ภัทรธิดา นิดา พัชรวีระพงศ์: นักวิชาการต่างชาติต่อมุมมองเชิงสังคมใน “ปรากฏการณ์แตงโม”
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
การเสียชีวิตของ น.ส. นิดา พัชรวีระพงศ์ หรือ “แตงโม” นักแสดงสาววัย 37 ปี ที่พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่นำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมไทยและสื่อมวลชนอย่างล้นหลาม แม้หลายคนยังมีคำถามและข้อสงสัยอยู่มากมาย ทว่าในสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและวัฒนธรรมไทย สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “คดีแตงโม” กลับมีความชัดเจนที่น่าสนใจ
บีบีซีไทยชวน ดร.เรเชล แฮร์ริสัน ศาสตรจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา หรือ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน และ ศ.ยาสุฮิโตะ อาซามิ แห่งภาควิชาการเมืองโลก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเซ ในญี่ปุ่น มาหามุมมองต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในไทย ทั้งความสนใจของสังคม ของสื่อมวลชน ความเกี่ยวข้องของคนหลากวงการ และคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
โลกที่มีโซเชียลมีเดีย
อาจารย์ทั้งสอง ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คดีของแตงโมเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติเช่นนี้มีส่วนสำคัญมาจากโซเชียลมีเดีย
ดร.แฮร์ริสัน ผู้ใช้ภาพยนตร์ไทยเป็นสื่อการสอนนักศึกษา ยกตัวอย่างการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา นักแสดงชายชื่อดังที่เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี เมื่อปี 2513 ว่าสมัยนั้นประชาชนและสื่อมวลชนก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน ทว่าเนื่องจากไม่ได้มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จึงไม่ได้มีพื้นที่พูดคุยเพื่อทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นกระแสเท่าปัจจุบัน
ฝั่ง ศ.อาซามิ ยกตัวอย่างในกรณี โอ.เจ. ซิมป์สัน นักอเมริกันฟุตบอลผิวดำชาวอเมริกันที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรมอดีตภรรยา นิโคล ซิมป์สัน และ โรนัลด์ โกลด์แมน เพื่อนของเธอ ก็ทำให้สังคมสหรัฐฯ ช่วงนั้นหันมาให้ความสนใจอย่างมาก จนบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นต้องออกมาแถลงให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ทว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียยังมาไม่ถึง “ปรากฏการณ์จึงไม่ยืดยาว” เช่นกรณีของแตงโม
ภาพชีวิตจริงของผู้คน “ชนชั้นปรสิต” ในกรุงโซล
เสรีภาพ-กลโกง-การวิจารณ์ผู้มีอำนาจ
สืบเนื่องกับการมาถึงของโซเชียลมีเดีย ศ.อาซามิ ชี้ว่า หากมองกรณีของแตงโมให้ลึกลงไปจะพบว่า “มีตัวร้ายที่พอวิจารณ์ได้” อยู่ในเรื่องนี้ ซึ่งภายใต้คำจำกัดความของ “ตัวร้ายที่พอวิจารณ์ได้” ของ ศ.ยาสุฮิโตะ นั้น หมายถึง “ตัวร้ายที่มีอำนาจหน่อย มีอำนาจกำลังพอดี ด่าง่าย วิจารณ์ง่าย แสดงความคิดเห็นง่าย”
อาจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาผู้นี้อธิบายเสริมว่า หากตัวร้ายมีอำนาจมากเกินไป ประชาชนจะไม่กล้าวิจารณ์ตั้งแต่แรก ในทางตรงกันข้าม หากตัวร้ายมีอำนาจน้อยเกินไป ประชาชนก็ไม่สนใจจะวิจารณ์อยู่ดี ดังนั้นในกรณีของแตงโมที่เสมือนมีตัวร้ายที่อยู่ตรงกลางจึงเป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้สังคมหันมาให้ความสนใจและแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อน
ในมิติดังกล่าว อ.อาซามิ เชื่อมโยงไปยังระบบศาล ระบบยุติธรรม และระบบตำรวจของประเทศไทยที่มีเชื่อเสียงเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชันมาเป็นเวลานาน พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับกรณีของ วรยุทธ “บอส” อยู่วิทยา ที่ขับรถโดยประมาทจนเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทว่าอัยการกลับไม่สั่งฟ้อง
นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีของแตงโม กลุ่มบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีไม่จำเป็นต้องเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้ดูเร่งรีบในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตามหาความจริงเช่นกัน พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ประชาชนที่มีเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นกับ “ตัวร้ายที่พอวิจารณ์ได้” เลือกใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นทาง “ระบายความรู้สึกอึดอัดใจต่อความอยุติธรรมในสังคมไทย”
“ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตำรวจมีอำนาจมาก ไม่มีโซเชียลมีเดีย ประชาชนพิสูจน์ไม่ได้ ตอนนี้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธ เรื่องนี้เลยยืดเยื้อ” ศ. อาซามิกล่าว
นักวิชาการญี่ปุ่นผู้นี้ยังย้ำว่า แท้จริงแล้วปรากฏการณ์เช่นนี้นับเป็นเรื่องที่ดีเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นการกดดันกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า สังคมไทยต้องไม่เพิกเฉยต่อข่าวสารอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับเรื่อง “ที่พูดยากหน่อย” รวมไปถึงเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน
ที่มาของภาพ, BETTMANN/GETTY IMAGES
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ และนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ หรือ “อาร์เอฟเค” รัฐมนตรียุติธรรม และน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เมื่อครั้งเยือนประเทศไทย
“วัฒนธรรมพันทาง”
ฝั่ง ดร. แฮร์ริสัน ชาวอังกฤษเปรียบเทียบว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนสนใจกรณีดังกล่าวเป็นเพราะเรื่องราวประจำวันของคนทั่วไปไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวนักแสดงสาวโดยเฉพาะในประเด็นปริศนาที่แก้ไขไม่ได้กับชีวิตของ “ดาราที่ดึงดูดใจเรา” ทำให้ความสนใจพุ่งไปหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอและการแก้ไขปริศนา
ในความเห็นของ ศ.ประจำภาควิชาไทยศึกษา กรณีเช่นนี้คล้ายคลึงกับพฤติกรรมของชาวอังกฤษที่ชื่นชอบการดูฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ที่นิยมให้ความเห็นอย่างจริงจังว่านักฟุตบอลรวมไปถึงผู้ฝึกสอนควรเล่นฟุตบอลอย่างไร โดยเธอชี้ว่า “เขาจะมีส่วนร่วม เป็นชีวิตในฝันของเขา เป็นทางหลีกเลี่ยงชีวิตประจำวัน” ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของแตงโมที่ผู้คนจำนวนหนึ่งใช้เพื่อ “หลีกหนีชีวิตที่น่าเบื่อ”
ที่มาของภาพ, Facebook/Rachel Harrison
ดร.เรเชล แฮร์ริสัน
นอกจากนี้ ดร. แฮร์ริสัน ยังชี้ความแตกต่างของกระบวนการสืบสวนสอบสวนในสหราชอาณาจักรและไทย โดยยกตัวอย่างกรณีดังที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ในคดีที่ ซาราห์ เอฟราร์ด หญิงอังกฤษวัย 33 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลักพาตัวไปสังหารเมื่อ มี.ค. 2021 สังคมอังกฤษก็ให้ความสนใจอย่างมากเช่นเดียวกัน ตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้เข้ามาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทว่าการสืบสวนสอบสวนเป็นไปโดยสังคมไม่มีส่วนรับรู้กับรูปคดีและขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากเท่ากับสังคมไทย และสังคมยังวางใจในกระบวนการยุติธรรม เรื่องราวจึงไม่ได้ยืดยาวเป็นที่ถกเถียงกันเท่ากับกรณีของแตงโม
“คนก็อาจจะอยากรู้รายละเอียด แต่ในที่สุดไม่มีข่าวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเป็นคดีที่ต้องขึ้นศาล ถ้าเทียบกับไทย จะมีข่าวมาก แล้วสังคมมีโอกาสได้รู้รายละเอียด ยิ่งสนใจ ยิ่งไปกันใหญ่” ดร. เรเชล ชี้ พร้อมย้ำว่า ขั้นตอนการปิดข่าวที่ไทยเคร่งครัดน้อยกว่าที่สหราชอาณาจักรมาก
ในมิติของวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกกรณีสำหรับ ดร. แฮร์ริสัน คือการก้าวข้ามทางศาสนา หรือสิ่งที่เธอเรียกว่า “วัฒนธรรมพันทาง” จากกรณีการบวชเป็นโยคีเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลที่เป็นหลักเชื่อทางพุทธศาสนาให้แก้ผู้ล่วงลับที่นับถือศาสนาคริสต์
เธออธิบายว่าเรื่องนี้ไม่พบเห็นในวัฒนธรรมอังกฤษ โดยในสหราชอาณาจักร หากผู้คนจะทำบุญ ก็เป็นการทำเพื่อตนเอง ไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่น และ “จะไม่มีการข้ามศาสนาเด็ดขาด” ด้วยเหตุนี้เธอจึงสนใจมากที่ได้เห็นปรากฎการณ์จากกรณีของแตงโมว่า มีกลุ่มคนที่อยู่ในศาสนาหนึ่งต้องการ “ทำบุญ” เพื่อให้คนในอีกศาสนา
ที่มาของภาพ, Yasuhito Asami
ศ.ยาสุฮิโตะ อาซามิ
ปริศนาการเสียชีวิต
แตงโมพลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ. โดยหลังจากการค้นหาเป็นเวลา 2 วัน เจ้าหน้าที่ก็พบกับร่างของเธอที่ลอยขึ้นมา บริเวณใกล้กับจุดที่พลัดตกเรือ ห่างจากท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสอบปากคำบุคคลบนเรือทั้ง 5 คน หลังจากนั้น ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างต่อเนื่อง จากผลการสอบปากคำและการตอบคำถามของบุคคลบนเรือทั้ง 5 คน ที่ดูมีความขัดแย้งกันเอง รวมถึงข้ออ้างสำคัญที่คนบนเรือชี้ว่าแตงโมไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ
แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับรายการดราม่าวันนี้ว่าจากผลชันสูตรศพรอบใหม่ ไม่พบคราบปัสสาวะตามที่สังคมสงสัยว่าแตงโมไปปัสสาวะที่ท้ายเรือจริงหรือไม่ และ ผลการเอ็กซเรย์ย้ำว่า “แปลไม่ได้ลึกถึงกระดูก ซึ่งเป็นแผลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต และ ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ แต่แผลจะเกิดก่อนตกน้ำ หรือ เกิดแผลระหว่างอยู่ในน้ำ” ยังไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน
นับจนถึงปัจจุบัน 21 มี.ค. ยังไม่มีการสรุปอย่างชัดเจนว่า แตงโม เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจริงหรือไม่
บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก “ยินยอมและไปต่อ”
คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา
สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1
ตำรวจสรุปสำนวน “คดีแตงโม”
หลังจากใช้เวลาสืบสวนสอบสวน เก็บพยานหลักฐาน จำลองเหตุการณ์ สอบปากคำพยานมาเป็นเวลาถึง 2 เดือนเต็ม วันที่ 26 เม.ย. พล.ต.ท. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 นำทีมพนักงานสอบสวนแถลงปิดสำนวนคดีการเสียชีวิตของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ บีบีซีไทยสรุประเด็นสำคัญ ดังนี้
- ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีผู้ต้องหา 5 คนบนเรือสปีดโบต และผู้ให้คำปรึกษา รวมทั้งหมด 6 คน
1) นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือ ปอ แจ้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แจ้งให้การเท็จ และผิด พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย
2) นายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือ โรเบิร์ต แจ้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และผิด พ.ร.บ.การเดินเรือฯ
3) นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือ แซน แจ้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
4) นายนิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร หรือ จ๊อบ แจ้งข้อหาพยายามทำลายพยานหลักฐาน และผิด พ.ร.บ.การเดินเรือฯ
5) น.ส. อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือ กระติก แจ้งข้อหาแจ้งความและให้การเท็จ
6) นายภีม ธรรมธีรศรี หรือ เอ็ม ข้อหาช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือ ไร้ประโยชน์ซึ่งพยาน หลักฐานในการกระทำผิด และแจ้งข้อหาแจ้งความ และให้การเท็จ
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
สื่อมวลชนจำนวนมากเข้ารับฟังการแถลงข่าวของคณะพนักงานสอบสวน สรุปสำนวนคดีการเสียชีวิตของนักแสดงสาว “แตงโม” ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 วันที่ 26 เม.ย. 2565
- สาเหตุการเสียชีวิตและผลการชันสูตร
ผลการชันสูตรสรุปว่า น.ส.นิดาเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ ส่วนบาดแผลที่ต้นขาและแผลขนาดเล็กหลายจุดบนขาของผู้เสียชีวิตคาดว่าเกิดจากใบพัดเรือ
- ตำรวจรวบรวมเอกสารสำนวน 2,499 หน้า ส่งฟ้องอัยการ
การสืบสวนสอบสวนตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจสอบปากคำผู้กล่าวหา 4 ปาก ผู้ต้องหา 6 ปาก พยานบุคคล 108 ปาก และพยานผู้เชี่ยวชาญ 16 ปาก นอกจากนี้ยังมี พยานเอกสาร 47 ฉบับ วัตถุพยาน 88 ชิ้น และคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด โดยจะส่งสำนวนให้กับอัยการ จ.นนทบุรี เพื่อมีคำสั่งต่อไป
“เราทำงานตามพยานหลักฐานและกฎหมายที่กำหนด คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจจากพยานหลักฐานที่รวบรวมมา…เรามีความมั่นใจ มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 6 คน” พล.ต.ท. จิรพัฒน์กล่าว