ข่าวสารกรุงเทพฯ

ประมวล 3 เหตุการณ์ “เยาวชน” ก่อเหตุรุนแรง


เมื่อเวลา 16.00 น.ที่ผ่านมา ของวันที่ 3 ต.ค.2566 เสียงปืนดังสนั่นหลายนัด ภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุ เป็นเยาวชนชาย วัย 14 ปี ที่ลงมือก่อเหตุยิงสะเทือนขวัญ มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 5 คน โดย 2 คนอาการสาหัส

อ่านข่าว : แจ้ง 5 ข้อหา! คดีเด็กชาย 14 ปียิงในพารากอน ส่งตัวศาลเยาวชน

เสียงปืนทำให้คนนับร้อยวิ่งหนีกันตายอลหม่าน หลายคนยังไม่รู้เกิดอะไรขึ้น บวกกับช่วงเวลานั้นมีผู้คนจำนวนมาก เพราะเป็นทั้งเวลาเลิกเรียน เลิกงาน รวมถึงเป็นช่วงเวลาฝนตก หลายคนต่างพากันมาหลบฝนเดินในห้าง

เหตุการณ์นี้ มีการเผยแพร่คลิปภาพจากวงจรปิดภายในห้าง ในสื่อสังคมออนไลน์ พบผู้ก่อเหตุสวมเสื้อผ้าสีเข้ม สวมถุงมือใส่รองเท้าบูตสีดำ มีอาวุธปืนสั้นถืออยู่ในมือ พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังตัว  

ภาพภายนอกห้างพารากอน ระหว่างเกิดเหตุ

ภาพภายนอกห้างพารากอน ระหว่างเกิดเหตุ

ภาพภายนอกห้างพารากอน ระหว่างเกิดเหตุ

หลังจากนั้นตำรวจได้เข้าปิดล้อมพื้นที่ เจ้าหน้าทยอยนำคนเจ็บ 4 คน ออกมาด้านนอกศูนย์การค้า พร้อมนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงอย่างเร่งด่วน ต่อมาจึงจับกุมผู้ก่อเหตุได้ พร้อมกับปืนก่อเหตุ 

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การหาปมก่อเหตุ ตำรวจเข้าค้นบ้านพักของเด็กชายอายุ 14 ปี ค้นห้องนอนพบกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 49 นัด และยังมีกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืนหลากหลายขนาด หลายรายการ อีกทั้งยังพบแผ่นกระดาษเป้าซ้อมยิง ซึ่งมีรอยกระสุน คาดว่า เกิดจากการซ้อมยิงปืน โดยตำรวจยึดทั้งหมดไว้เป็นของกลาง นำมาสู่การตั้งคำถาม ถึงการได้มาของอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ

เพื่อนบ้านให้ข้อมูลว่า พ่อและแม่ ของเด็กชายผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้เป็นประจำ เพราะย้ายไปพักที่คอนโดย่านสาทร หลายปีแล้วแต่จะกลับมาในช่วงสุดสัปดาห์เกือบทุกสัปดาห์

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.

หลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าผู้ก่อเหตุมีประวัติการรักษาทางจิตเวช และพบว่าขาดการรักษา ไม่ได้รับประทานยามาระยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถให้รายละเอียดถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ เพื่อไม่อยากให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในสังคม

นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุยังให้การสับสนจึงอยากให้เวลาเพื่อให้ได้รู้ตัวก่อนจึงจะสอบถามเรื่องที่มาของการครอบครองอาวุธปืนได้ สำหรับปืนที่ใช้ก่อเหตุขณะนี้อยู่กับตำรวจ โดยเป็นลักษณะของ “Blank Gun”

สื่อต่างชาติรายงานเหตุยิงในไทย

แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาคือคำถามจากสังคม ทั้งเรื่องการพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ การรับมือกับเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือน รวมทั้งผลกระทบและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่จะอาจตามมา โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐบาลกำลังคาดหวังอย่างชาวจีน

ทันทีที่เกิดเหตุสื่อต่างชาติก็ต่างเกาะติดเหตุการณ์ อาทิ สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ มีการส่งเป็นข้อความสั้นเป็น “ข่าวด่วน” เพื่อให้ผู้ที่ติดตามได้รู้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในไทย ขณะที่ สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่น มีการส่งนักข่าวลงพื้นที่รายงานจากด้านหน้าห้างฯที่เกิดเหตุทันที

สื่อมวลชนเกาะติดเหตุการณ์ ยิงในห้างสยามพารากอน

สื่อมวลชนเกาะติดเหตุการณ์ ยิงในห้างสยามพารากอน

สื่อมวลชนเกาะติดเหตุการณ์ ยิงในห้างสยามพารากอน

ไม่เพียงในสื่อหลักที่เกาะติด เหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงอีกครั้งในสังคมในโลกออนไลน์ จนติดเทรนการค้นหาอันดับ 8 ในหมวดข่าว ของสื่อยอดฮิตของชาวจีนอย่าง WeiPo “เวยโป๋ว” โดยพบว่า มีการแชร์ข่าวที่เกิดขึ้น ติด #แฮชแท็ก และเมื่อทีมงานลองพิมพ์ค้นหาคำว่า “ไท่กั๋ว” หรือประเทศไทย ก็จะปรากฏข่าวนี้อยู่เต็มไปหมด

ความเห็นจากชาวเน็ตจีนบางส่วนยังมีการตั้งคำถาม ถึงการพกอาวุธปืนในประเทศไทย ขณะที่บางส่วนบอกมีแผนเดินทางไปไทย แต่ตอนนี้ต้องขอยกเลิกไปก่อน 

