ประยุทธ์ จันทร์โอชา : ปิดฉาก 9 ปี ระบอบประยุทธ์
บีบีซีไทยรวบรวมอริยาบถจากหลากหลายเหตุการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในระหว่างครองอำนาจ 9 ปีเต็มนับจากรัฐประหาร 2557 มาให้ผู้อ่านได้รับชมกัน ในวันอำลาทำเนียบรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย
ภารกิจแรกของเช้าวันนี้ (31 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถือฤกษ์เวลา 09.09 น. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่าได้ “ขอให้บ้านเมืองสงบ ร่มเย็นทุกคนมีความสุข”
อย่างไรก็ตามนายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามที่ว่ารู้สึกอย่างไรกับการทำงานมา 9 ปี
31 ส.ค. เป็นวันสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าปฎิบัติหน้าที่ที่ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน
โดยกฎหมาย เขายังต้องรักษาการจนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฎิญาณตน
“ด้วยมารยาททางการเมือง นายกฯ มีความประสงค์อยากให้เวลาคณะทำงานของรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเตรียมสถานที่ปฎิบัติงานในทำเนียบรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ จึงจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบวันนี้เป็นวันสุดท้าย” น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจง
พล.อ.ประยุทธ์ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 สถาปนาคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ณ เวลานั้น
เมื่อ “ยึดอำนาจ” แล้ว หัวหน้า คสช. ยังขอ “รวบอำนาจ” ต่อในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร โดยมีพระราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 และนั่งเก้าอี้ยาวนาน 5 ปี ก่อนยอมจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 โดยที่หัวหัวหน้าคณะรัฐประหารรายนี้ยังไม่ยอมยุติบทบาททางการเมือง เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และได้กลับสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อ พปชร. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ของสภา ชิงรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
มาถึงการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พล.อ.ประยุทธ์เปิดตัวเป็น “นักการเมืองเต็มตัว” โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครั้งแรกในชีวิตของเขา โดยมีสถานะเป็นทั้งแคนดิเดตนายกฯ และประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อย่างไรก็ตามเมื่อพรรค รทสช. ประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินโดยได้ สส. เพียง 36 คน พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศ “วางมือทางการเมือง” และลาออกจากพรรคตั้งแต่ 11 ก.ค. 2566
แต่ถึงกระนั้นได้เกิดเหตุไม่คาดฝันสำหรับคอการเมือง กับการจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรค รทสช. และยังปรากฏภาพ “2 นายกฯ พบกัน” ในช่วงรอยต่อรัฐบาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ต่อไปนี้คือภาพสำคัญที่เกิดขึ้นใน 9 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจทางการเมือง
ตลอดการทำงานในฐานะผู้นำประเทศกว่า 9 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสพบปะกับผู้นำนานาประเทศมากมาย ด้วยความที่ครองอำนาจยาวนาน ทำให้เขามีโอกาสพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนมาแล้ว 3 คน และยังมีโอกาสไปแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีโลกหลายต่อหลายครั้ง
นอกจากภารกิจมากมายในต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ปฏิบัติอีกหลายภารกิจในไทย ทำให้เจ้าตัวมีภาพจำมากมายในหลายอิริยาบถ
หลังครองอำนาจยาวนานเกือบ 5 ปี เนื่องจากนายกฯ ควบหัวหน้า คสช. เลื่อนโรดแมป “คืนอำนาจให้ประชาชน” อย่างน้อย 5 ครั้ง ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขนานนามว่าเป็น “ฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เสนอตัวเป็น “นายกฯ พลเรือน” โดยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของ พปชร. ซึ่งหาเสียงเลือกตั้งด้วยคำขวัญ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ทำให้พรรค พปชร. มีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอด สส. 116 คน ทว่าสามารถช่วงชิงเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย (พท.) มาได้สำเร็จ โดยมีพรรคร่วมฯ ถึง 20 พรรค
ที่ประชุมร่วมกันของสองสภามีมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ ด้วยคะแนนสนับสนุน 500 จากทั้งหมด 750 เสียง
แต่ในระหว่างบริหารราชการแผ่นดินสมัยที่ 2 รัฐบาล “ประยุทธ์” ต้องเผชิญกับสารพัดวิกฤต ทั้งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ รวมถึงเคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงที่นั่งเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปี แต่ศาลรัฐธรรมธรรมนูญตีความว่ายังไม่ครบ 8 ปีเพราะเริ่มนับวาระตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
นอกจากนี้ยังนายกฯ และรัฐมนตรีของเขาถูกฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างต่อเนื่องทุกปี
หลังผ่านสารพัดวิกฤตมาได้ ก็ถึงจังหวะที่พี่น้อง “2 ป.” ตัดสินใจแยกทาง-แยกพรรค โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค พปชร. ต่อไป ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เปิดตัวเป็นสมาชิกพรรค รทสช. โดยต่างคนต่างพรรคต่างเสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค
สุดท้ายจบลงด้วยความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง โดยพรรค พปชร. ที่ “ไม่มีลุงตู่” ได้รับเลือกให้เป็น สส. เพียง 40 ที่นั่ง ส่วนพรรค รทสช. หิ้ว สส. เข้าสภาได้เพียง 36 ที่นั่ง แม้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐธรรมนูญในการเสนอชื่อนายกฯ ได้ (ต้องมี สส. 25 ที่นั่งขึ้นไป) แต่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร ก็ไปไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