รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกฯ ประชุม นบข.ครั้งที่ 1/66 กำชับดูแลผลผลิตข้าวให้ได้สูงสุด รับทราบแนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทยอยู่ในระดับสูง พร้อมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ สนับสนุนการปฏิบัติงานของ นบข.
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า ข้าวถือเป็นพืชสินค้าหลักของคนไทย และมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มโรงสี กลุ่มผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยในเรื่องของการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอยากให้ช่วยกันดูแลเรื่องของผลผลิตให้ได้สูงสุด ส่วนการที่อยากจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาหรือ Supply ชั่วคราว ขอให้คำนึงถึงปากท้องพี่น้องประชาชนด้วย ในการจะใช้งบประมาณมาจุนเจือก็ต้องระมัดระวัง เรื่องระยะสั้นก็พยายามแก้ไขปัญหากันไป อย่าติดกระดุมผิดเม็ดแล้วก็แก้กันไปจนกระทั่งกลายเป็นปัญหา โดยอีก 2-3 วันนี้นายกฯ มีนัดพูดคุยกับผู้ส่งออกข้าว ขณะที่เรื่องโรงสีก็เป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ก็สำคัญ ในการที่จะต้องช่วยเหลือจุนเจือพี่น้องเกษตรกร บางนโยบายก็ต้องอาศัยการช่วยเหลือของ ธกส. ถ้าไม่ช่วยเหลือ ไม่ตัดไฟแต่ต้นลมจะเป็นปัญหาใหญ่ลามไปในอนาคตได้ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ปลูกข้าวทั้งหมด
สำหรับมติที่ประชุม นบข. ที่สำคัญ
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย โดยในส่วนของสถานการณ์ข้าวไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ณ เดือน ต.ค.66) คาดการณ์ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/67
– ภาพรวม ผลผลิต 32.35 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 2.08 ล้านตันข้าวเปลือก (-6%)
– นาปี ผลผลิต 25.57 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 1.14 ล้านตันข้าวเปลือก (-4%)
– นาปรัง ผลผลิต 6.78 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 0.94 ล้านตันข้าวเปลือก (-12%)
โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง
การส่งออกข้าวไทย : การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ
ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 14.87 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 6.26 ล้านตัน ไทย 6.08 ล้านตัน ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตัน โดยอินเดีย ส่งออกข้าวลดลง (-3%) เนื่องจากมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวภายในประเทศ เวียดนาม ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+33%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไทย ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+12%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว และปากีสถาน ส่งออกข้าวลดลง (-37%) เนื่องจากมีปริมาณข้าวจำกัด จากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีก่อน
การส่งออกข้าวไทย : ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทย ปี 2565 – 2566 (ม.ค.-ก.ย.) สัดส่วนส่งออก ปี 66 (รวม 100%) ไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ประเทศที่นำเข้าข้าวขาวที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก มาเลเซีย ญี่ปุ่น โมซัมบิก รองลงมาได้แก่ข้าวนึ่ง 19% ประเทศที่นำเข้าข้าวนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ เยเมน เบนิน แคเมอรูน ข้าวหอมมะลิไทย 18% ประเทศที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล ฮ่องกง แคนาดา จีน ข้าวหอมไทย 6% ประเทศที่นำเข้าข้าวหอมไทยที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ข้าวเหนียว 3% ประเทศที่นำเข้าข้าวเหนียวที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ลาว ญี่ปุ่น และข้าวกล้อง 1% ประเทศที่นำเข้าข้าวกล้องที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน โปแลนด์ สิงคโปร์
ราคาข้าวไทย เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 24%
-ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,800-16,000 บาท เฉลี่ยตันละ 15,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 13,599 บาท (+13%)
-ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 12,500-13,000 บาท เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 10,687 บาท (+19%)
-ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,300-11,800 บาท เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 8,984 บาท (+27%)
-ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,500-14,800 บาท เฉลี่ยตันละ 13,800 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ตันละ 9,968 บาท (+37%)
แนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทย ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยบวก 1. การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 2. การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมาย 8 ล้านตัน จาก 2.1 อินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น 2.2 ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก 2.3 ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ขณะที่ปัจจัยลบ 1. ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด 2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจจะมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 ตามเป้าหมายหลักที่สำคัญ
1. ลดต้นทุนการผลิต/ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่
• ลดต้นทุนการผลิตไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ หรือ 6,000 บาท/ตัน โดยมีความคืบหน้าอยู่ที่ 3,433 บาท/ไร่ หรือ 5,787 บาท/ตัน
• ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 600 กก./ไร่ (จาก 465 กก./ไร่) โดยมีความคืบหน้าอยู่ที่ 593 กก./ไร่
2. สนองความต้องการที่หลากหลายของตลาดข้าว มีความคืบหน้า
• จัดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมกับ กรมการข้าว ได้มอบรางวัลแล้ว 9 สายพันธุ์ (รับรองพันธุ์ข้าวแล้ว 1 สายพันธุ์ คือ กข 95 หรือ ดกเจ้าพระยา)
• อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานสินค้าข้าวนุ่ม
3. เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ความคืบหน้า กรมการข้าว ได้รับรองแล้ว 13 พันธุ์ ได้แก่ 1.ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 3 พันธุ์ 2. ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 7 พันธุ์ 3. ข้าวหอมไทย 1 พันธุ์ 4. ข้าวโภชนาการสูง 1 พันธุ์ 5.ข้าวเหนียว 1 พันธุ์
นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ นบข. ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการและมาตรการในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการผลิตข้าวและชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้ เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
2. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลดี ต่อระบบการค้าข้าวโดยรวม เสนอแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการตลาดข้าวที่เหมาะสม ต่อ นบข. อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการตลาด รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงาน โครงการ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
3. คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ที่มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินการตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกของรัฐบาล รวมทั้งจัดสรรปริมาณข้าวที่รับซื้อ พิจารณาและอนุมัติวงเงินที่จะชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
4. คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและการตลาดข้าวในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยพิจารณาคัดเลือกและอนุมัติผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
“สำหรับเรื่องการปรับเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ เป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. เพื่อพิจารณาต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว