รู้หรือไม่ “ปลาหมอสีคางดำ” เข้ามาระบาดในไทยได้ยังไง | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
แต่ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา เกิดความรุนแรงมากขึ้น เมื่อ “ปลาหมอสีคางดำ” ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ หลายแห่งในประเทศ จนเกรงกันว่าสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ จะทำลายระบบนิเวศของไทยได้
มีหลายคนสงสัยว่า “ปลาหมอสีคางดำ” เป็นสัตว์น้ำในประเทศไทยหรือไม่ และเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่น ตอนนี้อยู่ที่ไหน ?
วันที่ 28 เม.ย.2561 สำนักข่าวอิศรา รายงานถึงกรณีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำจากต่างประเทศ มาเลี้ยงในประเทศไทย ว่า
– ปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข
– ปี 2553 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว มาเลี้ยงที่ศูนย์ทดลองที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลา โดยการโรยด้วยปูนขาว และแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการ และเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC
– ปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานและแนวทางการรับมือ กับ นณณ์ ผาณิตวงศ์
ต่อมา วันที่ 18 ม.ค.2561 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนพิเศษ 11 ง นำเสนอประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 ลงนามโดย นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รมว.เกษตรและสหกรณ์
ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดชนิดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง
อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใด นำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ซึ่งสัตว์น้ำดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่
1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell,1852
2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)
3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)
การเพาะเลี้ยงตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึง กรณีที่สัตว์น้ำตามวรรคหนึ่งจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงโดยไม่เจตนา
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 138 ตอนพิเศษ 130 ง นำเสนอ ประกาศประทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2564 ลงนามโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559 ลงวันที่ 8 ม.ค.2559
(2) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือ เพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 ลงวันที่ 9 ม.ค.2561
ข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
โดยมีรายชื่อปลาและสัตว์น้ำ ที่เป็นเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับนี้ จำนวน 454 ชนิด ซึ่ง “ปลาหมอสีคางดำ” อยู่ในเอกสารลำดับที่ 56 หน้าที่ 20 จำพวกปลาน้ำจืดมีชีวิต
อ่านข่าว : ประกาศจับ “ปลาหมอสีคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ทำลายระบบนิเวศ
“ปลาหยก” เอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย
กรมประมง สั่งห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด