รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 10 ตุลาคม 2566
http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (10 ตุลาคม 2566) เวลา 09.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
พ.ศ. ….
เศรษฐกิจ-สังคม |
2. เรื่อง การปรับปรุงคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน)
3. เรื่อง คำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
4. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566
5. เรื่อง รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2566) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
6. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2566
7. เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้าน บาทขึ้นไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ
8. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (สภากาชาดไทย)
9. เรื่อง มาตรการในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
10. เรื่อง การจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2566 ครบ 7 ปี
11. เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
ต่างประเทศ |
12. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569
13. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์เพิ่มเติมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
14. เรื่อง เอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 23
15. เรื่อง การลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการ ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน
16. เรื่อง การลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร ด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืชเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน
17. เรื่อง การจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสนใบพาย จากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
18. เรื่อง การรับรองร่างถ้อยแถลงฮาลองสำหรับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียนโดยการขับเคลื่อนขั้นตอนปฏิบัติล่วงหน้าในการจัดการภัยพิบัติ (Ha Long Ministerial Statement on the Strengthening of ASEAN Anticipatory Actions in Disaster Management)
19. เรื่อง ร่างกรอบการเจรจา (เพิ่มเติม) สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก
20. เรื่อง การรับรองเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และการลงนามบันทึกความ เข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
21. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Draft Joint Statement of The ASEAN-U.S. High-Level Dialogue on The Rights of Persons with Disabilities)
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)
23. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
*****************************
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. …. (ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สลค. เสนอว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองให้เป็นไปตามวันที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคม เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (18 กรกฎาคม 2566) ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้
ปีที่ | สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง | สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง |
1 | 3 กรกฎาคม 2566 – 30 ตุลาคม 2566 | 12 ธันวาคม 2566 – 9 เมษายน 2567 |
2 | 3 กรกฎาคม 2567 – 30 ตุลาคม 2567 | 12 ธันวาคม 2567 – 9 เมษายน 2568 |
3 | 3 กรกฎาคม 2568 – 30 ตุลาคม 2568 | 12 ธันวาคม 2568 – 9 เมษายน 2569 |
4 | 3 กรกฎาคม 2569 – 30 ตุลาคม 2569 | 12 ธันวาคม 2569 – 9 เมษายน 2570 |
2. โดยที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 บัดนี้ จะสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันตามสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 สมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566
เศรษฐกิจ-สังคม |
2. เรื่อง การปรับปรุงคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) เสนอดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ลำดับ | หน่วยงาน | คำขอตั้งงบประมาณฯ ปี 2567 |
1. | สผ. 1.1 สผ. 1.2 กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา |
7,244.50 6,952.90 291.60 |
2. | สำนักงาน กกต. 2.1 สำนักงาน กกต. 2.2 กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง |
5,782.09 5,562.09 220.00 |
3. | สผผ. | 970.38 |
ทั้งนี้ การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณดังกล่าวเป็นการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยแสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อสำนักงบประมาณจะได้จัดทำงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
3. เรื่อง คำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งกันทางการค้า จำนวน 470.7039 ล้านบาท เพื่อบรรจุในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) เสนอ
ทั้งนี้ การขอตั้งงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวเป็นการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต่อคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยแสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และรายงานเกี่ยวกับเงินงบประมาณ ตามนัยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามแนวทางการจัดทำงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
4. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 ธันวาคม 2565) อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินซึ่งมีความเหมาะสมภายใต้บริบทที่อัตราเงินเฟ้อมีความไม่แน่นอนสูงและมีความยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางและเอื้อให้ดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน 2565-มีนาคม 2566) อยู่ที่ร้อยละ 5.86 ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น1
2. ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงครึ่งแรกปี 2566
2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้แรงาน และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคบริการ ส่วนภาคการส่งออกซึ่งสินค้าปรับลดลงตั้งแต่ปลายปี 2565 ขณะนี้อยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว
2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ลดลง เนื่องจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสด รวมถึงการดำเนินมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง โดยคาดว่าในปี 2566 และ 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.0
2.3 เสถียรภาพระบบการเงินและภาวะการเงิน ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพแต่ยังเปราะบางในบางจุดโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และครัวเรือนรายได้น้อยที่มีหนี้ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและสามารถทำหน้าที่ตัวกลางกระจายสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ส่วนภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงและต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยภาวะการเงินโดยรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
3.1 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องรวม 3 ครั้ง จากร้อยละ 1.25 ไปเป็นร้อยละ 2.0 โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีความเสี่ยงที่จะปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยลดความเสี่ยงในการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์
3.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เคลื่อนไหวผันผวนโดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นจากมุมมองเชิงบวกที่มีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยก่อนจะเคลื่อนไหวผันผวนตามความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา การอ่อนค่าของเงินหยวน และความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ กนง. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดแผนงานปี 2566 ได้แก่ (1) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) การสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวก และ (3) การสนับสนุนให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมในไทยได้ง่ายขึ้น
3.3 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางเนื่องจากฐานะการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มมีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ กนง. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)2 และดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินของไทย
____________________
1ข้อมูลจากจดหมายเปิดผนึก ที่ ธปท.ฝนง.(02) 247/2566 ลงวันที่ 7 เมษายน 2566 เรื่อง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
2ภาคเศรษฐกิจจริง หมายถึง ภาคธุรกิจที่มีการผลิตสินค้าและบริการที่สามารถจับต้องได้โดยมีกลไกราคาเป็นเครื่องมือในการกำหนดอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการนั้น
5. เรื่อง รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2566) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2566) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
- ภาวะเศรษฐกิจ
1.1 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งหลังของปีก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 โดยการส่งออกบริการขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากการลงทุนในเครื่องจักรและเครื่องมือ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคเป็นสำคัญ
1.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการเปิดประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่สองปรับอ่อนค่าลงตามเงินหยวนที่อ่อนค่าลงจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ต่ำกว่าการคาดการณ์
1.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.49 ลดลงจากร้อยละ 6.54 ในช่วงครึ่งหลังของปีก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและมาตรการลดค่าไฟฟ้าภาครัฐชั่วคราว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.87 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังของปีก่อนที่ร้อยละ 3.14 จากผลของฐานสูงในปีก่อน ทั้งนี้ ควรติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและราคาอาหารสดที่อาจสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะภัยแล้งสูงกว่าที่คาดการณ์
1.4 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ขณะที่ดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้น
2. การดำเนินงานของ ธปท.
2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน ประกอบด้วย
2.1.1 เป้าหมายนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2566
2.1.2 การดำเนินนโยบายการเงิน
(1) นโยบายอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กนง. ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวม 3 ครั้ง จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 2.00 ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนโดยรวม ทั้งนี้ การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อและยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์
(2) นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เคลื่อนไหวผันผวนตามความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา การอ่อนค่าของเงินหยวน และความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดและผลักดัน การสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดแผนงานปี 2566 ดังนี้ 1) ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น 2) สนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และ 3) สนับสนุนให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมในไทย
(3) การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางเนื่องจากฐานะการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และครัวเรือนบางกลุ่มมีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน
2.2.1 ด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงิน และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีการดำเนินการ เช่น (1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) โดยอยู่ระหว่างทบทวนขอบเขตการประกอบธุรกิจและรูปแบบการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ และลด ละ เลิกหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน (2) การพัฒนาการให้บริการทางการเงินแก่คนพิการ โดยกำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำสำหรับการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าผู้พิการอย่างเป็นธรรม (3) การกำกับดูแลภัยทุจริตทางการเงินเพื่อยกระดับภัยทุจริตทางการเงินให้เป็นความเสี่ยงสำคัญระดับองค์กรในสถาบันการเงินและเพื่อรองรับพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 และ (4) การกำหนดแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมได้
2.2.2 ด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ (1) การรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน เรื่อง แนวทางการขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) และแนวทางดำเนินการระยะต่อไป โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินได้มอบหมายให้ ธปท. จัดทำ Consultation Paper ฉบับปรับปรุง เพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ต่อไป และ (2) การผลักดันให้สถาบันการเงินสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดย ธปท. ได้สื่อสารความคาดหวังที่ชัดเจนกับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการดำเนินธุรกิจและเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมแก่ภาคธุรกิจ
2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชำระเงินเพื่อให้ระบบการชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยและมีการยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินงาน เช่น (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้ โดย ธปท. อยู่ระหว่างผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจซึ่งได้ทดสอบการทำงานของระบบแล้วและคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2566 (2) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลชำระเงินดิจิทัลผ่านการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมชำระเงินของภาคการเงินและภาครัฐ โดย ธปท. ได้ดำเนินโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินในระดับรายธุรกรรมระยะที่สอง โดยจะรวบรวมข้อมูลรายธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง และนำมาวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายการชำระเงินและพัฒนาบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (3) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการชำระเงินและใช้เทคโนโลยีใหม่พัฒนานวัตกรรมบริการชำระเงินในประเทศและระหว่างประเทศ โดย ธปท. ได้ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง เข้าร่วมให้บริการ QR Code แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสิงคโปร์ และได้ร่วมกับธนาคารกลางของประเทศกลุ่มอาเซียน-5 ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยแบบทันทีระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (4) การยกระดับการให้ความรู้การใช้งานการชำระเงินดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดย ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำแผนงานให้ความรู้เรื่องภัยการเงิน และ (5) การออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นรองรับความเสี่ยงใหม่ โดย ธปท. ได้ออกแนวนโยบายการป้องกันภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งได้ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 และอยู่ระหว่างปรับปรุง และ/หรือออกประกาศหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560
6. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2566 และแนวโน้ม ไตรมาสที่ 3/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 5.6 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1/2566 ที่หดตัวร้อยละ 3.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตเพื่อส่งออกในหลายกลุ่มหดตัว อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 2/2566 อาทิ Hard Disk Drive จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภค เหล็กและเหล็กกล้า จากการลดคำสั่งซื้อของลูกค้าเพื่อรอดูทิศทางราคาเหล็ก รวมถึงความต้องการบริโภคเหล็กปลายน้ำชนิดต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ เนื่องจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้กำลังซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง โดยเฉพาะจากประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญของไทย สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 2/2566 อาทิ รถยนต์ จากตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวในรถยนต์ทุกประเภท อย่างไรก็ตามตลาดในประเทศมีการชะลอตัวเนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น การผลิตน้ำตาล เนื่องจากความต้องการที่มากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่ยังคงชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในประเทศยังคงขับเคลื่อนได้ จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยว ช่วยพยุงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศ ยังคงขยายตัวโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกรกฎาคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 39.13 ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
2. เฟอร์นิเจอร์ หดตัวร้อยละ 44.93 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้ และทำด้วยโลหะจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ลูกค้าลดคำสั่งซื้อ และฐานสูงจากปีก่อนที่มีคำสั่งซื้อส่วนหนึ่งมาไทย หลังจากที่จีนปิดประเทศ รวมถึงในปีที่แล้วมีคำสั่งซื้อพิเศษเป็นชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้มีปริมาณลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17
3. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 9.73 จากความต้องการของตลาดโลกชะลอตัวและสถานการณ์สงครามการค้าของสินค้าเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความตึงเครียดมากขึ้น ส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 5.34 ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก อย่างไรก็ดี การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ
2. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 4.99 ตามความต้องการที่เข้าสู่ระดับปกติ หลังการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 3/2566
อุตสาหกรรม เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐมีความต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิต การขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ยังคงมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าหลักที่สำคัญ เช่น วงจรรวมยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวันที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) จะยังคงชะลอตัวจากอุปสงค์ความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง แต่ในส่วนของปริมาณการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางคาดการณ์ว่า จะกลับมาขยายตัว จากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของถุงมือยางคาดว่าปริมาณการผลิตจะกลับมาขยายตัวภายหลังจากลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะหดตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังส่งสัญญาณที่ดี รวมถึงอุปสงค์การนำเข้าสินค้าจากตลาดต่างประเทศ อาทิ ความต้องการนำเข้าน้ำตาลยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
7. เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินโครงการสถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี (โครงการสถานีสูบน้ำดิบฯ) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี (อบจ.ปัตตานี) จำนวน 1 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,030.96 ล้านบาท โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานียื่นเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อสำนักงบประมาณ ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวข้างต้นมีวงเงินงบประมาณสูงมากสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากนำมานับรวมในสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลจะส่งผลกระทบกับวงเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณ ขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นร่วมด้วย เช่น เงินรายได้หรือเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เงินกู้ เอกชนร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี ในโอกาสแรกก่อน หรือประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามภารกิจเพื่อดำเนินการแทน เช่น การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ความประหยัด ภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
รายละเอียดโครงการสถานีสูบน้ำดิบฯ และงบประมาณ
หัวข้อ | รายละเอียด |
ปัญหาและแผนงานในการแก้ไขปัญหา | – ปัญหา : เนื่องจากพื้นที่ในเขตเมืองต้นแบบ (เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้า) ของจังหวัดปัตตานี ประสบปัญหาปริมาณน้ำใช้ไม่เพียงพอ คุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคทั้งภาคการเกษตรและภาคธุรกิจที่ไม่มีคุณภาพ ประกอบกับระบบประปาของ อปท. ในพื้นที่ไม่มีมาตรฐาน/ขาดการบำรุงรักษา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน – แผนงาน เช่น งานก่อสร้างท่อน้ำดิบ งานก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบ งานวางท่อส่งน้ำ/ท่อประปา งานขยายเขตไฟฟ้า เพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำมาใช้ในการรองรับการอุปโภคบริโภคกับทุกภาคส่วน รวมทั้งรองรับสู่การพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน – พื้นที่ดำเนินการ : อำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอแม่ลาน อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และตำบลตาเซะ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา |
วงเงินลงทุน | 1,030.96 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณ 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2569) |
ความพร้อมด้านที่ดิน | มีความพร้อมด้านที่ดินในการดำเนินโครงการ |
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ | เช่น ประชาชนมีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคที่สะอาด มีคุณภาพ และได้มาตรฐานเตรียมความพร้อมรองรับการขยายเขตอุตสาหกรรมเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน |
8. เรื่อง ขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (สภากาชาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้สภากาชาดไทยนำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการศูนย์นวัตกรรมและการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ วงเงิน 2,253,550,000 บาท และโครงการเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ จำนวน 2,216,900,000 บาท และค่าใช้จ่ายบริหารโครงการ จำนวน 86,640,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 4,557,090,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยให้ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เรื่อง การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมแนวทางการจัดทำงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ทั้งนี้ ขอให้สภากาชาดไทยจัดทำแผนการดำเนินการ และยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าวโดยมีรายละเอียดแบบรูปรายการ ประมาณค่าก่อสร้าง สถานที่/พื้นที่พร้อมที่จะดำเนินการ รวมถึงการดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน และคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณ ให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ตลอดจนจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามนัยมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ สภากาชาดไทย รายงานว่า สถานเสาวภา สภากาชาดไทยดำเนินงานในด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัยเพื่อให้บริการยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมาสถานเสาวภาได้ดำเนินการผลิตวัคซีนและเซรุ่มต่าง ๆ เช่น วัคซีนวัณโรค (Bacillus Calmette-Guerin: BCG) เซรุ่มแก้พิษงู และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ด้านการระบาดของโรคอุบัติใหม่ยังคงเป็นปัญหาหลักในด้านสาธารณสุข ประกอบกับที่ตั้งของสถานเสาวภาในปัจจุบันมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตหรือรองรับการผลิตยาชนิดอื่นได้ ดังนั้น เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตวัคซีน ยาชีววัตถุ และยาปราศจากเชื้อในปัจจุบันและในอนาคต สถานเสาวภา สภากาชาดไทยจึงจะจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมและการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย” เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับการขยายงานด้านการผลิตวัคซีนหรือยาชีววัตถุที่มีอยู่ในประเทศ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อให้มีเพียงพอ รวมถึงการเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับเทคโนโลยีการผลิตใหม่ในการตอบโต้การระบาดได้อย่างทันท่วงที แบ่งเป็น 2 โครงการ วงเงินรวม 4,557.09 ล้านบาท ดังนี้
1. โครงการศูนย์นวัตกรรมและการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
หัวข้อ | สาระสำคัญ | ||||||||||||||||||||||||||
(1) วัตถุประสงค์ | เพื่อให้มีศูนย์นวัตกรรมและการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อแห่งใหม่ที่มีมาตรฐานสากล รองรับการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อที่อาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เช่น โมโนโคนัลแอนตี้บอดี้และ mRNA รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งในและต่างประเทศ | ||||||||||||||||||||||||||
(2) สถานที่ก่อตั้ง | ที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่ที่แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 34 ไร่ 3 งาน 9.1 ตารางวา | ||||||||||||||||||||||||||
(3) แนวทางการดำเนินโครงการ | ดำเนินการสร้างอาคารศูนย์นวัตกรรมและการผลิตยาฯ มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 29,210 ตารางเมตร ซึ่งภายในศูนย์ฯ มีอาคารต่าง ๆ เช่น อาคารรองรับการผลิต mRNA ในอนาคต อาคารผลิตวัคซีน BCG (ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ) อาคารผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนและโมโนโคนัลแอนตี้บอดี้ | ||||||||||||||||||||||||||
(4) ระยะเวลาดำเนินการ | 3 ปี (พ.ศ. 2567-2569) | ||||||||||||||||||||||||||
(5) งบประมาณ | วงเงิน 2,253.55 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินงบประมาณ จำนวน 1,802.84 ล้านบาท (2) เงินสภากาชาดไทย จำนวน 450.71 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี พ.ศ. 2567-2569 ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท
|
||||||||||||||||||||||||||
(6) ความพร้อมของโครงการ | ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ รวมทั้งปักหลักเขตรังวัดที่ดินและปรับพื้นที่เสร็จแล้ว |
2. โครงการเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
หัวข้อ | สาระสำคัญ | ||||||||||||||||||||||||||
(1) วัตถุประสงค์ | เพื่อจัดหาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ | ||||||||||||||||||||||||||
(2) แนวทางการดำเนินโครงการ | จัดหาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ผลิตวัคซีน BCG เครื่องมือในส่วนของงานทดสอบในสัตว์ทดลอง และเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ทางเคมีและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้เสริมศักยภาพของโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการผลิตยาฯ ในการเพิ่มความสามารถของงานด้านการผลิตวัคซีนหรือยาชีววัตถุที่มีอยู่ในประเทศ | ||||||||||||||||||||||||||
(3) ระยะเวลาดำเนินการ | 3 ปี (พ.ศ. 2567-2569) | ||||||||||||||||||||||||||
(4) งบประมาณ | วงเงิน 2,216.90 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินงบประมาณ จำนวน 1,773.52 ล้านบาท (2) เงินสภากาชาดไทย จำนวน 443.38 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี พ.ศ. 2567-2569 ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท
|
||||||||||||||||||||||||||
(5) ความพร้อมของโครงการ | มีใบเสนอราคาของอุปกรณ์เทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร สำหรับผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อและจัดทำเอกสารขอบเขตงาน (Terms of Reference: TOR) แล้ว |
9. เรื่อง มาตรการในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลตามมาตรการในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ได้ดำเนินการในการควบคุมกำกับดูแลการออกใบอนุญาตของนายทะเบียนท้องที่ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 แล้ว มีรายละเอียด ดังนี้
1. มีหนังสือแจ้งให้ทุกจังหวัดกำชับแนวทางให้นายทะเบียนท้องที่อำเภอถือปฏิบัติตามมาตรการในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยเคร่งครัด ดังนี้
1) ให้นายทะเบียนท้องที่งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืน ชนิดแบลงค์กัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้โดยง่าย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายของกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งให้นายทะเบียนท้องที่ทราบแนวทางที่จะไม่มีนโยบายให้เพิ่มเติมผู้ได้รับใบอนุญาต สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนรายใหม่ ทุกท้องที่ทั่วประเทศ สำหรับกรณีร้านค้าอาวุธปืนให้นายทะเบียนท้องที่งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
2) สั่งการแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและนายทะเบียนท้องที่กรุงเทพมหานครให้แจ้งไปยังนายทะเบียนทุกท้องที่ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการขอความร่วมมือไปยังบุคคลผู้ครอบครองแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนผู้สุจริตทุกรายในทุกจังหวัดซึ่งมิได้ดำเนินการดัดแปลงแก้ไขสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนแต่อย่างใด ให้นำแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ครอบครองดังกล่าวข้างต้นมาแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาสุจริต และขอให้ดำเนินการโดยไม่เพิ่มภาระเกินสมควรกับบุคคลเหล่านั้น
3) การขอมีและใช้ซึ่งอาวุธปืนและการขอซื้อ สั่งหรือนำเข้าซึ่งเครื่องกระสุนปืนของสมาคมกีฬายิงปืน ให้นายทะเบียนท้องที่พิจารณาออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) และใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) แก่สมาคมกีฬายิงปืนที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 แล้วเท่านั้น ประกอบกับผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อีกทั้งเครื่องกระสุนปืนที่จะอนุญาตให้สมาคมกีฬายิงปืนซื้อ สั่ง หรือนำเข้าได้นั้น เครื่องกระสุนปืนจะต้องเป็นชนิดและขนาดที่สอดคล้องกับอาวุธปืนที่ปรากฏตามใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ของสมาคมกีฬายิงปืน มีความสอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนเครื่องกระสุนปืนที่จะอนุญาตให้สมาคมกีฬายิงปืนซื้อ สั่งหรือนำเข้าได้นั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงตามสภาพความต้องการของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนศักยภาพพื้นที่ในการจัดเก็บอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและในกรณีที่นายทะเบียนท้องที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) ชนิดเครื่องกระสุนปืนสั้นจะต้องถือปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 108/2535 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เรื่อง จำกัดการออกใบอนุญาตให้บุคคลสั่ง หรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนบางชนิด คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 674/2490 วันที่ 10 ตุลาคม 2490 เรื่อง ระเบียบการปฏิบัติตามพระราขบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ประกอบคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 759/2498 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2494 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งที่ 674/2490 เรื่อง ระเบียบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ด้วย
4) การออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด (ในเขตจังหวัด) ให้งดการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติตตัว (แบบ ป.12) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
2. มีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขอความร่วมมือในการปราบปรามการซื้อขายอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งปิดกั้นการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย
3. มีหนังสือถึงกรมศุลกากร ขอความร่วมมือให้ตรวจสอบสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สำแดงผ่านพิธีการศุลกากร ว่าไม่มีการดัดแปลงเป็นอาวุธปืนมาจากต่างประเทศโดยสำแดงเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน รวมทั้ง ชิ้นส่วน สิ่งเทียมอาวุธปืนต่าง ๆ ที่อาจมีการสำแดงเท็จโดยนำชิ้นส่วนอาวุธปืนปะปนเข้ามา ให้มีความถูกต้องตรงตามใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืน (แบบ ป.2) ที่นายทะเบียนท้องที่ออกให้
4. มีหนังสือขอความร่วมมือการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬากับการกีฬาแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ ให้มีการกวดขันและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) ให้มีการบันทึกข้อมูลชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้เข้าใช้บริการสนามยิงปืนทุกราย
2) ตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนและอายุผู้เข้าใช้บริการสนามยิงปืนโดยผู้เข้าใช้บริการจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เว้นแต่กรณีที่ผู้เข้าใช้บริการเป็นนักกีฬายิงปืนเยาวชนที่มีหนังสือรับรองจากสมาคมกีฬาที่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยใช้อาวุธปืนของผู้ปกครองที่ได้รับอนุญาตถูกต้องและคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
3) ตรวจสอบอาวุธปืนที่นำมาใช้ในสนามยิงปืนจะต้องได้รับอนุญาตถูกต้องตรงกับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ของผู้ใช้
4) ห้ามผู้เข้าใช้บริการนำเครื่องกระสุนปืนที่เหลือจากการฝึกซ้อมออกจากสนามยิงปืนโดยเด็ดขาด
10. เรื่อง การจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2566 ครบ 7 ปี
คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการโครงการ/กิจกรรมในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน เพื่อเทิดพระเกียรติและถวายพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2566 ครบ 7 ปี ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ได้ดำเนินโครงการ “น้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันนวมินทรมหาราช : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- กระทรวงพลังงานจัดกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 12 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่อง
ในวันนวมินทรมหาราช ณ กระทรวงพลังงาน ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566
- กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรม “รักพ่อพอเพียง เพื่อพระราชบิดาแห่งพลังงานไทย” ทั่วประเทศ
โดยจะมีกิจกรรมดังต่อไปนี้
– การประกวดคลิปด้านการพัฒนาพลังงานของประเทศจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
– การเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านพลังงานในหน่วยงานของกระทรวงพลังงานทั่วประเทศ
3. กระทรวงพลังงาน จัดโครงการ “กรุงเทพปลอดภัยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” โดยจะมีโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังานแสงอาทิตย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่แสงสว่างไม่เพียงพอในยามค่ำคืนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน
4. กระทรวงพลังงาน จัดโครงการดังต่อไปนี้
– โครงการ “ไฟฟ้าเพื่อเกษตรกร” โดยจะจัดหาและติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 3 ครัวเรือนต่อหนึ่งเครื่อง สำหรับแบบรถเข็นและไม่น้อยกว่า 5 ครัวเรือนต่อหนึ่งเครื่อง สำหรับแบบลากจูง
– โครงการ “ไฟฟ้าชุมชน” โดยจะสนับสนุนการจัดสร้างสถานที่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ชุมชนและหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนไฟฟ้า
5. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดกิจกรรม “น้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติ วันนวมินทรมหาราช : พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” นำเสนอโครงการตามแนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับพลังงาน ได้แก่ พลังน้ำ พลังชีวภาพ พลังงานทดแทน และเศรษฐกิจพอเพียง และการแสดงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์จากโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และโรงเรียนเครือข่ายโครงการห้องเรียนสีเขียว จำนวน 60 โรงเรียน ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 สยามเคป เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566
6. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติฯ ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมีการตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล การปลูกป่า การปล่อยพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ การจัดพิธีวางพวงมาลาแสะถวายบังคม การจุดเทียนชัยน้อมรำลึก
7. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Open House สำหรับเยาวชนและนักเรียน เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในเขื่อน กฟผ. ทุกเดือน
8. กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการภาพวาดพระราช กรณียกิจ ร.9 และนิทรรศการ ธ ทรงเป็นแรงบันดาลใจ ผลงานจากเยาวชนที่ชนะการประกวด ภาพวาดจากการประกวด โครงการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านงานศิลปะ และผลงานจากการประกวดศิลปกรรม ปตท. ณ ลานโถงชั้น 1 อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ระหว่างวันที่ 12-19 ตุลาคม 2566
9. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงในหลวง ร.9
และสืบสานพระราชกรณียกิจ เนื่องในวันนวมินทรมหาราช นำเสนอโครงการตามแนวพระราชดำริ อาทิ โครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ การประกวดศิลปกรรม ปตท. และการพัฒนาธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติ ดังนี้
– นิทรรศการน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติวันนวมินทรมหาราช “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” PTT Art Gallery @ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2566
– งานมหกรรมเครือข่ายชุมชนวิถีพอเพียง 4 ภาค สืบสานปณิธานพ่อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กำหนดจัดกิจกรรมใน 4 ภูมิภาค ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566 (ภาคกลาง ต.ป่าขะ อ.บ้านนา จ.นครนายก, ภาคใต้ ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร, ภาคเหนือ ต. นาพน อ.วังชิ้น จ.แพร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.นาบอน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์)
11. เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมตามที่
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความ
เดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามอำนาจและหน้าที่ต่อไป
ข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และชี้แจงทำความเข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และให้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
