“ยักษ์แคระ” ตำนานนักแบก เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกรอวันทวงคืนจิ๊กซอว์สำคัญ
กว่า 30 ปี เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าชมจำนวนมาก และไม่พลาดลิ้มลองไอศกรีมโบราณศรีเทพ โดยเฉพาะรูปยักษ์แคระ ลักษณะนั่งแบกและมีใบหน้าเป็นรูปสัตว์ ที่มีตำนานความเชื่อควบคู่กับโบราณสถานมานับพันปี ขณะเดียวกันนักโบราณคดีก็อยากให้ติดตามโบราณวัตถุ จิ๊กซอว์สำคัญขยายให้เห็นความเป็นอยู่ของเมืองโบราณศรีเทพ
ภาพยักษ์แคระบนไอติมโบราณแห่งเมืองศรีเทพ ได้รับความนิยมหลังได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยหลายคนต่างบอกว่าไม่กล้ากิน เพราะเป็นลวดลายโบราณที่อยู่ในโบราณสถาน ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ได้ขยายความให้เห็นถึงความสำคัญของยักษ์แคระ ให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า รูปยักษ์หรือลวดลายคนแบกในเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะศิลปะทวารวดี โดยมีบันทึกของพระภิกษุจีนที่เดินทางไปแสวงบุญที่อินเดีย ได้เดินทางผ่านมาบริเวณนี้ในครั้งอดีต ว่ามีการสร้างศิลปะเฉพาะตัว เช่น ศิลปะพระพุทธรูปคิ้วต่อเป็นรูปปีกกา นัยน์ตาโปน ปากแบะ
โดยรูปปั้นใบหน้าสิงโตนั่งยอง เป็นลักษณะของรูปสัตว์แบกสิ่งของเหมือนแบกโลกไว้ เมื่อนำมาใช้กับโบราณสถานมีนัยถึงการแบกสิ่งสำคัญด้านศาสนา โดยได้รับรูปแบบศิลปะมาจากอินเดีย ศรีลังกา ที่มีรูปแบบศิลปะเหมือนเจดีย์ช้างล้อม ถือเป็นความเชื่อตามคติโบราณ ใบหน้าสิงโตก็เป็นเหมือนการสนองความเชื่อของคนโบราณ เพราะสิงโตเป็นเจ้าป่า ดูแลปกปักรักษาสถานที่แห่งนั้น ถ้าตามความเชื่อฮินดู สิงโตเป็นเหมือนสัตว์พาหนะของพระแม่อุมา
ส่วนรูปปั้นยักษ์แคระมีใบหน้าเป็นมนุษย์ รูปร่างล่ำสัน ถูกนำมาใช้ตกแต่งในโบราณสถาน ลักษณะยกหรือแบกส่วนที่สำคัญ ที่น่าสนใจคือ ใส่ตุ้มหูขนาดใหญ่เป็นพิเศษ โดยเป็นรูปแบบศิลปะเฉพาะของทวารวดี คนสมัยโบราณจะใส่ตุ้มหู เพื่อเป็นเครื่องประดับ ซึ่งตุ้มหูก็เป็นตัวบ่งบอกสถานะ หากเป็นตุ้มหูเรียวแหลม ใช้ประดับองค์ที่เป็นเทพเทวดา แต่ถ้าตุ้มหูเป็นวงกลม หรือห่วงขนาดใหญ่ ใช้ประดับในยักษ์ หรือสัตว์ต่างๆ ขณะที่ลายบัวเป็นส่วนประดับบริเวณฐานพระ สามารถเห็นได้ทั่วไป
เมืองโบราณศรีเทพ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญรอทวงคืน
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี เล่าต่อว่า การที่เมืองโบราณศรีเทพ ได้เป็นมรดกโลก ทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจมากขึ้น ซึ่งถ้าโบราณวัตถุที่หายไป ได้รับกลับคืนมา จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ในหลายสถานที่ โดยเฉพาะในไทยมีบุคคลมากบารมีครอบครองฐานธรรมจักร ที่จะบ่งบอกอายุความเป็นมาของเมืองโบราณนี้ได้
“ฐานธรรมจักรจะเป็นเหมือนจิ๊กซอว์สำคัญ เพราะเป็นลวดลายเฉพาะ ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะบ่งบอกถึงความรุ่งเรือง ควบคู่กับศิลปะสมัยทวารวดีในไทย หากได้ฐานนี้มาสามารถรู้ได้ทันทีว่า ลวดลายนี้อาจไม่ใช่ศิลปะเขมรที่เราเรียกกัน เช่นเดียวกับเศียรพระนารายณ์ สวมหมวกทรงกระบอก เป็นเอกลักษณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้”
แต่โบราณวัตถุที่หายไปมากคือ แผ่นดุมทอง มีมากกว่า 10 แผ่น มีหลักฐานการซื้อขายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการขึ้นบัญชีเพื่อติดตามทวงคืนแล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องความล่าช้า โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาทวงคืน
“แผ่นดุมทอง เป็นเรื่องราวของพุทธศาสนา เช่น แผ่นทองพระนารายณ์ที่ยืนเอียง สวมหมวกทรงกระบอก เป็นลวดลายเอกลักษณ์ของเมืองโบราณแห่งนี้ ที่น่าสนใจคือ แผ่นทองที่เป็นรูปพระพุทธเจ้า ด้านข้างเป็นรูปเจดีย์ ซึ่งเจดีย์ทรงกลมไม่เคยพบในเมืองโบราณศรีเทพเลย ดังนั้นรูปทรงนี้อาจจะเป็นภาพสมบูรณ์ที่สุด ที่บ่งบอกโบราณสถานในพื้นที่ว่าครั้งอดีตมีลักษณะอย่างไรได้ชัดเจนที่สุด”
ความมั่งคั่งของเมืองโบราณศรีเทพ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอีสานภาคเหนือและภาคกลาง มีการผสมผสานความหลากหลายของศาสนาเข้าด้วยกัน จึงทำให้เห็นโบราณวัตถุที่เป็นการผสมผสานของศาสนา ดังนั้นถ้ามีการทวงคืน จะทำให้เห็นความเป็นอยู่ของคนในอดีตด้วย.
ขอขอบคุณภาพจาก ศรีเทพ : Si Thep