ข่าวสารกรุงเทพฯ

รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ปลัด มท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. แถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล และหนังสือลายดอกรักราชกัญญา”


02/12/2566

พิมพ์

 

ปลัด มท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. แถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล และหนังสือลายดอกรักราชกัญญา”

ปลัด มท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. แถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล และหนังสือลายดอกรักราชกัญญา” เน้นย้ำ เป็น “คู่มือของชีวิต” ที่สะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยพระอัจฉริยภาพ

ปลัด มท. พร้อมด้วย นายกสมาคมแม่บ้าน มท. แถลงข่าวเปิดตัว “หนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล และหนังสือลายดอกรักราชกัญญา” เน้นย้ำ เป็น “คู่มือของชีวิต” ที่สะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยพระอัจฉริยภาพ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”

วันนี้ (2 ธ.ค. 66) เวลา 14.00 น. ที่เวทีกลาง งาน Silk Festival 2023 เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล และหนังสือลายดอกรักราชกัญญา โดยมี ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ร่วมงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ ล้วนสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงเพียบพร้อมและทรงแสดงออกให้ปรากฏซึ่งพระกตัญญูกตเวทิตาคุณที่ทรงมีต่อล้นเกล้าฯ ทั้ง 3 พระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การต่อยอด” งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมทั้งปวง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทุกพระองค์ทรงตั้งเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรไทยทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นนักบริหารด้วยทรงวิเคราะห์แล้วว่า สิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงฟื้นฟูอาชีพช่างทอผ้าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เป็นอาชีพใช้ทำมาหากินพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยมากว่า 70 ปีนั้นเป็น “จุดแข็งของคนไทย” อันหมายถึงเรื่องภูมิปัญญาผ้าไทย ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่งผลให้เกิดศูนย์ศิลปาชีพและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนเรียกได้ว่าการใช้ผ้าไทยในยุคนั้นเฟื่องฟูมาก จนกระทั่งในภายหลังเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน กระแสผ้าไทยกลับถดถอย เพราะกระแสนิยมแฟชั่นผ้าต่างประเทศเริ่มเข้ามามีผลต่อความต้องการของคนไทย แต่พระองค์มิได้ทรงย่อท้อ แต่ยิ่งทำให้พระองค์ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะใช้พระปรีชาสามารถมาวิเคราะห์ว่า จุดแข็งของคนไทยยังอยู่ นั่นคือ “คนไทยมือเย็น” ดังที่บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศต่างชื่นชมชื่นชอบฝีไม้ลายมือของคนไทยที่ล้วนมีแต่ความประณีตบรรจง โดยพระองค์ได้ทรงลงมาพระราชทานแนวทางการต่อยอดผ้าไทยเมื่อปี 2563 ในช่วงที่พี่น้องกลุ่มศิลปาชีพและกลุ่ม OTOP กำลังประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 จนเรียกได้ว่า “พระองค์ทรงมาพร้อมแสงสว่างแห่งปัญญา” สาดส่องกลางอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ได้พระราชทานลายผ้าแบบใหม่ที่มีรากเหง้ามาจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คือ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และพระราชทานแนวพระดำริว่า “ผ้าไทยยังไงก็วิเศษสุด เพราะเกิดจากจิตวิญญาณคน ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอเอง ย้อมสีเอง” ขณะเดียวกันพระองค์ได้พระราชทานพระดำริ ถึงแม้ว่าผ้าไทยเราจะวิเศษสุด แต่ “แฟชั่น” คือ การทำให้ถูกใจคน ทั้งเรื่องสี เรื่องการออกแบบตัดเย็บ บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ประวัติเรื่องราว (Story Telling) และการตลาด (Marketing) จึงจะทำให้การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทยประสบความสำเร็จ โดยได้พระราชทานพระดำริให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกลงไป coaching สิ่งที่จะทำให้ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าได้มีการพัฒนาแนวทางอาชีพให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า สำหรับ “เล่มที่ 1 คือ หนังสือสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา” สมุดภาพประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประมวลรวบรวมการเสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและทรงเยี่ยมราษฎร 4 ภูมิภาค โดยพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่ช่างทอผ้าทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่พระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านแนวคิด Sustainable Fashion และผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ประจักษ์ชัด สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทรงเป็น Momentum for Change ที่สำคัญในการทำให้คนไทยมีความสุข “เล่มที่ 2 หนังสือเครื่องสานไทย” รวบรวมภูมิปัญญาการจักสานพื้นถิ่นที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม ผ่านผลงานเครื่องจักสานชิ้นเอกที่มีความร่วมสมัยเป็นสากลที่เกิดจากการร่วมบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างจักสานจากทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อเผยแพร่คุณค่าของเครื่องสานไทย เสริมสร้างและยกระดับศักยภาพช่างจักสานไทยสู่การส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยทุกวันนี้เครื่องจักสานไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้อย่างอเนกอนันต์ ทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในการตกแต่งโรงแรมและสถานที่ต่าง ๆ เราจึงได้นำเรื่องราวเครื่องจักสานมาประมวลรวบรวมไว้ “เล่มที่ 3 หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล” ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันหลากหลายในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นจุดกำเนิดผ้าบาติกผืนงาม เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างบาติกในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์บาติกที่มีเอกลักษณ์และร่วมสมัย เริ่มต้นจากการฟื้นฟูภูมิปัญญาการออกแบบลวดลายและเทคนิคพื้นถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดให้มีความร่วมสมัย เสริมด้วยการตลาดยุคใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกชุมชน สร้างโอกาสในการขยายตลาดเชิงพาณิชย์สู่ตลาดสากล และ “เล่มที่ 4 หนังสือลายดอกรักราชกัญญา” ถ่ายทอดบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย ตามแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ภายใต้โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม เพื่อยกระดับและศักยภาพผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าและช่างหัตถศิลป์ไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ ให้สามารถสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าและช่างหัตถศิลป์ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา เกิดเป็นผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่งดงามไปด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ถูกฟื้นคืน นอกจากนี้ยังมีหนังสือพระนิพนธ์อีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงถึงพระอัจฉิยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ และหนังสือทั้ง 4 เล่มจะเป็น “คู่มือของชีวิต” ที่สะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนให้อยู่คู่กับพี่น้องประชาชน เมื่อประชาชนมีความสุข พระองค์ท่านทรงมีความสุขยิ่งกว่า

