รำลึก “หลวงปู่ไพบูลย์” เยือน “วัดอนาลโย” แดนธรรมะบนดอยบุษราคัม จ.พะเยา
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของเมืองไทย ต่อการจากไปของ “พระพรหมวชิรคุณ” หรือ “หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล” ซึ่งท่านได้ละสังขารอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 17.24 น. สิริอายุ 89 ปี 59 พรรษา
หลวงปู่ไพบูลย์ มีนามเดิมว่า “ไพบูลย์ สิทธิ” เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2477 เป็นบุตรคนสุดท้องของคหบดีชาวอำเภอเกาะคา โยมบิดาคือ “นายกองแก้ว” โยมมารดา คือ “นางคำสิทธิ”
หลวงปู่ไพบูลย์ เป็นพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย มีคำสอนที่เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยท่านเน้นเรื่องอริยสัจ 4 ที่ “สอนให้คนรู้จักปล่อยวาง อย่ากังวล ให้รับความจริงแห่งการรอคอยได้”
หลวงปู่ไพบูลย์เป็นพระกัมมัฏฐานที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นเจ้าอาวาส “วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม” อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในช่วงก่อนละสังขารแล้ว หลวงปู่ไพบูลย์ยังเป็นผู้สร้าง “วัดอนาลโยทิพยาราม (ดอยบุษราคัม)“ หรือ ที่คนเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดอนาลโย” ซึ่งท่านได้พัฒนาป่าเขารกร้างบนยอดดอยให้กลายเป็นแดนธรรมมะอันเลื่องชื่อของจังหวัดพะเยา
วัดอนาลโยทิพยาราม ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัมบ้านสันป่าบง ต.สันป่าม่วง จ.พะเยา ซึ่งจากข้อมูลประวัติวัดอนาลโยฯ โดยสังเขป ระบุว่า หลวงปู่ไพบูลย์ หรือที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “พระปัญญาพิศาลเถร” ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดรัตนวนาราม อ.เมือง จ.พะเยา ท่านได้นิมิตเห็น ทรายทองไหลลงมาสู่วัดเป็นสาย รังสี แสงของทรายทองที่ไหลพรั่งพรูราวกับสายน้ำนั้นอาบวัดทั้งวัด จนแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ
หลวงปู่ไพบูลย์ท่านมองตามลำแสงสีทองไปก็เห็นเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยา ซึ่งก็คือ “ดอยบุษราคัม” ที่มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในอดีตชาวบ้านมักจะเห็นแสงสว่างเป็นดวงกลม ล่องลอยไปมาอยู่บนดอยแห่งนี้ แสงสว่างที่เห็นนั้นดูเรืองรอง บางทีก็สว่างจ้าเป็นสีเหลืองทองอาบทั้งดอย ดูราวกับดอยทองคำ โดยเหตุการณ์เหล่านี้มักจะปรากฏในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันพระ 8 หรือ 15 ค่ำ ซึ่งทำให้คนที่นี่เรียกขานดอยแห่งนี้ว่า “ดอยบุษราคัม”
หลังจากนิมิตเห็น ต่อมาได้มีโยมมาอาราธนาให้ไปดูสถานที่บนดอยบุษราคัม เพื่อสร้างวัดไว้เป็นศูนย์รวมใจและสถานปฏิบัติธรรมของทั้งพระสงฆ์ และชาวบ้านในพื้นที่ โดยเมื่อปี พ.ศ.2525 หลวงปู่ไพบูลย์ได้ตัดสินใจมาพำนักอยู่บนดอยแห่งนี้ พร้อมเริ่มลงมือก่อสร้างวัดขึ้น
หลวงปู่ไพบูลย์เล่าว่า ในช่วงเริ่มสร้างวัด ท่านได้ นิมิตเห็นคนรูปร่าง ดำ สูงใหญ่เดินทางมาหาบอกว่าหาก ท่านอาจารย์จะมาอยู่ที่นี่ ก็มาอยู่ได้ แต่ขอให้ตั้งชื่อวัด เป็นวัดหลวงปู่ขาว ซึ่งท่าน พระอาจารย์ก็ ไม่ขัดข้องประการใด
ดังนั้นหลวงปู่ไพบูลย์จึงตั้งชื่อวัดบนดอยบุษราคัมแห่งนี้ ตามนาม “หลวง ปู่ขาว อนาลโย” หนึ่งในเกจิชื่อดังของเมืองไทย ว่า “วัดอนาลโยทิพยาราม” โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งวัดบวรนิเวศ เป็นองค์ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2525 เวลา 12.45 น.
วัดอนาลโย มีเนื้อที่ประมาณ 2,800 ไร่ ผู้มาเยือนวัดอนาลโยในวันนี้ จะได้สัมผัสกับวัดบนดอยอันร่มรื่น สงบงาม ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้เที่ยวชมท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของแมกไม้ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมล้านนา พม่า และไทใหญ่เข้าด้วยกัน พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อีกหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธรูปปางนาคปรก
นอกจากนี้ยังมีองค์รัตนเจดีย์ที่สร้างตามศิลปะอินเดีย พุทธคยา (จำลอง) มีเก๋งจีนซึ่งประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลองทำด้วยทองคำ พระบุษราคัม พระเงิน พระทอง และพระนาค ขณะที่มุมหนึ่งของวัดจากยอดดอยสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยาได้อย่างสวยงามชัดเจน
และนี่ก็คือวัดอนาลโยทิพยารามที่หลวงปู่ไพบูลย์พัฒนาพื้นที่สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในแดนธรรมะอันโดดเด่นของเมืองไทย ซึ่งเราขอน้อมถวายความอาลัย พระเดชพระคุณ พระพรหมวชิรคุณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) ต่อการ
ละสังขารของท่าน
น้อมส่งหลวงปู่สู่แดนนิพพาน