รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 16 ตุลาคม 2566
http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ 16 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41
เศรษฐกิจ -สังคม |
2. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคมและ 8 เดือนแรกของ ปี 2566
3. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “ทุ่งหนองแด” ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
4. เรื่อง รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1
5. เรื่อง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)
6. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566
7. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
8. เรื่อง มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ต่างประเทศ |
9. เรื่อง รายงานสรุปผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
10. เรื่อง การรายงานผลการเดินทางไปราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
11. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติรัสเซีย เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในห้วงการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3
14. เรื่อง การให้ความเห็นชอบและร่วมรับรองร่างเอกสารข้อริเริ่มว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียว
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
16. เรื่อง ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
17. เรื่อง การประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญขององค์การการท่องเที่ยวโลก ครั้งที่ 25
18. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
19. เรื่อง การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570
20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ
21. เรื่อง ร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ)
24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
28. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)
31. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
33. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 270/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบ
สำนักนายกรัฐมนตรี
***************
1. เรื่อง แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41 โดยกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเป็นกฎหมายกลางมีหลักการให้มีการเปลี่ยนโทษอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองของกฎหมายตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย (ไม่เป็นโทษอาญา) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้เตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่เพื่อใช้บังคับกฎหมายให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผู้ใช้และอ้างอิงกฎหมายที่จะสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. มอบหมายให้ สคก. และหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้วางแนวทางไว้
สาระสำคัญ
สคก. เสนอว่า
1. โดยที่ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป โดยเป็นกฎหมายกลาง1 ซึ่งมีหลักการให้มีการเปลี่ยนโทษอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว และโทษปรับทางปกครองของกฎหมายตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย โดยการปรับนั้นมิได้เป็นโทษทางอาญา
2. โดยมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวของกฎหมายในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติ (มีจำนวน 168 ฉบับ) เป็นความผิดทางพินัยและให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้เปลี่ยนความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองของกฎหมายในบัญชี 3 ท้ายพระราชบัญญัติ (มีจำนวน 3 ฉบับ) เป็นความผิดทางพินัยและให้ถือว่าอัตราโทษปรับทางปกครองเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 อันจะทำให้ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและความผิดที่มีโทษปรับทางปกครอง ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติปรับเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยโดยผลของกฎหมาย อย่างไรก็ดี มาตรา 41 บัญญัติให้ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 22 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่รวมถึง (1) ความผิดที่มีโทษจำคุกหรือโทษที่สูงกว่าสำหรับกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำความผิด แต่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเดียวกันนั้น และ (2) ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำความผิดอีกหรือเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
นอกจากนี้ มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ บัญญัติให้กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ไม่เกินที่กฎหมายนั้นกำหนด ให้เปลี่ยนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฉพาะในการกำหนดโทษปรับอาญาเป็นการปรับเป็นพินัยไม่เกินอัตราที่กำหนดสำหรับการกำหนดโทษปรับอาญา ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ตุลาคม 2566
3. ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้เตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนประโยชน์แก่ประชาชนที่จะสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง สคก. จึงได้หารือคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย3 เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และแนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามมาตรา 41 ซึ่งยังไม่เคยปรากฏแนวทางมาก่อน
4. คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ได้พิจารณามาตรา 39 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญัญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ แล้ว เห็นสมควรกำหนดแนวทางการพิจารณาเป็น 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
4.1 แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ปรากฏตามตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 29 (เดิม) “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท” แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด มาตรา 29 “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งแสนบาท* [*มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัย และให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย]” |
ทั้งนี้ ให้ สคก. นำแนวทางดังกล่าวข้างต้นไปปรับใช้กับการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำของบทบัญญัติที่มีการเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวของกฎหมายในบัญชี 1 และถ้อยคำของบทบัญญัติที่มีโทษปรับทางปกครองในบัญชี 3 ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับการที่มาตรา 39 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ได้เปลี่ยนโทษดังกล่าวไปแล้ว รวมถึงกรณีที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกฎหมายในบัญชี 2 ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย (มีจำนวน 33 ฉบับ) นอกจากนั้น หากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการใช้บังคับกฎหมายในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ดังกล่าว ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ก็ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของประชาชนในการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงและเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย
4.2 แนวทางการแก้ไขถ้อยคำของกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ แล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ไม่เกินที่กฎหมายนั้นกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ มีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกัน จึงเห็นสมควรกำหนดแนวทางการแก้ไขถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 97 วรรคสอง (เดิม) “ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน และหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท” แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด “ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือจะกำหนดทั้งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจะกำหนดให้มีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ได้” พระราชบัญญัติองค์การบริการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) “ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน และหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด “ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือจะกำหนดทั้งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งมื่นบาท หรือจะกำหนดให้มีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 70 วรรคสอง (เดิม) “ในข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับหรือทั้งจำและปรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้” แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด “ในข้อบัญญัติตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดโทษจำคุก หรือกำหนดทั้งโทษจำคุกและปรับสำหรับผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดโทษจำคุกเกินหกเดือนและโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ หรือจะกำหนดให้ผู้ละเมิดข้อบัญญัติมีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ได้” พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 60 วรรคสอง (เดิม) กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” “ในเทศบัญญัตินั้น จะกำหนดโทษปรับผู้ละเมิดเทศบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดเกินว่าหนึ่งพันบาท” แนวทางที่คณะกรรมการกำหนด “ในเทศบัญญัตินั้น จะกำหนดให้ผู้ละเมิดเทศบัญญัติมีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินหนึ่งพันบาทไว้ด้วยก็ได้” พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 71 วรรคหนึ่ง (เดิม) “องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจออกข้อบัญญัติ ในการนี้ จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” แนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนด “องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจออกข้อบัญญัติ ในการนี้ จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนข้อบัญญัติมีความผิดทางพินัยและต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” |
4.3 แนวทางการพิจารณากรณีที่ไม่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัย ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้พิจารณามาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ แล้ว เห็นว่า ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 และบัญชี 2 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ จะไม่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยและค่าปรับทางพินัย ในกรณีดังต่อไปนี้
กรณีที่หนึ่ง ความผิดที่มีโทษจำคุกหรือโทษที่สูงกว่าสำหรับกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำความผิด แต่มีโทษปรับสถานเดียวสำหรับกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเดียวกันนั้น ตามมาตรา 41 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ เห็นว่า จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลกระทำความผิดอย่างเดียวกัน แต่กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลธรรมดาที่กระทำความผิดนั้นต้องรับโทษจำคุกหรือโทษอาญาที่สูงกว่าส่วนนิติบุคคลที่กระทำความผิดเดียวกันนั้นต้องรับโทษปรับสถานเดียว ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายในบัญชี 1 ที่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าวที่ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย เช่น มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 59 มาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 แต่สำหรับมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 นั้น แม้กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้กรณีที่บุคคลธรรมดากระทำผิดในมาตรา 6 แต่องค์ประกอบของการกระทำความผิดของบุคคลธรรมดามีองค์ประกอบแตกต่างจากการกระทำความผิดของนิติบุคคล จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 41 (1) ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 จึงต้องเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย
กรณีที่สอง ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำความผิดอีกหรือเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ตามมาตรา 41 (2) แห่งพะราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ เห็นว่า
(1) กรณีที่กฎหมายกำหนดความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวแต่มีเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับ โทษที่สูงกว่าโทษปรับต้องเป็นโทษอาญาเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่กฎหมายกำหนดโทษปรับสถานเดียวและกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมจากโทษปรับ เช่น กำหนดให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์หรือมีคำสั่งให้เลิกประกอบกิจการ หรือกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกำหนดมาตรการทางปกครอง เช่น สั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือมีอำนาจสั่งกักเรือ หรือกำหนดค่าปรับบังคับการไว้ เนื่องจากเป็นมาตรการอื่นที่ไม่ใช่โทษอาญา กรณีดังกล่าวจึงสามารถเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยได้
(2) เงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำผิดอีก ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลเดียวกันและกฎหมายกำหนดให้บุคคลคนเดียวกันนั้นต้องรับโทษอาญาที่สูงกว่าโทษปรับเมื่อกระทำความผิดเดียวกันซ้ำอีก เช่น มาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
(3) เงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้รับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ต้องเป็นการกระทำความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดเดียวกันกับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว และกฎหมายกำหนดให้ต้องรับโทษสูงกว่าโทษปรับเมื่อมีเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น มาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราขบัญญัติเครื่องแบบทหาร (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2485 และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
สำหรับกรณีที่กฎหมายกำหนดความผิดอาญาและกำหนดโทษจำคุกไว้ และได้กำหนดเหตุลดโทษไว้สำหรับการกระทำที่มีองค์ประกอบความผิดเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเมื่อมีเหตุดังกล่าวได้รับเพียงโทษปรับสถานเดียวเป็นกรณีที่กฎหมายมีวัตถุประสงค์ลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำความผิดโดยมีเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่ควรรับโทษถึงจำคุกจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 41 (2) สามารถเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยได้ เช่น มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือกรณีที่กฎหมายกำหนดความผิดอาญาซึ่งบุคคลคนเดียวกระทำความผิดและมีโทษสองระดับ เพราะมีองค์ประกอบความผิดคนละองค์ประกอบ เช่น มาตรา 127 ทวิ และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 41 (2) และสามารถเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยได้
5. ทั้งนี้ สคก. ได้จัดทำตารางรวมมาตราของกฎหมาย ฉบับต่าง ๆ ตามบัญชี 1 และบัญชี 3 ที่จะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไว้ ตามแนวทางของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยในข้อ 4 โดยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ สคก. (ocs.go.th) แล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเป็นการล่วงหน้า และเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกฎหมาย
