ข่าวสารกรุงเทพฯ

รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน ฯ ครั้งที่ 18″


ด้านเศรษฐกิจ


title

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน ฯ ครั้งที่ 18″

ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566
ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มุ่งผลักดันมาตรฐานไหมไทยสู่สากล

       นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวเตรียมจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 พร้อมด้วยนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การจัดงานฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย พร้อมผลักดันมาตรฐานไหมไทย มุ่งสร้างชื่อเสียงสู่สากล สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 จัดภายใต้แนวคิด “ไหมไทยล้ำค่า สายใยแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

         “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม มีภารกิจเกี่ยวกับหม่อนไหมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และมีเป้าหมายในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทย และเพื่อให้ผ้าไหมไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องหมายนกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่เน้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และที่สำคัญต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น จึงได้กำหนดจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยคุณภาพ ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม รวมทั้งภารกิจและผลงานของกรมหม่อนไหมให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรงด้วย” ปลัดเกษตรฯ กล่าว

           นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลท์และกิจกรรมภายที่น่าสนใจภายในงาน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดแสดงเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมแพรวา ผลงานการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2566 ผลงานของกรมหม่อนไหม และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม เป็นต้น รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ Silk Home ที่เป็นการจำลอง การใช้ชีวิตประจำวันในห้องรูปแบบ Studio คอนโดมิเนียม โดยมีผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมเป็นหลัก ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ซึ่งผลิตภัณฑ์ ใน Silk Home จะมีรายละเอียดของสินค้าและช่องทางการจำหน่ายที่สามารถเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวได้ภายในงาน ซึ่งได้รับการการันตีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนมีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ของทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และสวมใส่ผ้าไหมไทย ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์การสวมใส่ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย    สำหรับ “ตรานกยูงพระราชทาน” เป็นเครื่องหมายที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย จำนวน 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) ตรานกยูงพระราชทานสีทอง เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหม วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง 2) ตรานกยูงพระราชทานสีเงิน เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน 3) ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิต เข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ และ 4) ตรานกยูงพระราชทานสีเขียว เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นใยไหมแท้กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

            ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย “ตรานกยูงพระราชทาน” สามารถสมัครเข้าใช้บริการในระบบออนไลน์ผ่านทาง https://portal.qsds.go.th/Portal/Login/Index หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม 0-2558-7924-6 Call center 1275  


อัลบั้มภาพ

title

ข่าวที่เกี่ยวข้อง



Source link