การดำเนินการ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปผลการการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและร่วมประชุมหารือกับตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เดินทางมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา สรุปได้ดังนี้
1. รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รับข้อเสนอเชิงนโยบายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไปพิจารณาแนวทางดำเนินการต่อไปดังนี้
ลำดับ | ข้อเสนอเชิงนโยบาย | หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
---|---|---|
1 | ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เช่น การทบทวนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช …. และเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน |
คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 |
2 | ด้านการกระจายอำนาจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูป การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนหลักการสิทธิชุมชน และด้านงบประมาณ |
– กระทรวงมหาดไทย – คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
3 | ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม รวมทั้งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. |
– กระทรวงยุติธรรม – สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี – สำนักงานกองทุนยุติธรรม |
4 | ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เช่น เสนอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ทบทวนแนวทางการจัดที่ดินภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องคุ้มครองวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ทบทวนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กับคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมโฉนดชุมชนคลองโยง/สหกรณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด และขอให้ทบทวนนโยบายการเปลี่ยนที่ดินสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นโฉนด รวมทั้งทบทวนรูปแบบการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน |
– กระทรวงมหาดไทย – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ – กระทรวงวัฒนธรรม – กระทรวงคมนาคม – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ – คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – กรมทางหลวงชนบท |
5 | นโยบายการจัดการทรัพยากร เสนอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าอันเกิดจากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ทบทวนแผนการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% โดยบังคับให้ราษฎรต้องสูญเสียที่ดินตามนโยบายดังกล่าว และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมายลำดับรองประกอบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต |
– กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ |
6 | ด้านนโยบายป้องกันภัยพิบัติ เช่น การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับชุมชนในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตและการฟื้นฟูเยียวยา ส่งเสริมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ในรูปแบบ 1 ท้องถิ่น 1 ศูนย์ภัยพิบัติ และปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550 |
กระทรวงมหาดไทย |
7 | ด้านนโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เช่น เสนอให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยขอให้มีมติคณะรัฐมนตรีรับรอง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และขอให้เร่งรัดการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. และพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. |
– กระทรวงมหาดไทย – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – กระทรวงวัฒนธรรม – กระทรวงสาธารณสุข – กระทรวงศึกษาธิการ – กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) – กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) – กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน – สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) – ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) |
8 | ด้านนโยบายสิทธิและสถานะบุคคล เช่น เสนอให้มีให้มีกลไกระดับนโยบาย ระดับจังหวัด ระดับอำเภอเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วน แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหาอย่างเร่งด่วน และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหา และการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน รวมทั้งตั้งสำนักกิจการด้านสิทธิสถานะบุคคล โดยกรมการปกครอง |
– กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – กระทรวงยุติธรรม – สภาความมั่นคงแห่งชาติ – กรมการปกครอง – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ |
9 | ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ เสนอให้มีการจัดระบบรัฐสวัสดิการให้ครอบคลุมสวัสดิการเด็กและเยาวชน การศึกษา ระบบสุขภาพ ที่อยู่อาศัยและที่ดิน งานและรายได้ ประกันสังคม ระบบบำนาญ สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรมประชากรกลุ่มเฉพาะ และระบบภาษีและงบประมาณ |
– กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – กระทรวงศึกษาธิการ – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม – กระทรวงสาธารณสุข – กระทรวงแรงงาน – กระทรวงการคลัง – กระทรวงมหาดไทย – สำนักงบประมาณ – กรมส่งเสริมองค์กรปกครองท้องถิ่น – กรมส่งเสริมการเรียนรู้ – กรมบัญชีกลาง – กรมสรรพากร – สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง – สำนักงานประกันสังคม – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา – การเคหะแห่งชาติ – สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) – คณะกรรมการค่าจ้าง – คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ – คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ |
10 | ด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลต้องมีนโยบายให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ ให้แบ่งปันที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง โดยต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการไล่รื้อชุมชน แต่ควรใช้กระบวนการพูดคุยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร รวมทั้งทบทวน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวม ที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อหรือเช่าที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษีกับรายแปลงย่อยของแต่ละครัวเรือนตามที่ครอบครองจริง |
– กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – กระทรวงคมนาคม – กระทรวงมหาดไทย – กระทรวงคมนาคม – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – กรมส่งเสริมสหกรณ์ – กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ – สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน – การรถไฟแห่งประเทศไทย – การไฟฟ้านครหลวง – การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค – การประปานครหลวง – การประปาภูมิภาค – สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) |
2. เห็นชอบให้ใช้กลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์) ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายชลธิศ สุรัสวดี) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธนสาร ธรรมสอน) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ได้รับมอบหมาย อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเป็นกรรมการ รวมทั้ง รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณ ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินการและตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 269/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566
ต่างประเทศ |
12. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ [International Monetary Fund (IMF)] ปี พ.ศ. 2569 ของประเทศไทย (เจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ พ.ศ. 2569)
2. ร่างบันทึกความเข้าใจการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี พ.ศ. 2569 (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) เพื่อลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ กค. สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
3. หลักการการให้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวทุกกลุ่มที่ปรากฏในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 (1) และกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้นและการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 ข้อ 13 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. หลักการการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามในร่างหนังสือถึงธนาคารโลกเพื่อแจ้งถึงเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่กลุ่มธนาคารโลกภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุน [International Centre for Settlement of Investment Disputes (ICSID)] บุคลากรและผู้แทนประเทศสมาชิกของ ICSID จะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามมาตรา 10 และมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 (พระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันฯ พ.ศ. 2561)
สาระสำคัญ
1) คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2566) รับทราบผลการดำเนินงานของ กค. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ พ.ศ. 2569
2) คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 พฤษภาคม 2566) รับทราบผลการลงมติของที่ประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก1 และ IMF2 ที่เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ พ.ศ. 2569 ตามที่ กค. เสนอ และให้ กค. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการต่อไป ให้ถูกต้อง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
3) ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ พ.ศ. 25693 ณ กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 12 – 18 ตุลาคม 2569 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกจำนวน 12,000 คน การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการแสดงแนวคิดและผลักดันนโยบายที่สำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในประชาคมโลก และเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือและเรียนรู้วิทยาการในประเด็นต่าง ๆ จากประเทศสมาชิก โดยในช่วงระยะเวลาของการประชุมประจำปีฯ พ.ศ. 2569 จะมีการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ ที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก กลุ่มประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องจากการประชุม
4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลกของประเทศไทยและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ว่าการ IMF ของประเทศไทยมีกำหนดลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับประธานธนาคารโลกและกรรมการผู้จัดการ IMF ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ณ เมืองมาร์ราเกช ราชอาณาจักรโมร็อกโก เพื่อรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ พ.ศ. 2569
_____________________________________
1ธนาคารโลกเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อลดความยากจนสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมการเจริญติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในประเทศสมาชิกผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน วิชาการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการลงทุนในด้านต่าง ๆ โดยในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 189 ประเทศ
2IMF มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ เสริมสร้างเสถียรภาพและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศและการปล่อยเงินกู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการแก้ปัญหาดุลการชำระเงินของประเทศสมาชิก โดยปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 190 ประเทศ
3ธนาคารโลกและ IMF มีการจัดประชุมปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ 1) การประชุม Spring Meeting ในเดือนเมษายน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา และ 2) การประชุมประจำปีฯ ในเดือนตุลาคม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน และจะเวียนให้ประเทศสมาชิกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีที่ 3 โดยประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ในปี พ.ศ. 2534 ณ กรุงเทพมหานคร
13. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์เพิ่มเติมของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Developing of Electric Vehicle Ecosystem) (ร่างเอกสารถ้อยแถลงฯ) ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบร่างเอกสารถ้อยแถลงดังกล่าวแล้ว กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จะมีหนังสือแจ้งการรับรองดังกล่าวอย่างเป็นทางการให้กับอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนทราบต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
14. เรื่อง เอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 23
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ) ครั้งที่ 23 จำนวนสองฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์โคลัมโบ และ (2) ร่างวิสัยทัศน์สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 2030 และสืบต่อไป ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารสองฉบับดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทร่วงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าวตามที่กระทร่วงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
[จะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ จำนวนสองฉบับ ในการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 23 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐลังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (ศรีลังกา)]
สาระสำคัญ
1. สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 23 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาจำนวน 11 ประเทศ ครอบคลุมสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ (1) ความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล (2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (3) การบริหารจัดการประมง (4) การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (5) ความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และ (6) การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประเด็น คือ เศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 23 (ประชุม ฯ) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกาเป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและรายงานผลการดำเนินงานของ IORA เป็นประจำทุกปี โดยที่ประชุมฯ จะร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ จำนวนสองฉบับ (1)
ร่างแถลงการณ์โคลัมโบ เป็นเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก IORA (2) ร่างวิสัยทัศน์สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 2030 และสืบต่อไป เป็นเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก IORA มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย โดยการส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปรับตัวของภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียเพื่อเผชิญกับความท้าทายในอนาคต
ทั้งนี้ กต. แจ้งว่าร่างเอกสารทั้งสองฉบับไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการลงนามในร่างเอกสารทั้งสองฉบับ ดังนั้น ร่างเอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามนัยมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
15. เรื่อง การลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน (ร่างความตกลงฯ) รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ขอให้มอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
(กษ. แจ้งว่าจะมีการลงนามความตกลงฯ ในระหว่างการเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566)
1. เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 สิงหาคม 2561) เห็นชอบร่างพิธีสารระหว่าง กษ. แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน และได้มีการลงนามแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับสินค้าเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน เช่น
(1) ฝ่ายไทยต้องให้ข้อมูลการติดตามและเฝ้าระวังสารตกค้าง โรคติดต่อ สารปนเปื้อน (เช่น Dioxin หรือ PCBs) และเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในแต่ละปี และรายงานผลตรวจประจำปี รวมทั้งต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับระบบการป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ต่าง ๆ และแจ้งให้ฝ่ายจีนทราบถึงมาตรการการควบคุมโรคระดับภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ
(2) สัตว์ปีกแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการส่งออกจะต้องผลิตโดยสถานประกอบการที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองจากประเทศจีนแล้วเท่านั้น รวมถึงต้องไม่ผลิตร่วมกันกับสินค้าสัตว์ชนิดอื่นในเวลาเดียวกัน และจะต้องมีห้องเย็นสำหรับเก็บสินค้าเพื่อเก็บรักษาสินค้าสัตว์ปีกแช่แข็งเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ และมีการทำเครื่องหมายบ่งบอกชัดเจน
(3) เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีก ที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน ต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ใหม่และเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากส่วนประกอบตามที่มาตรฐานสุขลักษณะระหว่างประเทศ เป็นต้น
รายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้ ให้เป็นไปตามภาคผนวก 2 ของพิธีสารฉบับนี้ ได้แก่ กระดูกไก่ กึ๋นไก่ ตีนไก่ ตับไก่ หัวใจไก่ ข้อปีกไก่ ปีกกลางไก่ ปลายปีกไก่ กระดูกอ่อนไก่ คอไก่ เอ็นไก่ และไขมันไก่ (รวม 12 รายการ) ทั้งนี้ พิธีสารฯ สามารถได้รับการปรับปรุงแก้ไขได้ด้วยความยินยอมร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
2. สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
2.1 กรมปศุสัตว์ ได้ขอขยายขอบข่ายพิธีสารฯ (ตามข้อ 1) โดยเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จำนวน 18 รายการ (เพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้เป็ดแช่แข็งเพื่อการบริโภค) ซึ่งสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นชอบต่อการขอเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว
2.2 ในการนี้ กษ. จึงได้จัดทำความตกลงฯ เพื่อแก้ไขพิธีสารฯ ฉบับปี 2561 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดภาคผนวก 2 ของพิธีสารฯ ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทนภาคผนวก 2 เดิม ซึ่งยังคงรายการผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไว้เช่นเดิม และเพิ่มเติมรายการผลิตภัณฑ์เป็ดแช่แข็ง จำนวน 18 รายการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รายละเอียดตามภาคผนวก 2 ของพิธีสารฯ ปี 2561 | รายละเอียดตามภาคผนวก 2 ฉบับใหม่ ที่ กษ. ขอแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ |
รายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน ได้แก่ (1) กระดูกไก่ (2) กึ๋นไก่ (3) ตีนไก่ (4) ตับไก่ (5) หัวใจไก่ (6) ข้อปีกไก่ (7) ปีกกลางไก่ (8) ปลายปีกไก่ (9) กระดูกอ่อนไก่ (10) คอไก่ (11) เอ็นไก่ และ (12) ไขมันไก่ | รายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน ได้แก่ 1. ผลพลอยได้ไก่แช่แข็งเพื่อการบริโภค ได้แก่ (1) กระดูกไก่ (2) กึ๋นไก่ (3) ตีนไก่ (4) ตับไก่ (5) หัวใจไก่ (6) ข้อปีกไก่ (7) ปีกกลางไก่ (8) ปลายปีกไก่ (9) กระดูกอ่อนไก่ (10) คอไก่ (11) เอ็นไก่ และ (12) ไขมันไก่ (คงเดิม) 2. ผลพลอยได้เป็ดแช่แข็งเพื่อการบริโภค ได้แก่ (1) ตีนเป็ด (2) ข้อปีกเป็ด (3) ปีกกลางเป็ด (4) ปลายปีกเป็ด (5) ปีกบนเป็ด (6) ตับเป็ด (7) คอเป็ด (8) กึ๋นเป็ด (9) หัวใจเป็ด (10) ไตเป็ด (11) ลิ้นเป็ด (12) หัวเป็ด (13) ปากเป็ด (14) กระดูกเป็ด (15) กระดูกอ่อนเป็ด (16) เอ็นเป็ด (17) ไขมันเป็ด และ (18) หนังเป็ด (เพิ่มเติม) |
2.2 การจัดทำความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทำให้สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายตลาด และสร้างโอกาสการลงทุนทางการค้าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
16. เรื่อง การลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร ด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืชเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน (ร่างพิธีสารฯ) รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในพิธีสารฯ ทั้งนี้ หากมีการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างพิธีสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญขอให้มอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. โดยกรมปศุสัตว์ (กปศ.) ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ. ปักกิ่ง) ว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้จัดทำร่างพิธีสารฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ การกักกันความปลอดภัยอาหาร และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากฝ่ายไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฝ่ายจีน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (น้ำผึ้ง นมผึ้ง1 และเกสรผึ้ง2) ที่ส่งออกจากฝ่ายไทยไปยังฝ่ายจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามพิธีสารดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2566
___________________________________
1นมผึ้ง คือ สารอาหารที่ถูกผลิตจากต่อมส่วนหัวของผึ้งงาน ใช้สำหรับเป็นอาหารของนางพญาผึ้งและตัวอ่อนของผึ้งมีสารอาหารที่สำคัญหลายอย่าง เช่น โปรตีน วิตามิน ไขมัน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
2เกสรผึ้ง คือ ละอองเรณูที่เกิดจากเกสรตัวผู้ของดอกไม้ มีลักษณะคล้ายละอองเม็ดเล็ก ๆ เหมือนฝุ่นแป้ง สามารถนำมาทำเป็นยาและสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลได้ดี
17. เรื่อง การจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสนใบพาย จากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างพิธีสาร ดังนี้
1.1 ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากราชอาณาจักรไทย (ไทย) ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ระหว่าง กษ. และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน [General Administration of Customs of People’s Republic of China (GACC)] (ร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ)
1.2 ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกต้นสนใบพายจากไทยไปยังจีนระหว่าง กษ. และ GACC (ร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ)
โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ และร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายสำหรับลงนามในร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ และร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ
(จะมีการลงนามในร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566)
ทั้งนี้ การจัดทำร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสนใบพายไปยังจีนเพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการและถือเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าไทยในตลาดจีน อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอีกด้วย โดยที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกไม้ประดับไปยังจีนเป็นจำนวนมาก เช่น ต้นหน้าวัว ต้นชวนชม ต้นกระบองเพชร เป็นต้น แต่ต้นสนใบพายถือเป็นไม้ประดับชนิดแรกที่มีการจัดทำพิธีสารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสำหรับพืช ในส่วนของการส่งออกผลไม้ไปยังจีนนั้น ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกผลไม้ที่สำคัญได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย ทุเรียน ภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกันด้านความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ส่วนการจัดทำพิธีสารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสำหรับพืชในทำนองเดียวกันนี้ กษ. แจ้งว่า ที่ผ่านมามีเพียงชมพู่เท่านั้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558
18. เรื่อง การรับรองร่างถ้อยแถลงฮาลองสำหรับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียนโดยการขับเคลื่อนขั้นตอนปฏิบัติล่วงหน้าในการจัดการภัยพิบัติ (Ha Long Ministerial Statement on the Strengthening of ASEAN Anticipatory Actions in Disaster Management)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงฮาลองสำหรับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียนโดยการขับเคลื่อนขั้นตอนปฏิบัติล่วงหน้าในการจัดการภัยพิบัติ (Ha Long Ministerial Statement on the Strengthening of ASEAN Anticipatory Actions in Disaster Management) (ร่างถ้อยแถลงฯ) ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างถ้อยแถลงฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและอาเซียน ให้ มท. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงดังกล่าว
[จะมีการจะรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเชียนด้านการจัดการภัยพิบัติ(ASEAN Ministerial Meeting on Disaster Management: AMMDM) ครั้งที่ 11 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ณ เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม]
ร่างถ้อยแถลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการผลักดันให้ทุกประเทศดำเนินการตามแผนงานฯ ค.ศ. 2021 – 2025 ในด้านที่ 3 การเตรียมความพร้อมและตอบโต้ต่อภัยพิบัติ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติล่วงหน้า เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยร่างถ้อยแถลงฯ สนับสนุนให้มีการดำเนินการ 3 ด้าน ดังนี้
ด้าน | สาระสำคัญ |
(1) การปรับปรุงระบบการพยากรณ์และการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า | 1) การดำเนินการในระดับภูมิภาค เช่น 1.1) การสร้างความเข้มแข็งแก่สมาชิกอาเซียนและศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ศูนย์ประสานงานฯ) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยงสาธารณภัย 1.2) พัฒนาระบบการติดตามและตอบโต้ภัยพิบัติ รวมทั้งสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน 1.3) ให้คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ จัดทำขั้นตอนปฏิบัติล่วงหน้าเพื่อจัดการภัยพิบัติในระดับภูมิภาคควบคู่กับการประเมินความเสี่ยงของภัยพิบัติข้ามพรมแดน 2) การดำเนินการในระดับประเทศ เช่น การพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้มีความครอบคลุม เป็นต้น (ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาแอพพลิเคชันเตือนภัยพิบัติ ชื่อว่า Thai Disaster Alert) |
(2) การวางแผน การดำเนินงานและการส่งมอบขั้นตอนการปฏิบัติล่วงหน้าในการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้สาธารณภัย | มีการดำเนินการในระดับภูมิภาค เช่น 1) ดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง (เช่น การนำประสบการณ์จากการตอบโต้ภัยพิบัติที่ผ่านมา มาใช้พัฒนาการรับมือภัยพิบัติของภูมิภาค การจัดทำบัญชีทรัพยากรสำหรับให้ความช่วยเหลือประเทศที่เกิดภัยพิบัติ เป็นต้น) 2) ส่งเสริมให้มีการร่วมมือในการวางแผนเตรียมความพร้อมระดับภูมิภาคและขับเคลื่อนให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติล่วงหน้า |
(3) การวางแผนจัดเตรียมงบประมาณในการจัดการภัยพิบัติ | 1) การดำเนินการในระดับภูมิภาค เช่น 1.1) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเพื่อดำเนินโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (เป็นโครงการให้ความรู้ต่อประเทศสมาชิก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและพัฒนาเครื่องมือในการกำหนดค่าประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือและแนวทางสำหรับดำเนินการภายในประเทศต่อไป) เป็นต้น 1.2) สนับสนุนให้คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติพิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุนการขับเคลื่อนขั้นตอนปฏิบัติล่วงหน้าเพื่อจัดการกับภัยพิบัติตามความเหมาะสม (เช่น การสนับสนุนให้มีกองทุนการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น) 2) การดำเนินการในระดับประเทศ เช่น สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพเพื่อให้มีงบประมาณรองรับการจัดการภัยพิบัติอย่างทันท่วงที [ปัจจุบันประเทศไทยดำเนินการผ่านกลไกทางกฎหมาย เช่น ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อข่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เป็นต้น] |
19. เรื่อง ร่างกรอบการเจรจา (เพิ่มเติม) สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างกรอบการเจรจา (เพิ่มเติม) สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดท่าทีไทยและการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิกต่อไป
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกรอบการเจรจาฯ ต่อไป
20. เรื่อง การรับรองเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมาย ร่วมรับรองเอกสารข้อริเริ่มฯ และลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อ 1
สาระสำคัญ
สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative for International Cooperation Forum: BRF) ครั้งที่ 3 และการประชุม High-Level Forum on Digital Economy ระหว่างวันที่ 17 – 18 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม BRF ครั้งที่ 3 สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอให้ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมร่วมรับรองเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง (Beijing Initiative on the Belt and Road International Digital Economy Cooperation) และลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Memorandum of Understanding Between The Ministry of Digital Economy and Society of the Kingdom of Thailand And The National Data Administration of the People’s Republic of China) โดยสาระสำคัญของเอกสารดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
1. เอกสารข้อริเริ่มฯ
1.1 เป็นเอกสารที่ระบุถึงเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ พัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และช่วยให้บรรลุการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อขยายความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยคำนึงถึงหลักการเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างกัน นวัตกรรม การเปิดกว้าง ความสามัคคีและความไม่แบ่งแยกผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (win-win cooperation)
1.2 เอกสารข้อริเริ่มประกอบด้วยประเด็นความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล การประสานงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการพัฒนาแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัลและความเป็นผู้ประกอบการ การส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมทักษะดิจิทัล ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองในมิติเศรษฐกิจดิจิทัล
2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ
มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ขอบเขตความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ดังนี้
1) ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการประสานงานด้านนโยบายดิจิทัล เสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือในการพัฒนากลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ประสานงานการวางแผนและการดำเนินการตามนโยบายที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น
2) ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับนวัตกรรมและการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม และหาโซลูชั่นทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและสร้างสรรค์มากขึ้น
3) ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ เกษตรกรรม การผลิต และบริการ และการนำความร่วมมือในรูปแบบใหม่ไปใช้ในอตุสาหกรรมสาขาใหม่ ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ
4) ทั้งสองฝ่ายจะสร้างแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคสำหรับนำเสนอความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล กระชับความร่วมมือในการสร้างเมืองอัจฉริยะและเขตอุตสาหกรรม (Industrial park)
2.2 การดำเนินการ และความรับผิดชอบ
1) ทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2) ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือ
3) ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลและแพลตฟอร์มในการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสานงานความร่วมมือ
4) ความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย ภายใต้หลักการต่างตอบแทน และปฏิบัติตามสิทธิในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ทั้งสองประเทศได้ให้ภาคยานุวัติ
5) บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้จะดำเนินการตามทรัพยากรที่มีอยู่ของทั้งสองประเทศ
การจัดทำความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลตามเอกสารข้อริเริ่มฯ และการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ มีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 – 2580 และนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยและรองรับเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านการค้า การบริการ และการลงุทน รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างไทยและจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
21. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Draft Joint Statement of The ASEAN-U.S. High-Level Dialogue on The Rights of Persons with Disabilities)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ให้การรับรอง (adopt) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ณ เมืองมากัสซาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
สาระสำคัญ
1. H.E. Tri Rismaharini รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2566 เรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development: AMMSWD) ของประเทศไทย และผู้ประสานงานหลักองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (Senior Officials Meeting on Social Welfare and Development: SOMSWD Focal Point) ของประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการและความร่วมมือหลังปี 2568 (The ASEAN High-Level Forum on Disability-Inclusive Development and Partnership beyond 2025) ซึ่งจะจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (ASEAN-U.S. High-Level Dialogue On The Rights of Persons With Disabilities) ในระหว่างวันที่ 10 – 12 ตุลาคม 2566 ณ เมืองมากัสซาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ จะมีการเสนอร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Draft Joint Statement of The ASEAN-U.S. High-Level Dialogue on The Rights of Persons with Disabilities) เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐอเมริกาพิจารณารับรอง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในระดับรัฐมนตรี จะร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฉบับดังกล่าวในระหว่างการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ณ เมืองมากัสซาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ริเริ่มโดยองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD) ประเทศอินโดนีเซีย โดยจะเป้นหนึ่งในเอกสารผลลัพธ์สำคัญของประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานการประชุมร่วมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียนในการให้ความสำคัญกับสิทธิคนพิการ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงกลยุทธ์อาเซียน-สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2564 – 2568) (ASEAN-U.S. Strategic Partnership Plan of Action (2021-2025)) รวมถึงส่งเสริมการเคารพรับฟังข้อเรียกร้องของคนพิการ และผลักดันและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียน พ.ศ. 2568 เพื่อบูรณาการสิทธิคนพิการ (ASEAN Enabling Masterplan 2025: Mainstreaming the Rights of Persons with Disabilities) และสนับสนุนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) และข้อตกลงอื่น ๆ ที่มีการสนับสนุนความร่วมมือกับคนพิการในภูมิภาค
ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิคนพิการมีสาระสำคัญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ในการส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและรับฟังข้อเรียกร้องของคนพิการ ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการเสริมสร้างความเจริญเติบโตที่ครอบคลุม มีธรรมาภิบาลที่ดี และเคารพสิทธิมนุษยชน โดยการบูรณาการประเด็นสิทธิคนพิการในประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก และกลไกของอาเซียนทั้งหมดตลอดจนขับเคลื่อนแผนแม่บทอาเซียน พ.ศ. 2568 : เพื่อการบูรณาการสิทธิคนพิการ (ASEAN Enabling Masterplan 2025: Mainstreaming the Rights of Persons with Disabilities) และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาขีดความสามารถของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างในการดำเนินการที่จะส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมและความเคารพต่อสิทธิของคนพิการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธกรณีต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ดังกล่าว จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและเน้นย้ำถึงความพยายามดำเนินการตามพันธกรณีที่เกี่ยวข้องต่อไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นายธานินทร์ ริรัตนพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
2. นายสมบูรณ์ แก้วลมัย ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษาทาง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักงานทางหลวงที่ 6 กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษา) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566
3. นายชวเลิศ เลิศชวนะกุล ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางโครงการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566
4. นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2566
5. นายสำราญ สวัสดิ์พูน ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 3 กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษาทางและสะพาน) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2566
6. นายดนัย เรืองสอน ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านอำนวยความปลอดภัย) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2566
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 255/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
2. นายสยาม บางกุลธรรม ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
**********************