ข่าวสารกรุงเทพฯ

รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 28 พฤศจิกายน 2566


http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

 

                   วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2566)  เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล   ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

 

                   1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   2.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   3.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   4.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ                                             เชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   5.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. ….
                   6.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
                   7.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   8.       เรื่อง     ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
 




เศรษฐกิจ-สังคม

                   9.       เรื่อง     ขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการค่าเช่าที่ดิน EECi อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
                   10.      เรื่อง     รายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
                   11.      เรื่อง     มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
                   12.      เรื่อง     สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนตุลาคม 2566
                   13.      เรื่อง     รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                   14.      เรื่อง     รายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
                   15.      เรื่อง     โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67
  




ต่างประเทศ

                   16.      เรื่อง     การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการและการจัดทำเอกสารภาคผนวกเพิ่มเติมเพื่อแนบท้ายความตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ARISE Plus – Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า”
                   17.      เรื่อง     ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล
                   18.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบการร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) ในการประชุม COP28 UNFCCC สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
                   19.      เรื่อง     การเข้าร่วม Climate Club ของประเทศไทย
 

                   20.      เรื่อง     คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงพาณิชย์)
                   21.      เรื่อง     คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงสาธารณสุข)
                   22.      เรื่อง     คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
                   23.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
                   24.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
                   25.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงมหาดไทย)             
                   26.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                   27.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ
                   28.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง  (กระทรวงยุติธรรม)
                   29.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                   30.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
 

***********************

 
 

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบดังนี้
                   1. รับทราบร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   2. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ของกระทรวงการคลัง รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   3. ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบกฎและระเบียบที่มีบทบัญญัติกำหนดวันจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นที่มีกำหนดจ่ายในลักษณะเดียวกับเงินเดือน และดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้ต่อไป
                   ทั้งนี้ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเป็นไปตามหลักการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยได้มีการแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่ง ประจำเดือนของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. อีกฉบับหนึ่งขึ้น เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการหรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการให้สอดคล้องกัน และเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกันด้วยซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 (เรื่อง การปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ) โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539 โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เงินเดือน” และปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการและเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ โดยสามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และกำหนดให้กรมบัญชีกลางกำหนดวันจ่ายให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินเดือนดังกล่าว และให้ข้าราชการมีสิทธิเลือกรับเงินเดือนเป็นแบบจ่ายเดือนละ 1 รอบ หรือแบบจ่ายเดือนละ     2 รอบ ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ รวมทั้งเป็นการเพิ่มอัตราเงินหมุนเวียนซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศ    อีกทั้งเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเดือนของข้าราชการมีความคล่องตัว รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน           ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นชอบกับร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) มีข้อสังเกตเห็นสมควรให้กระทรวงการคลังตรวจสอบกฎและระเบียบที่มีบทบัญญัติกำหนดวันจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นที่มีกำหนดจ่ายในลักษณะเดียวกับเงินเดือน และดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้ต่อไป
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ
                   1. ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เงินเดือน” และหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนี้








ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือนฯ (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. …. ที่ กค. เสนอ
ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือนฯ (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. …. ที่ สคก. ตรวจ
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เงินเดือน” (ร่างมาตรา 3)
· “เงินเดือน” หมายความว่า เงินเดือนและเงินอื่นที่มีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือน หรือที่มีกำหนดจ่ายเป็นอย่างอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประเภทงบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4) · “เงินเดือน” หมายความว่า เงินเดือนและเงินอื่นที่มีกำหนดอัตราการจ่ายเป็นรายเดือน โดยจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)
2. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ (ร่างมาตรา 4)
· การจ่ายเงินเดือนข้าราชการประจำเดือน ให้จ่ายในวันทำการก่อนวันสุดท้ายของเดือนสามวันทำการสำหรับกรณีที่ต้องเบิกเงินจากธนาคาร ให้จ่ายในวันทำการสุดท้ายของธนาคารในเดือนนั้นสามวันทำการ ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะกำหนดวันจ่ายหรือวิธีการจ่ายเป็นอย่างอื่นก็ได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20) · การจ่ายเงินเดือนข้าราชการประจำเดือน ให้จ่ายในวันทำการก่อนวันสุดท้ายของเดือนสามวันทำการสำหรับกรณีที่ต้องเบิกเงินจากธนาคาร ให้จ่ายในวันทำการสุดท้ายของธนาคารในเดือนนั้นสามวันทำการ ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะกำหนดวันจ่ายเป็นอย่างอื่นก็ได้       (คงเดิมมาตรา 20 วรรคแรก)

          ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการประจำเดือน เดือนละสองครั้งให้กรมบัญชีกลางกำหนดวันจ่ายให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินเดือนดังกล่าว

          ให้ข้าราชการมีสิทธิเลือกรับเงินเดือนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด

(เพิ่มมาตรา 20 วรรคสองและวรรคสาม)

                   2. ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ1 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนี้





มาตรา 14 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งฯ พ.ศ. 2539
· การจ่ายเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการให้จ่ายในวันทำการสุดท้ายของเดือน สำหรับกรณีที่ต้องเบิกเงินจากธนาคาร ให้จ่ายในวันทำการสุดท้ายของธนาคารในเดือนนั้น แต่ทั้งนี้ กค. จะกำหนดวันจ่ายเป็นอย่างอื่นก็ได้

          ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการจ่ายเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ เดือนละสองครั้ง ให้ กค. กำหนดวันจ่ายให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินประจำตำแหน่งดังกล่าว

          ให้ข้าราชการหรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการมีสิทธิเลือกรับเงินประจำตำแหน่งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กค. กำหนด

(เพิ่มมาตรา 14 วรรคสองและวรรคสาม)

 
_____________________________
1 มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ในพระราชกฤษฎีกานี้ “ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการและไม่เป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการครูในสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ บรรดาซึ่งมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ     และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ อว. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เพื่อรองรับศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565) จึงยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   1. กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์มีปริญญาสามชั้น คือ
                             (ก) เอก เรียกว่า “พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
                             (ข) โท เรียกว่า “พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.ม.”
                             (ค) ตรี เรียกว่า “พยาบาลศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.บ.”
                   2. กำหนดสีประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สีเขียวมิ้นท์
 
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ ..)      พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ อว. เสนอว่า
                   1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ รวม 13 สาขาวิชา ได้แก่ (1) การบัญชี   (2) การศึกษา (3) เทคโนโลยี (4) นิติศาสตร์ (5) นิเทศศาสตร์ (6) บริหารธุรกิจ (7) รัฐประศาสนศาสตร์ (8) รัฐศาสตร์ (9) วิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ (10) วิทยาศาสตร์ (11) วิศวกรรมศาสตร์ (12) ศิลปะศาสตร์ (13) เศรษฐศาสตร์
                   2. ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ได้เปิดสอนสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (เดิมหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต) จึงเห็นสมควรกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์เพิ่มขึ้น และกำหนดสีประจำสาขาวิชาดังกล่าว1 จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อเสนอสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์พิจารณา
                   3. ในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566) เดิมคือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้พิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรดังกล่าวแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และกำหนดสีประจำสาขาวิชา ดังนี้
                   1. กำหนดปริญญาในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ
                             (ก) เอก เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
                             (ข) โท เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.ม.”
                             (ค) ตรี เรียกว่า “สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ส.บ.”
                   2. กำหนดสีประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สีชมพูบานเย็น
___________________
1 ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) และผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ดังกล่าวจะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) ชื่อย่อ วท.บ. (สาธารณสุขศาสตร์) ส่วนที่เสนอมาในครั้งนี้เป็นสูตรสาธารณสุข   ศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566) ที่จะปรับจาก “วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) วท.บ.”       เป็น “สาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต ส.บ.” เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษามีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวยังคงสังกัดในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจะเปิดการเรียนการสอนภาค 1 ในปีการศึกษา 2567
 
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาชาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….      ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ อว. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ฉบับที่ ..)        พ.ศ. …. เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เพื่อรองรับศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาให้แก่ผู้สำเร็จศึกษาในหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564) จึงยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   1. กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ
                             (ก) เอก เรียกว่า “รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ร.ด.” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.”
                             (ข) โท เรียกว่า “รัฐศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ร.ม.”
                             (ค) ตรี เรียกว่า “รัฐศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ร.บ.”
                   2. กำหนดสีประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ สีม่วงอ่อน
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏและการศึกษาของชาติให้แผ่ไพศาลไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ลวดลาย และลักษณะอื่น ๆ ของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
 
6. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ….
                   2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
                   สาระสำคัญ
                   ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบและมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ให้มีการเร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว รวมทั้งสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน
                   สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมเป็นคณะทำงานฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว รวมทั้งได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 22 ฉบับ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ได้ทั้งระบบ จึงเห็นควรที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเร่งรัดให้มีการออกกฎหมายลำดับรองตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 22 ฉบับ โดยเร็วด้วย
 
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 เพื่อกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ1 ทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 จึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการขยายเวลาเปิดสถานบริการที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ สมควรกำหนดเป็นท้องที่นำร่องขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ส่วนท้องที่อื่นที่ประสงค์จะขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปลัด มท. กำหนด
                   โดยสมควรให้ร่างกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า
                   1. ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 กันยายน 2566) มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) สำหรับนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การขยายเวลาการเปิดสถานบริการในพื้นที่ท่องเที่ยวได้ในบางพื้นที่ตามความเหมาะสมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องต่อไปในฤดูท่องเที่ยว (High Season) ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้นด้วย จึงให้ มท. รับเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
                   2. มท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 1. แล้ว และเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 25472 เพื่อกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำร่องขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง สรุบได้ดังนี้
                             2.1 ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 6/2 และ ข้อ 6/3 ดังนี้
                                      (1) ข้อ 6/2 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) (3) (4) และ (5) ที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ให้เริ่มเปิดทำการได้ตามเวลาที่กำหนดในข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5             แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 ถึงเวลา 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
                                         สถานบริการตามมาตรา 3 (2) ที่อยู่ในสถานที่ตั้งตามวรรคหนึ่งให้เปิดทำการได้ระหว่างเวลา 11.00 นาฬิกา ถึง 14.00 นาฬิกา และระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
                                      (2) ข้อ 6/3 สถานบริการตามมาตรา 3 (1) (3) (4) และ (5) ที่อยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ท้องที่จังหวัดภูเก็ต ท้องที่จังหวัดชลบุรี ท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เริ่มเปิดทำการได้ตามเวลาที่กำหนดในข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขี้น
                                         สถานบริการตามมาตรา 3 (2) ที่อยู่ในท้องที่ตามวรรคหนึ่งให้เปิดทำการได้ระหว่างเวลา 11.00 นาฬิกา ถึง 14.00 นาฬิกา และระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
                                         ท้องที่อื่นที่ประสงค์จะให้สถานบริการเปิดทำการได้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปลัด มท. กำหนด โดยสรุปเวลาเปิดปิดสถานบริการ ดังนี้











ประเภทสถานบริการ กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 47 (ปัจจุบัน) กฎกระทรวงฯ (ฉ.2) พ.ศ. 66 ร่างกฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. ….
อยู่ในเขต Zoning อยู่นอกเขต Zoning ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) ตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรม ตั้งอยู่ในท้องที่ กทม. จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และท้องที่ อ. เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
ม. 3 (1) (สถานที่ที่มีเวทีเต้นรำ) 21.00-02.00 น. 21.00-24.00 น. เปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง ตามข้อ 6/1 21.00 – 04.00 น.

(ใน Zone และนอก Zone)
ม. 3 (2) (โรงน้ำชา) 11.00-14.00 น.

และ

18.00-24.00 น.
11.00-14.00 น.

และ

18.00-24.00 น.
11.00 – 14.00 น. และ 18.00 – 04.00 น. (ใน Zone และนอก Zone)
ม. 3 (3) (อาบ อบ นวด) 12.00-24.00 น. 18.00-24.00 น. ใน Zone 12.00 – 04.00 น.

นอก Zone 18.00 – 04.00 น.
ม. 3 (4) (ผับ คาราโอเกะ เธค) 18.00-01.00 น. 18.00-24.00 น. 18.00 – 04.00 น.

(ใน Zone และนอก Zone
ม. 3 (5) (ร้านเหล้า-ร้านอาหารที่มีการแสดงดนตรีและปิดหลังเที่ยงคืน) 18.00-01.00 น. 18.00-01.00 น. 18.00 – 04.00 น.

(ใน Zone และนอก Zone
วันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันสิ้นปี เปิดบริการได้จนถึง 06.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค.   1. ท้องที่อื่นที่ประสงค์จะให้สถานบริการเปิดตามเวลาข้างต้น ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปลัด มท. กำหนด เช่น มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวตามจำนวนที่กำหนด แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่พร้อมจัดทำแผนงาน/มาตรการต่าง ๆ

2. วันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันสิ้นปีเปิดบริการได้จนถึง 06.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค.

                   2. มท. ได้นำกฎกระทรวงดังกล่าวรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เป็นเวลา 15 วัน (ระหว่างวันที่ 3 – 17 พฤศจิกายน 2566) และได้ประชาสัมพันธ์ไปยังจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งได้แจ้งให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประชาสังคม รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ตลอดจนตรวจสภาพพื้นที่ที่จะขอขยายเวลาเปิดสถานบริการทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน และจัดทำแผนมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการขยายเวลาเปิดสถานบริการดังกล่าวโดยผลการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายเวลาเปิดสถานบริการได้ถึงเวลา 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
___________________
1 ประเภทของสถานบริการตามบทนิยาม “สถานบริการ” ใน ม. 3 แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 09 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้า ซึ่งสรุปประเภทของสถานบริการได้ ดังนี้ (1) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง ประเภทมีและไม่มีคู่บริการ (2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่ายและบริการโดยมีผู้บำเรอ ปรนนิบัติลูกค้า         (3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้ให้บริการแก่ลูกค้า ไม่รวมถึงสถานพยาบาล หรือเพื่อสุขภาพ (4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น การจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า (คาราโอเกะ) (5) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่ายโดยมีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่น เพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และ (6) สถานที่อื่นตามกำหนดในกฎกระทรวง
2 ม. 17 แห่ง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 09 บัญญัติให้การกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ การจัดสถานที่ภายนอกและภายในเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสะอาดหรือเพื่อความสะดวกในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ การใช้โคมไฟหรือการให้พนักงานติดหมายเลขประจำตัวในสถานบริการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
8. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอการขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดออกไปอีกหนึ่งปีนับแต่วันที่  9 ธันวาคม 2566
                   สาระสำคัญ
                   เนื่องจากประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 และให้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวมถึงฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีกฎหมายลำดับรองที่กระทรวงยุดิธรรมต้องออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 16 ฉบับ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ได้ดำเนินการจนมีผลใช้บังคับแล้ว อย่างไรก็ดี มีบทบัญญัติที่ต้องออกตามความในกฎหมายลูกบท จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างระเบียบคณะอนุกรรมการกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพคิด ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. …. ที่ต้องออกตามความในระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2565 ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ส. จัดทำกรอบอัตรากำลังเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและลูกจ้างกองทุนฯ โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน จึงจะเสนอให้คณะอนุกรรมการกองทุนฯ พิจารณาร่างระเบียบดังกล่าวได้ ซึ่งการพิจารณากรอบอัตรากำลัง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ      ของกระทรวงการคลังที่หน่วยงานราชการยื่นขอความเห็นชอบดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ      2. ร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่อง กำหนดมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่คุ้มค่าในการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องออกตามความในกฎกระทรวง การตรวจสอบทรัพย์สินและการแจ้งผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้และการขอรับทรัพย์สินคืนและการคืนทรัพย์สิน     พ.ศ. 2566 ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน นอกจากนี้ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครหรือเขตจังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพิจารณา
 