____________________________
1 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิด หรือกำหนดมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด จึงเห็นควรกำหนดให้มีกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง โดยปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาบางประการตามกฎหมายต่าง ๆ รวม 204 ฉบับ ที่มุ่งต่อการปรับเป็นเงินเป็น “มาตรการปรับเป็นพินัย” ซึ่งการปรับนั้นมิได้เป็นโทษทางอาญา รวมทั้งไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ ตลอดจนไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญาและไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป ซึ่งการมีกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ตามสมควรและส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
2 มาตรา 40 บรรดาความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 2 ท้ายพระราชบัญญัตินี้ จะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ก่อนตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชกฤษฎีกานั้นให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้มีมติไม่เห็นชอบ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไป
การตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งจะเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายที่ระบุไว้ในบัญชีบางมาตราหรือทุกมาตรา โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการเปลี่ยนไว้ด้วย
3 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการออกกฎกระทรวงและระเบียบโดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่หน่วยธุรการ ซึ่งได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 318/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565
เศรษฐกิจ -สังคม |
2. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคมและ 8 เดือนแรกของปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคมและ 8 เดือนแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2566
การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2566 พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน
มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (824,938 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.9 ได้รับแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้ง การส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและ
ความต้องการสินค้าเทคโนโลยีทำให้สินค้าหมวดอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้า ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.5 และ
เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.5
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 48,199.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 12.8 ดุลการค้า เกินดุล 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 383,111.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 187,593.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 195,518.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 7,925.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนสิงหาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,647,414 ล้านบาท หดตัว ร้อยละ 12.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 824,938 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 822,476 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 18.6 ดุลการค้า เกินดุล 2,462 ล้านบาท ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 13,112,568 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 6,379,734 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 6,732,833 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 353,009 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.5 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 7.6 แต่สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.2 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 99.8 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และเกาหลีใต้) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย โมซัมบิก และแองโกลา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 28.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 13.2 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และลาว) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 22.8 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกัมพูชา) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 32.9 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 12.8 (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และแอฟริกาใต้) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 23.1 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ไต้หวัน และจีน) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 12.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี) ไขมันจากน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 57.4 (หดตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และฮ่องกง) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.5
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.2 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และแอฟริกาใต้) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 39.8 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 6.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 36.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 74.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และกัมพูชา) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 59.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และไต้หวัน) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 26.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.7 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 10.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.4 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินเดีย) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.1
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 21.7 จีน ร้อยละ 1.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 15.7 แต่ยังหดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน (5) CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 1.5 ร้อยละ 21.3 และร้อยละ 11.6 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 22.4 แอฟริกา ร้อยละ 4.9 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 30.4 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 10.7 ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 0.9 ร้อยละ 12.6 และร้อยละ 11.7 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 62.8 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 53.6
2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
สำหรับแผนการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยยังคงรักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ร้อยละ 1 – 2 และมีนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก” โดย (1) ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว (2) จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ (3) แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เป็นปัญหาคอขวดและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (4) ผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค นอกจากนี้ มีนโยบาย “ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA” โดยให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว สร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit BCG และ SGDs เป็นต้น อีกทั้งได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” และเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่น กลับมาบวกซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
3. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “ทุ่งหนองแด” ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับเรื่อง มาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “ทุ่งหนองแด” ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้แก่สมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Produces : AIPH) ซึ่งมีกำหนดการต้องส่งมอบพื้นที่ 6 เดือน ก่อนพิธีเปิดงานในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 (ต้องส่งมอบพื้นที่วันที่ 1 พฤษภาคม 2569)
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 จัดขึ้นที่ “ทุ่งหนองแด” ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่จัดงาน 1,030 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น 1,009 ไร่ 25 ตารางวา ซึ่งต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ก่อนการดำเนินการเข้าเตรียมพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569
2. คณะกรรมการ AIPH ได้มาตรวจเยี่ยมพื้นที่การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 โดยให้ข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรเร่งแผนการดำเนินงานให้เร็วขึ้น โดยมีกำหนดการต้องส่งมอบพื้นที่ 6 เดือนก่อนพิธีเปิดงาน (ต้องส่งมอบพื้นที่วันที่ 1 พฤษภาคม 2569) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ให้ติดตามความคืบหน้าของโครงการมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการในการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ให้ดำเนินการขอยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว
3. กษ. แจ้งว่า ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) ได้ตรวจสอบแล้ว พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ต้องขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และ 12 พฤษภาคม 2558 (เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ) ดังนั้น กษ. สามารถนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้
4. เรื่อง รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1 (4 ตุลาคม 2564 – 3 ตุลาคม 2565) ตามที่กระทรวงแรงาน (รง.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า รง. (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ได้จัดทำรายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1 (4 ตุลาคม 2564 – 3 ตุลาคม 2565) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง | ผลการดำเนินงาน |
1. การประชุมคณะกรรมการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 | คณะกรรมการฯ มีการประชุม 3 ครั้ง ในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ 1.1) พิจารณาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการฯ ชุดที่ 3 ปีที่ 2 และพิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ ชุดที่ 4 1.2) พิจารณาความคืบหน้า (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….1 และพิจารณาข้อเสนอแนะเพิ่มเติมการรับฟังความเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….2 1.3) พิจารณาแนวทางการส่งเสริมผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านและพิจารณาโครงการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกกรรมการผู้แทนผู้จ้างงาน กรรมการผู้แทนผู้รับงานไปทำที่บ้านในคณะกรรมการฯ ชุดที่ 5 |
2. การพัฒนากลไกในการพัฒนาการคุ้มครองงานที่รับไปทำที่บ้าน | คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย รวม 2 คณะ ดังนี้ 2.1) คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ดำเนินการประชุม 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) เสนอแนะเพิ่มเติมการรับฟังความเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ (2) การปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 2.2) คณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนนโยบายการรับงานไปทำที่บ้าน ได้ดำเนินการประชุม 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาการรับงานไปทำที่บ้าน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึงตามแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563 – 2565 และการเตรียมข้อมูลประกอบการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบในแต่ละกลุ่มอาชีพให้ได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคมและเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึงตามเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึง และ (2) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2566 – 2570 |
3. การส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน | คณะกรรมการฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีอาชีพเสริมเพิ่มจากอาชีพหลัก มีรายได้ที่มั่นคง มีงานทำอย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ หลักประกันทางสังคมและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เช่น 3.1) โครงการสร้างเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบในสังคม สูงวัย โดยจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบและให้มีช่องทางการติดต่อแบบสองทาง (Two way) เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบระหว่างสมาชิกในเครือข่าย ตลอดจนสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ให้ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมซึ่งมีเป้าหมายเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 468 คน 3.2) กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยส่งเสริมให้เครือข่ายแรงงานนอกระบบมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีเป้าหมายให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการทั้ง 86 หน่วยงาน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 2,564 คน 3.3) กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งชมรมแรงงานนอกระบบ โดยจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านแรงงานนอกระบบของจังหวัดเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งได้มีการจัดทำฐานข้อมูลชมรมแรงงานนอกระบบเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและส่งเสริมแรงงานนอกระบบให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายให้เครือข่ายสมาชิกชมรมแรงงานนอกระบบทั้ง 76 จังหวัด และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 1,575 คน 3.4) กิจกรรมคัดเลือกบุคคลและเครือข่ายแรงงานนอกระบบดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง มุ่นมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าสู่สากล โดยมีเป้าหมายให้ผู้จ้างงาน/นายจ้างแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีผู้เข้ารับการคัดเลือก จำนวน 44 คน แบ่งเป็นประเภทผู้จ้างงาน/นายจ้าง จำนวน 8 คน ประเภทแรงงานนอกระบบ จำนวน 17 คน และประเภทเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จำนวน 19 คน 3.5) กิจกรรมตรวจแรงงานนอกระบบ โดยดำเนินการในรูปแบบการตรวจแรงงานกลุ่มเป้าหมายในสถานประกอบการ/สำนักงานของนายจ้าง/ผู้จ้างงาน/ผู้ส่งมอบงานที่รับไปทำที่บ้าน/ตัวแทนหรือผู้รับเหมาในงานที่รับงานไปทำที่บ้าน สถานที่ทำงานของลูกจ้าง/ผู้รับงานไปทำที่บ้านรวมทั้งติดตามและประเมินผล ซึ่งมีผู้ที่ได้รับตรวจแล้ว จำนวน 302 คน 3.6) กิจกรรมตรวจแรงงานนอกระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กลุ่มลูกจ้างในงานเกษตรและลูกจ้างทำงานบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้วยแรงงาน และเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้วยแรงงานหรือการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และมีผู้ที่ได้รับการตรวจแล้ว จำนวน 15,277 คน |
__________________________
1 ปัจจุบันผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ในวาระที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 ธันวาคม 2564) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ตามที่ รง. เสนอ และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ….”
2 ปัจจุบันผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ รง. ครบทุกมาตราแล้ว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566
5. เรื่อง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
1. รับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)
2. ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP)
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สรุปรายละเอียดของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ดังนี้
- เหตุผลความจำเป็น
ด้วยประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทร 2 ด้าน คือ ฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งอันดามันด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยจึงมีความได้เปรียบทางที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะทางกายภาพสามารถเปิดสู่ทะเลทั้งสองด้าน และมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ
1) ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาครวมถึงประเทศจีนตอนใต้ และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก
2) ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกาในอนาคต มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น
3) ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากการขนส่งสินค้าและน้ำมันในภูมิภาค โดยปัจจุบันการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา คิดเป็นร้อยละ 16 ของการขนส่งสินค้าของโลก และปริมาณการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกาคิดเป็นร้อยละ 15 – 18 ของการขนส่งน้ำมันทั้งโลก ด้วยปริมาณสินค้าและน้ำมันที่ส่งผ่านช่องแคบมะละกาเป็นจำนวนมากทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและน้ำมันในอนาคต
จึงเป็นโอกาสที่จะใช้ความได้เปรียบดังกล่าวข้างต้น เพื่อพัฒนาโครงการที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน อันเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับและส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีท่าเรือระนองที่เป็นประตูการค้าหลักฝั่งอันดามันของประเทศแล้วก็ตาม ยังพบว่าท่าเรือระนองนั้นประสบปัญหาในการดำเนินการ เนื่องจากมีความลึกร่องน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ และตำแหน่งของท่าเรืออยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี มีตะกอนสะสมมาก ทำให้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาร่องน้ำเป็นประจำทุกปี
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์การเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับมหาสมุทรอินเดียดังกล่าว เพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการคมนาคมขนส่งของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกลุ่มประเทศทั้งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ และโครงการแลนด์บริดจ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ได้กำหนดไว้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิดปรับปัจจุบันเพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) หมุดหมายที่ 5 เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคในเป้าหมายที่ 1 เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค และเป้าหมายที่ 3 เพื่อให้ไทยเป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค
2. วัตถุประสงค์โครงการ
2.1 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล
2.2 เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำในระดับภูมิภาคและระดับโลก
2.3 เพื่อพัฒนาสะพานเศรษฐกิจรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งและการเชื่อมโยงด้วยระบบขนส่งสินค้าด้วยระบบรางและมอเตอร์เวย์
2.4 เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและของภูมิภาค
3. รูปแบบการพัฒนาโครงการ
3.1 องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ ที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมกันประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และทางท่อ ดังนี้
1) ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
2) ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
3) เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย
3.1) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร
3.2) ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack)
3.3) ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ
3.4) พื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
4) การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์และโรงแรม เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง และร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ
3.2 รูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า
4. ประมาณการสินค้าที่จะมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์
4.1 กลุ่มประเทศที่มีโอกาสขนส่งสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์
1) กลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย
2) กลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศแอฟริกา
4.2 ประเภทสินค้าที่สำคัญที่มีโอกาสผ่านโครงการแลนด์บริดจ์
1) สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) มีปริมาณสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่า (Throughput) ประมาณ 25.8 ล้าน TEUs โดยขนส่งผ่านท่าเรือฝั่งระนอง 13.6 ล้าน TEUs และท่าเรือฝั่งชุมพร 12.2 ล้าน TEUs โดยมีชนิดสินค้าจากการคาดการณ์ ดังนี้
1.1) ท่าเรือฝั่งระนอง ได้แก่ เยื่อไม้ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก อาหารสัตว์ กระดาษ ผลิตภัณฑ์นมและที่ทำจากนม และเคมีภัณฑ์อินทรีย์
1.2) ท่าเรือฝั่งชุมพร ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์ ยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม และธัญพืช
2) สินค้านำเข้า – ส่งออกของไทย มีปริมาณสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่า (Throughput) ประมาณ 6 ล้าน TEUs โดยขนส่งผ่านท่าเรือฝั่งระนอง 4.6 ล้าน TEUs และท่าเรือฝั่งชุมพร 1.4 ล้าน TEUs โดยมีชนิดสินค้าจากการคาดการณ์ ดังนี้
2.1) ท่าเรือฝั่งระนอง สินค้าส่งออก ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก และยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง และสินค้านำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เยื่อไม้ เหล็ก และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์
2.2) ท่าเรือฝั่งชุมพร สินค้าส่งออก ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง อาหารกระป๋อง และอาหารทะเลแช่แข็ง และสินค้านำเข้า ได้แก่ ไม้ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง อาหารกระป๋อง และเหล็ก
2.3) สินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมหลังท่า ประกอบด้วย สินค้าจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล/อาหารฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูงจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมจากการสร้างมูลค่าของนำเข้ามาประกอบแล้วส่งออกเชื่อมโยงโซ่อุปทานระหว่างกลุ่มประเทศฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ฐานชีวภาพ และบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อุตสาหกรรมไม้แปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ วัสดุ/อุปกรณ์การแพทย์เป็นต้น และอุตสาหกรรมที่นำวัตถุดิบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมาพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ
3) สินค้าจากจีนตอนใต้ และประเทศในกลุ่ม GMS มีปริมาณสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่า (Throughput) ประมาณ 1.4 ล้าน TEUs โดยขนส่งผ่านท่าเรือฝั่งระนอง 1.2 ล้าน TEUs และท่าเรือฝั่งชุมพร 0.2 ล้าน TEUs โดยมีชนิดสินค้าจากการคาดการณ์ ดังนี้
3.1) ท่าเรือฝั่งระนอง สินค้าส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยมีสินค้าเป้าหมายหลัก ประกอบด้วยสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์จากจีนตอนใต้ที่สามารถนำเข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ และเอเชียกลาง และสินค้านำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และปูนซีเมนต์
3.2) ท่าเรือฝั่งชุมพร สินค้าส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก เซรามิก ปุ๋ย และเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยมีสินค้าเป้าหมายหลัก ประกอบด้วยสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์จากจีนตอนใต้ที่สามารถนำเข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย และสินค้านำเข้า ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ผลไม้ ธัญพืช และเยื่อไม้
ประโยชน์และผลกระทบ
1. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการดำเนินการ
1.1 ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
1.2 สนับสนุนระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือของประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค
1.3 เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
1.4 เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โอกาสการจ้างงาน และช่วยลดปัญหาทางสังคมในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
2. การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับโครงการตามแนวทางการวิเคราะห์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งพิจารณาทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสรุปได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
2.1 มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท
2.2 อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35
2.3 อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 17.43
2.4 ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง ร้อยละ 9.52
2.5 อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 8.62
2.6 ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
2.7 การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง และรวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี
3. ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากดำเนินโครงการ
3.1 ด้านสิ่งแวดล้อมและการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
3.1.1 การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นจะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
3.1.2 ตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือฝั่งอันดามันในจังหวัดระนอง ปัจจุบันได้กำหนดตำแหน่งที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสน โดยพื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่ ทส. อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก แต่อยู่ในเขตที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตแนวกันชน (Buffer Zone) ซึ่งอยู่ในระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่เสนอขึ้นทะเบียน ซึ่งจะต้องมีการหารือระหว่าง คค. และ ทส. ต่อไป
3.2 ด้านกฎหมาย
การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ให้ประสบผลสำเร็จได้ต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบที่จะส่งเสริมการดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาโครงการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อจูงใจนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่เป็นรูปธรรมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย ประกอบด้วย
3.2.1 จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
3.2.2 จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
3.2.3 จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในการขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองและพัฒนาอุตสาหกรรม
4. แผนการดำเนินโครงการ
กิจกรรม | วันที่ดำเนินการ |
คณะรัฐมนตรีรับทราบโครงการ | ตุลาคม 2566 |
ดำเนินการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) | พฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 |
ดำเนินการจัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) | มกราคม – ธันวาคม 2567 |
จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) | ธันวาคม 2567 |
คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน | เมษายน – มิถุนายน 2568 |
ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | มกราคม 2568 – ธันวาคม 2569 |
เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติลงนามในสัญญา | กรกฎาคม – สิงหาคม 2568 |
ดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ | กันยายน 2568 – กันยายน 2573 |
เปิดให้บริการ | ตุลาคม 2573 |
ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา หรือการสูญเสียรายได้
1. รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม
รูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ดังนี้
1.1 การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
1.1.1 ระยะที่ 1/1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
1.1.2 ระยะที่ 1/2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577
1.1.3 ระยะที่ 1/3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579
1.2 การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
1.2.1 ระยะที่ 1/1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
1.2.2 ระยะที่ 1/2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577
1.2.3 ระยะที่ 1/3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579
1.2.4 ระยะที่ 1/4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2582
2. ประมาณการลงทุนโครงการ
2.1 ระยะที่ 1/1
2.1.1 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท
2.1.2 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท
2.1.3 งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท
2.1.4 งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท
2.1.5 ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท
รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท
2.2 ระยะที่ 1/2
2.2.1 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท
2.2.2 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท
2.2.3 งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 21,910.00 ล้านบาท
2.2.4 งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท
รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท
2.3 ระยะที่ 1/3
2.3.1 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท
2.3.2 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท
2.3.3 งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 39,361.04 ล้านบาท
รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท
2.4 ระยะที่ 1/4
2.4.1 งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท
2.4.2 งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท
รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท
3. การเปรียบเทียบมูลค่าการลงทุนกับโครงการที่ผ่านมา
มูลค่าการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์สามารถเปรียบเทียบกับโครงการลงทุนในลักษณะ
ที่คล้ายกันทั้งในประเทศและต่างประเทศในองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ท่าเรือ
ท่าเรือ/ระยะพัฒนา | ปีที่เสร็จ สมบูรณ์ |
วิสัยสามารถ ท่าเรือ |
ปริมาณ ขุดลอก และถมทะเล |
ค่าลงทุน ท่าเรือรวม |
ค่าลงทุนเฉลี่ยต่อ วิสัยสามารถท่าเรือ |
(MTEU) | (M.cu.m) | (M.USD) | (MUSD/MTEU) | ||
โครงการแลนด์บริดจ์ | |||||
– ท่าเรือฝั่งระนอง | 2579 | 20 | 124.14 | 9,870 | 493.50 |
– ท่าเรือฝั่งชุมพร | 2582 | 20 | 120.7 | 9,130 | 456.50 |
โครงการภายในประเทศ | |||||
– ท่าเรือแหลมฉบัง/ขั้นที่ 3 (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) |
2568 | 7.0 | 56.00 | 2,843.80 | 406.26 |
โครงการภายนอกประเทศ | |||||
– ท่าเรือสิงคโปร์ TUAS Mega Port /ขั้นที่ 1 |
2564 | 20.0 | 88 | 12,042.64 | 602.13 |
– ท่าเรืออินโดนีเซีย Patimban Port |
2561 (Phase 1) |
7.5 | 40.8 | 3,210 | 478.75 |
– ท่าเรือเกาหลีใต้ BNCT , Busan Port (Phase 2 – 3) |
2548 | 2.4 | – | 970 | 549.72 |
3.2 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
ลำดับ | รายการ | ทางระดับพื้น (6 ช่องจราจร) |
ทางยกระดับ (6 ช่องจราจร) |
อุโมงค์ | |||
โครงการ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา1 |
โครงการ Landbridge | โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา1 | โครงการ Landbridge | โครงการ ทางพิเศษสายกะทู้- ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต2 |
โครงการ Landbridge | ||
1 | ค่าก่อสร้างงานโยธา (ลบ.) |
337.34 | 4,447 | 1,413.32 | 38,862 | 5,800 | 63,360 |
2 | ระยะทาง (กม.) | 2.02 | 30.67 | 1.48 | 43.18 | 3.70 | 19.80 |
3 | พื้นที่หน้า ตัดอุโมงค์ (ตร.ม.) |
– | – | – | – | 138.50 | 312 |
4 | ค่าก่อสร้าง (ลบ./กม.) |
167 | 145 | 954 | 900 | 11.32 ต่อ ตร.ม. หน้าตัด | 10.26 ต่อ ตร.ม. หน้าตัด |
ที่มา : 1สัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา
2โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
3.3 ทางรถไฟ
ลำดับ | รายการ | ทางระดับพื้น (2 ทาง) | ทางยกระดับ (2 ทาง) | อุโมงค์ (2 ทาง) | |||
รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทาง ถนนจิระ3 |
โครงการ Landbridge |
รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทาง ถนนจิระ3 |
โครงการ Landbridge |
รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทาง ถนนจิระ3 |
โครงการ Landbridge |
||
1 | ค่าก่อสร้างงานโยธา (ลบ.) | 2,480 | 3062.4 | 1,876 | 12,880 | 357 | 25,740 |
2 | ระยะทาง (กม.) | 31 | 35.2 | 5 | 32.2 | 0.26 | 19.8 |
3 | ค่าก่อสร้าง (ลบ./กม.) | 80 | 87 | 375 | 400 | 1,373 | 1,300 |
ที่มา : 3สัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ
6. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
การดำเนินการ
รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ในฐานะประธานกรรมการ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการสรุปผลการประชุมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ โดยมีสาระสำคัญการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 269/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566
2. รับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
3. เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 6 ประการ ดังนี้
3.1 ควรยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการยุติการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ คดีใหม่ต้องไม่มี หรือให้ยุติทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่าย หรือชะลอการดำเนินคดี และนำเข้าสู่การนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
3.2 ในการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมรัฐบาลควรยึดปัญหาความเดือดร้อน ข้อมูลและข้อเท็จจริงของประชาชนเป็นหลัก มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายที่เป็นอุปสรรคให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา
3.3 กรณีชุมชนที่เป็นสมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ
3.4 ปัญหารายกรณีและกรณีปัญหาเร่งด่วนที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเมื่อได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการทราบ หากยังไม่ได้ข้อยุติให้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหารายกรณีอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วแต่กรณี
3.5 ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีสัดส่วนระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้แทนภาคประชาชนที่เท่ากัน โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
3.6 ให้นำข้อเสนอเชิงนโยบายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 10 ด้าน ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องรับข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเร็ว
4. รับทราบผลการศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับไปดำเนินการนำเสนอร่างกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป
5. เห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ การกระจายอำนาจ และการจัดการภัยพิบัติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานกรรมการ
6. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ
7. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 7 คณะ ดังนี้
7.1 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
7.2 คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ
7.3 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
7.4 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานอนุกรรมการ
7.5 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ
7.6 คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานอนุกรรมการ
7.7 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ
8. เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นรับข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไปดำเนินการดังนี้
อนุกรรมการที่รับผิดชอบ | ข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม |
---|---|
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ | 1. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบโดยยึดหลักการ ดังนี้ 1.1 กระจายการถือครองที่ดินทุกคนต้องเข้าถึงที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 1.2 ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตไม่ใช่สินค้า 1.3 รับรองสิทธิชุมชนให้บริหารจัดการที่ดินร่วมกันตามมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 |
2. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและส่งเสริมสิทธิชุมชน และให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและโครงการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม โดยมีกรณีปัญหาที่ต้องพิจารณาดำเนินการอย่างน้อย 266 กรณี | |
คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม | 1. รวบรวม ศึกษา ข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้นำไปสู่การแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดทำร่างกฎหมายหลัก และกฎหมายลำดับรอง มติคณะรัฐมนตรี และนโยบาย ที่เอื้อให้กับการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยยึดหลักการดังนี้ 1.1 ให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง โดยให้มีการแต่งตั้งกลไก ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน และมนุษยชน คดีกลั่นแกล้ง คดีฟ้องร้องประชาชน เร่งรัดร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและบังคับใช้กฎหมายภายใน 100 วัน |
1.2 ขอให้ใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหา ในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีและการค้นหาข้อเท็จจริงในคดีที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ใช้การพิจารณาหลักฐานทางราชการเท่านั้น ควรมีการวิเคราะห์หลักฐานทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา รวมถึงวัฒนธรรมประเพณี ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 1.3 ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ของประชาชน โดยให้ปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 10 ประเด็น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมของคนจน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม 2. พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นแล้ว เข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรี และบังคับใช้ ภายใน 100 วัน |
|
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ |
พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐ ให้มีแนวทางในการพัฒนาที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับ การฟื้นฟูเยียวยาและชดเชยอย่างเป็นธรรม รวมไปถึงการร่างระเบียบการชดเชย ด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ตลอดรวมถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและยุติปัญหา ในพื้นที่นำร่องทุ่งทับใน ห้วยฝั่งแดง แม่สอด แม่มอก ห้วยน้ำรี โครงการผันน้ำยวม กรณีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระทรวงการคลังเอื้อทุน ให้ต่างชาติเช่าที่ดินหาดไม้ขาวสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ โดยยึดหลักการ ดังนี้ 1. การพัฒนาโครงการของรัฐ ไม่กระทบวิถีชีวิตของประชาชน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนต้องดีขึ้น 2. การชดเชยเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ภายใต้หลักการ “ผู้สร้างผลกระทบจะต้องเป็นผู้จ่าย” โดยมีเกณฑ์การฟื้นฟู 3 ระดับ ดังนี้ 2.1 ระยะสั้น ให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ พัฒนาของรัฐอย่างเป็นธรรมถูกต้องและเท่าเทียม 2.2 ระยะกลาง ให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มและพัฒนาอาชีพของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน 2.3 ระยะยาว ให้มีการฟื้นฟูเยียวยาวิถีชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาเป็นปกติสุขเช่นเดิม โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ 3. เคารพสิทธิชุมชนดั้งเดิมเป็นหลักไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา และยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) |
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ | ให้อนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ จัดทำแผนและกำหนดแนวทาง นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม |
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล | ให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วน จำนวน 102 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน และแก้ไขปัญหาสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 |
คณะอนุกรรมการสิทธิ ที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน |
1. ให้คณะอนุกรรมการนำที่ดินของรัฐมาใช้ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย จำนวน 139 แห่ง เพื่อให้ชุมชนดังกล่าวเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน โดยในระหว่างที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาขอให้สั่งการ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหา และพัฒนาสาธารณูปโภค ไปพลางก่อน พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณในทุกชุมชนจนกว่าจะมีแนวทาง การแก้ปัญหาเป็นอย่างอื่นและให้อนุกรรมการได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณ แนวทางในการดำเนินการในทุกกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต 2. กรณีปัญหาที่อยู่อาศัย ต้องไม่ใช้กฎหมายมาบังคับไล่รื้อแต่ให้ใช้กระบวนการเจรจาการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทั้งนี้การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน ของหน่วยงานที่มีอยู่ยังมีข้อติดขัดในระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หรือ การจัดตั้ง และระบบสหกรณ์ ที่ต้องได้รับ การปรับปรุงให้การดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยของคนจนให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของคนจน 3. ให้ทบทวน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวมที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อหรือเช่าที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษี กับรายแปลงย่อยที่แต่ละครัวเรือนครอบครองจริง โดยดำเนินการตามสรุปผลการประชุมหารือเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง การเสียภาษีที่ดินของสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จังหวัดนครปฐม ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่ากระทรวงการคลังสามารถอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (12) แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อออกกฎกระทรวงให้สหกรณ์ ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินได้ |
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย |
แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 |
9. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา จำนวน 38 กรณี ดังนี้
9.1 กรณีบ้านใหม่ล้านนา ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
9.2 กรณีบ้านรอยพระพุทธบาท ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
9.3 กรณีบ้านศิริราษฎร์ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
9.4 กรณีพื้นที่ไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
9.5 โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 4 พื้นที่ ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้แก่ 1) ชุมชนบ้านไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง 2) ชุมชนบ้านท่ากอม่วง ตำบลหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง 3) ชุมชนบ้านแพะใต้ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง และ 4) ชุมชนบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
9.6 การเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน แปลงริมบึงมักกะสัน (ซอยหมอเหล็ง)
9.7 ขอให้ส่งมอบพื้นที่ให้กับสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ 1) ชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ที่ 4 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี 2) ชุมชนสันติพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง 3) ชุมชนก้าวใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี
9.8 สหกรณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด พื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง
9.9 ชุมชนไทดำ (บ้านทับชัน) หมู่ที่ 1 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกไม่ตรงตามตำแหน่งทะเบียนหวงห้ามเดิมทับที่อยู่อาศัยชุมชนไทดำ จำนวน 77 แปลง เนื้อที่ 1,408 ไร่
9.10 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ตำบลตาเกา อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
9.11 ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล
9.12 ชุมชนพานหินโพธิ์ทอง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
9.13 อ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ตำบลตาเกา อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
9.14 ชุมชนตาดปูน ตำบลทุ่งนาเลา อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กรณีโรงโม่หินศักดิ์ชัย
9.15 ชุมชนบ่อแก้ว ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
9.16 ชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
9.17 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำเซบก ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
9.18 ที่สาธารณประโยชน์ ดอนหนองโมง – หนองกลาง บ้านเขวาโคก บ้านเขวาโคกพัฒนา ตำบลสระบัว อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
9.19 ที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระ บ้านหินโง่น หมู่ที่ 11 ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
9.20 ที่สาธารณประโยชน์โคกปออีกว้าง บ้านกุดแข้ด่อน หมู่ที่ 12 ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
9.21 ที่สาธารณประโยชน์ “ป่าช้า – บ้านร้าง” หมู่ที่ 5 บ้านกุดแข้ด่อน ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร (ชุมชนแดนสวรรค์)
9.22 ที่สาธารณประโยชน์โน่นอีหง่อม โนนหนองห้าง และโนนม่วง ตำบลหัวช้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
9.23 ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลงที่ 2 ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
9.24 ที่สาธารณประโยชน์โนนสามพันตา บ้านน้อยนางาม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
9.25 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา บ้านจะแวะ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
9.26 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยศาลา ภูติ๊กต๊อก ตำบลห้วยจันทร์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
9.27 เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ภูกระทุงพนมประโน ซำหมาก กม. 10 – 13 บ้านทับทิมสยาม 07 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
9.28 ชุมชนท่าเว่อ ตำบลท่ามะไฟหวาน อำแภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ
9.29 ปลูกป่าทับที่ดินทำกิน เขตป่าฝั่งห้วยกำโพด ป่าตาปุม บ้านตาปุม หมู่ที่ 5 ตำบลตระเปียงเตีย อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์
9.30 ที่สาธารณประโยชน์โคกหนองเม็ก หมู่ที่ 1 ตำบลขอนแตก อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
9.31 ที่สาธารณประโยชน์โคกปะแนต ตำบลดม ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
9.32 ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
9.33 ชุมชนหลังเวทีสะพานหิน ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
9.34 ชุมชนสระต้นโพธิ์ หมู่ที่ 7 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
9.35 กรณีนายวิทยา แก้วบัวขาว ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
9.36 กรณีหาดไม้ขาว หมู่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต
9.37 ชุมชนแหลมหมา กรณีนายสมยศ มิตรพันธ์ หมู่ที่ 4 บ้านท่าดินแดง ตำบลลำแกน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
9.38 ชุมชนลับแล ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
7. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ในกรอบวงเงิน 29,748 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2571) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายในกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย
2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยมีแหล่งเงินในการดำเนินการ ดังนี้
2.1 สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงินรวม 385 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 369 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน จำนวน 9 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประกวดราคา จำนวน 7 ล้านบาท
2.2 ให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อจากกระทรวงการคลัง และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม วงเงินรวม 29,363 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง จำนวน 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 604 ล้านบาท ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย
2.3 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น อำเภอโนนสะอาด อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย พ.ศ. ….
สาระสำคัญ
การรถไฟแห่งประเทศไทยขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความสอดคล้องของโครงการ
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นและลดระยะเวลาการโดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์และแผนการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการใช้ระบบขนส่งระบบราง เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการเชื่อมต่อเส้นทางหนองคาย – นครราชสีมา – สระบุรี – ฉะเชิงเทรา – แหลมฉบัง – มาบตาพุด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนด้านการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มายังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้า (Multimodal Transport) จากทางรถไฟไปยังระบบการขนส่งทางชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการคมนาคมในภาคต่าง ๆ ของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ ขอนแก่น พิษณุโลก และกรุงเทพฯ โดยการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ที่มีพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการ เช่น สนามบิน ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า รวมทั้งกิจการต่อเนื่องอย่างครบถ้วน และสอดคล้องกับผังแนวคิดการพัฒนาการเชื่อมโยงกับต่างประเทศในแนวแกนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวตะวันออก – ตะวันตก (สระบุรี – นครราชสีมา – ขอนแก่น – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์)
2. ความเหมาะสมของโครงการ
2.1 ลักษณะของโครงการ
เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1.00 เมตร เพิ่มขึ้นจำนวน 1 ทาง ขนาดไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร ประกอบด้วยทางรถไฟระดับดินระยะทางประมาณ 153 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ 2 แห่ง ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 14 สถานี เป็นการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่จำนวน 6 สถานี และปรับปรุงสถานีรถไฟเดิมจำนวน 8 สถานี มีที่หยุดรถจำนวน 4 แห่ง และได้ดำเนินการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในปัจจุบันทั้งหมดโดยได้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 31 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 53 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความจุของทางรถไฟตลอดจนความรวดเร็วและความปลอดภัยในการให้บริการ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและสินค้า
1) ผลการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงขอนแก่น – หนองคาย มีจำนวนประมาณ 3,500 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2569 (ปีที่คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการตามรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมฉบับปรับปรุงใหม่) และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 คนต่อวัน ในปี พ.ศ. 2599 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.19 ต่อปี
2) ผลการคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงนี้มีจำนวนประมาณ 3.50 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันต่อปี ในปี 2599 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.67 ต่อปี
2.3 ประมาณการผลตอบแทนของโครงการ
1) ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์
ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการพบว่ามีความเหมาะสมต่อการลงทุน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) มีค่าเท่ากับร้อยละ 18.46 มากกว่าร้อยละ 12 ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดไว้ นอกจากนี้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ อัตราคิดลดร้อยละ 12 มีค่า 14,598 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) ณ อัตราคิดลดร้อยละ 12 มีค่า 1.69 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะได้รับผลประโยชน์สูงกว่าต้นทุนที่สูญเสียไปกรณีที่มีการพัฒนาโครงการนี้
2) การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน
จากการประมาณการค่าใช้จ่ายรวมและรายได้รวมของโครงการผลการวิคราะห์ความเหมาะสมทางการเงิน พบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return : FIRR) เท่ากับร้อยละ -3.98
2.4 การออกแบบรายละเอียดโครงการ
1) แนวเส้นทางโครงการ
โครงการมีจุดเริ่มต้นที่ กม. 453+954.950 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ – ขอนแก่น ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปทางเหนือของสถานีขอนแก่น (กม. 449+750) ประมาณ 4.2 กิโลเมตร และมีจุดสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย (กม.621+345) ระยะทางรวมประมาณ 167 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ในการออกแบบจะต้องมีการปรับปรุงแนวเส้นทางในบางช่วง เนื่องจากไม่สามารถรองรับความเร็วตามข้อกำหนด (Design Speed) ซึ่งกำหนดไว้ที่ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรถไฟโดยสารจะเดินรถด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถไฟบรรทุกสินค้าจะเดินรถด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2) สถานีรถไฟ
ตลอดแนวเส้นทางโครงการมีจำนวนสถานีรถไฟทั้งหมด 14 สถานี ได้แก่ สถานีสำราญ สถานีโนนพยอม สถานีน้ำพอง สถานีเขาสวนกวาง สถานีโนนสะอาด สถานีห้วยเกิ้ง สถานีกุมภวาปี สถานีห้วยสามพาด สถานีหนองตะไก้ สถานีหนองขอนกว้าง สถานีอุดรธานี สถานีนาพู่ สถานีนาทา และสถานีหนองคาย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีอยู่เดิมทั้งหมด แต่จะมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ตลอดแนวเส้นทางโครงการมีป้ายหยุดรถจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ที่หยุดรถห้วยไห ที่หยุดรถบ้านวังชัย ที่หยุดรถห้วยเสียว และที่หยุดรถคำกลิ้ง
3) ลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard)
โครงการได้กำหนดให้มีลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีโนนสะอาด พื้นที่ขนาด 10,500 ตารางเมตร สถานีหนองตะไก้ พื้นที่ขนาด 21,750 ตารางเมตร และสถานีนาทา พื้นที่ขนาด 19,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
4) โรงช่อมบำรุง
โครงการได้กำหนดให้โรงซ่อมบำรุงตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีนาทาจังหวัดหนองคาย มีขนาดพื้นที่ 11.25 ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานซ่อมบำรุงให้สามารถบำรุงรักษาขบวนรถเมื่อมาถึงสถานีปลายทาง โดยได้พิจารณาถึงการซ่อมบำรุงวาระไม่เกิน 6 เดือน หรือบำรุงเบา (Light Maintenance) และสามารถซ่อมฉุกเฉินนอกวาระได้ ประเภทรถที่รองรับในโรงซ่อมบำรุงนาทา ประกอบด้วย รถจักร (Locomotive) รถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit) รถสินค้า (Freight Train) รวมถึงการรองรับขบวนรถโดยสารใหม่ซึ่งเป็นแบบรถชุด (Train set) ขนาดความยาว 340 เมตร
2.5 การประมาณการมูลค่าลงทุนโครงการเบื้องต้นและแผนการเบิกจ่ายเงิน
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พิจารณาและประเมินมูลค่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย โดยอ้างอิงจากประมาณการตามผลการศึกษาและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันแล้ว มีมูลค่าโครงการเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 29,748 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7)
2.6 การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561
2.7 แผนการดำเนินงานโครงการ
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้วางแผนการดำเนินโครงการ โดยได้พิจารณาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยและได้ปรับแผนการดำเนินงานโครงการให้เป็นปัจจุบันแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2570 และเปิดให้บริการต่อประชาชนได้ในเดือนพฤษภาคม 2570
2.8 การเวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง
จากผลการออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมของโครงการฯ มีความจำเป็นต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินประมาณ 184 ไร่ เพื่อก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟใหม่บางช่วงเพื่อปรับแก้รัศมีโค้งและก่อสร้างทางยกระดับหรือทางลอดเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในท้องที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามวัตถุประสงค์ จึงมีความจำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดเตรียมพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยกรมการปกครองมีหนังสือ ที่ มท 0310.1/10566 ลงวันที่ 18 เมษายน 2566 แจ้งผลการตรวจสอบแนวเขตการปกครองแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการก่สร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565
8. เรื่อง มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมือง สายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สำหรับการขอรับการชดเชยส่วนต่างรายได้ของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น เมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวแล้วให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้นจริงต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัฐธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี (เริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อม1 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะและลดภาวะมลพิษในภาพรวม อย่างไรก็ตาม คค. ได้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของแต่ละเส้นทางภายใต้มาตรการดังกล่าวพบว่า มีแนวโน้มผู้ใช้บริการของแต่ละเส้นทางเพิ่มขึ้น แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะสูญเสียรายได้บางส่วนเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่ง รฟท. และ รฟม. ได้เสนอแนวทางการชดเชยรายได้ที่สูญเสียแล้ว สรุปได้ ดังนี้
เส้นทาง | มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย | ประมาณการรายได้ที่สูญเสีย | แนวทางการชดเชยรายได้ที่สูญเสีย |
รถไฟชานเมืองสายสีแดง | – ปรับลดอัตราค่าโดยสาร จาก 12 – 42 บาท (อัตราเฉลี่ย 30.01 บาท) เป็น 12 – 20 บาท – จำนวนผู้โดยสาร 7.7 ล้านคนต่อปี (กรณีฐาน) – ประมาณการรายได้ (กรณีฐาน) จาก 231 ล้านบาท/ปี เป็น 154 ล้านบาท/ปี (ลดร้อยละ 33) |
77 ล้านบาท/ปี | – รฟท. ขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้ส่วนต่างค่าโดยสารเต็มจำนวนที่ลดให้แก่ประชาชนตามนโยบายภาครัฐ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องของ รฟท. |
รถไฟฟ้าสายสีม่วง | – ปรับลดอัตราค่าโดยสาร จาก 14 – 42 บาท (อัตราเฉลี่ย 23 บาท) เป็น 14 – 20 บาท – จำนวนผู้โดยสาร จาก 20.3 ล้านคนต่อปี เป็น 23.9 ล้านคน/ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18) – ประมาณการรายได้ จาก 412 ล้านบาทต่อปี เป็น 222 ล้านบาท/ปี (ลดลงร้อยละ 46) |
190 ล้านบาท/ปี | – รฟม. ขอนำเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟสายสีน้ำเงินที่แต่ละปีเคยนำส่งให้กระทรวงการคลังมาชดเชยกับรายได้ที่หายไปจากการปรับลดค่าโดยสาร |
รวม | 267 ล้านบาท/ปี |
__________________
1 เริ่มดำเนินการหลังจากการพัฒนาเชื่อมต่อระบบ Europay Mastercard and Visa (EMV) แล้วเสร็จ
ต่างประเทศ |
9. เรื่อง รายงานสรุปผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. จีนเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญในการรุกตลาดต่างประเทศของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดย พณ. ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยไปจีน ในปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1 หรือคิดเป็นมูลค่า 34,734 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,202,384 ล้านบาท)
2. งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China – ASEAN Expo : CAEXPO) เป็นงานที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีน ในด้านการค้าการลงทุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ภายใต้วัตถุประสงค์ของเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ASEAN – China Free Trade Agreement : ACFTA) ริเริ่มจากการที่ผู้นำอาเซียนและจีนได้ลงนามข้อตกลงร่วมกัน เมื่อปี 2545 โดยกระทรวงพาณิชย์จีนและประเทศอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ร่วมเป็นผู้สนับสนุนการจัดงานทุกปี โดยในปี 2566 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรมฯ) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง พณ. เข้าร่วมและกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานแสดงสินค้า CAEXPO ครั้งที่ 20 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จีน ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2566
3. การเดินทางเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมงาน CAEXPO รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรมฯ) ได้เข้าพบหารือกับประธานเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (นายหลาน เทียนลี่) โดยไทยพร้อมนำข้อเสนอเรื่องการเปิดกว้างของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคของจีน ซึ่งเป็นแนวคิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในเชิงลึกและเชิงกว้างมาพิจารณาในชั้นต่อไป รวมถึงไทยได้อนุมัติการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยให้ชาวไทยและจีนเดินทางระหว่างกันได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรมฯ) ได้เข้าร่วมและกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน CAEXPO ครั้งที่ 20 ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีจีน (นายหลี่ เฉียง) กล่าวปาฐกถาเน้นย้ำถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกันผ่านการแสดงความจริงใจด้วยการพูดคุยเจรจาร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้งและได้เยี่ยมชมงาน CAEXPO ครั้งที่ 20 ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs ชาวไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าศักยภาพจำนวน 76 บริษัท มีสินค้าที่ได้รับความสนใจ เช่น ผลไม้อบแห้ง เครื่องแกง เครื่องปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องประดับเงิน น้ำมันนวด และหมอนยางพารา เป็นต้น สร้างมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมคูหานิทรรศการเมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) ที่จัดแสดงสินค้าศักยภาพจากจังหวัดต่าง ๆ ของไทยซึ่งเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองต่าง ๆ ของจีน 7จังหวัด และเยี่ยมชมศูนย์รวบรวมสินค้าดีเด่นจีน-อาเซียน (China ASEAN Mercantile Exchange : CAMEX) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวได้ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่แสดงสินค้าให้ผู้ประกอบการไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสำคัญของจีนเพื่อประชาสัมพันธ์คูหาประเทศไทยในงาน CAEXPO ตลอดจนเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้ความตกลง ACFTA ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road initiative : BRI)
