ข่าวสารกรุงเทพฯ

ปมร้อนขึ้นราคา “น้ำตาล” ป่วนรัฐบาลเพื่อไทย


พาณิชย์ พลิกเกม ประกาศ “น้ำตาล “เป็นสินค้าควบคุม สวน สอน.แอบไฟเขียวขึ้นราคา 4 บาทต่อกก.กล่อมชาวไร่อ้อยสงบศึกชั่วคราวปิดโรงงานน้ำตาลหลัง”ภูมิธรรม”สั่งตั้งคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย หาทางออก

ในที่สุด ครม.ก็มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือกกร.ที่เสนอให้“น้ำตาล”กลับมาเป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เท่ากับว่า การประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ไฟเขียว ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม ละ 19 บาท เป็นราคา 23 บาท 2. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกก.ละ 20 เป็นกก.ละ 24 บาท คือ เพิ่มขึ้น 4 บาทต่อกก. ที่มีผลตั้งแต่วันนี้  28 ต.ค. 2566 เป็นโฆมะไปโดยอัตโนมัติ 

ทั้งนี้ปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ตอบโต้ “สอน.”ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีเจ้ากระทรวงมาจากพรรคพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)  โดยเกิดขึ้นเพียง 2 วัน หลังสอน.ประกาศขึ้นราคาน้ำตาลมีผลทันที 28 ต.ค. 66

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภูและหนองคายเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งรับทราบการปรับขึ้นราคาน้ำตาลในระหว่างการลงพื้นที่ ทำให้มีการพูดคุยหารือเป็นการภายในเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน  

ปมร้อนขึ้นราคา “น้ำตาล” ป่วนรัฐบาลเพื่อไทย

จนเป็นที่มาของการประชุมด่วนคณะกรรมการกกร.ในวันที่ 30 ต.ค. โดยใช้อำนาจของกกร.ดึง”น้ำตาล”กลับมาเป็นสินค้าควบคุม ส่งผลให้ราคาน้ำตาลยังคงราคาเดิม แถมยังงัดมาตรการจำกัดการส่งออกเพื่อป้องกันการแอบส่งออกไปขายในตลาดโลกที่ขณะนี้ราคาในต่างประเทศสูงกว่าราคาในประเทศ และเพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ   

ก่อนหน้าหลายปี ”น้ำตาล”เป็นสินค้าควบคุม แต่เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 ที่ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กกร.ให้ถอดสินค้าน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม จากเดิมกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้สินค้านี้เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีเมื่อปี 2559 ที่ “บราซิล” ยื่นขอหารือกับไทย (Consultation) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO)  ใช้นโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลง WTO ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก 

มาวันนี้ กกร. ดึง”น้ำตาล”กลับมาเป็นสินค้าควบคุมอีก มีระยะเวลา 1 ปี เพื่อไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลตามที่สอน.ประกาศ อาจเรียกได้ว่าเป็นการ”หักหน้า” สอน.ที่ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลไปก่อนหน้านี้เพียง  2 วัน พร้อมตรวจสต๊อกเข้มห้ามกักตุนหรือฉวยโอกาสปรับราคา

แต่ปัญหาก็ยังไม่จบเมื่อชาวไร่อ้อยออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนไม่ยอมรับให้”น้ำตาล”เป็นสินค้าควบคุม นัดปิดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 6 พ.ย.เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย พร้อมส่งแกนนำทวงถามเหตุผลต่อนายภูมิธรรมในวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่าน

สุดท้ายกล่อมสำเร็จ คณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย พาณิชย์-เกษตร-อุตสาหกรรม-ชาวไร่อ้อย หาทางออกแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ขีดเส้นจบใน 1 เดือนก่อนเปิดหีบ ซึ่ง“ ภูมิธรรม” ลั่นถ้าคุยครบทุกฝ่าย และยอมรับได้ แม้เสนอให้ถอดออกจากสินค้าควบคุมก็พร้อม เตรียมถกนัดแรก 6 พ.ย.นี้ ซึ่งปัญหาน้ำตาลยังคงเป็นหนังยาวต่อไป

ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นนราคา” น้ำตาล”ถึง 4 บาท กระทบทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพราะน้ำตาลเป็นสารความหวานที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ปลากระป๋องผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย การปรับขึ้นราคาน้ำตาลย่อมส่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าซึ่งจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาล ทั้งยังทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบ ต้องปรับขึ้นราคาตาม ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาระค่าครองชีพของคนปรับตัวสูงขึ้นอีก

ขณะที่รัฐบาลพยายามลดค่าครองชีพ ลดรายจ่ายประชาชนในทุกด้านแต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีการปรับขึ้นราคาน้ำตาล ย่อมทำให้ต้องหาทาง”หยุดหรือยับยั้ง”เพราะอาจกระทบต่อภาพพจน์รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศเพียงไม่กี่เดือน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงจบไม่ง่ายนักเพราะกระทบหลายฝ่าย ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่าเรื่องของ  “น้ำตาล”จะจบลงแบบใด



Source link