เศรษฐกิจ-สังคม

9. เรื่อง ขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการค่าเช่าที่ดิน EECi อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามความคิดเห็นของสำนักงบประมาณให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการค่าเช่าที่ดิน EECi อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง จากวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันไว้เดิม จำนวน 22,919,000 บาท เป็นจำนวน 29,422,600 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570 ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายแล้ว จำนวน 4,583,800 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 24,838,800 บาท ให้กรมวิทยาศาสตร์บริการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับตามความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีให้ครบวงเงินตามสัญญาต่อไป ทั้งนี้การเพิ่มวงเงินดังกล่าวอยู่ภายในกรอบสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกินร้อยละแปดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานว่า
                   1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 ตุลาคม 2565) วศ. ได้รับจัดสรรงบประมาณรายการค่าเช่าที่ดิน EECi วงเงินรวมทั้งสิ้น 22,919,000 บาท ประกอบด้วย ค่าเช่าที่ดิน จำนวน 1,034,000 บาท และค่าบริการส่วนกลาง (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 21,885,000 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ        พ.ศ. 2566-2570 [อัตราค่าบริการส่วนกลาง รวม 5 ปี รวมวงเงินทั้งสิ้น 21,884,557.50 บาท (ปีละ 4,376,911.50 บาท)] โดยเป็นการเช่าพื้นที่สำหรับโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle Proving Ground: CAV Proving Ground)1 (สนามทดสอบฯ) ภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่ง วศ. ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เรียบร้อยแล้ว
                   2. ปตท. ได้เรียกเก็บค่าบริการส่วนกลางงวดที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 จำนวน 4,376,911.50 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 306,383.81 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,683,295.31 บาท2 ซึ่ง วศ. ไม่สามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ได้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกับค่าบริการส่วนกลางในรายการค่าเช่าที่ดิน EECi ซึ่งเป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 25663 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าบริการส่วนกลางของพื้นที่ 26 ไร่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,532,000 บาท (ปีละ 306,383.81 บาท)
                   3. ในระหว่างการก่อสร้างสนามทดสอบฯ ระยที่ 14 พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไหลหลากปริมาณมากในช่วงฤดูฝนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสนามทดสอบฯ นอกจากนี้ ยังพบการสัญจรของฝูงช้างป่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ จึงมีความจำเป็นต้องเช่าพื้นที่เพิ่มเติมอีก จำนวน 6 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา สำหรับจัดทำแนวกั้นน้ำไหลเข้าพื้นที่ระบบกักเก็บและระบายน้ำครบวงจรเพื่อเชื่อมต่อกับระบบของโครงการ EECi และจัดทำแนวป้องกันฝูงช้างป่าที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบสนามทดสอบฯ ทั้งนี้ มีการกำหนดระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2570 รวมระยะเวลา 4 ปี วงเงินรวม 4,971,600 บาท
                   4. ในครั้งที่ อว. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ (11 ตุลาคม 2565) จำนวน 6,503,600 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ (1) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าบริการส่วนกลางของพื้นที่เดิม จำนวน 26 ไร่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 (5 ปี) วงเงินทั้งสิ้น 1,532,000 บาท และ (2) ค่าเช่าพื้นที่เพิ่มเติม จำนวน 6 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2570 (4 ปี) วงเงินทั้งสิ้น 4,971,600 บาท
_____________________________
1 สนามทดสอบรถอัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle Proving Ground: CAV Proving Ground) ใช้สำหรับการทดสอบระบบนำทางของรถอัตโนมัติ ทดสอบการขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) รวมทั้งระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WIFI 4G LTE 5G 2600MHz ตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ รวมทั้งทดสอบการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถอัตโนมัติและระหว่างรถอัตโนมัติด้วยกัน
2 ข้อมูล อว. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 วศ. ได้ชำระค่าบริการส่วนกลาง (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) บางส่วน จำนวน 4,375,567.46 บาท ให้แก่ ปตท. เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ปตท. พิจารณาผ่อนผันยอดค้างชำระ จำนวน 307,727.86 บาท (ค่าบริการส่วนกลาง+ภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยกำหนดระยะเวลาชำระให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566
3 ข้อมูล อว. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เหตุที่ไม่มีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก วศ. เข้าใจว่ามูลค่าสุทธิที่ระบุไว้ในใบเสนอราคาที่เสนอโดย ปตท. มีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ดังนั้น จึงไม่ได้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกับค่าบริการส่วนกลางในรายการค่าเช่าที่ดิน EECi ซึ่งเป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
4 ปัจจุบันการก่อสร้างสนามทดสอบฯ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อก่อสร้างสนามทดสอบฯ ระยะที่ 2
 
10. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติตามที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                   1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ1 ครั้งที่ 1/2566 (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566    มีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน  มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                             1.1 รับทราบหลักการและเป้าหมายการทำงานของคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงและอุตสาหกรรมการประมง (คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาฯ) [รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน] ดังนี้
                                      1.1.1 เรื่องปัญหาที่สืบเนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ให้คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาฯ เป็นเจ้าของเรื่อง
                                      1.1.2 เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรประมงภายในประเทศให้คณะกรรมการนโยบายฯ เป็นเจ้าของเรื่อง
                                      1.1.3 การดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ให้กรมประมงดำเนินการตามปกติ
                                      1.1.4 คณะกรรมการนโยบายฯ ไม่ใช่องค์กรบริหารจัดการการประมงโดยตรงแต่เป็นองค์กรในทางนโยบาย ให้คำแนะนำ และช่วยแก้ปัญหาเมื่อมีข้อขัดข้องกับชาวประมงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
                                      1.1.5 คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ จะทำงานคู่ขนานและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
                                      1.1.6 ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ มีหน้าที่ในการสนับสนุนและจะต้องไม่ออกกฎระเบียบที่จะขัดกับการแก้ไขดังกล่าว
                             1.2 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ จำนวน        8 คณะ ดังนี้
                                      1.2.1 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (คำสั่งที่ 12/2564)
                                      1.2.2 คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง (คำสั่งที่ 13/2564)
                                      1.2.3 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง (คำสั่งที่ 4/2564)
                                      1.2.4 คณะอนุกรรมการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (คำสั่งที่ 6/2564)
                                      1.2.5 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา (คำสั่งที่ 7/2564)
                                      1.2.6 คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานการปฏิบัติกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 9/2564)
                                      1.2.7 คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำการประมงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 10/2564)
                                      1.2.8 คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 11/2564)
                             1.3 แต่งตั้งคณะทำงาน 1 คณะ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน             เพื่อพิจารณาความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการใดในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนและนโยบายระยะยาว
                             1.4 มอบหมายให้กรมประมงไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวน       5 ประเด็น ดังนี้
                                      1.4.1 ขอให้ยกเลิกการกำหนดให้เรือประมงติดวิทยุมดขาว2 แทนมดดำ ของกรมเจ้าท่า
                                      1.4.2 ขอให้ปรับแก้ประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มระยะเวลาอยู่อาศัยเกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต (over stay) สามารถตรวจอัตลักษณ์และขอหนังสือคนประจำเรือแรงงานต่างด้าว (seabook) ได้
                                      1.4.3 เร่งนำเรือออกนอกระบบ จำนวน 1,007 ลำ งบประมาณ 1,806 ล้านบาท (อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา)
                                      1.4.4 ส่งเสริมกองเรือประมงนอกน่านน้ำใหม่
                                      1.4.5 ลดโทษปรับให้เหมาะสมกับความเสียหายของความผิดรวมทั้งให้มีคณะทำงานศึกษาและดำเนินการในเรื่องการจัดตั้งระบบ One Stop Service เพื่อความรวดเร็วในการอนุญาตทำการประมง โดยมอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รับผิดชอบและไปดำเนินการต่อไป
                             1.5 รับทราบการทบทวนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ
ให้เหมาะสม โดยจะหารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานกรรมาธิการ) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายฯ
_____________
1คณะกรรมการนโยบายฯ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูการประมง อุตสาหกรรมประมง และฟื้นฟูทะเลไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนและจัดระเบียบการประมงไทยให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม
2วิทยุมดขาว คือ วิทยุที่ใช้ย่านความถี่ 156-162.5 MHz. มักใช้ติดต่อในเรือ ส่วนวิทยุมดดำ คือ วิทยุที่ใช้ย่านความถี่ 27 MHz ซึ่งเป็นประเภทที่เรือประมงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยม
 
11. เรื่อง มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
                   2. มอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์และผลกระทบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ดังนี้







หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการศึกษา
กค.     (1) มาตรการภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว (มาตรการภาษีและการเงินฯ)

    (2) การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่นรวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว (การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ)

    (3) การพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน1 เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ (การยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ)
กระทรวงมหาดไทย (มท.) การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดฯ)
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (การยกเว้นการตรวจลงตราฯ)

ทั้งนี้ ให้ กค. มท. และ กต. นำเสนอรายละเอียดของมาตรการที่เกี่ยวข้องและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมมาตรการอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. รายงานว่า
                   1. โดยที่คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566) ได้กล่าวถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจว่ารัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ2 ได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30) ให้กับประเทศต่าง ๆ มาแล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราทั้งหมด 61 ประเทศ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ตุลาคม 2566 กค. จึงได้เสนอมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย 5 มาตรการ ดังนี้









มาตรการ วัตถุประสงค์ การมอบหมาย
(1) มาตรการภาษีและการเงินฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อในระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น น้ำหอม เสื้อผ้า กระเป๋า เป็นต้น เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและที่นิยมอย่างกว้างขวาง มอบหมาย กค. พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
(2) การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ* เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาที่สามารถจูงใจในการบริโภคของนักท่องเที่ยวเมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวตลอดจนสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น มอบหมาย กค. พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
(3) การยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น [คือการยกเลิกคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่แสดงและขายของ (ร้าน Duty Free ขาเข้า) เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของในประเทศแทนที่จะซื้อสินค้าจากในร้าน Duty Free ขาเข้า ดังกล่าว] มอบหมาย กค. พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
(4) การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดฯ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง เป็นต้น มอบหมาย มท. พิจารณาความเป็นได้ในการผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการต่อไป
(5) การยกเว้นการตรวจลงตราฯ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มอบหมาย กต. พิจารณายกเว้นการตรวจลงตราฯ เพิ่มเติมจากปัจจุบัน

หมายเหตุ * กค. แจ้งเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ คือ การลด/ยกเว้นภาษีดังกล่าวให้แก่ซัพพลายเออร์ (supplier) ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อในระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย (พวกสินค้าฟุ่มเฟื่อย อาทิ เครื่องสำอาง น้ำหอม กระเป๋า) หรือซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้นำเข้าหรือผลิตสินค้าในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต (อาทิ สุรา ยาสูบ ไพ่) เพื่อให้สามารถลดราคาสินค้าดังกล่าวให้มีราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อสินค้าต่าง ๆ ในประเทศไทยมากขึ้น
                   2. การดำเนินมาตรการข้างต้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีซึ่งจะต้องมีการจัดทำประมาณการการสูญเสียที่ชัดเจนต่อไป แต่จะสามารถเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งช่วยลดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศของคนไทย ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษารายละเอียดและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการต่อไป
______________________
1 คลังสินค้าทัณฑ์บน คือ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเพื่อใช้สำหรับเก็บของ (คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับอู่ซ่อมหรือสร้างเรือ คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน) หรือแสดงและขายของที่เก็บ [คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเที่ยวบิน] หรือผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน (คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า คลังเสบียงทัณฑ์บน)
2 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 ให้ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้
 
12. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนตุลาคม 2566
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนตุลาคม 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนตุลาคม 2566 ดังนี้
                             ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนตุลาคม 2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.31 (YoY) เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าอุปโภค-บริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งเนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.66 (YoY)
                             อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.30 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม 2566 ที่ลดลงร้อยละ 0.31 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
                             หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.65 (YoY) ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเร่งระบายสุกรในช่วงที่ขายได้ราคา แม้ว่ายังไม่ครบอายุการเลี้ยง ผักสด (ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา) ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก ราคาลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (แตงโม มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน
                             หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.09 (YoY) ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันดีเซล) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) ราคาลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสาร -เครื่องบิน กลุ่มน้ำมันเบนซิน กลุ่มแก๊สโซฮอล์ และค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน กระดาษชำระ) ราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากโปรโมชัน นอกจากนี้ ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้) บุหรี่ สุรา และไวน์ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย
                             ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.28 (MoM) โดยหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.61 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท รวมทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ โฟมล้างหน้า และแชมพูสระผม สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย บุหรี่ สุรา และไวน์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.18 สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสดบางประเภท (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม รวมทั้งอาหารโทรสั่ง (delivery) ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ (ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน ลองกอง ฝรั่ง) น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม และน้ำปลา
                             สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.60 (AoA) ซึ่งเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0)
                   2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
                   อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร (เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร) และกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง) รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
                   อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรและค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว จากมาตรการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก และความขัดแย้งในต่างประเทศ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
      ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 –   1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.35) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
      ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2566 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.8 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับสูงขึ้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับสูงขึ้นในเดือนนี้ คาดว่ามาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทยที่ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน รวมทั้งนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ทั้งการลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า และสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เริ่มผ่อนคลายลง ในขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ อาจจะมีความรุนแรงและจำกัดผลกระทบในกรอบแคบ ๆ มากกว่าที่เคยคาดการณ์
 
13. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป
                   ทั้งนี้ กค. เสนอว่า โดยที่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มาตรา 8 บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ การรายงานการกู้เงิน และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้นำความในมาตรา 91 และมาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ
                   สาระสำคัญของรายงาน
                    กค. ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
                    1. ความเป็นมาและข้อเท็จจริง ตามที่ได้มีพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ กค. มีอำนาจกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้ในแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ วงเงินรวมไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ทั้งนี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ  เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประกอบกับมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
                    2. รายละเอียดของการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564      โดยที่การกู้เงินตามพระราชกำหนดฯ สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 กค. ได้ลงนามในสัญญากู้เงินและออกตราสารหนี้ รวม 5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100.00 ของวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ โดยเป็นการกู้เงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 144,166.35 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 355,833.65 ล้านบาท
                    3. วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ จำนวน 2,539 โครงการ ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีหน่วยงานที่ขอยกเลิกโครงการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 172 โครงการ คงเหลือโครงการที่ดำเนินการและใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ทั้งสิ้น 2,367 โครงการ วงเงินรวม 499,521.66 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หน่วยงานได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 473,797.97 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.85 ของวงเงินอนุมัติ ประกอบด้วย
                             (1) แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 220,096.18 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จํานวน 201,177.55 ล้านบาท     คิดเป็นร้อยละ 91.40 ของวงเงินอนุมัติ มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จํานวน 40 โครงการ จากทั้งหมด 45 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 88.89 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 11.11 โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จํานวน 87.66 ล้านโดส การสนับสนุนค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนที่เจ็บป่วยจากโควิด-19 จำนวน 135,500.30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ติดเชื้อที่ไร้สิทธิ จำนวน 1,347.00 ล้านบาท การสนับสนุนค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ประจำสถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 9,463.35 ล้านบาท
                             (2) แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 155,435.85 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 153,380.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.68 ของวงเงินอนุมัติ และมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 31 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งสิ้น 11.94 ล้านราย โดยมีนายจ้างในระบบที่ได้รับการช่วยเหลือ จํานวน 160,000 ราย การช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า/น้ำประปา) ให้กับประชาชน จำนวน 28.27 ล้านราย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จำนวน 11,201 ราย และเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 30,491.67 ล้านบาท
                              (3) แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 123,989.63 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน 119,240.18 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.17 ของวงเงินอนุมัติ และมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2,232 โครงการ จากทั้งหมด 2,291 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 97.42 อยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน            34 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 1.49 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างขอยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 25 โครงการ     คิดเป็นร้อยละ 1.09 โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งพบว่า นายจ้างกลุ่ม SMEs ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 240,718 ราย มีแรงงานสัญชาติไทยได้รับการจ้างงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน จำนวน 3,256,138 ราย และแรงงานสัญชาติไทยที่ได้รับการจ้างงานใหม่ จำนวน 176,987 ราย จากผลการสำรวจ SMEs จํานวน 419 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า ร้อยละ 97.60 ยังดำเนินกิจการอยู่ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีนวัตกรรมจากวัตถุท้องถิ่น 45 ผลิตภัณฑ์ โดยสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น จำนวน 477.31 ล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินโครงการในพื้นที่เศรษฐกิจฐานราก สามารถขยายช่องทางการสัญจรให้ง่ายต่อการเชื่อมต่อของผู้บริโภค
                    4. ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกู้เงิน โดยในปีงบประมาณ 2566 ยังคงมุ่งเน้นการแก้ไขสถานการณ์และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงมีความยึดเยื้อและมีการระบาดระลอกใหม่ในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องซึ่งเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อเพิ่มอุปสงค์การบริโภคในประเทศและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม/ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ซึ่งช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจและพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ อีกทั้งเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนรวมไปถึงโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ โครงการส่งเสริมธุรกิจ SMEs การท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
                    ทั้งนี้ จากการประเมินผลโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ  เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พบว่า ผลการประเมินในระดับภาพรวมของทุกแผนงานอยู่ในระดับ “เกรด A หรือดีมาก” และมีผลคะแนนในภาพรวมถ่วงน้ำหนักทุกแผนงาน อยู่ที่ระดับ 2.69 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 3.00 คะแนน) โดยแผนงานที่ 1 (แผนงานเพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนภายในประเทศ แผนงานเพื่อปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และแผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข) มีผลการประเมินอยู่ในระดับ “เกรด A หรือดีมาก” และมีผลคะแนนถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ระดับ 2.88 คะแนน แผนงานที่ 2 (แผนงานเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และแผนงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้) มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ “เกรด A หรือดีมาก” และมีผลคะแนนถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ระดับ 2.55 คะแนน และแผนงานที่ 3 (แผนงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และแผนงานเพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ) มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ “เกรด B หรือดี” และมีผลคะแนนถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ระดับ 2.54 คะแนน
____________________
1มาตรา 9 บัญญัติให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ และให้นำกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่คำว่าหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ นอกจากพระราชกำหนดนี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
2มาตรา 10 บัญญัติให้ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ
 