4. พณ. ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้
4.1 พณ. จะสนับสนุนการเข้าร่วมจัดงาน CAEXPO อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากศูนย์ CAMEX ต่อไป นอกจากนี้ เห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐไทยประสานแจ้ง พณ. ทราบการเข้าร่วมงาน CAEXPO ตามคำเชิญของหน่วยงานจีน เพื่อบูรณาการและติดตามประเด็นการผลักดันเชิงนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน
4.2 พณ. ตั้งข้อสังเกตว่า จีนอยู่ระหว่างผลักดันการเปิดกว้างของระบบเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบ/มาตรฐาน การอำนวยความสะดวกการค้า/กลไกตลาด การส่งเสริมการสร้างมาตรฐานการค้า/การเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน ความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 (ASEAN Community Vision 2025) RCEP BRI ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรม และความร่วมมืออนุญาโตตุลาการ เพื่อการพัฒนาการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนและจีน ซึ่งคาดว่าการผลักดันการเปิดกว้างของระบบเศรษฐกิจเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จีนใช้ในการรับมือสถานการณ์ความตึงเครียดจากกรณีสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐอเมริกา พณ. จึงเห็นควรแจ้งประเด็นดังกล่าว เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและเตรียมการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง
10. เรื่อง การรายงานผลการเดินทางไปราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีรับทราบการรายงานผลการเดินทางไปราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช) เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม National ICT Roundtable ภายใต้งาน Huawei Connect 2023 ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2566 ณ นครเซี่ยงไฮ้ จีน สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ | สาระสำคัญ |
1. Huawei Connect 2023 | – เป็นงานประชุมใหญ่ประจำปีของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีให้มีความเปิดกว้างและสามารถประสานงานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมได้ – หัวข้อหลักของงานในปีนี้ คือ “Accelerate Intelligence” หรือการเร่งรัดให้อุตสาหกรรมไปสู่ความเป็นอัจฉริยะ โดยมีผู้ร่วมงาน เช่น ผู้แทนระดับสูงของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี และผู้มีส่วนได้เสียภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากทั่วโลก |
2. การประชุม National ICT Roundtable | – เป็นการประชุมโต๊ะกลมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Strengthen Digital Infrastructure, Accelerate Digital Economy” เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์ของแต่ละประเทศในด้านการพัฒนานโยบายและแผนภายในประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมีผู้แทนจากหลายประเทศเข้าร่วม เช่น จีน ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสิงคโปร์ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ประกอบด้วย 2 หัวข้อ สรุปได้ ดังนี้ (1) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีขึ้น สู่ประเทศดิจิทัลที่ดีขึ้น (Better Digital Infrastructure, Better Digital Nation) เช่น (1.1) กัมพูชาได้จัดทำกรอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (พ.ศ. 2565-2578) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเคเบิลใต้น้ำ โครงข่ายสื่อสารแห่งชาติ และเครือข่าย 5G (1.2) อินโดนีเซียได้จัดทำกรอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เช่น การพัฒนาเครือข่ายใยแก้วนำแสง Palapa Ring การติดตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในประเทศเพิ่มขึ้นและการจัดตั้งจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้นและ (1.3) ITU เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทางดิจิทัลให้มีความครอบคลุมประชากรของโลก เนื่องจากการสำรวจของ ITU พบว่า ยังมีประชาชนมากกว่า 26,000 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้ (2) การเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของรัฐบาลและบริการสาธารณูปโภคโดยกัมพูชาได้ออกนโยบายการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (พ.ศ. 2565-2578) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลดิจิทัลที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนผ่านบริการสาธารณะที่ดีขึ้น โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลโดยเฉพาะ -ประเทศไทย (ไทย) ได้ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูล ภายใต้หัวข้อ Digital Transformation in Government : Insights from Thailand โดยเน้นย้ำบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัลในปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 โดยนโยบายสำคัญที่กำลังผลักดัน คือ “นโยบาย Go Cloud First” มุ่งเน้นการบูรณาการเทคโนโลยี Cloud กับการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การลดและเลิกใช้กระดาษภายในหน่วยงานรัฐบาล นอกจากนี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) รวมถึงการพัฒนากฎหมายดิจิทัลหลายฉบับเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล |
3. การหารือระหว่าง ดศ. และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด | – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ โดยเน้นย้ำการผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และได้ประกาศนโยบาย Go Cloud First ซึ่งจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยเน้นการสร้างระบบคลาวด์ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูล ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการที่จะสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในไทย -ประธานกรรมการบริหารหัวเว่ย คลาวด์ (นายจาง ผิงอัน) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านดิจิทัลกับรัฐบาลไทย สรุปได้ ดังนี้ (1) เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) นำเสนอกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ของจีน เพื่อช่วยสนับสนุนบริษัทจัดตั้งใหม่ (Start up) ของไทย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีคลาวค์ร่วมกัน เพื่อนำเสนอด้านเทคนิค แนวทางการแก้ไขปัญหาและแนวปฏิบัติที่ดีให้กับรัฐบาลไทย และสนับสนุนระบบคลาวค์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) (2) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) นำเสนอเทคโนโลยี AI สำหรับการเกษตร ที่ปรับเปลี่ยนจากเทคโนโลยีเชิงรับมาเป็นเทคโนโลยีเชิงรุกเพื่อใช้ในการสืบค้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินและสภาพอากาศ เพื่อการวางแผนการเพาะปลูก เก็บข้อมูลผลผลิตที่ผ่านมา รวมถึงใช้ในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้เป็น Smart Tourism และการพยากรณ์อากาศที่มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น (3) การพัฒนาบุคลากร ยินดีที่จะส่งเสริมบุคลากรด้านดิจิทัลในไทยโดยการจัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) เพื่อสร้างนักพัฒนาไอซีที (ICT Talent) รองรับยุค Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากร 50,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเข้าสู่ดิจิทัล และยกระดับให้กับอุตสาหกรรมไอซีทีพร้อมทั้งรองรับการเป็นศูนย์กลางของไทยในภูมิภาคในด้าน AI และ Cloud |
4. การเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน Huawei Connect 2023 | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการของอุตสาหกรรมและบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ เช่น (1) การเปลี่ยนแปลงเมืองสู่ดิจิทัล (City Intelligent Twins) (2) การให้บริการภาครัฐแบบ One-Stop โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (One-Stop Public Services) (3) ระบบการจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City Intelligent Operations Center) (4) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระบบข้อมูลยุติธรรม (Justice Infomatization) (5) อุตสาหกรรมเกม (Gaming e-Commerce) และ (6) อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เน้นการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าด้วยดิจิทัล |
5. ประโยชน์และผลกระทบ | – ด้านบุคลากรดิจิทัล ส่งเสริมความร่วมมือในด้านการผลิตบุคลากรฯ โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมและผลิตบุคลากรด้านไอซีทีและนักพัฒนาชอฟต์แวร์ที่มีทักษะเป็นเลิศในด้าน AI และ Cloud เพื่อยกระดับทักษะและศักยภาพในการต่อยอดแนวคิดของบุคลากรและนำสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ โดยโครงการฯ มีเป้าหมายการผลิตบุคลากรปีละ 10,000 คน หรือ 50,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี โดยจะสร้างรายได้โดยเฉลี่ยให้แก่บุคลากรไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน สร้างรายได้ให้ประเทศถึง 60,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี และแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน AI และ Cloud ในการขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้าน AI และ Cloud รวมทั้งขยายผลการสร้างโอกาสทางธุรกิจไปยังกลุ่ม Start up และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัย สมาคมและองค์กรต่าง ๆ ด้วย – ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น ไทยมีโอกาสเชิญชวนกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของจีนมาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และลงทุนภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะโครงการ Thailand Digital Valley ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ภาษี Smart VISA และ Long-term Residence รวมถึงจะมีการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี Cloud และ AI ใน Thailand Digital Valley* ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างกัน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น และยกระดับระบบนิเวศด้านดิจิทัลของไทยให้เข้มแข็งและพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) |
*เป็นโครงการบนพื้นที่ 30 ไร่ ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบัน และภาครัฐ สร้าง Digital Ecosystem และ Open Platform สำหรับ Start up ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริม
และสนับสนุนการออกแบบสินค้าและบริการดิจิทัลของธุรกิจชั้นนำ และ Start up
11. เรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติรัสเซีย เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้ “สหพันธรัฐรัสเซีย” อยู่ในรายชื่อประเทศในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินเก้าสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขให้มีผลบังคับใช้ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เพื่อประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสหพันธรัฐรัสเชีย โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินเก้าสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวได้
สาระสำคัญ
เรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเป็นการกำหนดได้ “สหพันธรัฐรัสเซีย” อยู่ในรายชื่อประเทศผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 90 วัน (เป็นการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 90 วัน ให้กับสหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศแรก) ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น และช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย ประกอบกับข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยเฉลี่ยมีประมาณ 10,000 คน อย่างไรก็ตามแม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ รวมประมาณ 29 ล้านบาท แต่จะเป็นการเพิ่มรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
12. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
สาระสำคัญ
1. ไทยเข้าร่วมในข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) เมื่อปี 2560 โดยมีการลงนามในเอกสารความร่วมมือไทย – จีน ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China on Cooperation within the Framework of the Silk Road Economic Belt and the 21st Century Maritime Silk Road Initiative) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และแผนความร่วมมือว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Cooperation Plan between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China on Jointly Promoting the Silk Road Economic Belt and the 21st Century Maritime Silk Road) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมข้อริเริ่ม BRI
2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งกลไกประสานงานภายใต้แผนความร่วมมือฯ และกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงาน เช่น ขอบเขตการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายภายใต้กลไกประสานงานในสี่ประเด็น ได้แก่ (1) การตีความ การทบทวน และการปฏิบัติตามแผนความร่วมมือฯ (2) การทบทวน ปรับปรุงรายชื่อโครงการความร่วมมือภายใต้แผนความร่วมมือฯ (3) การร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติตามแผนความร่วมมือฯ และ (4) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือในสาขาที่สอดคล้องกับแผนความร่วมมือฯ หรือในสาขาอื่นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นประโยชน์การจัดการประชุมของกลไกประสานงาน การแบ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการประชุมกลไกประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
3. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่จะมุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการจัดตั้งกลไกประสานงานที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนให้การดำเนินการตามแผนความร่วมมือฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเพื่อบรรลุเป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของภูมิภาค
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในห้วงการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน ในห้วงการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม บูรณาการแนวทางการดำเนินงานและแสวงหาความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างเอกสาร
สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ในห้วงการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้จัดทำร่างเอกสารเพื่อเป็นผลลัพธ์การประชุมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่
