ข่าวสารกรุงเทพฯ

สงครามอิสราเอล-ฮามาส: นักโทษปาเลสไตน์ที่อิสราเอลเตรียมแลกกับตัวประกันฮามาสคือใคร – BBC News ไทย


ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ราว 40% ของนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่คาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวเป็นชายวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสบรรลุข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนตัวประกันที่อยู่ในการควบคุมของฮามาสกับนักโทษปาเลสไตน์ที่อิสราเอลกักขังไว้ พร้อมกับจะพักการต่อสู้ชั่วคราวเป็นเวลา 4 วัน ก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มการพักรบชั่วคราวในวันนี้ (23 พ.ย.) แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันศุกร์ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวในรัฐบาลที่กล่าวกับบีบีซี

ก่อนหน้านี้ อิสราเอลเผยแพร่บัญชีรายชื่อของชาวปาเลสไตน์ 300 คน ที่จะได้รับการปล่อยตัว ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวมีอายุตั้งแต่ 14-59 ปี แต่ส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 17-18 ปี และในจำนวนนี้เป็นชาย 274 คน

รายชื่อดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา เนื่องจากขั้นตอนทางกฎหมายกำหนดว่า พลเรือนชาวอิสราเอลสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดของอิสราเอลได้ ก่อนการปล่อยตัวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ในการปล่อยตัวรอบแรกซึ่งเดิมจะเริ่มต้นในวันพฤหัสฯ (23 พ.ย.) ฮามาสมีแผนจะปล่อยตัวประกันเด็กและผู้หญิงจำนวน 50 คน โดยแบ่งเป็นวันละ 12 คน หลังจากนั้นอิสราเอลจะดำเนินการปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ 150 คน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน

ในช่วงที่ 2 การพักรบจะถูกขยายออกไปทีละหนึ่งวันต่อการปล่อยตัวประกัน 10 คน อิสราเอลจะทยอยปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์จนครบ 150 คนเมื่อตัวประกัน 50 คนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระออกจากฉนวนกาซาแล้ว

บรรดาผู้นำโลกต่างยินดีกับการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งมีกาตาร์เป็นตัวกลางในการเจรจา

นับตั้งแต่การสู้รบกันระหว่างอิสราเอลและฮามาสเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. จนถึงวันนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนในอิสราเอลไปแล้ว 1,200 รายและมีผู้ที่ถูกลักพาตัวไปเป็นตัวประกัน 200 ราย

ส่วนในเขตกาซา กระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาส ระบุว่ามีชาวเมืองเสียชีวิตมากกว่า 14,000 ราย จากการโจมตีทางอากาศและการรบภาคพื้นดินของอิสราเอล

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ครอบครัวของตัวประกันชาวอิสราเอลที่ถูกฮามาสจับไป รณรงค์ต่อสาธารณะเพื่อให้นำตัวพวกเขากลับบ้าน

ย้อนประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนตัวประกัน

ในบัญชีรายชื่อของชาวปาเลสไตน์ 300 คน ที่จะถูกนำมาแลกเปลี่ยนกับตัวประกัน อิสราเอลได้บรรยายการกระทำผิดกฎหมายและข้อกล่าวหาของชาวปาเลสไตน์แต่ละคน อย่างเช่น ข้อหาพยายามฆ่า ขว้างปาระเบิด ประดิษฐ์ระเบิดหรือวัตถุสำหรับวางเพลิง ขว้างปาหิน ติดต่อกับองค์กรของฝ่ายปรปักษ์ ทำร้ายร่างกายจนสาหัส และก่อเหตุวางเพลิงด้วยแรงจูงใจเกี่ยวกับชาตินิยม

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ ตรงกันข้ามกับการแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งก่อน เนื่องจากในครั้งนี้ ไม่มีบุคคลใดในรายชื่อที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมชาวอิสราเอล

การแลกเปลี่ยนนักโทษและตัวประกันครั้งสำคัญเคยเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. ปี 2011 โดยฝ่ายของอิสราเอลที่ได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมของฮามาส คือ นายจิลาด ชาลิต ทหารอิสราเอล ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกกลุ่มติดอาวุธควบคุมตัวไว้ 5 ปี แลกกับการปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 1,027 คน

นักโทษปาเลสไตน์บางส่วนที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระถูกตัดสินความผิดฐานฆาตกรรม รวมทั้ง ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำฮามาสในฉนวนกาซา และหนึ่งในผู้ที่อิสราเอลกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

ที่มาของภาพ, Israel Defense Force

คำบรรยายภาพ,

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล อยู่ในช่วงการเจรจาการปล่อยตัว จิลาด ชาลิต ทหารอิสราเอล แลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ เมื่อปี 2011

ผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้นในคุกอิสราเอล

องค์กรสิทธิมนุษยชนปาเลสไตน์ที่ชื่อว่า แอดดาเมียร์ (Addameer) เปิดเผยว่า ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอิสราเอลมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยตัวเลข ณ วันที่ 6 พ.ย. มีชาวปาเลสไตน์ถูกคุมขังอยู่ทั้งหมด 7,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 80 คน และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ราว 200 คน

องค์กรสิทธิมนุษยชนปาเลสไตน์องค์กรนี้ระบุว่า มีชาวปาเลสไตน์กว่า 3,000 คน ที่เพิ่งถูกจับกุมไปหลังจากเหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อ 7 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 อิสราเอลได้ตราหน้าองค์กรสิทธิมนุษยชน “แอดดาเมียร์” ว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย พร้อมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ของปาเลสไตน์อีก 5 องค์กร โดยที่สหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกำหนดดังกล่าวของอิสราเอล

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนษยชนอิสราเอลชื่อว่า บีเซเลม (B’Tselem) เปิดเผยว่า ราชทัณฑ์อิสราเอล (Israel Prison Service) ได้ควบคุมตัวชาวปาเลสไตน์ผู้เยาว์ 146 คน ไว้ในที่คุมขังหรือจำคุกด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และอีก 34 คน ด้วยข้อหากระทำผิดกฎหมายอิสราเอล

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

วัยรุ่นปาเลสไตน์จำนวนมากถูกคุมขังในคุกทหารของอิสราเอล เพราะโดนจับได้ว่าก่อเหตุขว้างปาก้อนหิน

สมาคมผู้ต้องขังชาวปาเลสไตน์ องค์กรซึ่งแยกต่างหากจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีนักโทษปาเลสไตน์ 6 คน เสียชีวิตในคุกอิสราเอล หลังจากฮามาสบุกเข้าไป และมีอีก 5 คนถูกจับตาย หลังจากเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

ไม่มีการตั้งข้อหา ไม่มีการพิจารณาคดีในศาล

อิสราเอลยังมีระบบ “การคุมขังโดยอำนาจฝ่ายบริหาร” ซึ่งผู้ต้องขังสามารถถูกคุมขังได้โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา หรือไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาล ชาวปาเลสไตน์ส่วนมากถูกคุมขังด้วยวิธีการแบบนี้

สถิติจนถึงวันที่ 1 พ.ย. องค์กรสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลที่ชื่อว่า ฮาโมเค็ด (HaMoked) ระบุว่า มีชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังด้วยอำนาจของฝ่ายบริหารอยู่ 2,070 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในช่วงที่ฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอลที่มีชาวปาเลสไตน์ถูกขังไว้ 1,319 คน

เจสสิกา มอนเทลล์ ผู้อำนวยการองค์กรฮาโมเค็ด ยินดีกับการบรรลุข้อตกลงการเปลี่ยนนักโทษและตัวประกัน

“การจับคนเป็นตัวประกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และเป็นอาชญากรรมสงคราม ฮามาสควรปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข” เธอกล่าวในแถลงการณ์ “แต่ก็เป็นการเหมาะสมที่อิสราเอลจะปล่อยตัวนักโทษและผู้ถูกคุมขังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้”

เธอกล่าวด้วยว่า ผู้หญิงและเด็กชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังด้วยอำนาจฝ่ายบริหารจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวภายใต้ข้อตกลงครั้งนี้ด้วย

“คนเหล่านี้ควรได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเช่นกัน ดังนั้น ข้อตกลงที่จะปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังโดยอำนาจของรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นสองเท่า”

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ฟรานเซสกา อัลบานีส ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเวลากว่าหนึ่งปี

ข้อวิจารณ์จากยูเอ็น

สหประชาชาติ วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างหนักตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า ชาวปาเลสไตน์หลายรุ่นต้องทนต่อ “การลิดรอนเสรีภาพตามอำเภอใจอย่างแพร่หลายและดำเนินการเป็นระบบ” ภายใต้การ “ยึดครองของอิสราเอล”

“นับตั้งแต่ปี 1967 ชาวปาเลสไตน์กว่า 800,000 คน ซึ่งรวมทั้งเด็ก ถูกคุมขังด้วยกฎหมายเผด็จการต่าง ๆ ที่บังคับใช้และวินิจฉัยโดยทหารอิสราเอล” รายงานของฟรานเซสกา อัลบานีส ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. 2023

ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นระบุว่า เธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตเวสต์แบงก์ แต่ได้เดินทางไปยังจอร์แดนเพื่อสัมภาษณ์ทางไกลกับผู้เกี่ยวข้องเป็นเวลากว่า 6 เดือน

อิสราเอลออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าวของยูเอ็นและระบุว่า การสั่งการของผู้รายงานพิเศษยูเอ็นมีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพียงหนึ่งเดียว คือ “การเลือกปฏิบัติต่ออิสราเอลและชาวอิสราเอล”

ยูเอ็นและองค์กรเซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) ระบุว่ามีเด็กชาวปาเลสไตน์ถูกคุมขังในคุกทหารของอิสราเอล 500-700 คน ทุกปี



Source link