14. เรื่อง รายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
                   คณะรัฐมนตรีพิจารณารายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ) แล้วมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบในหลักการการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตามรายงานผลการศึกษาฯ ที่สำนักงาน ก.พ. นำเสนอ
                   2. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและสอดคล้องตามหลักการดังกล่าวต่อไป
                    3. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับหลักการและแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป
                    สาระสำคัญ 
                    สำนักงาน ก.พ. เห็นควรรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
                             1.1 วัตถุประสงค์
                              เพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ และเพื่อปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ
                             1.2 หลักการ
                             อัตราเงินเดือนแรกบรรจุมีความเหมาะสมและแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิ การศึกษา     และอัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทำให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน ทั้งนี้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากจนเกินควร
                             1.3 เป้าหมาย
                             ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย
                             1.4 แนวทางดำเนินการ
                                       (1) การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยมีเป้าหมายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษา (คุณวุฒิหลัก) ดังนี้









คุณวุฒิ ปัจจุบัน ปีที่ 1 ปีที่ 2
ปวช. 9,400 – 10,340 10,340 – 11,380 11,380 – 12,520
ปวส. 11,500 – 12,650 12,650 – 13,920 13,920 – 15,320
ปริญญาตรี 15,000 – 16,500 16,500 – 18,150 18,150 – 19,970
ปริญญาโท 17,500 – 19,250 19,250 – 21,180 21,180 – 23,300
ปริญญาเอก 21,000 – 23,100 23,100 – 25,410 25,410 – 27,960

                                       (2) การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี
                             1.5 กลุ่มเป้าหมาย
                             ครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าราชการธุรการอัยการ
                             1.6 การมีผลใช้บังคับ
                             ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568
                             1.7 ประมาณการงบประมาณ
                             การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป
                             1.8 ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา
                             กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทนั้น ๆ ในการกำหนดอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ เพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้ง (ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยข้าราชการทหารให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง) ดังนั้น เพื่อให้การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท บรรลุวัตถุประสงค์ หลักการ และเป้าหมายเดียวกัน โดยมีความเป็นธรรมไม่เหลื่อมล้ำกัน จึงเห็นควรให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทนำเสนอคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ใช้งบประมาณ สำหรับการดำเนินการดังกล่าวต่อไป  
                    2. การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในช่วงปี พ.ศ. 2555 กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เห็นควรพิจารณาปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานชั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท ซึ่งการปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวในครั้งนี้       จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ทหารกองประจำการ และผู้รับบำนาญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ต่อไป
                    3. การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ นอกจากการปรับอัตราเงินเดือน แรกบรรจุเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการแล้ว สำนักงาน ก.พ เห็นควรมีมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย โดยเบื้องต้นอาจพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ดังต่อไปนี้
                             3.1 การบริหารจัดการอัตรากำลังเพื่อเร่งรัดการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้กำหนดมาตรการ/แนวทาง/นโยบายในการกระตุ้นให้ส่วนราชการเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงาน โดยการยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณของตำแหน่งในสายงานสนับสนุน (เฉพาะตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้) เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการจัดทำและดำเนินการตาม Digital Transformation Plan ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ถูกยุบเลิกตามแนวทางดังกล่าว (เต็มจำนวน) โดยส่วนราชการจะจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 1 สัญญาจ้าง (ไม่เกิน 4 ปี) ทั้งนี้ หากมีเหตุผลและความจำเป็น คพร. อาจพิจารณาให้ต่อสัญญาได้เป็นรายกรณี
                             3.2 การบริหารจัดการอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่า ปัจจุบันส่วนราชการต่าง ๆ มีการอนุมัติให้ข้าราชการไปช่วยราชการในส่วนราชการอื่นเป็นจำนวนมาก การช่วยราชการในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการต้นสังกัด ดังนั้น เพื่อให้การใช้กำลังคนภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด (Workforce Optimization) จึงเห็นควรมีมาตรการเพื่อจำกัดการช่วยราชการให้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น/หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น โดยคณะรัฐมนตรีอาจมีมติเป็นหลักการในทำนองเดียวกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 (เรื่อง การปรับปรุงอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 (เรื่อง แนวคิดในการแก้ไขปัญหาการให้ข้าราชการไปช่วยราชการ) กล่าวคือ ให้ทบทวนหรือยกเลิกการช่วยราชการทั้งหมด และต่อไปหากมีความจำเป็นต้องขอยืมตัวข้าราชการผู้ใดไปช่วยราชการที่ใด ให้เสนอขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย
                             3.3. การเชื่อมโยงฐานข้อมูลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ในฐานะต้นสังกัดของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศหรือฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคลเป็นของตนเอง ทำให้ข้อมูลกำลังคนภาครัฐประเภทต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลขาดข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายกำลังคนภาครัฐให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการใช้ประโยชน์กำลังคนภาครัฐ ตลอดจนการเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดไปยังภารกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จึงเห็นควรมีมาตรการเชิงบังคับให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนกับระบบโปรแกรมกลางด้านสารสนเทศทรัพยากรบุคคล (DPIS Center) ของสำนักงาน ก.พ. ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
                             3.4 การพัฒนาระบบค่าตอบแทนภาครัฐในระยะต่อไป สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนโครงสร้างเงินเดือนและระบบค่าตอบแทนภาครัฐให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาวการณ์ โดยมุ่งเน้นให้ระบบค่าตอบแทนภาครัฐเป็นเครื่องมือในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการ การจ่ายค่าตอบแทนที่สะท้อนถึงผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง (Performance Based Pay) ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังของประเทศและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
 
15. เรื่อง โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 และอนุมัติกรอบวงเงิน จำนวน 780 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กรมการค้าภายในเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญ
                   กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)    ได้จัดทำรายละเอียดโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 ตามมติ นบข. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังนี้
                   1. วิธีการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมายดูดซับ 4 ล้านตันข้าวเปลือก เก็บสต็อกไว้อย่างน้อย 60 – 180 วัน (2 – 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4
                   2. ระยะเวลาดำเนินการ โดยระยะเวลาการรับซื้อข้าวสารจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ –     31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2567) ระยะเวลาการเก็บสต็อกข้าวตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ – 31 ธันวาคม 2567 และระยะเวลาโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ – 31 ตุลาคม 2568
                   3. วงเงินงบประมาณ จำนวน 780 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กรมการค้าภายในเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
 




ต่างประเทศ

16. เรื่อง การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการและการจัดทำเอกสารภาคผนวกเพิ่มเติมเพื่อแนบท้ายความ    ตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ARISE Plus – Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า”
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับใช้เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมเพื่อแนบท้ายความตกลงให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (Financing Agreement) “โครงการการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ASEAN Regional Integration Support from the EU : ARISE Plus – Thailand) (โครงการฯ) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการค้า” (ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างหนังสือเสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการของฝ่ายไทยพร้อมแนบรายละเอียดหลักการและเหตุผลในการขอขยายระยะเวลาโครงการของศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Center: ITC) และ (2) ร่างหนังสือเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ของฝ่ายสหภาพยุโรป
                   2. อนุมัติให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พณ. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ
                   3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 2.
                   4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารตามข้อ 1. ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ก่อนมีการลงนาม ขอให้ พณ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
 
17. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 352,159,430 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอลตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ซึ่งจำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เช่น ค่าเช่าเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ ค่าเช่าที่พักและจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ค่ายานพาหนะสำหรับรับ-ส่งคนไทยมายังศูนย์พักพิงชั่วคราว      ค่าเครื่องอุปโภคและบริโภคซึ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ค่าชดเชยการจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าพาหนะสำหรับผู้ที่ชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง ค่าเดินทางราชการต่างประเทศชั่วคราว เป็นต้น โดยสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณดังกล่าว โดยให้เบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่นลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ และขอให้ กต. จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป
 
18. เรื่อง ขอความเห็นชอบการร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) ในการประชุม COP28 UNFCCC สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) (ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ)
                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ [จะมีการให้ความเห็นชอบและร่วมรับรองร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) (การประชุม COP28) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์]
                   ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 ซึ่งจะขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ได้มีหนังสือถึงประเทศสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ [Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)] เพื่อขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้ร่วมลงนามรับรองในร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ขอให้ประเทศสมาชิกที่เห็นชอบจัดทำหนังสือกลาง (Note Verbale) แจ้งผลการพิจารณาการร่วมลงนามภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ด้วย
                   ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้







หัวข้อ รายละเอียด เช่น
1. ประเด็นที่ควรตระหนักถึง (1) สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงส่งผลต่อความสามารถในการฟื้นตัวด้านการเกษตรและระบบอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงอาหาร เมื่อต้องเผชิญกับความหิวโหย ภาวะทุพโภชนาการ และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

(2) ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ ราคาไม่แพงและมีคุณค่าทางโภชนาตามบริบทของความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

(3) ระบบเกษตรและอาหารเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน เช่น เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรแบบครอบครัว ชาวประมง ผู้ประกอบการด้านอาหาร ดังนั้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะความร่วมมือของสถาบันการเงินในการให้เงินทุนสนับสนุน
2. แนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ (1) เพิ่มกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับตัวและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความเปราะบางของเกษตรกร ชาวประมง และผู้ผลิตอาหาร รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคสำหรับแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม การเสริมสร้างและการจัดการน้ำแบบบูรณาการในระบบเกษตรและอาหารทุกระดับเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

(2) สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การมีระบบการคุ้มครองทางสังคมและเครือข่ายความปลอดภัย การวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงเป้าหมายและความต้องการเฉพาะของกลุ่มต่าง ๆ โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน

(3) สนับสนุนคนงานในภาคการเกษตรและระบบอาหาร รวมถึงบทบาทของสตรีและเยาวชนให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามแนวทางที่เหมาะสม

(4) ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เช่น เสริมสร้างสุขภาพของดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการสูญเสียขยะทางอาหารจากการผลิตและการบริโภค เสริมสร้างการจัดการน้ำแบบบูรณาการ
3. การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2568 (1) เพิ่มการมีส่วนร่วมตามความเหมาะสมภายในบริบทของประเทศ โดยบูรณาการระบบเกษตรและอาหารเข้ากับแผนของชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ระยะยาว และยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการประชุม COP30 (ปี 2568)

(2) ) ทบทวนหรือปรับทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรและอาหาร เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนความสามารถในการปรับตัวและการดำรงชีวิตและส่งเสริมให้เกิดการลดการสูญเสียอาหาร ของเสีย และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงการเงินทุกรูปแบบจากภาครัฐ องค์กรการกุศลและภาคเอกชน สำหรับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรและอาหาร เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร

(3) ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมถึงความรู้ในท้องถิ่นและชนพื้นเมือง เพื่อเพิ่มผลผลิตและการผลิตที่ยั่งยืนของเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบนิเวศและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชุมชนในชนบท เกษตรกรรายย่อย ครอบครัวเกษตรกรและผู้ผลิตรายอื่น

(4) เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ไม่เลือกปฏิบัติ เปิดกว้าง ยุติธรรม เสมอภาคและโปร่งใส โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนหลัก

 
19. เรื่อง การเข้าร่วม Climate Club ของประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมีติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นสมาชิก Climate Club     ในนามของประเทศไทย โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยดำเนินการ
                   2. มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้แทนประเทศไทย ลงนามในหนังสือแสดงความสนใจเข้าร่วม (Letter of Interest) เป็นสมาชิก Climate Club โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขหนังสือแสดงความสนใจเข้าร่วมหรือการดำเนินการใดในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                   สาระสำคัญ
                   1. Climate Club เป็นแนวคิดริเริ่มของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการรวมกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต่อมากลุ่ม G7 ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วม จำนวน 22 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอาร์เจนตินา แคนาดา สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐคอสตาริกา ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สหภาพยุโรป สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันสาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอิตาลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐเกาหลี ราชรัฐลักเซมเบิร์ก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สมาพันธรัฐสวิส สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐอุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้รับการเชิญชวนและอยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวนประมาณ 21 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ สาธารณรัฐฟินแลนด์ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน ราชอาณาจักรโมร็อกโก สหรัฐเม็กชิโก สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐปารากวัย สาธารณรัฐเปรู ราชอาณาจักรสวีเดน ราชอาณาจักรสเปน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐเซ็ก ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐตุรกี ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งอาจมีการพิจารณาเพิ่มเติมในอนาคต ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมแล้ว ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วม ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566) ผู้แทนใน Climate Club เป็นผู้บริหารระดับสูงจากประเทศสมาชิก (ระดับรัฐมนตรี) ซึ่งผู้แทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการหารือจะเป็นระดับอธิบดี หรือผู้แทนอธิบดี และมีคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) ในระหว่างที่ยังไม่ได้เปิดตัว Climate Club อย่างเป็นทางการ โดยมี Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) และ International Energy Agency (IEA) ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการชั่วคราว ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก Climate Club ไม่มีข้อผูกพันด้านเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และไม่มีข้อผูกพันทางการเงิน
                   2. กลุ่ม G7 ได้กำหนดให้ประเทศที่จะเข้าร่วม Climate Club ยึดมั่นใน (1) การปฏิบัติตามความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (2) การเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในครึ่งศตวรรษ (ค.ศ. 2050) (3) การเร่งการลดการปล่อยคาร์บอนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และ (4) การร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ใน Climate Club
                   3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกรมโรงงานอุตสาหกรรม) ไม่ขัดข้องต่อการเข้าร่วม Climate Club พร้อมให้ความเห็นว่า การเข้าร่วม Climate Club จะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้จะเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยสามารถปรับตัวในการดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานที่เป็นมาตรการฝ่ายเดียวโดยประเทศอื่น ๆ ไม่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป รวมถึงมาตรการในลักษณะเดียวกันของประเทศอื่น ๆ
                   ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วม Climate Club คือ การมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานตลาดและผลิตภัณฑ์สีเขียวในอนาคต การสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมโดยสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี และสนับสนุนความต้องการด้านต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
 

20. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงพาณิชย์)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 คณะ ดังนี้               
                   1. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) 
                   2. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) 
                   3. คณะกรรมการว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดโดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty free Quota Free Scheme: DFQF)
                   4. คณะกรรมการนโยบายอาหาร
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
                   รายละเอียดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ จำนวน 4 คณะ มีดังนี้
                   1. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.)  
                   องค์ประกอบ (คงเดิม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมศุลกากร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสมาคมการค้าพืชไร่ และผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมการค้าภายในที่ได้รับมอบหมาย และผู้แทนกรมการค้าภายในที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ                
                    หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
                   1) เสนอกรอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สอดคล้องกันทั้งระบบและมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
                    2) อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
                    3) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
                    4) พิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าและผู้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้การบริหารข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                    5) ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่ได้รับอนุมัติ
                    6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการด้านการผลิต การตลาดและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
                    7) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการฯ
                    2. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.)   
                   องค์ประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย ผู้แทนสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ผู้แทนสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้แทนสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย ผู้แทนสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง ผู้แทนสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย นายสุรินทร์ พิชัย นายกสมาคมมันสำปะหลังไทยภาคเหนือ และนายธวัชนนท์ ดงประทีป ประธานกลุ่มแปรรูปมันเส้นสะอาด โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมการค้าภายในที่ได้รับมอบหมาย และผู้แทนกรมการค้าภายในที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 
                   หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
                   1) เสนอกรอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับสินค้ามันสำปะหลังต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารจัดการสินค้ามันสำปะหลังสอดคล้องกันทั้งระบบ และมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
                    2) อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง  
                    3) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
                    4) พิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อให้การบริหารจัดการมันสำปะหลังทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                    5) ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่ได้รับอนุมัติ
                    6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการด้านการผลิต การตลาด และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมันสำปะหลัง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
                    7) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ
                   3. คณะกรรมการว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty free Quota Free Scheme: DFQF)
                   องค์ประกอบ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยมีผู้อำนวยการสำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                   หน้าที่และอำนาจ
                   1) กำกับดูแลโครงการ DFQF ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และเป็นประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภายในประเทศ
                    2) พิจารณาทบทวนรายการสินค้าที่จะให้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการ DFQF ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ
                    3) พิจารณาการระงับสิทธิพิเศษภายใต้โครงการ DFQF เป็นรายประเทศหรือเฉพาะรายการสินค้า ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องมาจากการให้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการ DFQF
                    4) แจ้งผลการพิจารณาการระงับสิทธิพิเศษตามข้อ 3) แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
                    5) ดำเนินการทบทวนโครงการ DFQF (Midterm Review) อย่างน้อยทุก 3 ปี
                    6) เชิญส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูลข้อคิดเห็น ส่งเอกสารหลักฐาน รายงานผลการดำเนินงาน หรือให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่ได้รับการร้องขอ
                    7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของคณะกรรมการตามความจำเป็นและเหมาะสม
                    8) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาทบทวนและต่ออายุโครงการ DFQF เมื่อครบตามระยะเวลาดำเนินโครงการที่กำหนดไว้
                   4. คณะกรรมการนโยบายอาหาร
                   องค์ประกอบ (คงเดิม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                   หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
                   1) กำหนดนโยบายและมาตรการในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลาป่น
                    2) ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละชนิด คณะอนุกรรมการและคณะทำงานอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสม
 
21. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ        ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 9 คณะ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ดังนี้  
                    1. คณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ
                    2. คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์  
                    3. คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาทันตแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาทันตแพทย์
                    4. คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์
                    5. คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ
                    6. คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
                    7. คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ
                    8. คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข
                    9. คณะอนุกรรมการพิจารณาพื้นที่พิเศษสำหรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ พ.ศ. 2548
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สธ. รายงานว่า ได้พิจารณาภารกิจและความจำเป็นของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง โดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม (รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่มีจำนวน 10 คณะแล้วเห็นควรเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ จำนวน 9 คณะ ตามข้อ 1 – 9 และไม่เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติอีก เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีการประชุมในช่วงที่ผ่านมา และสามารถใช้กลไกอื่นในการขับเคลื่อนได้ โดยคณะกรรมการที่เสนอแต่งตั้ง ทั้ง 9 คณะ ตามข้อ 1 – 9 ยังมีภารกิจที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
                    1. คณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าว เป็นกลไกการดำเนินงานหลักตามแผนปฏิบัติการด้านการ ควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 – 2530 โดยมีภารกิจสำคัญ เช่น การกำหนดนโยบายระดับชาติในการดำเนินงานโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน อำนวยการประสานงาน ควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการควบคุมโรคขาดสารโอโอดีน รวมถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งได้มีการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจ และได้มีการประชุมระหว่างปี 2563 – 2565 จำนวน 2 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธาน ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุม โดยได้มีการพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 รวมทั้งได้ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่าง ๆ
                    2. คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาทันตแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ และคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษา เภสัชศาสตร์ รวม 3 คณะ (ตามข้อ 2 – 4) มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวเป็นกลไกหลักในการดำเนินการกำกับทิศทางนโยบายการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์ ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาในการเข้าปฏิบัติงานในส่วนราชการ/หน่วยงานตามสัญญา และมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระจายแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรไปปฏิบัติงานในส่วนราชการ/หน่วยงาน ทั้งในสังกัด สธ. และนอกสังกัด สธ. ซึ่งคณะกรรมการ ทั้ง 3 คณะ ได้ดำเนินภารกิจตามหน้าที่และอำนาจ และมีการจัดประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ระหว่างปี 2563 – 2566 เฉลี่ยปีละ 3-4 ครั้ง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการฯ สามารถจัดสรรนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ไปปฏิบัติงานในส่วนราชการ/หน่วยงาน และพื้นที่ขาดแคลน เป็นจำนวนรวมกว่า 3,187 ราย
                    3. คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากมีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์โดยเน้น การเชื่อมประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีการจัดประชุมในระหว่างปี 2563 – 2566 ปีละ 1 ครั้ง และมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถผลักดันสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองเพื่อหาการติดเชื้อโรคซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสร้างกระแสสังคมให้สนใจปัญหาเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ เพื่อเตรียมการรับมืออย่างต่อเนื่อง
                    4. คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพ นานาชาติ มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีภารกิจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีการจัดประชุมในระหว่างปี 2563 -2565 ปีละ 2 ครั้ง โดยได้ติดตามการดำเนินการตามภารกิจ เช่น การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้มอบหมาย สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์และสร้างกลไกส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมทั้งติดตาม ควบคุม กำกับ เฝ้าระวังผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล
                    5. คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามต่อสุขภาพประชากรโลกที่รุนแรง โดยทั่วโลกมีการเสียชีวิตปีละ 1.3 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการดื้อยาต้านจุลชีพปีละ 38,000 คน และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเลี้ยงสัตว์ การเกษตร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดื้อยาต้านจุลชีพได้ถูกยกระดับเป็นนโยบายระดับสูงของฝ่ายการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เช่น การรับรองปฏิญญาทางการเมือง เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 71 การประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยที่ 31 และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยที่ 21 จึงทำให้การแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องการการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกภาคส่วน และต้องมีกลไกกลางระดับประเทศในการกำหนดทิศทางการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคณะกรรมการฯ จะมีหน้าที่กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ระดับชาติในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการฯ มีการจัดประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจในปี 2563 และปี 2565 ปีละ 1 ครั้ง โดยคณะกรรมการฯ สามารถทำให้ในช่วง พ.ศ. 2560-2565 ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในประเทศไทยสำหรับมนุษย์ลดลง ร้อยละ 24.8 และยังได้ดำเนินการให้เกิดการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 – 2570 ขึ้นมา เพื่อให้การดำเนินภารกิจดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
                    6. คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลและวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว ยังไม่ได้มีการจัดประชุม เนื่องจากต้องรอผลการพิจารณาสถานบริการที่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากคณะอนุกรรมการพิจารณาพื้นที่พิเศษสำหรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ พ.ศ. 2548
                    7. คณะอนุกรรมการพิจารณาพื้นที่พิเศษสำหรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ พ.ศ. 2548 มีความจำเป็นต้องคงอยู่ เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวเป็นกลไกหลักในการพิจารณากำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งพื้นที่ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ พ.ศ. 2548 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 เพื่อพิจารณาสถานบริการในพื้นที่ให้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนตามระเบียบดังกล่าว
 
22. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 คณะ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ดังนี้
                   1. คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 
                   2. คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเขตแดนของประเทศไทย 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    สมช. รายงานว่า ได้พิจารณาคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม (รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 ตุลาคม 2562) เห็นว่า คณะกรรมการทั้งสองคณะดังกล่าวยังมีภารกิจที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
                    1. คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการต่อต้านการก่อการร้ายสากล มีความจำเป็นต้องคงอยู่ต่อไป เนื่องจากเป็นกลไกหลักสำหรับการแก้ไขสถานการณ์การก่อการร้ายสากลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากำหนดนโยบายและดำเนินการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งปัจจุบัน สมช. อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านการใช้คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ไปสู่การใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกลไกในการแก้ไขสถานการณ์การก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับสถานการณ์ และรูปแบบการก่อการร้ายในปัจจุบันที่ปรากฏเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการเปลี่ยนผ่าน จึงไม่ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการในระหว่างปี พ.ศ. 2563-2566 แต่จำเป็นต้องคงคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการต่อต้านการก่อการร้ายสากลไว้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการปฏิบัติเกี่ยวกับการตัดสินใจ และการแก้ไขสถานการณ์การก่อการร้ายหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น
                    2. คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเขตแดนของประเทศไทย มีความจำเป็นต้องคงอยู่ต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาปัญหาที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ ชายแดนหรือปัญหาเขตแดนในเชิงยุทธศาสตร์หรือระดับนโยบายที่อาจกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ อันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงและการเมือง รวมถึงนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีการประชุมติดตามการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจ จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญประกอบด้วย การพิจารณาภาพรวมการดำเนินงานและสถานะเขตแดนของไทยและประเทศรอบบ้าน การกำหนดแนวปฏิบัติกรณีที่อาจมีปัญหากระทบต่อเส้นเขตแดน และการกำหนดท่าทีของไทยต่อประเด็นปัญหาเขตแดนไทย-ลาว กรณีดอนบ้านหนาด อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญประกอบด้วย การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเขตแดน การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินประเด็นเขตแดนของไทย กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านเขตแดน กำหนดแนวทางการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบนเกาะ/ดอนที่เป็นของไทย การตั้งฐานปฏิบัติการกองกำลังว้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทย อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พิจารณาปัญหาการทำกินรุกล้ำพื้นที่ของไทยของราษฎรลาว บริเวณบ้านบ่อเบี้ย อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ และการแก้ไขปัญหามวลชนในพื้นที่โนนหมากมุ่น อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว โดยได้นำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เพื่อพิจารณาด้วยแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการฯ ยังมีภารกิจที่มีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์และนโยบายที่สำคัญ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นด้านความมั่นคง พ.ศ. 2561-2580 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ทั้งนี้ สมช. ได้ตรวจสอบปรับปรุงองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการทั้ง 2 คนะ ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันแล้ว
                    1. คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล
                    องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เจ้ากรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และผู้แทนส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้อำนวยการกองความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                    หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
                    1) พิจารณากำหนดนโยบาย และการดำเนินการตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลให้สอดคล้องกับสถานการณ์
                    2) ศึกษาปัญหา ติดตาม และประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากลตามห้วงเวลาอย่างต่อเนื่อง
                    3) เมื่อสถานการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นในประเทศหรือนอกประเทศ กรรมการนี้จะต้องปฏิบัติการ      ณ ที่ที่กำหนดไว้จนสถานการณ์สงบเรียบร้อย หากกรรมการผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะต้องมอบหมายผู้แทนที่มีอำนาจตกลงใจปฏิบัติหน้าที่แทน และกรรมการคณะนี้จะได้พิจารณา และเสนอแนะมาตรการปฏิบัติแก่รัฐบาลเพื่อ    ตกลงใจต่อไป
                    4) มอบหมายมาตรการปฏิบัติและอำนวยการในการแก้ไขปัญหาแล้วแต่กรณี ให้หน่วยในองค์กรปฏิบัติทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ หรืออาจมอบหมายให้หน่วยกำลังพิเศษอื่นตามความจำเป็นแล้วแต่กรณี
                    5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานได้ตามความจำเป็น
                    6) มีอำนาจเชิญบุคคลมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นเพื่อการปฏิบัติการกิจของคณะกรรมการ
                   7) หากมีปัญหาในการบริหารที่จำเป็นและเร่งด่วน ให้ประธานกรรมการคณะนี้มีอำนาจในการพิจารณาตกลงใจและสั่งการ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการ
                   2. คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเขตแดนของประเทศไทย
                    องค์ประกอบที่เสนอแต่งตั้งใหม่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อธิบดีกรมการปกครอง เสนาธิการทหาร เสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารเรือ เจ้ากรมแผนที่ทหาร เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เจ้ากรมอุทกศาสตร์ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณา โดยมีผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองเขตแดนระหว่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                    หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
                    1) พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนของประเทศไทย โดยให้มีขอบเขตหน้าที่คลุมถึงเขตแดนทางบก ทางน้ำ และทางทะเล กับประเทศเพื่อนบ้านทุกด้าน เว้นแต่ปัญหาการแบ่งเขตไหล่ทวีป และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
                    2) เสนอแนะนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติของไทยในการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
                    3) อำนวยการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยต่าง ๆ เพื่อให้มีการวางแผนปฏิบัติงาน และดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
                    4) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือเรียกเอกสารจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
                    5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
                    6) ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือประธานมอบหมาย
 
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
                   1. นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรม (ผู้อำนวยการสูง) กรมการปกครอง ดำรงตำแหน่ง           ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 
                   2. นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2566   
                   3. นายวัชรเดช เกียรติชานน รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการปกครอง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566    
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป  
 
24. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวม 2 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
                   1. นายพรชัย ฐีระเวช               ประธานกรรมการ
                   2. นายกิตติศักดิ์ จุลสำรวล         กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย)
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
 
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงมหาดไทย)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 28 ราย ดังนี้
                   1. นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    2. นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    3. นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    4. นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    5. นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    6. นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    7. นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    8. นายอลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   9. นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    10. นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    11. นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง
                    12. นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง
                    13. นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำนักงานปลัดกระทรวง
ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    14. นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด สำนักงานปลัดกระทรวง
                    15. ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สำนักงานปลัดกระทรวง
                    16. นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สำนักงานปลัดกระทรวง
                    17. นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง
                    18. นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง
                    19. นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา สำนักงานปลัดกระทรวง
                    20. นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง
                    21. นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง
                     22. นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    23. นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง
                    24. นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร สำนักงานปลัดกระทรวง
                    25. นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง
                    26. นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี สำนักงานปลัดกระทรวง
                    27. ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง
                    28. นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานปลัดกระทรวง
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
                             
26. เรื่อง  การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 15 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง สับเปลี่ยนหมุนเวียน และเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่ง ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ดังนี้
                    1. นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
                    2. นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    3. นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
                    4. นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์
                    5. นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
                    6. นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น
                    7. นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
                    8. นายสุวัฒน์ แก้วสุข เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก
                    9. นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
                    10. ร้อยโท พรหเมศ พหลพลพยุหเสนา เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี
                    11. นายโสรัจ สุขถาวร กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ญี่ปุ่น ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                    12. นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป สำนักงานปลัดกระทรวง
                    13. นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
                    14. นายรุจ โสรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ แคนาดา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล
                    15. นางสาวประเพ็ญพิมพ์ ประจนปัจจนึก กงสุลใหญ่ (นักบริหารการทูตระดับต้น) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ดำรงตำแหน่ง กงสุลใหญ่ (นักบริหารการทูตระดับสูง) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ตำแหน่งซึ่ง ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง)
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 9 รายดังกล่าว (ลำดับที่ 1, 4, 6 – 10 และลำดับที่ 13 – 14) ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ดังนี้
                   1. นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ
                   2. นายยุทธนา เจียมตระการ
                   3. นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร
                   4. พันโท เทพจิต วีณะคุปต์
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป 
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ดังนี้
                    1. พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
                    2. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. นายพีรพร สุวรรณฉวี   2. นายเสฏฐนันท์ ราฟาเอล เตชะวิบูลย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป 
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 10 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนเดิมที่ลาออก ดังนี้
                    1. นายกุลิศ สมบัติศิริ
                    2. นายพสุ เดชะรินทร์
                   3. นายเสรี นนทสูติ
                   4. นายบุรณิน รัตนสมบัติ                     ผู้แทนองค์การเอกชน
                   5. นายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์     ผู้แทนองค์การเอกชน
                   6. นายกฤษ ศรีฟ้า                   ผู้แทนองค์การเอกชน ซึ่งประกอบการในภูมิภาค
                    7. นายธนพล ภู่พันธ์ศรี             ผู้แทนองค์การเอกชน ซึ่งประกอบการในภูมิภาค
                    8. นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์        ผู้แทนองค์การเอกชน ซึ่งประกอบการในภูมิภาค
                    9. นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช         ผู้แทนองค์การเอกชน ซึ่งประกอบการในภูมิภาค
                   10. นายอรรฆรัตน์ นิติพน          ผู้แทนองค์การเอกชน ซึ่งประกอบการในส่วนกลาง
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป 
 

********************



Source link