ข่าวสารกรุงเทพฯ

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวอเมริกันผิวดำที่เสียชีวิตหลังถูกตำรวจคุมตัว ผ่าน #JusticeForGeorgeFloyd – BBC News ไทย


ที่มาของภาพ, Getty Images

ตำรวจรัฐมินนิโซตา 4 นายถูกสั่งให้ออกจากราชการ โทษฐานใช้ความรุนแรงจับกุมชายผิวดำคนหนึ่งจนเสียชีวิต ขณะที่ ชาวเน็ตทั่วโลก รวมถึงไทยขึ้นแฮชแท็ก #JusticeForGeorgeFloyd เพื่อทวงความยุติธรรม ต่อต้านการเหยียดสีผิว

ผู้บัญชาการตำรวจเมืองมินนีแอโปลิส ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 นาย ตอนนี้ มีสถานะเป็น “อดีตตำรวจ” แล้ว หลังใช้ความรุนแรงเข้าจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ด้วยการใช้เข่ากดทับลำคอ จนนายฟลอยด์ร้องโอดครวญว่า “หายใจไม่ออก” ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในภายหลัง

ที่มาของภาพ, Darnella Frazier

คำบรรยายภาพ,

วิดีโอภาพการจับกุมถ่ายโดยผู้เห็นเหตุการณ์ และถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์

วิดีโอภาพการจับกุมถ่ายโดยผู้เห็นเหตุการณ์ และถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ต่อการกระทำของตำรวจ จนเกิดแฮชแท็ก #JusticeForGeorgeFloyd เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์

แฮชแท็กดังกล่าว ยังติดอันดับ 1 เทรนดิงทวิตเตอร์ในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยร่วมโพสต์ข้อความในเชิงวิจารณ์ การใช้กำลังของตำรวจ และการเหยียดสีผิว พร้อมติดแฮชแท็กดังกล่าว ช่วงบ่ายของวันที่ 28 พ.ค. เวลาไทย มียอดรีทวีตถึง 1.23 ล้านครั้ง

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @CRIMSONPRINT โพสต์ในทวิตเตอร์ที่มีผู้แชร์มากกว่า 4.5 หมื่นครั้ง เขียนว่า “ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ควรเจอความโหดร้ายแบบนี้ทั้งสิ้น แต่เมื่อคุณเป็นคนผิวดำในอเมริกา คุณก็เปรียบเสมือนพลเมืองชั้นรองที่ชีวิตมีค่าน้อยกว่าอยู่เสมอ”

ผู้ใช้ทวิตเตอร์เดียวกันนี้ ยังเผยแพร่ลิงค์สำหรับเงินบริจาคเงินค่าจัดงานศพให้กับนายจอร์จ ฟลอยด์อีกด้วย

ส่วนในสหรัฐฯ แฮชแท็กทวงความยุติธรรมให้ฟลอยด์ กลายเป็นเทรนดิงอันดับต้น ๆ ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ แฮชแท็ก #BlackLivesMatter ที่เคยถูกใช้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้คนผิวดำในสหรัฐฯ

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @rosewoodtele ได้โพสต์รายชื่อคนผิวดำที่เสียชีวิตจากการจับกุมของตำรวจ

ตำรวจทำอะไรจอร์จ ฟลอยด์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเมืองมินนีแอโปลิส ช่วงเย็นวันจันทร์ โดยตำรวจได้รับแจ้งว่า มีลูกค้าคนหนึ่งพยายามใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์ปลอมในร้านค้า

แถลงการณ์ของตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตัวจนพบชายผู้ต้องสงสัย ซึ่งภายหลังทราบชื่อว่า จอร์จ ฟลอยด์ โดยเขาอยู่ใน “สภาพมึนเมา และนั่งอยู่บนรถสีฟ้า”

จากนั้น ตำรวจสั่งให้นายฟลอยด์ถอยออกมาจากรถ แต่เขาขัดขืน จนตำรวจต้องควบคุมตัวและสวมกุญแจมือ แต่ระหว่างการจับกุมนั้นพบว่า ชายคนดังกล่าวมีอาการผิดปกติขึ้น

แต่ภาพที่ผู้เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกเป็นวิดีโอความยาว 10 นาที แสดงให้เห็น นายฟลอยด์ ร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวด และพูดว่า “ผมหายใจไม่ออก” และ “อย่าฆ่าผม” หลายครั้ง ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ที่ใช้เข่ากดทับลำคอของนายฟลอยด์เข้ากับพื้นถนน

ที่มาของภาพ, Twitter/Ruth Richardson

คำบรรยายภาพ,

แถลงการณ์ของตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตัวจนพบชายผู้ต้องสงสัย จอร์จ ฟลอยด์ โดยเขาอยู่ใน “สภาพมึนเมา และนั่งอยู่บนรถสีฟ้า”

ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์หลายคนพยายามพูดกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ยกเข่าออกจากลำคอของนายฟลอยด์ ที่อยู่ในสภาพนอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว

ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าว่า “มีเลือดไหลออกจากจมูกของเขา” ส่วนอีกคนบอกตำรวจให้ “ยกเข่าออกจากคอของเขา”

จอร์จ ฟลอยด์ ยังคงแน่นิ่ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะนำตัวเขาขึ้นรถพยาบาลไป และเสียชีวิตลงในภายหลัง โดยตำรวจเปิดเผยสาเหตุว่า นายฟลอยด์เสียชีวิตจาก “อุบัติเหตุทางการแพทย์” และ “การโต้ตอบกับตำรวจ”

ตำรวจยืนกรานว่า ไม่มีการใช้อาวุธระหว่างการจับกุมที่เกิดขึ้น ส่วนกล้องติดลำตัวของตำรวจ ได้ส่งมอบให้กับสำนักสืบสวนคดีอาญาแห่งรัฐมินนิโซตา (BCA) เพื่อประกอบการสอบสวนว่า ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นได้ละเมิดกฎหมายของรัฐหรือไม่

ขณะที่ สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ แถลงว่าจะสอบสวนเรื่องสลดที่เกิดขึ้นเช่นกัน

นายฟลอยด์ มีอายุ 46 ปี และเคยทำงานด้านรักษาความปลอดภัยให้กับร้านอาหารแห่งหนึ่ง

จับกุมสังหาร…ความปวดร้าวที่หวนคืน

ภาพตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงจับกุมชายผิวดำ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเอริก การ์เนอร์ ที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมในนครนิวยอร์กเมื่อปี 2014

ภายหลังการเสียชีวิตของนายการ์เนอร์ ประโยคว่า “ผมหายใจไม่ออก” กลายเป็นถ้อยคำที่ผู้ประท้วงใช้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน

นายการ์เนอร์ วัย 43 ปี ร้อง “ผมหายใจไม่ออก” ออกมาถึง 11 ครั้ง หลังตำรวจเข้าควบคุมตัวเขาฐานจำหน่ายบุหรี่อย่างผิดกฎหมาย และประโยค “ผมหายใจไม่ออก” ยังกลายเป็นถ้อยคำสุดท้ายของนายการ์เนอร์ ที่เสียชีวิตภายหลังตำรวจล็อกคอของเขา

แพทย์ยืนยันว่า การล็อกคอมีส่วนทำให้นายการ์เนอร์เสียชีวิต ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจนครนิวยอร์กที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมดังกล่าว ได้ถูกให้ออกจากราชการในอีก 5 ปีให้หลัง ในปี 2019 แต่จนถึงตอนนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดถูกตั้งข้อหา

ที่มาของภาพ, NY Daily News

คำบรรยายภาพ,

เอริก การ์เนอร์ และภรรยา

เกิดมาเป็นคนดำ = โทษประหารชีวิต?

จาคอบ เฟรย์ นายกเทศมนตรีเมืองมินนีแอโปลิส ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ตำรวจ 4 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทำให้จอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิต ได้ถูกให้ออกจากราชการแล้ว พร้อมโพสต์ในทวิตเตอร์ว่า “นี่เป็นมาตรการที่ถูกต้อง”

นายเฟรย์ แสดงความเห็นว่า กรณีการจับกุมนายฟลอยด์ เป็นการสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

“ผมเชื่อในสิ่งที่ผมเห็น และสิ่งที่ผมเห็นมันผิดอย่างเห็นได้ชัด” เฟรย์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

“การเป็นคนผิวดำในอเมริกา ไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นโทษประหารชีวิต”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายฟลอยด์ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนแอฟริกันอเมริกัน กรณีที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงเหตุการณ์ที่ตำรวจในรัฐแมริแลนด์ ลั่นไกยิงชายผิวสีในรถสายตรวจจนเสียชีวิต

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ตำรวจเมืองมินนีแอโปลิสมีอำนาจตามแนวปฏิบัติ ‘การใช้กำลังจับกุม’ ของสำนักงานตำรวจ เพื่อใช้เข่ากดบนลำคอของผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้ จะต้องไม่กดทับทางเดินหายใจ

โฆษกเอฟบีไอประจำเมืองมินนีแอโปลิสระบุว่า ทิศทางการสอบสวนของเอฟบีไอจะมุ่งไปที่การตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมีเจตนา”ละเมิดสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของสหรัฐอเมริกา” หรือไม่

เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น เอฟบีไอจะนำผลการสอบสวนส่งต่อให้สำนักอัยการรัฐมินนิโซตา เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

ที่มาของภาพ, AFP

ประท้วงเรียกร้องความยุติธรรม

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงหน้าสถานีตำรวจในเมืองมินนีแอโปลิส

สถานการณ์ปะทุเป็นเหตุรุนแรง จนตำรวจต้องตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นทวีตรายงานว่า ผู้ประท้วงทุบทำลายกระจก และฉีดสเปรย์บนรถสายตรวจ ไม่เพียงเท่านั้น ตำรวจยังใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ประท้วงด้วย

นางเอมี โคลบูชาร์ วุฒิสมาชิกรัฐมินนิโซตาจากพรรคเดโมแครตได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสอบสวนนอกอย่างละเอียดด้วย

“ชายคนนี้และครอบครัวของเขาต้องได้รับความยุติธรรม ชุมชนของเราต้องได้รับความยุติธรรม ประเทศของเราต้องได้รับความยุติธรรม”

สื่ออเมริกันรายงานว่า นางโคลบูชาร์ เป็นหนึ่งในตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตคู่กับนายโจ ไบเดน



Source link