นับเป็นความโชคดีที่คนมหาดไทยและพี่น้องชาวไทยทุกคนได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที นอกเหนือจากการบอกเล่าข้อเท็จจริง ด้วยการจัดพิมพ์ “หนังสือ” อันเป็นสิ่งบันทึกจารึกประวัติศาสตร์ว่า การประทับรอยพระบาทในหมู่บ้าน/ชุมชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราคิดไม่ถึง และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนรวมกลุ่มดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทำให้หมู่บ้านมีความรักความสามัคคีและมีสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนต้องช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้และสิ่งดี ๆ เหล่านี้อย่างแพร่หลายและให้ขยายไปทั่วโลกต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า Silk, Success และ Sustainability เป็นคำ 3 คำที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพและความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์ถึงพระกรณียกิจที่ทรงตรากตรำพระวรกายทำงานอย่างหนักมาตลอด 3 ปี อันเป็นที่ชัดเจนมากว่าทุกคนรู้จักลายผ้าพระราชทาน ทำให้ในช่วง 3 ปีที่มีผู้คนต้องตกงานและกลับบ้าน พระองค์ทรงเป็นแสงสว่างทำให้อาชีพเกี่ยวกับผ้าไทยกลับมามีชีวิตในลักษณะการต่อยอดอย่างยั่งยืน เราเห็นยอดขายผ้าลายพระราชทานกว่า 52,000 ล้านบาท มีคนได้รับประโยชน์กว่า 100,000 กลุ่มทั่วประเทศ และผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยพร้อมด้วยคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกก็เดินสายทั่วประเทศไปฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพช่างทอผ้า ผู้ประกอบการอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

เป็นบุญของแผ่นดิน นับเนื่องแต่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงรื้อฟื้นเรื่องผ้าไทย แต่ในช่วง 5 – 6 ปี หลังจากทรงประชวร ทำให้ถดถอยลง แต่หัตถศิลป์หัตถกรรมไทยยังมีความหวัง เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด ทำให้ผ้าไทยกลับฟื้นมาใหม่ในรูปแบบไม่เหมือนเดิม เรียกว่า “ต่อยอด” เพราะทรงทำในเรื่องพัฒนาลวดลาย สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าที่ผ่านการ coaching ทั้งคุณภาพ ลวดลาย และสีสัน จนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าขายดิบขายดี ส่งผลให้เกิด “Success” คือความสำเร็จ อันเกิดจากสิ่งที่พระองค์พระราชทานให้ ทั้ง Knowledge (องค์ความรู้) ดังหนังสือที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์และพระราชทาน เช่น Trendbook ที่ทรงย้ำให้ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการได้คิดคำนึงถึงความทันสมัย ทั้งเรื่องลวดลาย ที่สามารถปรับ ลด ย่อ ผสมผสานลวดลายให้มีความทันสมัย ควบคู่กับ Effort (ความพยายาม) ที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่ตั้งใจ ทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิตในรูปแบบการต่อยอดให้เกิดสิ่งที่ดี ให้ได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง จนทำให้ตนเองและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หนังสือถือเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่รวบรวมความรู้ ซึ่งถ้าเรามีความรู้จะไม่มีวันอดตาย เช่น ที่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่พระองค์ได้พระราชทานองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชาวบ้าน โดยเฉพาะการใช้ลวดลายที่สามารถนำลวดลายดั้งเดิมมาปรับขนาดให้เล็กลง การย้อมสีที่ไม่จำเป็นต้องใช้ 10 น้ำ แต่สามารถลดหลั่นระดับสี ให้มีความหลากหลายสีสัน หลากหลายความสวยงาม จนทุกวันนี้ทำให้กลุ่มดอนกอยจากเคยมีรายได้ 700 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 บาท/เดือน และยังมียอดจองที่มากมายจนทุกวันนี้” ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการทำหนังสือ เพราะการจัดทำหนังสือต่าง ๆ เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้รับการบูรณาการโดยผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบหลากหลายสาขาตามแนวทางของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เริ่มต้นด้วยองค์ความรู้ของชุมชน บันทึกองค์ความรู้ต้นแบบสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ฟื้นคืนภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัย เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน โดยหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ได้รังสรรค์ขึ้น โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือทั้ง 4 เล่ม รวมถึงหนังสือเล่มอื่น ๆ ในรูปแบบดิจิทัลได้ที่ https://www.facebook.com/phathaisaihaisanook

 



Source link