รวม 10 เหตุการณ์โลกสะเทือนตลอดปี 2566 | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
1.สงครามอิสราเอล-ฮามาส
เช้าตรู่วันที่ 7 ต.ค.2566 กลุ่มติดอาวุธฮามาสก่อเหตุโจมตีใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในอิสราเอล สังหารผู้คนไปกว่า 1,400 คน และจับตัวประกันไปมากกว่า 200 คน จากนั้นอิสราเอลโจมตีกลับตลอดระยะเวลา 7 สัปดาห์ สร้างความสูญเสีย คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ทั้งชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทหาร นักข่าว บุคลากรทางการแพทย์ กว่า 10,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 30,000 คน
ความสูญเสียในสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ก่อนที่ วันที่ 24 พ.ย.2566 จะหยุดยิงชั่วคราวและแลกเปลี่ยนตัวประกันชาวต่างชาติที่ฮามาสจับกุมไว้ กับ ชาวปาเลสไตน์ที่ติดอยู่ในเรือนจำของอิสราเอล
อ่าน : เปิดใจ “ไม้ 1” การบินไทย ไฟลท์แรกรับแรงงานไทยคืนเหย้า
เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลไทย ต้องเร่งปฏิบัติภารกิจบินไปรับแรงงานไทยกลับบ้าน ท่ามกลางกระแสดรามาเส้นทางบินอ้อม ในขณะที่แรงงานไทยก็พยายามหลบอันตราย เดินทางมาสนามบินจนได้
2. แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย
6 ก.พ.2566 เวลา 04.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศตุรกีและซีเรีย ขนาด 7.8 และ 7.5 ห่างกันไม่นาน ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่เรียกว่าดับเบิ้ลช็อกโลก เพราะสร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อชาวตุรกีและซีเรียไม่น้อย ขณะที่ อาฟเตอร์ช็อก ขนาดเล็กหลายร้อยครั้งก็เกิดอย่างต่อเนื่อง และยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ซ้ำอีกครั้ง ห่างกันไม่ถึง 3 สัปดาห์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
อ่าน : 1.5 ล้านคนยังไร้บ้าน-รัฐเร่งสร้างที่พัก ครบ 1 เดือนแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย
ความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย
ทางการตุรกีได้รายงานได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรอบแรกทั้งในตุรกีและซีเรีย มีมากกว่า 51,100 คน แบ่งเป็น 44,300 คนในตุรกี และ 6,700 คนในซีเรีย เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกต้องตกตะลึงกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ ที่นำมาถึงความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ตามหลักมนุษยธรรม รวมทั้งประเทศไทยด้วย
3. เรือดำน้ำ Titan ระเบิด
18 มิ.ย.2566 เรือดำน้ำไททัน ประสบเหตุระเบิดใต้น้ำ คร่าชีวิตผู้โดยสารทั้งลำ ที่ลงไปเพื่อชมความสวยงามของ “เรือไททานิก” ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกในระดับความลึกถึงราว 4,000 เมตร หรือ 4 กม. สำนักข่าว BBC รายงานว่าระดับความลึกใต้มหาสมุทรเช่นนี้ มีแรงดันน้ำที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับหอไอเฟล หรือหนักหลายหมื่นตัน หากเกิดรอยร้าวที่โครงสร้างของเรือดำน้ำ ก็จะทำให้แรงดันน้ำจากภายนอกบีบอัดเข้าไปภายในเรือได้ง่ายขึ้น ผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมเรือไททันระเบิด ได้แก่
- ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐี นักสำรวจชาวอังกฤษ วัย 58 ปี
- ชาห์ซาดา ดาวูด นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน วัย 48 ปี
- สุเลมาน ดาวูด วัย 19 ปี ลูกชายนักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน
- ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ อดีตนักดำน้ำของกองทัพเรือฝรั่งเศส และ ผู้เชี่ยวชาญซากเรือไททานิก วัย 77 ปี
- สต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัทโอเชียนเกต วัย 61 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือดำน้ำไททัน
อ่าน : ไร้ปาฏิหาริย์ ไม่มีผู้รอดชีวิต พบซากเรือ “ไททัน” ใกล้ซากเรือ “ไททานิก”
4. โลกร้อนทำภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกเคลื่อน
ภูเขาน้ำแข็ง A23a ที่มีความหนา 400 เมตร และมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ตร.กม. ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของนครนิวยอร์ก หนักประมาณ 1 ล้านล้านเมตริกตัน ครองตำแหน่ง “ภูเขาน้ำแข็งในปัจจุบันที่ใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เกิดการเคลื่อนตัวออกจากปลายด้านเหนือของคาบสมุทรแอนตาร์กติก
ภูเขาน้ำแข็ง A23a เคลื่อนตัว
A23a มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่กระแสน้ำรอบขั้วโลกใต้ จากนั้นจะเคลื่อนตัวบนเส้นทางที่เรียกว่า “ตรอกภูเขาน้ำแข็ง” ที่อาจสร้างความเสี่ยงชนบริเวณตอนใต้ของจอร์เจีย ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และพื้นที่หาอาหารของแมวน้ำ นกเพนกวิน และนกทะเลหลายล้านตัว
5. เอลนีโญทำโลกร้อนสุดเป็นประวัติการณ์
ปรากฏการณ์เอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และ พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรง ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NOAA) คาดการณ์ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่เอลนีโญที่รุนแรงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2558-2559 และปี 2559 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในขณะนั้น
คลื่นความร้อนอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น
อ่าน : “เอลนีโญ” พ่นพิษ “ฝนแล้ง-น้ำลด ” กระทบพืชผลเกษตร
ปรากฏการณ์เอลนีโญ สร้างความเสียหายระดับกว้างแก่หลายพื้นที่ในโลก เช่น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ก่อตัวเป็นเมฆฝนที่ตกหนักในพื้นที่ต่างๆ จนก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่, ในบางพื้นที่ของออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เกิดสภาวะแห้งแล้งและเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า, แอฟริกาตะวันออกที่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งกลับมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับสภาพอากาศที่มีฝนตกหนักจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของแอฟริกามีความแห้งแล้งมากกว่าสภาพอากาศโดยเฉลี่ย เป็นต้น
6. สหรัฐฯ ครองที่ 1 กราดยิงมากสุด 5 ปียอดเพิ่ม 2 เท่า
สหรัฐฯ มีข่าวเหตุกราดยิงบ่อยที่สุดในโลก ในปี 2566 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ก็มีจำนวนการก่อเหตุกราดยิงไปแล้วกว่า 500 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปี 2561 เกือบ 2 เท่า ในเดือน ม.ค.2566 ก่อนวันตรุษจีน มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปีนี้ถึง 11 ราย และ บาดเจ็บอีก 9 คน
อ่าน : พบร่างมือกราดยิง 18 ศพในเมืองลูอิสตัน สหรัฐฯ
ชาวเมืองแสดงความอาลัยต่อผู้จากไปจากเหตุกราดยิงในเมืองมอนเทอเรย์พาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย
จำนวนเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- ปี 2561 : 335 ครั้ง
- ปี 2562 : 414 ครั้ง
- ปี 2563 : 610 ครั้ง
- ปี 2564 : 689 ครั้ง
- ปี 2565 : 645 ครั้ง
- ปี 2566 : 506 ครั้ง (ม.ค.-ก.ย.)
