มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส: ทำความรู้จักไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของไทย
ไดโนเสาร์ตัวเล็กจิ๋ว วิ่งหนีไดโนเสาร์กินเนื้อที่ดุร้ายได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว หน้าตาของมันดูแล้วน่ารัก มีขนฟูทั่วตัว ส่วนศีรษะเป็นสีชมพู นัยน์ตากลมโต ปากเป็นจงอยสั้นคล้ายนก
นี่คือภาพที่นักบรรพชีวินวิทยาของไทย จินตนาการภาพของ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis gen. et sp. nov.) หรือ “นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย” ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ที่พบในไทย
“นี่เป็นไดโนเสาร์ที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก เราเจอกระดูกมากกว่า 60% ที่เรียงต่อกัน” ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัย ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของมินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ที่แหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ เมื่อหลายปีก่อน
เขาอธิบายว่า ที่มาของฉายา “นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย” มาจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมัน คือ “มินิมัส เป็นภาษาละติน แปลว่า ขนาดเล็ก… เคอร์เซอร์ หมายถึงนักวิ่ง และภูน้อยก็คือแหล่งที่เจอ”
ซากดึกดำบรรพ์ของมินิโมเคอร์เซอร์ชิ้นหนึ่งในจำนวนหลายชิ้นที่ค้นพบ ยังถือว่ามีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่เคยพบมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการตีพิมพ์เอกสารวิชาการในวารสารวิชาการ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2566
ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบในไทยตัวนี้ เป็นไดโนเสาร์ “ออร์นิธิสเชียน” หรือไดโนเสาร์กินพืชแบบสะโพกนก โดยซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้น ประกอบด้วยกระดูกลำตัว ขา และหาง บ่งชี้ว่า มันมีขนาดเล็กราว 60 เซนติเมตร ขณะที่ ซากของไดโนเสาร์สายพันธุ์เดียวกัน แต่คนละตัว ชี้ว่า เมื่อโตเต็มวัย มันจะมีขนาดยาวถึง 2 เมตร
เนื้อหาในบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ ระบุว่า มินิโมเคอร์เซอร์ เป็นไดโนเสาร์ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือราว 150 ล้านปีก่อน และถือเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกในหมวดหินภูกระดึงที่ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ
“มันเป็นออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในไทย และอาเซียน… เรายังมีกะโหลกที่อยู่ระหว่างการอนุรักษ์ตัวอย่าง และคาดว่าจะเจอชิ้นส่วนเพิ่มเติมอีก” ดร.ศิตะ กล่าว
จูแรสซิกพาร์ค… เมืองไทย
สถานที่ค้นพบมินิโมเคอร์เซอร์ คือ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ “เป็นพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร ไม่ใหญ่มาก ขนาดคร่าว ๆ เท่า 3 สนามบาสเก็ตบอล ที่มีการขุดค้นมาตั้งแต่ปี 2561” นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบายในการแถล่งข่าวถึงการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ในวันที่ 26 ก.ค.
แต่ภายใต้ผืนดินและภูเขาขนาดไม่กี่ไร่นี้ ทางทีมวิจัยค้นพบซากดึกดำบรรพ์เล็กใหญ่แล้วกว่า 5,000 ชิ้น ทำให้ อรนุช เชื่อว่า “ที่ตรงนี้มีคุณค่า พบฟอสซิลมากมายเต็มไปหมด” แต่การจะพัฒนาซากดึกดำบรรพ์ นำไปสู่การค้นพบไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ต้องทำอย่างระมัดระวัง และใช้เวลา “การทำงานแต่ละชิ้น จึงเหมือนศิลปกรรมยาก ๆ เลยทีเดียว”
การค้นพบไดโนเสาร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร และศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในฝรั่งเศส รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรณี ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รศ.มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ม.มหาสารคาม ชี้ว่า นี่เป็นการวิจัยครั้งสำคัญในระดับโลกของไทย ซึ่งจะยิ่งช่วยขับเคลื่อนความพยายามยกระดับแหล่งซากดึกดำบรรพ์แห่งนี้ เป็น “อุทยานธรณีกาฬสินธุ์” เพื่อดำเนินการขุดค้นให้กว้างขึ้น รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด
“แหล่งภูน้อยสามารถเป็นจูแรสซิกพาร์คเมืองไทย ไประดับโลกได้เลย” รศ.มงคล เชื่อมั่น
เป้าหมายต่อจากนี้
ดร.ศิตะ ผู้ค้นพบซาก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” เล่าย้อนไปถึงการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า เริ่มจากซากชิ้นส่วนขนาดเล็กจิ๋ว ก่อนจะใช้กระบวนการเทียบเคียงกับไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อจำกัดวงให้แคบลง จนกระทั่งค้นพบซากฟอสซิลที่มีขนาดสมบูรณ์อย่างมาก จนประเมินได้ถึงลักษณะ ประเภทไดโนเสาร์ ถึงจุดที่สามารถสร้างภาพแอนิเมชันเพื่ออธิบายรูปลักษณ์ของมันออกมาได้อย่างละเอียด
ต่อจากนี้ “เราจะเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาวิจัยมากขึ้น ศึกษาถึงการเจริญเติบโต พฤติกรรม สีของไดโนเสาร์ ที่เรารู้แล้วว่าโตเต็มที่มีความยาวได้ถึง 2 เมตร” เขากล่าว และเสริมว่า ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส จะเป็นกระบวนการวิจัยในขั้นต่อ ๆ ไป
ส่วนความคาดหวังต่อการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ ไม่เพียงส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น และสร้าง “จูแรสซิกพาร์คเมืองไทย” เท่านั้น แต่ทางมหาวิทยาลัยสารคาม หวังว่า จะกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนักบรรพชีวินรุ่นใหม่ในไทยมากขึ้น
“นี่จะเปิดประตูสู่บานต่อ ๆ ไป… และเราต้องการนักบรรพชีวินรุ่นใหม่มาช่วย”
ทำความรู้จักไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์
- ชื่อ: มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis gen. et sp. nov.) วันที่ค้นพบ: ปี 2561 จังหวัดกาฬสินธุ์
- ชื่อ: ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) วันที่ค้นพบ: มิ.ย. 2530 จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สกลนคร
- ชื่อ: สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) วันที่ค้นพบ: ปี 2536 จังหวัดขอนแก่น
- ชื่อ: สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni) วันที่ค้นพบ: ปี 2529 จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานี และนครราชสีมา
- ชื่อ: อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi) วันที่ค้นพบ: ธ.ค. 2541 จังหวัดชัยภูมิ
- ชื่อ: กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaenensis) วันที่ค้นพบ: ปี 2536 จังหวัดขอนแก่น
- ชื่อ: ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki) วันที่ค้นพบ: ต.ค. 2561 จังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น
- ชื่อ: สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami) วันที่ค้นพบ: ปี 2550 จังหวัดนครราชสีมา
- ชื่อ: ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae) วันที่ค้นพบ: ปี 2524 จังหวัดนครราชสีมา
- ชื่อ: สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis) วันที่ค้นพบ: ปี 2550 จังหวัดนครราชสีมา
- ชื่อ: ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwianvenator yaemniyomi) วันที่ค้นพบ: ปี 2536 จังหวัดขอนแก่น
- ชื่อ: วายุแรปเตอร์ หนองบัวล าภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis) วันที่ค้นพบ: ปี 2531 จังหวัดหนองบัวลำภู
- ชื่อ: สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor suwati) วันที่ค้นพบ: ปี 2550 จังหวัดนครราชสีมา