มติเอกฉันท์ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พิธา-ก้าวไกล “ล้มล้างการปกครอง” สั่ง “เลิก” แก้ ม.112
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการ “เลิกการกระทำ” เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสรุปใจความสำคัญได้ว่า นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการ การเรียกร้องให้มีการทำลายการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค
แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการโดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคม การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง
“หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
ดู สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ที่นี่
ภายหลังเสร็จสิ้นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พรรค ก.ก. โพสต์ในช่องทางเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) ว่า “พรรคก้าวไกลยืนหยัดทำหน้าที่พรรคการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน รับใช้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ สร้างสังคมที่คนไทยเท่าเทียมกัน พาประเทศไทยไปเท่าทันโลก”
“นี่คือความใฝ่ฝันทางการเมืองอันเรียบง่ายของเรา ไม่ใช่การมุ่งหมายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ก้าวไกลชี้แจง กับความกังวล 7 ข้อต่ออนาคตการเมืองไทย
ต่อมาเวลา 16.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธวัช ตุลาธน และ สส.พรรคก้าวไกล อีกนับร้อยชีวิต เปิดแถลงข่าวหลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว แบ่งออกเป็น 7 ข้อสำคัญ ดังนี้
- ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญ
- ความเข้าใจและความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- หลักการสำคัญทางการเมืองที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน สิ่งที่ทำได้ในอดีตสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- การตีความว่าอะไรคือการล้มล้างการปกครอง อาจเกิดปัญญาที่มีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะความคลุมเครือในการตีความข้อเท็จจริงกับเจตนา
- ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตย และสถาบันในระบอบการเมืองไทยในอนาคต
- ทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบอบรัฐสภาในการหาข้อยุติความขัดแย้ง
- อาจส่งผลให้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันเอง
“คำวินิจฉัยในวันนี้ ไม่ได้กระทบเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่กระทบความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน” นายชัยธวัช กล่าว
ยกตัวอย่าง ไม่เพียงพรรคก้าวไกลถูกสั่งห้าม “พูดถึงมาตรา 112” แต่สื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไป “จะแสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 112 ไม่ได้หรือเปล่า หรือหากเสนอความคิดเห็นว่ามาตรา 112 ควรปรับแก้ไข ก็อาจถูกตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง” ชัยธวัช ระบุ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ยังอาจสร้างความคลุมเครือในการตีความข้อเท็จจริง และเจตนา โดยเฉพาะกรณีที่ศาล รธน. ชี้ถึงการที่ สส.พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เป็นการ “สนับสนุนการล้มล้างการปกครอง” ทั้งที่ สิทธิการประกันตัวไม่ว่าจะในข้อกล่าวหาใด เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามที่รัฐธรรมนูญให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนให้ถือเป็น “ผู้บริสุทธิ์”
“การตีความที่แบบดูเหมือนไม่มีขอบเขตและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แม้กระทั่งการนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีผู้ต้องขัง 112 ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และไม่กระทบต่อการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด” หัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายต่อ
“แล้วพรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่า เป็นผู้จงรักภักดี อีกพรรคไม่จงรักภักดี หรือโจมตีว่าอีกพรรคมีเจตนาที่เป็นลบต่อพระมหากษัตริย์ หรือมีการขึ้นรูปพระราชวงศ์ ถือว่าเป็นการลดทอน บ่อนเซาะทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่มีสถานะที่เป็นกลางทางการเมือง หรือไม่” เขาตั้งคำถาม
ตอนนี้ สื่อมวลชนและสังคมจับตาว่า คำวินิจฉัยของศาลจะเปิดช่องทางให้มีการยื่นร้องเพื่อยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลตอบว่า ขอรอตรวจสอบคำวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง แต่ตอนนี้ “ยังไปไม่ถึงตรงนั้น เราต้องรอเอกสารคำวินิจฉัย เพื่อเตรียมรับมือในทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้”
ด้านนายพิธา ยืนกรานว่า ตอนนี้ “ไม่ได้กังวลมากนัก แต่ตระหนักถึงความท้าทายที่เราจะเผชิญ” พร้อมย้ำถึงการเสียโอกาสที่จะใช้รัฐสภาเป็นช่องทางไกล่เกลี่ยและยุติความขัดแย้งในสังคม
“เรื่องนิติรัฐ นิติธรรม สิทธิในการเข้าถึงการประกันตัว สิทธิในการรวมตัวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในสังคม… เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว ไม่ใช่ชะตากรรมของพรรคก้าวไกลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของอนาคตประชาธิปไตยของไทย” นายพิธา กล่าว
ท้ายสุด เมื่อสื่อถามว่า มี สส.ก้าวไกล คนไหนบ้างที่อาจ “สละเรือ” สส. ด้านหลังนายพิธา ต่างยิ้มและหัวเราะ “ทุกคนยิ้มหมด แปลว่ายังอยู่หมด”
แกนนำ ก.ก. ไม่ร่วมฟังในห้องพิจารณาคดี
ในการออกนั่งบัลลังก์ของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออ่านคำวินิจฉัยช่วงบ่าย ไม่มีแกนนำพรรค ก.ก. เข้าร่วมรับฟังในห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น นายชัยธวัช หรือนายพิธา
เจ้าหน้าที่พรรค ก.ก. แจ้งผู้สื่อข่าวว่า มีวาระสำคัญในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่สามารถไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลได้ อย่างไรก็ตาม แกนนำและ สส.ก้าวไกล จะร่วมกันติดตามถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยที่รัฐสภา และจะมีการประชุมหารือและแถลงข่าวต่อไป
ด้านนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้อง แจ้งว่าจะเดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง
สำหรับ “คดีล้มล้างการปกครอง” นายธีรยุทธเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. (ขณะนั้น) ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรค ก.ก. ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ในช่วงที่พรรค ก.ก. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังชนะการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 นายพิธา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรค ก.ก. ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจาก สส. ขั้วอำนาจเดิม และ สว. บางส่วน จากนโยบายแก้ไขมาตรา 112 โดยสมาชิกรัฐสภาบางส่วนใช้ประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯ
สุดท้าย นายพิธาก็พ่ายโหวตกลางรัฐสภาเมื่อ 13 ก.ค. 2566 โดยมีผู้โหวตเห็นชอบให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ ก่อนที่พรรค ก.ก. จะถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้านหลังจากนั้น
ธนาธร เชื่อ “ก้าวไกลจะไม่ถูกยุบ”
เช้าวันนี้ (31 ม.ค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เข้าร่วมการประชุม กมธ.โอนถ่ายธุรกิจกองทัพ สภาผู้แทนราษฎร นัดแรก ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ แสดงความเชื่อมั่นว่า การวินิจฉัยคดี “ล้มล้างการปกครอง” ของศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ทำให้พรรคก้าวไกลถูกยุบ
“เชื่อมั่นว่า พรรคก้าวไกลจะไม่ถูกยุบ ยังไงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไปไม่ถึงจุดนั้นอยู่แล้ว” ธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาล รธน. สั่งยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ให้สัมภาษณ์
เขายังแสดงความเห็นถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำได้
“กฎหมายไม่ได้ถูกส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า กฎหมายร่างด้วยมือมนุษย์ ดังนั้น ในเมื่อมันร่างด้วยมือมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็ต้องแก้ไขมันได้” เขากล่าว
“ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเรียกได้เต็มปากว่า เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ ผมคิดว่าคงมีอะไรไม่ปกติแล้วล่ะกับประเทศนี้”