ย้อนกลับมาในโลกออนไลน์ของไทย ยังมีการตั้งคำถามถึงระบบการเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีการติดแฮชแท็ก “พารากอน” จนขึ้นเทรนด์อันดับต้น ๆ เช่นกัน บางคน เขียนในทำนองที่ว่า “SMS” แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินจะเข้าไทยกี่โมง” ขณะที่ บางคนเปรียบเทียบว่า แอปพลิเคชันที่ใช้แชตกัน ยังเร็วกว่า ระบบแจ้งเตือนประเทศไทยเสียอีก

บางตั้งคนถามว่า รัฐทำอะไรอยู่ ควรจะมีการเตือนความปลอดภัยได้แล้ว พร้อมแคปหน้าจอให้ดูว่า แอปพลิเคชันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังขึ้นแจ้งเตือนนิสิต

ขณะที่บางส่วนอ้างว่า “ไทยไม่มีการเตือนฉุกเฉิน ทีวีไม่แทรกรายการ โทรศัพท์ไม่มี “SMS”เข้า ต้องเข้าสื่อสังคมออนไลน์ จึงจะทราบว่ามีเหตุยิงกันชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาไทยก็พากันกรูวิ่งไม่มีทิศมีทาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นที่มองว่า มีเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้หลายครั้งมาตรการรับมือเหตุการณ์ยังคงไม่มี และที่แน่ ๆ คือความเข้มงวดในการตรวจอาวุธก็ไม่เคยมี แล้วประชาชนก็ยังสับสนวุ่นวายวิ่งหนีตายกันแบบไม่มีใครรู้ว่าต้องไปอยู่ตรงไหน

เรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ สร้างความสูญเสีย และยังเกิดคำถามจากสังคมมากมาย ถึงมาตรการของรัฐบาล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ที่มีผู้คนมากมายขณะนี้ รวมทั้งการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเยาวชน

อ่านข่าว : กางกฎหมายอาญา “เด็กทำผิด” ไม่ต้องรับโทษ?

ทำร้ายหนุ่ม ม.5  เจ็บสาหัส ชิงแหวนรุ่น

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังมีคดีรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อนักเรียน ชั้น ม.5 และเพื่อนถูกกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะที่ผู้บาดเจ็บนั่งมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อนจำนวน 3 คน และมีผู้ก่อเหตุ ขับรถมอเตอร์ไซค์ตามมากัน 3 คัน รวม 8 คน มีอาวุธมีด และปืนปากกา รุมทำร้าย 

เหตุการณ์นี้ทำให้นายเอ อายุ 17 ปี นักเรียน ชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่ง บาดเจ็บที่ศีรษะ ตาซ้ายบวมช้ำ และฟกช้ำตามลำตัวอีกหลายแห่ง, นายบี อายุ 16 ปี นักเรียน ม.5 อีกโรงเรียน มีอาการฟกช้ำตามลำตัว ทั้งสองเป็นเพื่อนของนายเอ อายุ 17 ปี นักเรียน ชั้น ม.5 โรงเรียนเดียวกับนายเอ ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู

หนึ่งในผู้บาดเจ็บ เล่าเหตุการณ์วันเกิดเหตุให้ฟังว่า ขับรถมาถึงจุดเกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นขับรถตามมาเนื่องจากเข้าใจว่าเพื่อนในกลุ่มด่าทอ และถูกรุมทำร้ายร่างกาย ตัวเองได้ยินกลุ่มผู้ก่อเหตุตะโกนกับเพื่อนว่า “จะถอดไหม” สาเหตุคิดว่า ทำเพื่อความสนุกเท่านั้น เพราะไม่ได้มีเรื่องกันมาก่อน

2 ด.ญ. ก่อเหตุลวงเพื่อนกดน้ำดับ

29 ก.ย.2566 พบศพ ด.ญ. อายุ 15 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ในสระน้ำ ต.บัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ ผลการชันสูตร ชี้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ  

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การสืบสวนเพิ่มเติมจนพบว่าเป็น “การฆาตกรรม” นำไปสู่การจับกุม 2 ด.ญ. อายุ 13 และ 15 ปี ซึ่งกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพ ผู้ก่อเหตุขับขี่รถจักรยานยนต์ไปรับผู้ตายที่บ้านพัก

จากการสอบปากคำทราบว่า หลังจากผู้ต้องหาทั้ง 2 ไปรับผู้ตายมาจากบ้าน ได้ขับรถจักรยานยนต์ซ้อน 3 พาผู้ตายไปยังจุดเกิดเหตุ แล้วมีปากเสียงกันเรื่องชู้สาว เพราะผู้ตายไปสนิทสนมกับเพื่อนชายของหนึ่งในผู้ต้องหา จึงจับผู้ตายกดน้ำจนเสียชีวิต แล้วจึงนำโทรศัพท์มือถือผู้ตาย ขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป

คดีนี้ ตำรวจ นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ส่งดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, และร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม” 

ทั้ง 3 เหตุการณ์ถือเป็นความรุนแรงที่เยาวชนเป็นผู้ก่อเหตุและเป็นผู้ถูกระทำ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่ต้องไม่ลืมว่า ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบการกระทำดังกล่าวด้วยเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับสังคมในอนาคต  

อ่านข่าวอื่น ๆ 

“บิ๊กต่อ-ชาดา” คุยเยาวชน 14 ปียิงในพารากอน-ยังไม่สรุปแรงจูงใจ

หมอเด็กแนะหยุดส่งต่อความเกลียดชัง หยุดพฤติกรรมเลียนแบบ

จับเยาวชนวัย 14 ปี “มือปืนยิงในพารากอน” ตาย 3 คน

นายกฯ-พารากอน แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ยิงกลางห้าง



Source link