รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-‘รมว.ธรรมนัส’ ห่วงอุทกภัยนราฯ ติดตามงานปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลกและคลองมูโนะ
ด้านเศรษฐกิจ
วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2566
‘รมว.ธรรมนัส’ ห่วงอุทกภัยนราฯ ติดตามงานปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลกและคลองมูโนะ
‘รมว.ธรรมนัส’ ห่วงอุทกภัยนราฯ ติดตามงานปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลกและคลองมูโนะ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนตลาดมูโนะ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
วันนี้ (17 ก.ย.66) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก ในพื้นที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พร้อมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำดำ บริเวณป่าพรุโต๊ะแดง พร้อมด้วย นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นเรื่องที่ต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งรัดงานปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก ให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมกำชับให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยงในช่วงที่เป็นรอยต่อของงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำดำจากป่าพรุโต๊ะแดง ได้สั่งการให้วางแผน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้สะดวกมากขึ้น
สำหรับการปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก สืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโก-ลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและกัดเซาะพนังกั้นน้ำจนชำรุดเสียหาย เข้าท่วมพื้นที่ตลาดมูโนะ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุง โดยการปรับปรุงเสริมพนังกั้นน้ำ การเสริมคันกั้นน้ำ และก่อสร้างพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของระบบฐานราก และป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกและพื้นที่ชุมชน
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำดำ บริเวณป่าพรุโต๊ะแดง กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดจราจรน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่เกิดจากสภาพดินที่มีความเป็นกรดหรือดินเปรี้ยว ซึ่งไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ที่ไหลออกจากป่าพรุโต๊ะแดง โดยการระบายน้ำจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร พร้อมกันนี้ ยังได้วางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการก่อสร้างขยายอาคารบริเวณจุดตัดกับถนนทางหลวง และขยายคลองระบายน้ำบริเวณจุดที่เป็นคอขวด ก่อนที่จะระบายออกสู่คลองระบายน้ำคลองลานและคลองปูยู
อัลบั้มภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง