“พาณิชย์” สร้างความเชื่อมั่นข้าวหอมมะลิไทย จับมือทูตพาณิชย์โปรโมต-โชว์ลิสต์นำเข้าของแท้ ยื่นต่ออายุเครื่องหมายการค้าอีก 8 ประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้เกิดข่าวใหญ่ในสื่อทางการจีน และสื่อในไทย เกี่ยวกับการบุกจับโรงงานปลอมข้าวหอมมะลิไทย โดยใช้วิธีการแต่งกลิ่นให้เหมือนข้าวหอมมะลิไทย แต่ใช้ข้าวที่ปลูกในจีน แค่มาใส่สารปรุงแต่งกลิ่นให้เหมือนกับกลิ่นข้าวหอมมะลิไทยเท่านั้น โดยที่ข้าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นข้าวหอมมะลิไทยแต่อย่างใด ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความฮือฮาในหมู่ชาวจีน แต่ยังสร้างความวิตกกังวลว่าจะกระทบต่อชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิไทยในตลาดจีนหรือไม่
ทันทีที่เกิดปัญหาขึ้น นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำการตรวจสอบทั้งจากทูตพาณิชย์ของไทยในจีน ตรวจสอบทั้งผู้ส่งออกที่ทำตลาดข้าวในจีน และได้สั่งการให้นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษาการพาณิชย์แล้ว ออกข่าวชี้แจงทันที เพื่อป้องกันความสับสน และป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลาม
ในการชี้แจงเพื่อสยบความสับสน ได้พูดชัดๆ ทันทีว่าปัญหาที่เกิดเป็นฝีมือของโรงงานข้าวในจีน ใช้ข้าวที่ปลูกในจีนมาใส่สารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวหอมมะลิไทย และถูกทางการจีนบุกจับ และสั่งปิดโรงงานไปแล้ว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับข้าวหอมมะลิของไทย
ชี้แจงที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้น
ต่อมานายรณรงค์ได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดมาจากอะไร และจากนี้ไปมีแนวทางรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นปกติประจำทุกปี ที่ทางการจีนจะเปิดโปงกรณีลักลอบ หรือฝ่าฝืนกฎระเบียบมาตรฐานผู้บริโภค ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มี.ค.ของทุกปี และปีนี้เป็นการเปิดโปงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นในข้าวเพื่อสวมรอย และแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทย
โดยผลการตรวจสอบ มีการตรวจเจอทั้งหมด 3 โรงงาน และทั้ง 3 โรงงานไม่เกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิไทย และไม่เคยมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการเองทั้งหมด
เปิดชื่อ 3 บริษัทสวมรอยข้าวไทย
บริษัทแรก คือ บริษัท Anhui Huainan Shouxian Yongliang Rice Industry ใช้ชื่อแบรนด์ “ราชาไทย (Tai Zhi Wang)” และ “ข้าวหอมมะลิไทยรุ่นที่ 2” โดยเป็นชื่อที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และใช้ข้าวท้องถิ่นมาแต่งกลิ่น ขายในพื้นที่มณฑลอานฮุยเป็นหลัก มียอดขายปีละ 1 หมื่นตัน
บริษัทที่ 2 คือ บริษัท Anhui Xiangwang Cereals , Oils and Food Technology Co., Ltd. ระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่า “ข้าวหอมมะลิประเทศไทย” และระบุ “แหล่งผลิตจากประเทศไทย” โดยใบอนุญาตประกอบธุรกิจแปรรูปข้าวหมดอายุตั้งแต่ปี 2017
บริษัทที่ 3 คือ บริษัท Huainan Chufeng Industry and Trade Co., Ltd. จำหน่ายข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเซียง เป็นข้าวที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเฮย์หลงเจียง ใช้ชื่อแบรนด์ “Tai Guo Xiang Mi , Tai Xiang Mi” หรือข้าวหอมมะลิไทย ใช้สารเติมแต่งกลิ่นเช่นเดียวกัน
ทั้ง 3 บริษัทนี้จะถูกดำเนินคดี ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยอาหาร ความปลอดภัยทางยา กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การโฆษณาเกินจริง กฎหมายความปลอดภัยของสินค้า และความผิดในคดีอาญา
เจอเพิ่ม 2 โรงงานผลิตสารปรุงแต่ง
นอกเหนือจาก 3 โรงงานนี้ ยังได้มีการตรวจสอบ 2 โรงงานที่ผลิตสารปรุงแต่ง คือ บริษัท Shanghai Rofeeflavor Fragrant Co., Ltd. และบริษัท Shanghai Fengmi Industrial Co., Ltd. ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ พบว่าไม่มีใบอนุญาตการผลิต โดยทั้ง 2 โรงงานได้ขายสารปรุงแต่งให้กับโรงงานผลิตข้าว 2 แห่งในมณฑลอานฮุย และโรงงานดังกล่าวยังลักลอบผลิตสารปรุงแต่งกลิ่นหลายสิบชนิดโดยไม่มีใบอนุญาตด้วย เช่น กลิ่นข้าวหอม และกลิ่นข้าวหอมมะลิไทย
ยังไม่พบความผิดตามกฎหมายไทย
นายรณรงค์กล่าวว่า ทางด้านความผิดตามกฎหมายไทย กรมฯ ได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบแล้วยังไม่พบความผิด และยังไม่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย แต่ที่มีการนำชื่อข้าวหอมมะลิไทยไปใช้ในเครื่องหมายการค้า ก็ไม่ถือว่าละเมิด เพราะเป็นคำทั่วไป ไม่ใช่คำเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ กรมฯ ได้หารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในฐานะผู้เสียหายแล้ว เพื่อหาข้อสรุปว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อโรงงานข้าวในจีนทั้ง 3 แห่งหรือไม่ และฟ้องร้องที่ศาลใดของจีน หากฟ้องแล้วจะดูว่าต้นทุนการดำเนินการคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับผลกระทบ โดยในที่สุดหากฟ้องแล้วเห็นว่าไม่คุ้มค่าก็คงจะไม่ฟ้อง
มั่นใจผลกระทบเกิดขึ้นเล็กน้อย
นายรณรงค์กล่าวว่า จากนี้ไปกรมฯ จะร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในจีนที่ประจำอยู่ในจีนทั้ง 7 สำนักงาน ติดตามและประเมินว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าคงมีไม่มาก เพราะชาวจีนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของข้าวหอมมะลิไทยก็คงจะซื้อข้าวหอมมะลิไทยต่อไป
