สด.43: จิรัฏฐ์ ก้าวไกล จากผู้ขอตรวจบ้านพักประยุทธ์ ตกเป็นผู้ถูกตรวจสอบปมใบผ่านเกณฑ์ทหาร
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส. ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล สมัยที่ 2 มีบทบาทตรวจสอบกองทัพและเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร
เอกสาร สด.43 หรือใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ กลายเป็นประเด็นที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และโฆษกคณะกรรมาธิการการทหารของสภาฯ ผู้มีผลงานการตรวจสอบกองทัพ เผชิญการถูกกล่าวหาว่าเป็นเอกสารปลอม
ระหว่างที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน แนวร่วมจากเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” นำโดย นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้ตรวจสอบนายจิรัฏฐ์ว่า หนีการตรวจรับคัดเลือกเป็นทหารและปลอมแปลงเอกสารหรือไม่ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา
ตามมาด้วยการแถลงของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ในวันที่ 29 ม.ค. พร้อมกับการเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจ หากพบว่าเป็นเอกสารปลอม
ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นายจิรัฏฐ์ ซึ่งเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการการทหารของสภาฯ กำลังขอเข้าตรวจสอบหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม และเข้าถ่ายภาพบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ทำให้บรรดาสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งเป็นอดีตพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตอบโต้ว่า “ไม่รู้กาลเทศะ”
หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รด.) ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. กรณีใบ สด.43 ของนายจิรัฏฐ์ ว่าการได้มาซึ่งใบ สด.43 ต้องมารับวันตรวจเลือกจับใบดำใบแดง พร้อมบอกว่า เอกสารที่ถูกต้องต้องได้รับจากมือประธานในวันตรวจคัดเลือกและมีลายพิมพ์นิ้วมือ
“ใน สด. 43 ที่ถูกต้อง ลายเซ็นต้องมีครบ 5 คน ลายนิ้วมือต้องพิมพ์ ตรงนี้เราต้องไปดูว่า สิ่งที่นำมาแสดง ถ้าองค์ประกอบไม่ครบก็ไม่ใช่เอกสารที่ราชการออกให้” พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รด.) ระบุ ระหว่างการแถลงข่าว ภายหลังนายจิรัฏฐ์ นำใบ สด.43 แสดงในรายการข่าวทางช่องยูทิวบ์
ไทม์ไลน์ คำชี้แจงจาก สส.ฉะเชิงเทรา
นายจิรัฏฐ์ เผชิญการถูกตั้งคำถามจากกระแสในโลกออนไลน์บางส่วนว่า เขาหนีทหารหรือไม่มาระยะหนึ่ง ก่อนนำหลักฐานใบ สด.43 มาแสดงในช่องยูทิวบ์ของมติชนทีวีเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา
จิรัฏฐ์ บอกว่า ที่ออกมาแสดงหลักฐานช้าเพราะหาเอกสารไม่เจอ เนื่องจากได้มา 13-14 ปี แล้ว ซึ่งไปเจอใบ สด.43 ที่บ้านของมารดา
หลังจากนั้น นายจิรัฏฐ์ ชี้แจงต่อสื่อหลายครั้งตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขาขอผ่อนผันการคัดเลือกทหารทุกปี แต่วันตรวจเลือกปีสุดท้ายไม่ได้เดินทางไป เนื่องจากติดภารกิจด้านการเรียน จึงเป็นที่มาที่ทำให้ไปรายงานตัวช้าไป 1 วัน แต่ยืนยันว่าได้เข้าสู่กระบวนการทุกขั้นตอน และ “ได้รับใบ สด.43 มาจริง จากสถานที่ราชการ”
“เอาเลขรหัสไปตรวจสอบได้เลย ว่าปี 54 เจ้าหน้าที่คนไหน ประจำที่เขตนี้ และเทียบลายเซ็นว่าตรงกับใคร” นายจิรัฏฐ์ กล่าวย้ำ
คำชี้แจงที่ปรากฏในสื่อหลายสำนัก จิรัฏฐ์ ระบุว่าเขารายงานตัวต่ออำเภอเลยกำหนดเวลาไป 1 วัน ซึ่งได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่างตามที่เจ้าหน้าที่ให้ทำ ตั้งแต่ถูกนำตัวไปศาลเพื่อจ่ายค่าปรับ และกลับมาจับใบดำใบแดงที่อำเภอ ก่อนได้ใบ สด.43 กลับมา ซึ่งมีลายเซ็นทหารยศพันเอก-พันโท จำนวน 5 คน เซ็นกำกับ
“ตอนนั้นผมเด็กอายุ 18 เดินไปในสถานที่ราชการ เขาให้ทำอะไรผมก็ทำหมด… แต่จริง ๆ คดีนี้อายุความหมดไปแล้ว” จิรัฏฐ์กล่าวในมติชนทีวี พร้อมบอกว่า เอกสารมีเลขที่ฉบับอยู่
หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ชี้แจงขั้นตอนออกใบ สด.43
หลังจากนั้นในวันที่ 29 ม.ค. หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รด.) แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าขั้นตอนการได้ใบ สด.43 ต้องมารับวันตรวจเลือกเท่านั้น และการจับใบดำใบแดงในวันอื่นไม่มีในกระบวนการ
พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กล่าวว่า การได้มาซึ่งใบ สด.43 ที่ถูกต้อง มี 2 รูปแบบ คือ ผู้ที่ผ่านกระบวนการตรวจเลือกมาจับใบดำใบแดง จะต้องมีประธานและคณะกรรมการลงลายเซ็นทั้งหมด และจะได้รับเอกสารจากวันตรวจเลือกจากมือประธาน ส่วนอีกกรณี คือผู้ที่ผ่อนผันจะได้ สด.43 กลับไป แต่จะมีช่องเขียนว่าผ่อนผัน ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือจะต้องได้รับจากมือประธานในวันตรวจเลือกเช่นกัน
ผู้บัญชาการหน่วย รด. ระบุด้วยว่า หากเป็นเอกสารที่ราชการออกให้ถูกต้อง ลายเซ็นต้องครบและต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือ
ที่มาของภาพ, STR
นายจิรัฏฐ์ กล่าวในวันที่ 30 ม.ค. ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานของกองทัพติดต่อมา แต่ยินดีเปิดเอกสารให้มาตรวจสอบ แต่จะไม่เปิดต่อสาธารณะ เพราะมีตัวเลขที่ต้องระวัง อยากให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการมาตรวจสอบ
ด้าน พ.อ.พงศฤทธิ์ ภวังคะนันท์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วย รด. ระบุด้วยว่า การเข้ารับการตรวจเลือกจะกำหนดสถานที่ วันเวลาแบบตายตัวไม่สามารถเลื่อนเป็นวันอื่น
ส่วนเอกสารใบ สด.43 จะแบ่งเป็น 3 ท่อน แต่ละส่วนเก็บไว้ที่สำนักงานสัสดีจังหวัด, กองทัพภาคภูมิลำเนาทหาร และตัวผู้ผ่านการเกณฑ์ทหาร แต่หากไม่มาเข้ารับการตรวจเลือกในปีนั้น เอกสาร สด.43 ทั้ง 3 ท่อน ก็จะไม่ได้รับการแจกจ่ายไปที่ใด จะเก็บอยู่ในต้นขั้วทั้งหมด
ขณะเดียวกัน สื่อหลายสำนัก เช่น ไทยรัฐ มติชน ไทยโพสต์ รายงานตรงกันถึงแหล่งข่าวในกองทัพบกที่อ้างว่า จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีต้นขั้วใบ สด.43 ที่ตรงกับของนายจิรัฏฐ์ แต่มีชื่อ นายนวรินทร์ ทองสุวรรณ์ ซึ่งในใบ สด.43 ที่ สส.พรรคก้าวไกลนำมาแสดงต่อสื่อเป็นชื่อนายจิรัฏฐ์
ส่วนประเด็นที่นายจิรัฏฐ์ ชี้แจงต่อสื่อว่า ได้ไปจ่ายค่าปรับที่ศาลในปี 2554 ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กล่าวกับรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ วันที่ 30 ม.ค. ว่า ตามข้อมูล นายจิรัฏฐ์ ไม่มารายงานตัวในปี 2555 ไม่ใช่ 2554 จึงมีการบันทึกขาด และส่งดำเนินคดีต่อศาล
พล.ท.ทวีพูล ชี้ว่า คำชี้แจงของนายจิรัฏฐ์ที่ระบุว่า รับโทษปรับ เป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก โทษตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร ไม่มีการปรับเงิน มีเพียงการพิพากษาจำคุกที่รอลงอาญา ซึ่งจากคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2555 ของศาลฉะเชิงเทรา ตัดสินว่า จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน แต่รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี และหลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการนี้แล้ว ปีถัดไปต้องบรรจุเข้าเป็นทหารทันทีโดยไม่ต้องมีการจับใบดำใบแดง
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กล่าวด้วยว่า เอกสาร สด.43 ทั้ง 3 ท่อน ยังอยู่ในระบบของสัสดี โดยระบุเป็นชื่อ “นวรินทร์” ชื่อเดิมของนายจิรัฏฐ์
เปิดแบบฟอร์มใบ สด.43 ระบุให้ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือหรือไม่
การออกมาชี้แจงของนายจิรัฏฐ์ พร้อมกับใบ สด.43 และการให้ข้อมูลจากผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน มีข้อมูลขัดกันหลายกรณี