7. AI Disruption และปีแห่งการ Lay Off
การเลิกจ้างพนักงาน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 หลังจากที่โลกเผชิญสภาวะแช่แข็ง เพราะการระบาดของโควิด-19 หลายบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต้องสูญเสียพนักงานไปหลายหมื่นคน เช่น Google, Amazon, Microsoft, Yahoo, Meta และ Zoom
ภาพประกอบข่าว พนักงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา การเลิกจ้างพนักงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกยังดำเนินต่อไป เช่น Meta บริษัทแม่ของ Facebook เลิกจ้างพนักงานกว่า 10,600 คน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566, Dropbox บริษัทผู้ให้บริการคลาวด์สตอเรจ ประกาศปลดพนักงาน 500 ตำแหน่งหรือร้อยละ 16 ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก, Google ประกาศตัดลดพนักงานจำนวน 12,000 ตำแหน่ง เป็นต้น
แม้ CEO แทบทุกบริษัทจะออกมาบอกถึงเหตุผลการลดขนาดองค์กร อ้างถึงสภาพเศรษฐกิจมหภาค ผลประกอบของบริษัท แต่การเข้ามาแทนที่มนุษย์ด้วย AI ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาแย่งงานมนุษย์ และทำให้พนักงานหลายคนในองค์กรนั่งหนาวๆ ร้อนๆ นั่งไม่ค่อยติดกันแล้ว
8. การล้มละลายของธนาคารใหญ่ของโลก
ต้นเหตุมาจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ทำให้ ลูกค้าธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ พากันแห่ถอนเงินสดออกจากธนาคารอย่างกะทันหัน จนทำให้ธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้เกิดจากการบริหารความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงที่ล้มเหลว โดยที่ธนาคารใช้เงินกู้ไปกับการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนใดภาคหนึ่งของเศรษฐกิจมากเกินไป
ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์
อ่าน : ธปท.จับตาใกล้ชิด ยันแบงก์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB
ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสําเร็จอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงินและการธนาคารแก่สตาร์ทอัพจึงถูกสั่งปิดตัวลงในวันที่ 10 มี.ค.2566 หลังขาดกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก
9. อินเดียขึ้นนำอันดับ 1 ประชากรมากที่สุดในโลก
วันที่ 15 พ.ย.2565 ครบรอบ 1 ปีที่ประชากรโลกทะลุ 8,000 ล้านคน และในเดือน เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ก็เป็นเดือนที่จำนวนประชากรของอินเดียแซงหน้าประชากรจีนเป็นที่เรียบร้อย
อ่าน : 10 อันดับประเทศประชากรมากที่สุดในโลก
ประชากรชาวอินเดีย
Population Media Center แสดงความกังวลถึงเรื่องนี้ว่า จำนวนประชากรที่ทะลุ 8,000 ล้านคนขณะนี้ ทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกได้อย่างแน่นอน และเผย 3 เหตุผลของการมีประชากรมากเกินไป ได้แก่
- อัตราการเสียชีวิตลดลง
- การบังคับใช้การคุมกำเนิดที่ไม่ได้ผล
- ผู้หญิงเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดีพอ
10. นาซายัน UFO ไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี
ก.ย.2566 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา ออกมาสรุปเรื่องที่ทั่วโลกสงสัยมานานกว่าศตวรรษเกี่ยวกับ “วัตถุปริศนาบินได้ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ หรือ UFO” ว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่าเอเลียนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้เหล่านี้ แต่ทางนาซาก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าวเช่นกัน
และนาซายังตั้งคณะกรรมการศึกษาปรากฏการณ์ปริศนาต่อไป โดยนิยามคำใหม่ว่า “ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่อาจระบุได้” หรือ Unidentified Anomalous PhenomenaUAP (UAP)
อ่าน : “นาซา” แถลงยังไม่เคยพบ UAP หรือ UFO ที่มาจากต่างดาว
ซากที่เม็กซิโกอ้างว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว
ต่อมามีการเปิดเผยหลักฐานกลางสภาเม็กซิโก ระบุว่าเป็นซากฟอสซิลขนาดเล็กของ “สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” โดยยังระบุด้วยว่า ทั้ง 2 ร่าง ถูกค้นพบในประเทศเปรูเมื่อปี 2560 มีอายุประมาณ 700 ปี และ 1,800 ปี แต่ ดร.เดวิด สเปอร์เกล นักวิทยาศาสตร์นาซา บอกกับบีบีซีว่า “เอาตัวอย่างจากศพนี้ให้ชุมชนวิทยาศาสตร์เข้าถึงได้ก่อน แล้วเราจะได้รู้กันจริงๆ ว่ามันคืออะไร”