รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 26 กันยายน 2566
http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (26 กันยายน 2566) เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
เศรษฐกิจ-สังคม |
1. เรื่อง กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567
2. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติม
3. เรื่อง มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566)
4. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนสิงหาคม 2566
5. เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567
6. เรื่อง ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
7. เรื่อง ปรับปรุงการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
8. เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่ขอพระราชทานพระมหากรุณา
9. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2566 เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2564
10. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
11. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนรายเดือนแก่เจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.)
12. เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (กระทรวงมหาดไทย)
ต่างประเทศ |
13. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
14. เรื่อง การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจให้แก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน
15. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
16. เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีส่งรายชื่อผู้แทนคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง)
19. เรื่อง การพิจารณาอนุมัติให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลขาธิการ กปร.
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร (สายงานบริหาร) ระดับสูง ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
23. เรื่อง ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
26. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 1)
27. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ (ครั้งที่ 1)
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 30. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
31. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
35. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
36. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
37. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
40. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
41. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
42. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
43. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
44. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 245/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
45. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
**********************
เศรษฐกิจ-สังคม |
1. เรื่อง กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน
2. เห็นชอบให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ
3. มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) โดยประธานสภาพัฒนาฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญและกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว
4. เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2567 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง
5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 76,756 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2568 – 2570 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 83,443 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า รัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง1ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ได้ส่งข้อเสนองบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2567 ให้ สศช. ซึ่งสภาพัฒนาฯ ได้กำหนดแนวทางสำหรับกลั่นกรองการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) ความสอดคล้องกับสถานการณ์ แนวนโยบายที่สำคัญของภาครัฐ และกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะกรอบนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง และหมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ (2) ความจำเป็นในการลงทุน โดยพิจารณาการลงทุนตามภารกิจและภาระผูกพัน วัตถุประสงค์การจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ และ (3) ความพร้อมในการลงทุนทั้งด้านกายภาพ ฐานะทางการเงิน ตลอดจนการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม และวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ2 เพื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ พิจารณา รวมทั้งได้เชิญผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าร่วมพิจารณาด้วย โดยในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 สภาพัฒนาฯ มีมติ ดังนี้
1. งบลงทุน
เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ3 จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน4 จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง (วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท) และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี (วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน [กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)] คิดเป็นร้อยละ 43.2 และรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 34.6 ของวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในภาพรวม ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้มีมติปรับปรุงการลงทุนจากที่รัฐวิสาหกิจเสนอมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความจำเป็นและความพร้อมในการลงทุน โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการดำเนินงานตามภารกิจหลัก และความพร้อมในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การรออนุมัติ/อนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงได้มีการปรับลดการลงทุนที่เข้าข่ายเป็นโครงการใหม่ที่จำเป็นต้องรอการอนุมัติตามขั้นตอนการดำเนินการจำนวน 31 โครงการ เช่น โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2567 – 2571 ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และโครงการระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น โดยรายละเอียดกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ในภาพรวม ปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้
หน่วย : ล้านบาท
ประเภทการลงทุน | ข้อเสนอ | ผลการพิจารณาของสภาพัฒนาฯ | ปรับเพิ่ม (ลด) | |||
ดำเนินการ | เบิกจ่าย | ดำเนินการ | เบิกจ่าย | ดำเนินการ | เบิกจ่าย | |
(1) งบปกติ5 | 311,640 | 91,187 | 306,419 | 88,552 | (5,221) | (2,635) |
(2) งบโครงการ6 | 961,982 | 136,101 | 855,433 | 117,021 | (106,549) | (19,080) |
(3) สัญญาเช่า (TFRS16)7 | 18,772 | 3,413 | 18,772 | 3,412 | 0.04 | (1) |
รวม [(1) ถึง (3)] | 1,292,394 | 230,701 | 1,180,624 | 208,9858 | (111,770) | (21,716) |
(4) กรอบสำหรับเพิ่มเติมระหว่างปี9 | – | – | 200,000 | 50,000 | – | – |
รวม [(1) ถึง (4)] | 1,292,394 | 230,701 | 1,380,624 | 258,985 | (111,770) | (21,716) |
ทั้งนี้ เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง10 (รวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 51 แห่ง) แล้ว ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2567 ประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,528,028 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 449,950 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้
หน่วย : ล้านบาท
ประเภทการลงทุน | ดำเนินการ | เบิกจ่าย |
งบลงทุนเฉพาะรัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง รวม [(1) ถึง (3)] | 1,180,624 | 208,985 |
งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง | 347,404 | 240,965 |
ภาพรวมงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 51 แห่ง | 1,528,028 | 449,950 |
สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน
2. งบทำการ
รับทราบงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 76,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณร้อยละ 51.211 โดยมีรายได้รวม 2,247,541 ล้านบาท และรายจ่ายรวม 2,170,785 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ มีข้อสังเกตว่าเมื่อดำเนินการจริงแล้วงบทำการของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2567 อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสมมติฐานและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก (1) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (2) ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านราคาพลังงาน (3) ความสามารถในการดำเนินตามแผนธุรกิจ (4) ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (5) ความผันผวนของราคาสินค้าด้านการเกษตร อาทิ ยางพารา และ (6) การจัดสรรเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้ โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้
หน่วย : ล้านบาท
งบทำการ | ปี 2566 (เบื้องต้น) | ปี 2567 (ประมาณการ) | ร้อยละเพิ่ม (ลด) จากปี 2566 |
ประมาณการรายได้รวม | 2,155,202 | 2,247,541 | 4.3 |
ประมาณการรายจ่ายรวม | 2,104,445 | 2,170,785 | 3.2 |
ประมาณการกำไร (ขาดทุน) สุทธิ | 50,757 | 76,756 | 51.2 |
3. แนวโน้มการดำเนินงานปี 2568 – 2570
รับทราบประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้าของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลการเบิกจ่ายลงทุนรวม จำนวน 1,129,100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 250,328 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ83,443 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากฐานปี 2567 ประมาณร้อยละ 8.7 ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่ารัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจมีทิศทางเติบโตขึ้น
4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้
ประเด็น | ข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ |
4.1 การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ | ให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติผูกพันสัญญาและการก่อหนี้ในรายการลงทุนที่มีความพร้อมโดยเตรียมดำเนินการต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศภายหลังวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย เพื่อให้การประมาณการและการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |
4.2 การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี | ให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีให้แล้วเสร็จโดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงเจ้าสังกัดภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการลงทุนโดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุน ควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถควบคุมได้ หรือเป็นการดำเนินการเชิงนโยบายเท่านั้น หากไม่ใช่ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว สศช. อาจไม่พิจารณาดำเนินการ สำหรับงบลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้ว ให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบลงทุนดังกล่าวได้ โดยให้แจ้งกระทรวงเจ้าสังกัดและ สศช. ทราบเพื่อ สศช. จะได้ปรับปรุงวงเงินลงทุนให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงไป |
4.3 แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป | รัฐวิสาหกิจควรให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศเพื่อความยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ให้รัฐวิสาหกิจสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินงานและการให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจและเป็นกลไกสนับสนุนที่ช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมาย ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาการลงทุนที่สอดคล้องกับขอบเขตภารกิจของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานตามความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน ความพร้อมของแหล่งเงินลงทุน และการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพิ่มเติมเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
4.4 การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ | ในการลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทลูกหรือการเข้าร่วมลงทุน รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกภาครัฐในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอยู่ ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมายในการสร้างรายได้ เพื่อให้การลงทุนดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ |
4.5 การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ | ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณานำแนวทางของ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2566 – 2570 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอน มาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาองค์กรมีกรอบที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงความจำเป็นของการดำรงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย |
5. ข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการที่เหมาะสมของแต่ละรัฐวิสาหกิจ อาทิ
มิติ | ตัวอย่างข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ |
5.1 การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน | การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รวมถึงการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนผู้ใช้ถนนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้าง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานทั้งระหว่างการก่อสร้างและเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมของแผนดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการสวนสัตว์แห่งใหม่หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิ แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการ และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องตามสภาวการณ์ปัจจุบันและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแผนการจัดการด้านคมนาคม โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม (คค.) และหน่วยงานของจังหวัดปทุมธานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและบริหารจัดการจราจรที่ไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์และสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ |
5.2 การให้บริการ | การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้กำหนดตารางการเดินรถและการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกำหนดแผนการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารสถานีต่าง ๆ ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม ชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อฐานะการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และอาจพิจารณาการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน/สินค้าประจำถิ่น และการสร้างอัตลักษณ์ในแต่ละสถานีที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน/วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีการลงทุนจำนวนมากให้สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ให้กับ ปณท และการสร้างการรับรู้/ภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทขนส่งที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย/จัดลำดับความสำคัญของการลงทุน รวมถึงการดำเนินธุรกิจในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชนรายอื่นให้มีความคืบหน้ามากขึ้นในปีถัดไป ซึ่งอาจช่วยลดภาระทางการเงินของ ปณท ได้ |
5.3 การลดต้นทุนการผลิต | การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดลำดับการลงทุนตามความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่กระทบต่อการให้บริการและการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทลูก โดยอาจพิจารณาปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์จัดตั้ง |
5.4 การบริหารจัดการ | องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งรัดการจัดทำแผนขับเคลื่อนเพื่อ ขสมก. จะได้มีกรอบแนวทางที่ชัดเจนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการและใช้เป็นข้อมูลประกอบกรณีต้องเสนอขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน องค์การเภสัชกรรม เตรียมความพร้อมของการลงทุนในระยะต่อไปอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่สามารถบริหารจัดการได้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการลงทุนได้แล้วเสร็จและช่วยสร้างรายได้จากสินทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
__________________
1 สศช. มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด ตามมาตรา 20 (7) ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561
2 ประกอบด้วย กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาพัฒนาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สงป. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สศช.
3 วงเงินดำเนินการ คือ วงเงินสำหรับให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นกรอบลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน
4 วงเงินเบิกจ่ายลงทุน คือ วงเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงเพื่อใช้ดำเนินงานตามสัญญา
5 งบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติ คือ วงเงินที่ใช้สำหรับดำเนินงานเพื่อสนับสนุนภารกิจหลัก เช่น งานซ่อมบำรุง งบจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น
6 งบลงทุนโครงการ คือ วงเงินที่ใช้ดำเนินภารกิจหลัก (กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้) ก่อให้เกิดสินทรัพย์ถาวร เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้การลงทุนบรรลุตามเป้าประสงค์
7สัญญาเช่าสินทรัพย์ประจำเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจหลัก
8วงเงินเบิกจ่ายลงทุนแบ่งออกเป็นงบลงทุนผูกพัน จำนวน 166,991 ล้านบาท และงบลงทุนที่เสนอขอใหม่ปีนี้จำนวน 41,994 ล้านบาท
9 สภาพัฒนาฯ ได้เห็นชอบกรอบการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงกรอบลงทุนระหว่างปีเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ และเพื่อปรับงบลงทุนให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้ว
10 ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
11 ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรของภาครัฐภายหลังภาวะโรคระบาด การประมาณการรายได้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (Public Obligation Service: PSO) เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยของต้นทุนทางการเงินลดลง และผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการหดตัวของรายได้ ทั้งผลกระทบจากการออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภาระต้นทุนโดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์สูง และความพร้อมด้านเงินอุดหนุน ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 2567 อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการได้รับจัดสรรเงินงบประมาณซึ่งจะปรับปรุงภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติม จำนวน 11,996,000 บาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ โดยให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ รายการค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน 2,781,954 บาท และใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9,214,046 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,996,000 บาท เพื่อสมทบเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรในส่วนที่ไม่เพียงพอต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบด้วยแล้ว ทั้งนี้ ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า
1. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 4,282,881,800 บาท เป็นงบประมาณแผนงานบุคลากรภาครัฐ จำนวน 1,928,779,900 บาท โดยได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น 2,845,646,900 บาท เป็นแผนงานบุคลากรภาครัฐ จำนวน 1,627,813,000 บาท (แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน 1,597,067,900 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 30,745,100 บาท)
2. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายบุคลากรจนถึงเดือนกันยายน 2566 พบว่า ต้องใช้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1,609,063,900 บาท โดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีรายการงบประมาณที่ประมาณการแล้วมีงบประมาณคงเหลือ จำนวน 9 รายการ [เช่น เงินเดือนข้าราชการและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)] รวมจำนวน 37,093,300 บาท และมีรายการที่จะต้องเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 6 รายการ [เช่น ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน (ค่าซี) และค่าตอบแทนพิเศษสำหรับตำแหน่งพิเศษ] รวมจำนวน 49,089,300 บาท ทั้งนี้ เมื่อหักรายการที่มีงบประมาณคงเหลือแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวนทั้งสิ้น 11,996,000 บาท เพื่อให้เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรจนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 11,996,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวด้วยแล้ว
3. เรื่อง มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) (คณะทำงานฯ)
2. เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (มาตรการพักชำระหนี้) และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” (การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.)
3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 12,096 ล้านบาท ดังนี้
3.1 มาตรการพักชำระหนี้ฯ จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท
3.2 การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท
โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ต่อไป
สาระสำคัญ
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 13 กันยายน 2566 มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยให้เสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่ง กค. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ดังนี้
1.1 แต่งตั้งคณะทำงานฯ ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 2142/2566 เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สั่ง ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการในคณะทำงานที่มีอำนาจและหน้าที่ที่สำคัญ เช่น ศึกษา วิเคราะห์รูปแบบมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เป็นต้น
1.2 จัดทำมาตรการพักชำระหนี้ฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ | 1) เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง 2) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. 3) เพื่อเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพและฟื้นฟูศักยภาพของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น |
กลุ่มเป้าหมาย | เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระหนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566) ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการต้องไม่เป็นลูกหนี้ดำเนินคดี หรือบุคคลล้มละลาย หรือสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว รวมทั้งต้องเป็นประเภทสัญญาตามที่ ธ.ก.ส. กำหนด สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว |
ระยะเวลาโครงการ | ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 (1 ปี) |
วิธีดำเนินโครงการ | เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม |
งบประมาณ | รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ในระยะที่ 1 ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท |
เงื้อนไขอื่น ๆ | 1) ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ สามารถคงชั้นหนี้เดิมไว้ได้ตลอดระยะเวลาการพักชำระหนี้และได้งดเว้นเบี้ยปรับทั้งจำนวน หากลูกหนี้ดังกล่าวแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ในระหว่างการพักชำระหนี้หากลูกหนี้ประสงค์ชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะมีการเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ รวมทั้ง ธ.ก.ส. จะมีการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ (Extended Loan) ให้แก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวด้วย 2) ธ.ก.ส. จะสามารถดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ฯ ได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว และ ธ.ก.ส. ขอแยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) และนำผลกระทบในการดำเนินงานมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. สำหรับผลกระทบที่เป็นตัวเงิน นอกเหนือจากวงเงินชดเชยจากรัฐบาล อันได้แก่ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อปี ที่ ธ.ก.ส. รับภาระจากการขอชดเชยในอัตราร้อยละ 4.50 และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการตามมาตรการ ให้ ธ.ก.ส. สามารถนำมาบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ ธ.ก.ส. ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวให้ ธ.ก.ส. หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหรือกองทุนที่มีศักยภาพในการระดมทุนที่เหมาะสมต่อไป |
1.3 การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ | 1) เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความสามารถในการชำระหนี้ 2) เพื่อเพิ่มทักษะของเกษตรกรให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ในการประกอบอาชีพ 3) เพื่อเชื่อมโยงตลาดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต 4) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยทักษะทางการเงินและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล |
เป้าหมาย | 1) พัฒนาศักยภาพอาชีพเกษตรกรลูกหนี้ จำนวน 300,000 ราย (ปีบัญชี 2567) 2) ผู้ผ่านการพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีต้นทุนลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 15 3) ผู้ผ่านการพัฒนามีความสามารถในการชำระหนี้ได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ |
กลุ่มเป้าหมาย | เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาตามศักยภาพ |
วิธีดำเนินการ | จัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ |
งบประมาณ | 1,000 ล้านบาท |
2. กค. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว โดย กค. (ธ.ก.ส.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ศ. 2565 ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่ง ณ สิ้นวันที่ 22 กันยายน 2566 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มียอดคงค้างจำนวน 1,000,295.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 31.41 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท) ดังนั้น หากมีการอนุมัติการดำเนินการตามมาตรการพักชำระหนี้ฯ งบประมาณ 11,096 ล้านบาท และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.ฯ ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ งบประมาณ 1,000 ล้านบาทจะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชย ซึ่งเมื่อรวมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,012,391.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา ร้อยละ 31.79 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้
4. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนสิงหาคม 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนสิงหาคม 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนสิงหาคม 2566 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 108.41 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.46 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.88 (YoY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ร้อยละ 0.38 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2566) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.88 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.98 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก/สองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน) ค่าแต่งผมชายและสตรี และค่ายา (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ) ราคายังคงอยู่ระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เสื้อบุรุษและสตรี เสื้อและกางเกงเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว ไม้ถูพื้น) และหน้ากากอนามัย
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.74 (YoY) ราคาชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง กระเทียม เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง) ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี ผักคะน้า)
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.79 (YoY) ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 (นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566) สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันของต้นทุนการผลิตที่นอกเหนือจากราคาพลังงานน้อยลง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.55 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.76 (MoM) โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาสูงขึ้นทุกประเภท ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล รวมทั้ง ค่าเช่าบ้าน น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ราคาเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชัน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ) ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ยาสีฟัน ผงซักฟอก และสบู่ถูตัว ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.23 (MoM) ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ นมเปรี้ยว อาหารเช้า และข้าวราดแกง ขณะที่เนื้อสุกร ไก่สด กุ้งขาว ปลาทู ผักและผลไม้บางชนิด (กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย แตงโม มะม่วง) นมสด น้ำมันพืช และซีอิ๊ว ราคาลดลง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.01 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0)
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนกันยายน 2565 ที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2566 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 53.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สาเหตุคาดว่ามาจาก เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน อย่างไรก็ตามราคาพลังงาน สินค้าและบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยทอนที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5. เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ที่ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท (2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท และ (3) แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย
2. อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ขอให้ รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้นตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ รวมทั้งขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการฯ เพื่อทราบต่อไป
3. อนุมัติการกู้เงินเฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วในส่วนของรัฐบาลสำหรับการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน Financial Institutions Development Fund: FIDF) พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน FIDF ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกัน และการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
สาระสำคัญ
1. แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คณะกรรมการฯ เสนอในครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงคณะรัฐมนตรีรักษาการ ทำให้แผนฯ ครอบคลุมเฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติโครงการหรือแผนงานไว้แล้วและสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการบริหารหนี้เดิมเพื่อให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567 เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการกู้เงินทั้งของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งในส่วนของการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ การปรับโครงสร้างหนี้ และการชำระหนี้ที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยที่ยังไม่ได้มีการรวมยอดการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2567 และเพื่อดำเนินโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะบรรจุไว้ในแผนฯ ฉบับปรับปรุง และคณะกรรมการฯ จะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป
2. คณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 มีมติ ดังนี้
2.1 เห็นชอบแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รายการ | วงเงิน (ล้านบาท) | ||
แผนฯ ปี 2566 (ปรับปรุงครั้งที่ 1)1 | แผนฯ ปี 2567 | การเปลี่ยนแปลง (+เพิ่ม/-ลด) | |
(1) แผนการก่อหนี้ใหม่ | 1,134,028.36 | 194,434.53 | -939,593.83 |
(1.1) รัฐบาล | 819,765.19 | 97,435.28 | -722,329.91 |
(1.2) รัฐวิสาหกิจ | 203,763.17 | 96,999.25 | -106,763.92 |
(1.3) หน่วยงานอื่นของรัฐ | 110,500.00 | 0.00 | -110,500.00 |
(2) แผนการบริหารหนี้เดิม | 1,729,680.42 | 1,621,135.22 | -108,545.20 |
(2.1) รัฐบาล | 1,603,561.83 | 1,493,131.90 | -110,429.93 |
(2.2) รัฐวิสาหกิจ | 126,118.59 | 128,003.32 | 1,884.73 |
(3) แผนการชำระหนี้ | 361,004.99 | 390,538.63 | 29,533.64 |
(3.1) แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย | 306,617.96 | 336,807.00 | 30,189.04 |
(3.2) แผนการชำระหนี้จากแหล่งอื่น ๆ | 54,387.03 | 53,731.63 | -655.40 |
โดยสาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
2.1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ2 เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2) (กองทัพเรือ) วงเงิน 16,210.90 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) วงเงิน 11,700 ล้านบาท โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา) (รฟท.) วงเงิน 15,800 ล้านบาท เป็นต้น และ (2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ3 เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระยะที่ 2 [การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)] วงเงิน 12,078 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม พื้นที่โซน C (ธพส.) วงเงิน 3,500 ล้านบาท เป็นต้น รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เช่น เงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ของ รฟท. วงเงิน 18,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อดำเนินงานปกติของ กฟภ. วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นต้น
2.1.2 แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567 เช่น หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้และการบริหารหนี้ วงเงิน 1,110,587,98 ล้านบาท หนี้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 วงเงิน 201,264.49 ล้านบาท หนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุน FIDF วงเงิน 83,353.50 ล้านบาท หนี้โครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 58,452.64 ล้านบาท เป็นต้น
2.1.3 แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 117,250 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 219,557 ล้านบาท) และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่น ๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 19,464.80 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 34,266.83 ล้านบาท)
2.2 ในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ได้แก่ กคช. ธพส. รฟท. และ ขสมก. ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย สรุปได้ ดังนี้
รัฐวิสาหกิจ | DSCR (เท่า) | ความเห็นของคณะกรรมการฯ เช่น |
กคช. | 0.53 | – กคช. ควรเร่งดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการทรัพย์สิน (Sunk Cost) อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง – กคช. ควรร่วมมือกับภาครัฐในการจัดทำแผนการใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ เพื่อนำที่ดินไปใช้ในการพัฒนาโครงการในอนาคต |
ธพส. | 0.32 | – ธพส. ควรเร่งรัดการดำเนินโครงการศูนย์ราชการฯ พื้นที่โซน C ให้มีความก้าวหน้าตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้เงิน และควรบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีประสิทธิภาพ – ธพส. ควรพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งในด้านธุรกิจและด้านการเงิน เพื่อเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในการระดมทุน |
รฟท. | 0.31 | – รฟท. ควรเร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยเฉพาะการเร่งโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้เกิดรายได้มาชำระคืนหนี้คงค้างที่สะสม – รฟท. ควรเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้ามีจำนวนมากขึ้นและเกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น |
ขสมก. | 0.06 | – ขสมก. ควรเร่งรัดการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและแผนต่าง ๆ อย่างครบถ้วน และจัดทำแผนดังกล่าวเป็นตัวชี้วัด (KPI) ของ ขสมก. – ขสมก. ควรมีการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะที่ถูกต้อง ครบถ้วนและทันสมัย |
2.3 เนื่องจากการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีข้อกำหนดตามกฎหมายจัดตั้งให้ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ จึงจะสามารถกู้เงินได้โดยเมื่อเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจได้รับการบรรจุไว้ในแผนฯ แล้ว รัฐวิสาหกิจจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติการกู้เงินตามกฎหมายจัดตั้งอีกครั้ง คณะกรรมการฯ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายจัดตั้ง จำนวน 13 แห่ง เช่น ธ.ก.ส. การยางแห่งประเทศไทย รฟท. กคช. เป็นต้น
2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ไม่เกินร้อยละ 70 (กค. แจ้งว่า แผนฯ ที่เสนอครั้งนี้ยังไม่ได้มีการประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 ที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่ได้มีการรวมยอดการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2567 และเพื่อดำเนินโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะบรรจุไว้ในแผนฯ ฉบับปรับปรุงต่อไป)
___________________
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กุมภาพันธ์ 2566) อนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566
2 เป็นการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ
3 การก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจในส่วนนี้เป็นคนละส่วนกับโครงการตาม (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล
6. เรื่อง ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
คณะรัฐมนตรีมีมมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,024,414,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ เพื่อให้มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ที่จะต้องลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศภายในปี 2567 – 2568 ตามเงื่อนไขของมาตรการฯ และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป
7. เรื่อง ปรับปรุงการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับปรุงการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอดังนี้
สาระสำคัญ
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น
เนื่องจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีผลทำให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้
ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการกำกับดูแลการบริหารงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 10 แผนงาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรปรับปรุงการมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ให้สอดคล้องกับการมอบหมายและมอบอำนาจรองนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1. นายภูมิธรรม เวชยชัย จำนวน 2 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
2) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
2. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จำนวน 3 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
2) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
3) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร จำนวน 2 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
2) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 1 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
5. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำนวน 1 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
6. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จำนวน 1 แผนงาน คือ
1) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
8. เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่ขอพระราชทานพระมหากรุณา
คณะรัฐมนตรีรับทราบและนำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
สาระสำคัญ
วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น
“วันนวมินทรมหาราช”
———————————————
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของชาติบ้านเมือง เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์และยังความผาสุกร่มเย็นแก่ผองพสกนิกรชาวไทย พระเกียรติคุณเป็นที่แซ่ซ้องก้องประจักษ์ทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ แม้การเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 จะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือน เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตเป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน การนี้ รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เห็นชอบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวมินทรมหาราช”
9. เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2566 เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2566 ในวงเงิน 1,034,982,000 บาท (เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทอุดหนุนทั่วไป) สำหรับเป็นเงินอุดหนุนเกษตรกรของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2564 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน เนื่องจากการตรวจประเมินระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และการจ่ายเงินอุดหนุนของโครงการจะแล้วเสร็จข้ามปีงบประมาณ ซึ่งการปลูกข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมของทุกปี ทำให้การตรวจประเมินระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และการจ่ายเงินอุดหนุนจะแล้วเสร็จข้ามปีงบประมาณอีกปีหนึ่ง ซึ่งเกินระยะเวลาตามแผนของโครงการที่กำหนดไว้ทำให้การดำเนินโครงการไม่สามารถเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้แล้ว ประกอบกับงบประมาณประจำปีที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีไม่เพียงพอกับที่จะจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรซึ่งโครงการมีปริมาณงานที่ยังเหลือ ซึ่งการจ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปี 2564 จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
10. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนทั้งสิ้น 397,120,300 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน รายการค่าจัดการเรียนการสอน (ปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน) ภาคเรียนที่ 1/2566 (กลุ่มใหม่) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
สาระสำคัญ
1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในรายการค่าใช้จ่ายพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน จำนวน 5 รายการ ได้แก่ 1) ค่าจัดการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว ปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ค่าอาหารนักเรียนประจำพักนอน การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและสถานประกอบการ) 2) ค่าหนังสือเรียน 3) ค่าอุปกรณ์การเรียน 4) ค่าเครื่องแบบนักเรียน และ 5) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้กับโรงเรียนในสังกัด ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีความพร้อมที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับจัดสรรงบประมาณให้กับนักเรียนจำนวน 6,339,932 คน แต่จากข้อมูลภาคเรียนที่ 1/2566 มีนักเรียน จำนวน 6,552,101 คน ซึ่งมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจากที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 212,169 คน ส่งผลให้งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการจัดสรรงบประมาณให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
3. สำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้วซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 397,120,300 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายการค่าจัดการเรียนการสอน (ปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนกลุ่มใหม่)
11. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนรายเดือนแก่เจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนรายเดือนแก่เจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.) จำนวน 3,320 อัตรา จำนวน 346,726,400 บาท ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอ
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 346,726,400 บาท เพื่ออุดหนุนสมทบค่าตอบแทนรายเดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 แก่เจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.) แผนกสามัญศึกษา จำนวน 3,320 อัตรา ตามข้อมูลยืนยันตัวบุคคลพร้อมรับรองความถูกต้อง เพื่อจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน (เณร) ปีการศึกษา 2566 จำนวน 32,736 รูป จำแนกเป็นผู้ปฏิบัติงานสอนวิชาสามัญ ตามประกาศคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ว่าด้วยขนาดโรงเรียนและกรอบอัตรากำลังพนักงานศาสนการด้านการศึกษา พ.ศ. 2555 ในอัตราส่วนจำนวนครู 1 อัตรา ต่อนักเรียน (สามเณร) 20 รูป จำนวน 1,637 อัตรา ผู้ปฏิบัติงานสอนวิชาบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่จัดการเรียนการสอน จำนวน 402 อัตรา และผู้สนับสนุนการสอนตามโครงสร้างสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ที่มีคนครอง จำนวน 1,207 อัตรา รวมถึงเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.) ที่พ้นตำแหน่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 จำนวน 74 อัตรา โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุนและขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป
12. เรื่อง ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงิน 541,096,800 บาท ให้กรุงเทพมหานครตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. เงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเงิน 518,718,200 บาท
2. เงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพความพิการ เป็นเงิน 22,378,600 บาท
สาระสำคัญ
1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพผู้พิการ โดยเบิกจ่ายผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ของกรมบัญชีกลาง และมีการเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เดือนกรกฎาคม 2566 รวมเป็นเงิน 7,079,781,100 บาท โดยมีประมาณการวงเงินที่จะเบิกจ่ายในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2566 เป็นเงิน 1,393,972,600 บาท ซึ่งกรุงเทพมหานครคาดว่างบประมาณจะไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 เป็นเงิน 554,939,300 บาท ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายการ | งบประมาณตาม พรบ.2566 | เบิกจ่ายจริง (ต.ค.65-ก.ค.66) | ประมาณการ (ส.ค.-ก.ย.66) | รวมเบี้ยยังชีพ | สถานะงบประมาณ |
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ | 7,026.4584 | 6,319.5923 | 1,236.8498 | 7,556.4421 | -529.9837 |
เบี้ยยังชีพความพิการ | 892.3560 | 760.1888 | 157.1228 | 917.3116 | -24.9556 |
รวม | 7,918.8144 | 7,079.7811 | 1,393.9726 | 8,473.7537 | -554.9393 |
2. กรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แล้วไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณมาดำเนินการรายการเงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพความพิการได้ แต่เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องเบิกจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความเห็นชอบการขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงิน 554,939,300 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเงิน 529,983,700 บาท และเงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพความพิการ เป็นเงิน 24,955,600 บาท ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังกล่าวแล้ว
3. สำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมเป็นเงิน 541,096,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเงิน 518,718,200 บาท และเงินอุดหนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพความพิการ เป็นเงิน 22,378,600 บาท
ต่างประเทศ |
13. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)1 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) และให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
2. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT (IMT-GT Minister) และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT (Joint Statement of the 29th IMT-GT Ministerial Meeting) (การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 27 – 29 กันยายน 2566
3. ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้ร่วมกับรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของประเทศสมาชิก ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยไม่มีการลงนาม
สาระสำคัญของเรื่อง
1) ในช่วงที่ผ่านมาแผนงาน IMT-GT ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อสั่งการของที่ประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects : PCPs) ให้ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านพรมแดนสะเดา -บูกิตกะยูฮิตัม สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566 – 2568 ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่ายางพาราภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค และมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นตัวกระตุ้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค IMT-GT
2) การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2566 ณ โรงแรมบาตัม แมริออท ฮาร์เบอร์ เบย์ เมืองบาตัม จังหวัดเกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) การพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาค เช่น เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคผ่านความร่วมมืออย่างรอบด้าน รวมถึงให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเชิงรุกในการนำประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอนุภูมิภาค อาทิ ผลกระทบจากปรากฏการเอลนีโญที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในภาคเกษตรกรรม และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัยเพิ่มมากขึ้นไปดำเนินงานเพื่อริเริ่มและมุ่งสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
(2) การพัฒนาภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเร่งการบูรณาการเทคโนโลยีด้านการเกษตร การเพิ่มผลผลิตและการจัดการกับความท้าทายร่วมกับสาขาความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสอดรับกับหลักการของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน2 เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนความพยายามในการเร่งรัดการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเรื่องน้ำมันปาล์มเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าเชิงกลยุทธ์ของอนุภูมิภาค
(3) การพัฒนาภาคบริการฮาลาล ได้แก่ สนับสนุนการริเริ่มความร่วมมือด้านฮาลาลเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจฮาลาลของอนุภูมิภาคในโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับห่วงโซ่อุปทานฮาลาล ระบบการลงทะเบียนฮาลาลออนไลน์ และระบบข้อมูลบูรณาการฮาลาล เพื่อมุ่งพัฒนาความร่วมมือฮาลาลในอนุภูมิภาค IMT-GT พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันการพัฒนาโครงการที่มุ่งยกระดับความโดดเด่นด้านฮาลาลของอนุภูมิภาค IMT-GT ในตลาดโลก
(4) การพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ เร่งพัฒนาให้อนุภูมิภาค IMT-GT เป็นจุดหมายปลายทางแห่งเดียวกันในการท่องเที่ยวโดยมีการจัดทำโครงการเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงสำหรับการขับรถท่องเที่ยวด้วยตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้คณะทำงานสาขาการท่องเที่ยวกระชับความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกัน
(5) การพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพในอนุภูมิภาค เช่น สนับสนุนการพัฒนาโครงการการเชื่อมต่อทางกายภาพภายในอนุภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงร่วมกันทั้งสามฝ่ายต่อไปอย่างแข็งขัน
(6) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในระดับอนุภูมิภาค เช่น เน้นย้ำถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการเชื่อมต่อและการพัฒนาระบบนิเวศ 5G สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ รวมทั้งคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ด้านดิจิทัลภายในอนุภูมิภาค และการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise : MSMEs) ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการอย่างมีประสิทธิภาพ
(7) การลดก๊าซเรือนกระจกในอนุภูมิภาค ได้แก่ เร่งรัดการบรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้ในกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของ IMT-GT (พ.ศ. 2562 – 2579) และการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 ในปี 2564 ผ่านการดำเนินโครงการ เช่น การจัดการขยะแบบบูรณาการ การฟื้นฟูพื้นที่พรุและป่าชายเลน โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ การเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการตอบสนองต่อการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลและข้อริเริ่มในการจัดการการรั่วไหลของน้ำมันและก้อนน้ำมันดิน
(8) ความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคส่วนต่าง ๆ ในอนุภูมิภาค ได้แก่ตระหนักถึงความร่วมมือและบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และพันธมิตรที่มีศักยภาพ ที่ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานสาขาต่าง ๆ ภายใต้แผนงาน IMT-GT และรัฐบาลท้องถิ่นในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอนุภูมิภาค
ทั้งนี้ประโยชน์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ เช่น ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกิจการที่ไทยมีศักยภาพเพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
_____________________________
1IMT-GT ย่อมาจาก Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle คือ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย
2เศรษฐกิจสีน้ำเงิน คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
14. เรื่อง การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจให้แก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ไทยบริจาคเงินอุดหนุนสำหรับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Centre: ARMAC) (ศูนย์ ARMAC) เป็นเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2569) วงเงินรวม 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. | 2567 | 2568 | 2569 | รวม |
วงเงิน | 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (400,000 บาท) |
10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (400,000 บาท) |
10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (400,000 บาท) |
30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,200,000 บาท) |
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 40 บาท |
ทั้งนี้ กต. จะเบิกจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าวจากงบประมาณของ กต.
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 12 พฤศจิกายน 2555 และ 1 ตุลาคม 2556 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ ARMAC ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559
2. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาศูนย์ ARMAC ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 1,148,349 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (operational budget) ของศูนย์ ARMAC ส่วนเงินบริจาคจากภาคีภายนอก (ประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ) จะถูกนำไปใช้ในการดำเนินโครงการของศูนย์ ARMAC1 เพียงอย่างเดียว โดยสำนักเลขาธิการศูนย์ ARMAC จะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากเงินที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และนำมาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC อย่างไรก็ดี รายรับของศูนย์ ARMAC ยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ ของศูนย์ ARMAC ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ
3. กต. เห็นว่า ไทยควรพิจารณามอบเงินอุดหนุนตามความสมัครใจสำหรับการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิด และแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์ ARMAC ในการส่งเสริมความพยายามในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยยังมีพื้นที่ปนเปื้อนหรืออาจปนเปื้อนทุ่นระเบิดเหลืออยู่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร2 ซึ่งตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention: APMBC) ไทยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (ขยายระยะเวลาครั้งที่ 3) นอกจากนี้ เนื่องจากศูนย์ ARMAC เป็นองค์กรที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากภายใต้ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ดังนั้น การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจของไทยจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย – กัมพูชา และเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของไทยในกรอบทวิภาคีอีกทางหนึ่งด้วย
_____________________________
1นับตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ ARMAC ได้มีการจัดกิจกรรมและโครงการจำนวน 17 โครงการ เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม โดยในส่วนของไทยได้เคยให้การสนับสนุนแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) การจัดกิจกรรมเนื่องในวันทุ่นระเบิดสากลประจำปี พ.ศ. 2562 และ (2) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนในภูมิภาคอาเซียน (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินโครงการ)
2ปัจจุบันไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่ไปแล้วมากกว่าร้อยละ 99 โดยยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร ใน 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว และตราด โดยอุปสรรคที่สำคัญ คือ ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน (Areas to be Demarcated – AD) เพื่อเก็บกู้ในบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา อนึ่ง ปัจจุบันบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา และชายแดนไทย – ลาว ไม่มีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดแล้ว
15. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ 1. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 2. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
16. เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีส่งรายชื่อผู้แทนคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
ทั้งนี้ การมอบหมายรัฐมนตรีเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้มีผู้แทนคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวกับกิจการของวุฒิสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและประสานงานระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในกิจการของวุฒิสภา
17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ ตำแหน่งว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการ จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. แต่งตั้งนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ตำแหน่งว่าง)
2. แต่งตั้งนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมควบคุมมลพิษ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (แทนนายอรรถพล)
3. แต่งตั้งนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมควบคุมมลพิษ (แทนนายปิ่นสักก์)
4. แต่งตั้งนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรธรณี ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)
5. แต่งตั้งนายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรธรณี (แทนนางอรนุช)
6. แต่งตั้งนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (แทนนายพิชิต)
7. แต่งตั้งนายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (แทนนายสมศักดิ์)
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารสูง) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
19. เรื่อง การพิจารณาอนุมัติให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลขาธิการ กปร.
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้ง นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (รองเลขาธิการ กปร.) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เลขาธิการ กปร.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร (สายงานบริหาร) ระดับสูง ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (นักบริหาร ระดับสูง) กระทรวงยุติธรรม มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอการแต่งตั้งข้าราชการ ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง 2 ตำแหน่ง ดังนี้
1. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
2. นายอภิชาต รัตนราศรี ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง)
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น ต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1. นางสาวมรกต เจนมธุกร อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา
2. นายสุวพงศ์ ศิริสรณ์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
3. นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการ
ให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 3 รายดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว
23. เรื่อง ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ ข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการขนส่งทางบก จะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2568
2. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวง จะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 6 ราย ดังนี้
1. นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี)
2. นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงมหาดไทย (นายชาดา ไทยเศรษฐ์)
3. นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงมหาดไทย (นายเกรียง กัลป์ตินันท์)
4. นายวัฒนา ช่างเหลา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
(นายทรงศักดิ์ ทองศรี)]
5. นายนิยม ช่างพินิจ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
(นายชาดา ไทยเศรษฐ์)]
6. นายศุภชัย นพขำ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
(นายเกรียง กัลป์ตินันท์)]
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้
1. พลเรือโท นิกร เพชรวีระกุล ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. นางจิตรา หมีทอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
26. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 1)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไปอีก 1 ปี (ต่อครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
27. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ (ครั้งที่ 1)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ต่อไปอีก 1 ปี (ต่อครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอย้ายข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่เดียวติดต่อกันเป็นเวลาครบ 4 ปี และแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงทดแทนเพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียน รวมจำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
ซึ่งดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมท่าอากาศยาน ทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ
2. นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง)
สำนักงานปลัดกระทรวง ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงทดแทนลำดับที่ 1
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายสมบัติ อำนาคะ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
เกษตรและสหกรณ์ (นายอนุชา นาคาศัย)
2. นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ (นายอนุชา นาคาศัย))
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
30. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายเป็นหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวราวุธ ศิลปอาชา) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
31. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายคารม พลพรกลาง ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายชื่นชอบ คงอุดม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
2. นายสุรชาติ ศรีบุศกร ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
35. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายชยุต ภุมมะกาญจนะ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
36. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง จำนวน 10 ราย ดังนี้
1. นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม
2. นายวราวุธ ยันต์เจริญ
3. พลอากาศเอก สุรพล พุทธมนต์
4. นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ
5. นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
6. นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล
7. นายสิรภพ ดวงสอดศรี
8. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ
9. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
10. รองศาสตราจารย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์
37. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายยู่สิน จินตภากร เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุทิษา ประทุมกุล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 8 ราย ดังนี้
1. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย)
2. นายกิตติกร โลห์สุนทร ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)
3. นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(รองนายกรัฐมนตรี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร)
4. นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
(รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
5. นายยรรยง พวงราช ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
(นายภูมิธรรม เวชยชัย)
6. นายศุภชัย ใจสมุทร ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
(นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
7. นายกฤช เอื้อวงศ์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นางพวงเพ็ชร ขุนละเอียด)
8. นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นางพวงเพ็ชร ขุนละเอียด)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
40. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นางสมหญิง บัวบุตร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายไชยา พรหมา)
2. นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายไชยา พรหมา))
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
41. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอการแต่งตั้งข้าราชการ จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2. นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
42. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ และเพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการ จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2. นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
43. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 12 ราย ดังนี้
1. นางสาวเรวดี ศรีชาย
2. นายภัทร บุญประกอบ
3. นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา
4. นางสาวดาวประกาย ศิริพรรณาภิรัตน์
5. นางสาวชนิสรา โสกันต์
6. นายรวีภัทร์ จิรศักดิ์วัฒนา
7. นายธนวรรษ เพ็งดิษฐ์
8. นางสาวณัฐณิชา บุรณศิริ
9. นายชนภัทท์ จันทรุเบกษา
10. นายปุณยวัจน์ เหลืองวิจิตร
11. นายพชร ธรรมมล
12. นางสาวอุบลกาญจน์ อมรสิน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
44. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 245/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 245/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจ
ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 กันยายน 2566 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความ
ในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 ลงวันที่ 13 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ให้ยกเลิกข้อ 1.2.1
2. มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ปฏิบัติราชการ
แทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– ให้ยกเลิกความในข้อ 2.2.3 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“2.2.3 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”
3. มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.1 ให้ยกเลิกความในข้อ 3.3 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“3.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
3.3.1 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
3.3.2 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)”
3.2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 3.4
“3.4 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 3.1 – 3.3 ยกเว้น การดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.4.1 – ข้อ 1.4.7”
3.3 มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.3.1. ให้ยกเลิกความในข้อ 6.2 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ 6.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”
3.3.2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6.3
“6.3 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศ
สำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 6.1 – 6.2 ยกเว้น
การดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.4.1 – ข้อ 1.4.7”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
45. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 1 กันยายน 2566 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงมีคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
ส่วนที่ 1
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)
1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
ส่วนที่ 2
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)
2.1 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
2.1.1 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
2.1.2 คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
2.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ
ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี
ส่วนที่ 3
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร)
3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
3.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.2.1 คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
3.2.2 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
3.2.3 คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ
3.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
3.3.1 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
3.3.2 คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
3.3.3 คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย
3.3.4 คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ
3.3.5 คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
3.3.6 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
3.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ
ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.4.1 คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
3.4.2 คณะกรรมการประสานการบริการด้านการลงทุน
3.4.3 คณะกรรมการด้านการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ
ส่วนที่ 4
4. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
4.1 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ
ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
4.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ
ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ
ส่วนที่ 5
5. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ)
5.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
5.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ
ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
5.2.1 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
5.2.2 คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
5.2.3 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก
5.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ
ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– รองประธานกรรมการในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
5.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
5.4.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา
เขตเศรษฐกิจพิเศษ
5.4.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ
5.4.3 กรรมการในคณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี
ส่วนที่ 6
6. รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
6.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการกฤษฎีกา
6.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ
6.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ
ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
6.3.1 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6.3.2 คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
6.4 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ
ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– รองประธานกรรมการ คนที่ 1 ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ส่วนที่ 7
7. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด)
7.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
7.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ
ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– รองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
7.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการ
ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– กรรมการในคณะกรรมการประสานการบริการด้านการลงทุน
ส่วนที่ 8
8. เมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบทุกสามสิบวัน
9. ให้รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในคำสั่งนี้ พิจารณาความจำเป็นและ ความเหมาะสมในการยุบเลิกคณะกรรมการดังกล่าว หากเห็นว่าหมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น หรืออาจยุบรวมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว โดยการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยยึดหลักการมีผู้รับผิดชอบภารกิจอย่างชัดแจ้ง การไม่ปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน และการบูรณาการภารกิจให้เกิดการประสานและสอดคล้องรองรับกัน แล้วเสนอผลการพิจารณา และข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำขึ้นใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่เห็นควรให้คงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ๆ ไว้ตามเดิมให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นด้วยเช่นกัน
10. ในส่วนการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีคนใดดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการ ในคณะกรรมการตามกฎหมายหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการนั้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
********************