1. การเพิ่มประสิทธิภาพและการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยการส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งให้มีความทันสมัยในทุก ๆ สาขา ยกระดับการบริการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือเพื่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ และสร้างความคล่องตัวให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ พัฒนาระเบียงการขนส่งระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น และผลักดันให้มีการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางอากาศ (Air Silk Road)
2. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยการพัฒนาแหล่งพลังงาน การเข้าถึงแหล่งพลังงาน การเพิ่มความร่วมมือทางการค้าด้านทรัพยากรพลังงาน กระชับและขยายความร่วมมือด้านท่อส่งน้ำมันและก๊าชข้ามพรมแดน การยกระดับการพัฒนาพลังงานสะอาด การสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และระบบการกักเก็บพลังงาน และการส่งเสริมภาคการผลิตและการบริโภคพลังงานสีเขียวที่มีคาร์บอนต่ำ
3. การปรับปรุงขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ โดยการยกระดับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ เช่น การป้องกันภัยแล้งและอุทกภัย การประปาและการบำบัดน้ำเสียในเขตเมือง การควบคุมการพังทลายของดิน การประหยัดน้ำในภาคชลประทาน การปกป้องระบบนิเวศ การจัดการแม่น้ำและทะเลสาบ การรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การจัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำ และการแบ่งปันเทคโนโลยีและแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ และการดำเนินการตามแผนวิจัยทางวิทยาศาสตร์และโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ
4. การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร โดยการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมระบบสายเคเบิลภาคพื้นดินและใต้ทะเลทั่วโลก การเพิ่มประสิทธิภาพด้านสถาปัตยกรรมทางเครือข่ายการสื่อสารและปรับปรุงการเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศ การเพิ่มอัตราการเข้าถึงของเทคโนโลยี 4G และ 5G และการเข้าถึงเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่การสนับสนุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ และการเร่งรัดการสร้างศูนย์ข้อมูลสีเขียว
5. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและมาตรฐาน โดยการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกฎ ระเบียบ และมาตรฐานด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งและปรับปรุงกรอบการหารือ จัดให้มีการประชุมระดับนโยบายทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล ยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนทางเทคนิคและการพัฒนาขีดความสามารถระหว่างประเทศ
6. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมด้านธุรกิจระหว่างประเทศให้เหมาะสม โดยการร่วมกันสร้างหลักประกันในระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เปิดกว้างและครอบคลุม มีความเป็นธรรม ความเสมอภาค ภายใต้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การสร้างกลไกการลงทุนและการจัดหาแหล่งเงินทุนโดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ อาทิ เงินกู้สีเขียว (Green Loans) และพันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) และการขยายความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริต การส่งเสริมธรรมาภิบาลทั้งสำหรับภาครัฐและเอกชน
14. เรื่อง การให้ความเห็นชอบและร่วมรับรองร่างเอกสารข้อริเริ่มว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารข้อริเริ่มว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียว ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารข้อริเริ่มว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียว หรือโดยมีหนังสือแจ้งฝ่ายจีนเพื่อร่วมรับรองร่างเอกสารดังกล่าว
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในหนังสือแจ้งร่วมให้การสนับสนุน (co-sponsor) ต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในข้อริเริ่มฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาร่วมสนับสนุน (co-sponsor) ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง และแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนทราบ ซึ่งจะมีการประกาศข้อริเริ่มฯ โดย H.E. Huang Runqiu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างการประชุม High-Level Forum on Green Development ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566
สาระสำคัญ
1. สาระสำคัญของข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง เพื่อระลึกถึงคำมั่นระดับโลกทั้งในเรื่องวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 การดำเนินงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีสตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (GBF) รวมถึงให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอทั้งกองทุน และการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายระดับโลก
2. ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทางเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ได้แก่ การหารืออย่างครอบคลุมและดำเนินงานเพื่อส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสีเขียวและปล่อยคาร์บอนต่ำ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดก๊าชเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการดำเนินงานของกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ผ่านการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการปกป้องทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ นโยบายและเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ แผนงานและมาตรฐานภาคการขนส่ง การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนการลงทุนด้านภูมิอากาศ สนับสนุนการจัดตั้งหุ้นส่วนการลงทุนและการเงินเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในเวทีประชุมที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การร่วมสนับสนุน (co-sponsor) ข้อริเริ่มปักปิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สายแถบและเส้นทาง จะทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ ผ่านกิจกรรมบนพื้นฐานความสมัครใจ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ตลอดจนการได้รับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
16. เรื่อง ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ให้การรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงาน ที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในช่วงการประชุมด้านพลังงานแห่งเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 3 ระดับรัฐมนตรี ในระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงาน ที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) การเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่ซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืนสำหรับทุกคนและการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในสาขาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 7
2) ส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งเน้นย้ำคำมั่นสัญญาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน
3) ส่งเสริมการใช้แหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน และการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7.2 ว่าด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก ภายในปี พ.ศ. 2573
4) สนับสนุนการระดมความช่วยเหลือทั้งทางเทคนิคและทางการเงิน รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำระบบพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่ซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืนมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนและการมีส่วนร่วมของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
5) ตระหนักถึงความสำคัญของก๊าซธรรมชาติในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ โดยการส่งเสริมตลาดพลังงานที่เสรี เปิดเผย โปร่งใส มีเสถียรภาพ และแข่งขันได้ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือในการสร้างห่วงโซ่อุปทานของแร่ธาตุและวัสดุที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และการสนับสนุนการดำเนินงานของแผนงานระดับภูมิภาคว่าด้วยการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีกำหนดเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมด้านพลังงานแห่งเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 3 (The Third Asian and Pacific Energy Forum: The 3rd APEF) ในระดับรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยการประชุม The 3rd APEF มีกำหนดจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การสร้างอนาคตทางพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกัน สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก” (Building a secure, sustainable and interconnected energy future for Asia and the Pacific) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีทบทวนและอภิปรายถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ทางพลังงาน และเพื่อเป็นการติดตามพัฒนาการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG7) เรื่องการสร้างหลักประกันการเข้าถึงพลังงานอย่างยั่งยืนในราคาที่ซื้อหาได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะแสดงบทบาทนำในการพัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาค
ในการประชุม The 3rd APEF จะมีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างอนาคตทางพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Ministerial Declaration on Building a Secure, Sustainable and Interconnected Energy Future for Asia the Pacific) ร่วมกัน
17. เรื่อง การประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญขององค์การการท่องเที่ยวโลก ครั้งที่ 25
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการ ดังนี้
1. เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญของ UNWTO ครั้งที่ 25
2. เข้าร่วมให้การรับรองและร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติให้เมืองซามาร์คันด์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถานเป็นเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของโลก
3. เข้าร่วมให้การรับรองหัวข้อวันท่องเที่ยวโลกและการแต่งตั้งประเทศเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลก ปี พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568
4. เข้าร่วมลงคะแนนเสียงในฐานะสมาชิกสามัญ UNWTO ในการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญของ UNWTO ครั้งที่ 26
5. ลงนามในเอกสารยื่นรับหลักปฏิบัติสากลสำหรับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวขององค์การ การท่องเที่ยวโลก และร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการรับหลักปฏิบัติสากลสำหรับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลกมาปรับใช้ภายในประเทศ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
สาระสำคัญ
1) การประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญขององค์การการท่องเที่ยวโลก ครั้งที่ 25 เป็นการประชุมตามพันธกรณีของสมาชิกองค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) ในระดับรัฐมนตรี โดยจะมีการประชุมทุก ๆ สองปี ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นสมาชิกสามัญ (Member States) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิกสามัญของ UNWTO จำนวน 159 ประเทศ 6 ดินแดน และสมาชิกสมทบ (Affiliate Member) กว่า 500 องค์กรการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนงานของ UNWTO กำหนดทิศทางและนโยบายการท่องเที่ยวของโลก พิจารณาอนุมัติงบประมาณ และให้การรับรองแผนการดำเนินงานของ UNWTO ในระยะเวลา 2 ปีถัดไป รวมทั้งเป็นเวทีเพื่ออภิปรายหัวข้อที่มีความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของโลก โดยการประชุม ประกอบด้วย สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ สมาชิกพันธมิตรในเครือ โดยมีผู้เข้าร่วมตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรี UNWTO จะจัดขึ้นในวันที่ 18 – 19 ตุลาคม 2566 ในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญของ UNWTO ครั้งที่ 25 (25th UNWTO GA) ระหว่างวันที่ 16 – 20 ตุลาคม 2566 ณ เมืองซามาร์คันด์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน โดยมีรัฐมนตรีท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเป็นประธาน
2) การประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญของ UNWTO ครั้งที่ 25 มีวาระสำคัญที่จะพิจารณา ดังนี้ (1) การสนับสนุนและร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติให้เมืองซามาร์คันด์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน เป็นเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของโลก (Acknowledging Samakand as the World Cultural Tourism Capital) (2) การรับรองหัวข้อวันท่องเที่ยวโลกและการแต่งตั้งประเทศเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลก ปี พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 (3) การลงคะแนนเสียงในฐานะผู้แทนประเทศไทยและสมาชิกสามัญ (Member State) ของ UNWTO ในการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญของ UNWTO ครั้งที่ 26 และ (4) การประกาศเจตนารมณ์และยื่นเอกสารรับหลักปฏิบัติสากลสำหรับการคุ้มครองนักท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลก (International code for the Protection of Tourists: ICPT) มาปรับใช้ภายในประเทศ
18. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนเห็นพ้องที่จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2566
สาระสำคัญ
1. กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ การรื้อฟื้นกลไกการหารือระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้จัดตั้งไว้ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของราชอาณาจักรไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2546 (ความตกลงฯ ฉบับปี ค.ศ. 2003) และยังมีผลใช้บังคับ พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดของกลไกการหารือและสาขาความร่วมมือตามที่กำหนดไว้ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือ ซึ่งลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 (MOU ฉบับปี ค.ศ. 2012) ให้มีรายละเอียดและเป็นปัจจุบันมากขึ้น
