ข่าวสารกรุงเทพฯ

ผ่าแผน ‘ไทยเบฟ’ ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก


ผ่าแผน “ไทยเบฟ” เดินหน้ารุกหนักทุกกลุ่มธุรกิจ สุราทำกำไรสูงสุด ซื้อกิจการคอนยัคในฝรั่งเศส 58.5 ล้านยูโร และกิจการวิสกี้แบบซิงเกิลมอลต์นิวซีแลนด์ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต่อจิ๊กซอว์พอร์ตโฟลิโอพรีเมียมเจาะคอทองแดงอาเซียน กลุ่มเบียร์ควักงบ 4,000 ล้าน ลงทุนสร้างโรงงานผลิตในกัมพูชา พร้อมผลิต “โออิชิ” เขย่าโครงสร้างแยก “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” และ “อาหาร” เสาหลักที่ 4 เพื่อสปีดธุรกิจ ด้านแดนมังกรผนึกพันธมิตร Asiaeuro International Beverage (AIB) เชื่อมโยงการค้าอาเซียน-จีน

กลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจสานเป้าหมาย Passion 2025 เพื่อสร้างการเติบโต “รายได้” และ “กำไร” เสริมแกร่งอาณาจักรเครื่องดื่มและอาหาร เพิ่มขีดความแข่งขัน หวังเบียดตำแหน่งยักษ์ใหญ่ที่ครองมาร์เก็ตแคปสูงสุด ซึ่งปัจจุบันรั้งอันดับ 9 ของเอเชีย ด้วยมูลค่า 3.92 แสนล้านบาท

ที่ผ่านมา การขยายธุรกิจของไทยเบฟ ให้น้ำหนัก “ไทย” เป็นฐานทัพ เชื่อมโยงสู่ภูมิภาค “อาเซียน” โดยเฉพาะประเทศที่ภาคพื้นดินติดต่อกันหรือ Continental มากกว่าประเทศเป็นเกาะแก่ง แต่มองคว้าโอกาสการค้าเพิ่มจากกลุ่มอาเซียนบวก 3 อาเซียนบวก 6 อาเซียนบวก 9 ทว่า ในการฉายวิสัยทัศน์แผนงานประจำปี 2566 เห็นเกมบุกเชื่อมโยง “ตลาดโลก” มากขึ้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยเบฟยังคงเป็นบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำของเอเชีย โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป 11.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 3.92 แสนล้านบาท(ณ 30 ก.ย.2566) รั้งอันดับ 9 ขณะที่ผู้เล่นรายอื่น เช่น Kweichow Moutai หรือเหมาไถ เหล้ารายใหญ่ของจีนมีมาร์เก็ตแคปอันดับ 1 มูลค่า 3.18 แสนล้านดอลลาร์ ตามด้วย Wuliangyia มาร์เก็ตแคป 9.06 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 7 อาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก ฐาปน สิริวัฒนภักดี เทียบมาร์เก็ตแคปไทยเบฟและยักษ์เครื่องดื่มเอเชียเพื่อ “รู้เขา..รู้เรา”

ขณะที่บางบริษัท เช่น Nongfu Spring ยักษ์ใหญ่ผลิตน้ำดื่มและเครื่องดื่มของจีน มีรายได้ระดับ 4,600 ล้านดอลลาร์ แต่มีมาร์เก็ตแคป 6.68 หมื่นล้านดอลลาร์ ใหญ่กว่าไทยเบฟ 5 เท่า ทั้งที่รายได้ไทยเบฟมากกว่า หรืออยู่ที่ 6,171 ล้านดอลลาร์ สะท้อนนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในตลาดจีน ตลาดใหญ่หากแข่งขันได้ มีโอกาสโตมหาศาล ซึ่งการเปรียบเทียบคู่แข่งดังกล่าว เพื่อเป็นการทำความเข้าใจตลาด และบริษัทต้องกลับมาวางแผนงาน กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

  • ทุ่ม7พันล้านสร้างฐานทัพใหญ่ยึดอาเซียน

ทั้งนี้ การเติบโตบริษัทยังให้น้ำหนักภูมิภาคอาเซียน โดยเสริมแกร่งภายในองค์กรที่มีสินค้าหลากหลายจากกิจการในเครือ ทั้งไทยเบฟ ในไทย ธุรกิจเบียร์ของไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (SABECO) ในเวียดนาม ธุรกิจสุราของแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ในเมียนมา Fraser & Neave Holdings Bhd (F&NHB) ในมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันถือว่าครอบคลุมตลาดในภูมิภาคแล้ว

ปี 2567 บริษัทวางงบลงทุน 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งโมเดลดังกล่าวจะขยายในประเทศลาวด้วย ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท จะลงทุนในประเทศไทย เช่น โลจิสติกส์

บริษัทยังวางแผนพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศเวียดนาม อาจยกโมเดลจากประเทศไทยไปต่อยอด ทั้งการมีหน่วยรถขายสินค้าเงินสด การขนส่งสินค้าภายใต้การควบคุมอุณหภูมิหรือโคลด์เชน สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชื่อมโยงกับลูกค้า และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

“อาจมองว่ากัมพูชาและลาวเป็นตลาดเล็ก ขนาดประชากรน้อย แต่เรามองเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ เดิมเราส่งสินค้าไปจำหน่าย มีสินค้าเป็นเบอร์ 1 เมื่อรัฐบาลใหม่มีนโยบายส่งเสริมการค้าชายแดน เราก็มองการจำหน่ายสินค้าข้ามแดน อย่างลาวสามารถเชื่อมโยงไปถึงตลาดตอนใต้ประเทศจีน กัมพูชาเชื่อมเวียดนาม ที่มีประชากร 100 ล้านคน

  • ผนึกพันธมิตรกรุยทางการค้าโลก

จีน เป็นอีกขุมทรัพย์สำคัญ ที่ผ่านมาไทยเบฟเข้าไปสร้างโรงงานผลิตสุราขาว “อวี้หลิงฉวน” นานนับสิบปี การจำหน่ายโซดา “ช้าง” ที่ผลตอบรับดี ยังเดินหน้าผนึก Asiaeuro International Beverage (AIB) เพื่อหาโอกาสตลาดมากขึ้น ตลอดจนเรียนรู้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี ทำความเข้าใจรูปแบบการบริหารธุรกิจในจีน นอกเหนือจากการนำสินค้าเข้าไปบุกตลาด อีกด้านประตูการค้าจีนเปิด พันธมิตรต้องการขยายตลาดในอาเซียนไทยเบฟ จะช่วยเสริมแกร่งในการนำสินค้ามาบุกตลาดอาเซียน เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทั้ง 2 ฝ่าย

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก ซื้อกิจการสุรา ร่วมมือพันธมิตร AIB บุกตลาดเครื่องดื่มในจีน

“การเข้าไปลงทุนในจีน ไม่ได้มองแค่การซื้อและควบรวมกิจการหรือทำ M&A เพราะการลงทุนในจีนเปรี้ยงปร้างหรือใหญ่ไม่ง่าย ต้องค่อยๆสร้าง หรือ Sprouting New Seeds For Growth ทั้งสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจ มีพันธมิตร เช่นกันกับตลาดอาเซียน ไม่ใช่มองแค่การควบรวมกิจการ แต่มองใครจับมือใคร ช่วยกันสร้างประโยชน์ สปีดการแข่งขันที่มาจากความแข็งแกร่งพาร์ทเนอร์ชิป ใครจะแตะมือกันรวมพลังเร็วกว่า เข้าใจโลกใบนี้ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ นั่นคือความสำเร็จ ”

นอกจากจีน ปีหน้าไทยเบฟจะรุกตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น รวมถึงการขยายสู่ยุโรป ซึ่งล่าสุดได้ซื้อกิจการลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac)ประเทศฝรั่งเศส และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) ในประเทศนิวซีแลนด์

“การจับมือกับ AIB และซื้อกิจการลาร์เซน คอนญักและคาร์โดรนา ดิสทริลเลอร์ เพื่อรุกตลาดสุราเซ็กเมนต์พรีเมียม”

  •  10 ปีสานฝันซื้อคอนยัค เบียร์เร่งโต

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า ไทยเบฟเข้าซื้อกิจการลาร์เซน คอนญัก ด้วยมูลค่า 58.5 ล้านยูโร อายุกิจการ 97 ปี ส่วนคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ เป็นโรงกลั่นซิงเกิลมอลต์ อายุไม่ถึง 10 ปี ด้วยมูลค่าดีลไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนในไทยสิ้นปี จะเปิดตัววิสกี้แบบซิงเกิลมอลต์ เหล้าขาวรวงข้าว และเหล้ารัมแบรนด์พระยา ขายราคาหลักพันบาทต่อขวด เพื่อเติมพอร์ตพรีเมียมและขายตลาดต่างประเทศ รวมถึงมีแผนขยายโรงกลั่นวิสกี้ในประเทศเมียนมาด้วย

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก

ประภากร ทองเทพไพโรจน์ 

“กลุ่มสุราเรามีตลาดหลักในไทย เมียนมา ที่เหลือเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ การซื้อ 2 กิจการ เป็นสุราโลกใหม่หรือ New world เหมือนไวน์ และเราต้องการเติมพอร์ตโฟลิเหล้าพรีเมียมบุกตลาดอาเซียน ซึ่งผู้บริโภคมีพฤติกรรมชอบดื่มเหล้านอก ราคาแพง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์คอนยัคเป็นกิจการที่ไทยเบฟอยากซื้อมา 10 ปีแล้ว

นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า นอกจากการลงทุนโรงงานผลิตเบียร์กัมพูชา เอฟแอนด์เอ็นภายใต้ไทยเบฟยังเตรียมขยายโรงงานผลิตเบียร์ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาด้วย ขณะที่ตลาดเวียดนาม ซาเบโก้ เดินหน้าปลดล็อกศักยภาพการซื้อหุ้นใน 6 โรงงาน และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ 3 แห่งจากผู้ถือหุ้นรายอื่น เพื่อให้บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน และเสริมศักยภาพการเติบโต

ส่วนตลาดเบียร์ในไทย “เบียร์ช้าง” ยังมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกับผู้นำมากขึ้น โดยส่วนแบ่งตลาดห่างกันเพียงตัวเลข 1 หลัก ขณะที่ปลายปีจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เบียร์ เชื่อว่าจะสร้างตลาดรวมให้เติบโต และหวังการแข่งขันจะอยู่บนความสร้างสรรค์และภายใต้เกมเดียวกัน

  • ปรับโครงสร้างนอนแอลกอฮอล์-อาหาร

นายโฆษิต สุขสิงห์​ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากการถอนหุ้นโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร โดยอาหารจะเป็นเสาหลักที่ 4 ของไทยเบฟ จากเดิมมีสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่ง “โออิชิ” นำร่องเตรียมผลิตในกัมพูชา

ปีหน้า 2567 บริษัทวางยุทธศาสตร์ขยายกลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ทั้งเครื่องดื่มและอาหารไปในตลาดอาเซียนเต็มที่ เริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่ม จะลงทุนในกัมพูชาสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิ และเป็นโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์แรกในอาเซียนของไทยเบฟ  ซึ่งจะผลิตอย่างเป็นทางการภายใน 2 ปี

บริษัทยังวางเป้าหมายจะนำแบรนด์เครื่องดื่มโออิชิ ไปขยายตลาดทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น พร้อมวางเป้าหมายใน 3-5 ปีจะนำเครื่องดื่มในเครือไปขยายตลาดที่เป็น New market entry ที่มีโอกาสขยายตัว จากแนวโน้มตลาดที่กำลังเติบโตและกลุ่มลูกค้าที่สนใจดูแลสุขภาพสูงมาก

“ที่ผ่านมาได้นำเครื่องดื่มโออิชิเข้าไปทำตลาดในหลายประเทศแล้ว ผลตอบรับที่ดีมากและมียอดเติบโตสูงในหลายประเทศ”

ทั้งนี้วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต ใน 3 แนวทางสานได้แก่ การพลังแบรนด์สร้างพอร์ตอย่างแข็งแกร่ง (Brand Portfolio Management) การเร่งสปีดโตอย่างต่อเนื่อง และมั่งคง (Speed for the Growth) และการเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market) พร้อมกันนี้ได้วางโครงสร้างธุรกิจใหม่ในกลุ่มที่แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจสุรา ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ อาหาร

ภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ในประเทศกลับมาเติบโตสองหลักหลังจากโควิดแล้ว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้ 14,822 ล้านบาท ขยายตัว 15.6% มากกว่าสถานการณ์โควิด โดยในช่วง 9 เดือนแรก เครื่องดื่ม เอส มีการขยายตัว 22% คริสตัล มีการขยายตัว 19.5% โออิชิ 15.5% มีการขยายตัวมากกว่าตลาด 

  • รุกตลาดต่างประเทศหนัก

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้วางเป้าหมายใน 1-2 ปีนับจากนี้จะขยายกลุ่มธุรกิจอาหารออกไปในต่างประเทศ โดยในระยะแรกเน้นตลาดใน ซีแอลเอ็มวี ที่จะนำแบรนด์ ชาบูชิ และ โออิชิ บิซโทโระ นำร่องออกไปก่อน

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

ทั้งนี้ ทำให้ในปี 2567 บริษัทได้วางงบลงทุนในการขยายธุรกิจไว้ที่ 800-1,000 ล้านบาท โดยจะเร่งขยายธุรกิจอาหารในเครือ ที่เน้นการขยายสาขาใหม่ และมีโมเดลสาขาหลากหลายรูปแบบที่เปิดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งงบลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ใช้งบลงทุนในการขยายธุรกิจประมาณ 600 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้วางเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2568 จะสร้างแบรนด์ธุรกิจอาหารอยู่ในใจของกลุ่มผู้บริโภคอาเซียน

สำหรับภาพรวมธุรกิจอาหารในช่วง 9 เดือนแรก มีรายได้ 14,296 ล้านบาท ขยายตัว 19.2% โดยหลายกลุ่มของแบรนด์ธุรกิจอาหารขยายตัวมากกว่าในช่วงโควิดแล้ว ในปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีจำนวน 771 สาขาในไทย ช่วง 9 เดือนแรก ได้เปิดร้านใหม่ 43 สาขา

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก บางส่วนของแบรนด์ร้านอาหารเครือไทยเบฟ

 



Source link