สำหรับการสร้างความเชื่อมั่น กรมฯ จะร่วมมือกับทูตพาณิชย์เพิ่มความเข้มข้นในการลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทย ทั้งในห้าง ซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้า และตรวจสอบดูว่าข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายเป็นข้าวหอมมะลิไทยถูกต้องหรือไม่ มีการแอบอ้างชื่อไทยหรือไม่ มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ และหากพบข้าวที่น่าสงสัย ก็จะประสานทางการของจีนเพื่อดำเนินการตรวจสอบทันที
เพิ่มลิสต์แบรนด์แท้ให้ผู้ซื้อผู้นำเข้าเลือก
นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะเร่งประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยของผู้ส่งออกว่ามีแบรนด์อะไรบ้าง ให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าได้รับทราบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่จีน แต่จะดำเนินการในทุกประเทศที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทย โดยสามารถตรวจสอบเครื่องหมายการค้าของผู้ส่งออกข้าวไทยที่เข้าร่วมโครงการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในต่างประเทศ (List of Certified Thai Hom Mali Rice Brands) ผ่าน https://thaihommaliricecertificationmark.dft.go.th
“จะสานต่อการพัฒนาฐานข้อมูล List of Certified Thai Hom Mali Rice Brands หรือฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าของผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าได้ตรวจสอบ และหากต้องการซื้อข้าวหอมมะลิไทย ก็จะรู้ได้ว่าแบรนด์ไหน ยี่ห้อไหน ที่ได้รับการรับรอง โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่เป็นตราสีเขียวให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้ารู้จัก หากจะซื้อข้าว ก็ให้ซื้อแบรนด์ที่มีตรารับรองนี้”
เฝ้าระวังการปลอมปน-การละเมิด
ขณะเดียวกัน ยังได้ขอให้ทูตพาณิชย์ของไทยในต่างประเทศเฝ้าระวังการปลอมปนหรือการละเมิดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อพบการละเมิดใช้เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยด้วย โดยเน้นในประเทศที่เป็นตลาดข้าวหอมมะลิไทย เช่น จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ สิงคโปร์ เป็นต้น
ต่ออายุเครื่องหมายการค้าอีก 8 ประเทศ
ทางด้านการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย นายรณรงค์กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างต่ออายุเครื่องหมายดังกล่าวอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ออสเตรีย ญี่ปุ่น สวีเดน สิงคโปร์ และเวียดนาม เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติม หลังจากปี 2565 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการต่ออายุเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยไปแล้วทั้งสิ้น 12 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ฮังการี โปแลนด์ เดนมาร์ก อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เบเนลักซ์ ไอซ์แลนด์ และแคนาดา
สำหรับเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย ประกอบไปด้วยเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และเครื่องหมายการค้า “HOM MALI” ซึ่งได้เริ่มจดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่ปี 2541 และปี 2534 ตามลำดับ ในระยะต่อมาได้ขยายการจดทะเบียนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 48 ประเทศ และได้ดำเนินการต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุก 10 ปี นับจากวันที่ได้รับการจดทะเบียน เพื่อเป็นการปกป้องและรักษาสิทธิข้าวหอมมะลิไทยในประเทศที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนไว้
เปิดแผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทย
นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 2566 กรมฯ ได้หารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตั้งเป้าหมายการส่งออกทั้งปีไว้ที่ 7.5 ล้านตัน แต่ล่าสุดมีการประเมินว่าน่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน เนื่องจากมีความต้องการซื้อข้าวไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกข้าว เช่น การจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบการประชุมทางไกลและเดินทางไปพบปะกัน อาทิ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อิรัก และญี่ปุ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีแผนเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติเพื่อแนะนำข้าวไทย โดยในประเทศ ได้แก่ Thaifex Anuga ASIA 2023 และในต่างประเทศ ได้แก่ งาน Summer Fancy Food Show ณ สหรัฐฯ งาน GULFFOOD 2023 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOOFEX 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน China–ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับแผนรายตลาด จะทำตลาดกลุ่มลูกค้าหลัก เช่น จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และเบนิน รวมทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมที่หันกลับมาสั่งซื้อข้าวไทย อาทิ อิรัก และยังมีแผนจัดการประชุมข้าวนานาชาติ หรือ Thailand Rice Convention 2023 เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการค้า และเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกข้าวและผู้นำเข้าข้าวจากทั่วโลก