2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญ ได้แก่ การรื้อฟื้นการจัดกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อกำหนดทิศทางด้านนโยบายในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย – จีน และกระชับความร่วมมือในประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งจะยังคงจัดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Dialogue) ในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายจีน และปลัดกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายไทย เพื่อติดตามผลการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน นอกจากนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ยังครอบคลุมความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายในด้านอื่น ได้แก่ การแลกเปลี่ยนระดับอธิบดีและนักการทูตรุ่นใหม่ การประสานงานระหว่างสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ตลอดจนคณะผู้แทนประจำองค์การระหว่างประเทศและองค์การระดับภูมิภาคของทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือในเวทีพหุภาคี และความร่วมมือด้านกงสุล
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยและจีนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อระดับสูง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานท่าทีในระดับนโยบาย และการเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศ
19. เรื่อง การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยหากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงวัฒนธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างแผนปฏิบัติการฯ
สาระสำคัญ
1. สืบเนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สถาปนากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีเนื้อหาสาระครอบคลุมกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการร่วมกัน ภายใต้นัยของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยกระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศได้จัดทำแผนปฏิบัติการฯ มาแล้ว 5 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2547 – 2549 ฉบับที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2553 ฉบับที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2556 ฉบับที่ 4 ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2560 และฉบับที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2564
2. การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570 ถือเป็นฉบับที่ 6 โดยกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการหารืออย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สิ้นสุดการบังคับใช้แผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 5 และขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่ได้จัดทำร่วมกันแล้ว
3. สาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการฯ มุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น คณะผู้แทนรัฐบาลด้านวัฒนธรรม บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางด้านวัฒนธรรม ศิลปินและบุคคลที่มีบทบาทในด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผ่านความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากร การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกันในสาขาทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ การสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ การบริการสาธารณะทางด้านวัฒนธรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และตลาดวัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือทางด้านศิลปะการแสดง พิพิธภัณฑ์และหน่วยงานด้านมรดกวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังสานต่อโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-จีน รวมถึงการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” การสนับสนุนการเจรจาแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างกัน และการสนับสนุนการจัดการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีการปรับกรอบระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สามารถดำเนินความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 – 2569) และแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
20. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ
คณรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC)1 จำนวนสองฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Joint Statement of the Summit between ASEAN and GCC) (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) และ (2) ร่างกรอบความร่วมมืออาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ค.ศ. 2024 – 2028 [ASEAN – GCC Framework of Cooperation (FoC) 2024 – 2028] (ร่างกรอบความร่วมมือฯ) ทั้งนี้หากมีการแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้งสองฉบับในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารทั้งสองฉบับข้างต้น (กำหนดการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ จะจัดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย)
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. อาเซียนและ GCC ได้เริ่มความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่ปี 2533 โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศแบบเต็มรูปแบบ (full – fledged ministerial meeting) มาแล้ว 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2552 ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2553 ณ สิงคโปร์ และครั้งที่ 3 เมื่อปี 2556 ที่กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน) โดยล่าสุดในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ได้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – GCC ในรูปแบบปลายเปิดสามฝ่าย (open-ended troika ministerial meeting) (เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างประธานร่วม เลขาธิการ และผู้ประสานงานความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย)
2. ต่อมาสำนักเลขาธิการ GCC ได้เสนอให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน – GCC ครั้งแรกที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าวและเห็นพ้องให้ผู้นำรับรองร่างเอกสารจำนวนสองฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างกรอบความร่วมมือฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว
3. สาระสำคัญของร่างเอกสารทั้งสองฉบับ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำทั้งสองฝ่ายในการกระชับความสัมพันธ์อาเซียน – GCC ในความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ที่สองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน – GCC บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ความสนใจร่วมกัน และความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และ (2) ร่างกรอบความร่วมมือฯ เป็นเอกสารแผนงานระหว่างอาเซียนกับ GCC ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2024 – 2028) ซึ่งระบุโครงการ กิจกรรมและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เช่น การเมืองและความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย เศรษฐกิจ พลังงาน การท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน – GCC ทั้งสองฉบับไม่มีรูปแบบ ถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่มีการลงนามในเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด นอกจากนี้ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน – GCC ทั้งสองฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือรอบด้านและเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์ทั้งระหว่างไทยกับ GCC และระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก GCC ทั้ง 6 ประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก GCC รวมถึงส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของไทยด้วย
______________________________________
1GCC เป็นองค์การความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในตะวันออกลาง ประกอบด้วยรัฐรอบอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อตั้งขึ้นตามกฎบัตร GCC โดยมีวัตถุประสงค์เช่น (1) ส่งเสริมการประสานงาน การบูรณาการ และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐสมาชิกในทุก ๆ ด้าน อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเอกภาพในหมู่สมาชิก (2) เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประชาชนของรัฐสมาขิกในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
21. เรื่อง ร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่าง อว. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ อว. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ในช่วงการเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20 – 22 ตุลาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานของทั้งสองประเทศบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ การจัดทำร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องตามความประสงค์ของสถานเอกอัครราขทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่แจ้งให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความตกลง จากเดิม ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 (แต่ยังไม่มีการลงนามโดยทั้งสองฝ่าย) เป็น ร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ เนื่องจากภายใต้หลักกฎหมายของฝรั่งเศสและหลักกฎหมายสากล บันทึกความเข้าใจฯ เป็นข้อตกลงความร่วมมือที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่มักใช้คำที่แสดงถึงการผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของทั้งสองฝ่ายที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายและสร้างความชัดเจน สาธารณรัฐฝรั่งเศส จึงเสนอให้เป็นการลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ที่มีการตัดเนื้อหาด้านกฎหมายและการมีผลใช้บังคับออกไปจากที่เคยระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมยุโรป) พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและสารัตถะจากเดิมจึงถือเป็นการทำเอกสารฉบับใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ อีกทั้งร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องด้วย
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอแต่งตั้ง นายนฤชา ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายชวรัชต์ อุรัสยะนันทน์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายจักรพงษ์ แสงมณี)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. นายพงศกร อรรณนพพร
2. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา
3. นายนิยม เติมศรีสุข
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 5 ราย ดังนี้
1. นายชัยเกษม นิติสิริ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
2. นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
4. พันตำรวจเอก เกียรติพงษ์ ทองเพียร ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
5. นายอรัญ พันธุมจินดา ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
2. นายพิชัย นริพทะพันธุ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
2. นายมติชน ชูทับทิม ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
28. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. ให้ นายสมชาย มรกตศรีวรรณ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
2. ให้ นางโสภา เกียรตินิรชา พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย ดังนี้
1. นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายวรากร พรหโมบล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
4. นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
5. นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
6. นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
31. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 5 ราย ดังนี้
1. นายวัชรพล โตมรศักดิ์
2. นางลาลีวรรณ กาญจนจารี
3. นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ
4. ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร
5. นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายเฉลิมศักดิ์ เลิศวงศ์เสถียร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการคอมพิวเตอร์) ระดับสูง] สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
33. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 270/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 270/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 253/2566 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ดังนี้
- รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)
“2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน)
2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรีในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
2.2 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
– คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
2.3 การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
– คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี”
1.2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 2.3.4 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566
“2.3.4 คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน”
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
– ให้ยกเลิกข้อ 4.3.1 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 253/2566 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2566
- ให้ยกเลิกความในข้อ 8 และข้อ 9 แห่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“8. เมื่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้ว ให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบทุกสามสิบวัน
9. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในคำสั่งนี้ พิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมในการยุบเลิกคณะกรรมการดังกล่าว หากเห็นว่าหมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น หรืออาจยุบรวมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว โดยการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยยึดหลักการมีผู้รับผิดชอบภารกิจอย่างชัดแจ้ง การไม่ปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน และการบูรณาการภารกิจให้เกิดการประสานและสอดคล้องรองรับกัน แล้วเสนอผลการพิจารณา และข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำขึ้นใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่เห็นควรให้คงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ๆ ไว้ตามเดิมให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นด้วยเช่นกัน”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
*********************