาวราช ขึ้นสามล้อตุ๊กตุ๊ก และขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเขามองว่า “สะอาดกว่ารถไฟใต้ดินที่นิวยอร์ก”

จนถึงโพสต์ล่าสุดก่อนเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิว่า “สงครามผัดไทยจบแล้ว” หลังทีมข่าวจากไทยรัฐ นำผัดไทยไปส่งที่โรงแรม

ปมของเรื่องนี้ เกิดขึ้นภายหลังหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า “เบรกภารกิจท่านอ้น อดผัดไทย เตรียมกลับสหรัฐพรุ่งนี้” เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ต่อมา วัชเรศร โพสต์ภาพทานผัดไทย พร้อมข้อความว่า “ดึกแล้วก็ยังนั่งกินผัดไทยอยู่ จะอร่อยกว่านี้ถ้าเผื่อไทยรัฐมาส่ง” และแฮชแท็ก “ไม่มีใครมาเบรค”

ที่มาของภาพ, Vacharaesorn Vivacharawongse

คำบรรยายภาพ,

“The #padthaiwar is over. The team from ThaiRath delivered delicious Pad Thai. “

ในการให้สัมภาษณ์เปิดใจกับสื่อมวลชน ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับสหรัฐฯ วัชเรศร กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาประเทศไทยครั้งนี้ว่า เมืองไทย “เปลี่ยนไปแล้ว”

“อะไรที่อยู่ในความทรงจำของผมตอนเด็ก ๆ ก็อาจจะไม่อยู่แล้ว มีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาแทน ไม่ได้แปลว่า เมืองไทยดีขึ้น หรือแย่ลง แต่มันแค่เปลี่ยนแปลงไป” และหวังว่า “ประเทศไทย จะเป็นประเทศที่มีแต่ความหวัง ชาวไทยมีแต่ความหวัง ความรัก และความเคารพซึ่งกันและกัน จงให้เกียรติซึ่งกันและกัน จงฟังซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ในเมื่อเราเป็นคนไทย เพื่อนพี่นอ้งชาวไทยด้วยกัน เราก็น่าจะให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน ฟังซึ่งกันและกัน มีความรักซึ่งกันและกัน ใครผิดใจกัน ก็ขอให้อโหสิกัน หันเข้ามาหากัน”

ท้ายสุด วัชเรศร กล่าวว่า “ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนึกในพระคุณของประเทศชาติ ดีใจที่เกิดมาในประเทศไทย คราวนี้ก็จากไปอีกแล้ว แต่ก็หวังว่าในอนาคต ผมกับน้อง ๆ กับครอบครัวจะได้กลับมาเยี่ยมเมืองไทยอีกหนหนึ่ง ในอีกไม่นานนี้ “

“ขอช่วงเราไม่อยู่นี้ ขอให้ทุกคนช่วยปกป้องรักษา ประเทศไทยไว้ ให้เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม ความเสมอภาค รักกันสามัคคีกัน เราก็หวังว่าจะมาใหม่ในเร็ว ๆ นี้นะครับ”



Source link