การพิมพ์ลายนิ้วมือในใบ สด.43 เป็นประเด็นหนึ่งที่ พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ระบุว่า ใบ สด.43 ที่ถูกต้อง ต้องมีลายเซ็นเจ้าหน้าที่ครบ 5 คน และ “ลายนิ้วมือต้องพิมพ์”
อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยพบว่า แบบ สด.43 หรือ ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ พ.ศ. …. ที่ปรากฏในเอกสารคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ประจำปี 2563 ของกองการสัสดี กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในท้ายเอกสารแบบฟอร์ม มีตัวอย่างแบบ สด.43 ที่แสดงให้เห็นว่าทหารกองเกินที่ได้รับการรับรองผลการตรวจ สามารถเลือกระหว่างการลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือได้
หลังจากที่เป็นประเด็น ผู้ใช้ชื่อสังคมออนไลน์หลายคน ยังออกมาแสดงความคิดเห็นพร้อมกับโพสต์ภาพของใบ สด.43 ที่ไม่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย
ที่มาของภาพ, กองสัสดี
ตัวอย่างใบ สด.43 ของกองสัสดี กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
ใบผ่านเกณฑ์ทหาร จริงหรือปลอม รู้ได้อย่างไร
เอกสารคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ประจำปี 2563 ของกรมการสรรพกำลังกลาโหม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารรับรอง สำหรับการรับเข้าทำงานและรับราชการ ทั้ง ใบ สด.9 สำหรับทหารกองเกินและทหารกองหนุนประเภทที่ 2 หรือผู้ที่ลงบัญชีทหารกองเกิน, ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (แบบ สด.43) สำหรับกลุ่มที่เกณฑ์ทหารแล้ว (จับได้ใบดำ) หรือกลุ่มที่จับได้ใบแดง และใบ สด.8 ที่ใช้ประกอบกับสมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1 สำหรับกลุ่มที่ศึกษาวิชาทหาร รด. ครบ 3 ปี
คู่มือของกองสัสดี ระบุว่า เอกสารรับรองเหล่านี้ ต้องติดต่อขอเข้าไปตรวจสอบกับหน่วยงานต้นสังกัดนั้น ๆ สำหรับใบ สด.43 หากต้องการตรวจสอบ หน่วยงานที่รับเข้าทำงานทั้งเอกชนและราชการ ต้องติดต่อไปที่ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีการให้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ไว้ ไม่มีช่องทางออนไลน์
เปิด พ.ร.บ.รับราชการทหาร โทษเกี่ยวกับเกณฑ์ทหารมีปรับหรือไม่
พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 กำหนดโทษสำหรับการหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนการเข้ารับราชการทหารไว้ ซึ่งมีตั้งแต่โทษปรับไปจนถึงจำคุก ในกรณีต่าง ๆ กัน ดังนี้
- ทหารกองเกินถ้าไม่ไปรับหมายเรียกรับราชการทหารที่อำเภอตามภูมิลำเนา ในเวลาที่กำหนด หรือไม่มีผู้แทนไปรับ ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน มีโทษเท่ากับไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกิน มีโทษคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 44)
- ทหารกองเกินที่มาเข้ารับการตรวจเลือกแล้วไม่อยู่จนกว่าตรวจเลือกเสร็จ ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (มาตรา 27)
- ทหารกองเกินถ้ารับหมายเรียกแล้วไม่ไปรับการตรวจเลือก ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (มาตรา 45)
- ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ มีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 47)
คู่มือแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ระบุด้วยว่า ใบรับรองผลการตรวจเลือกหรือใบ สด.43 จะได้รับจากประธานกรรมการตรวจเลือกทหารในวันตรวจเลือกเท่านั้น ถ้ารับวันอื่น หรือจากบุคคลอื่นถือว่าเป็นใบปลอม
ล่าสุด วันนี้ (30 ม.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบนายจิรัฏฐ์ ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 15 ว่าด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงอย่างไม่บิดเบือน รวมทั้งเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือไม่
ช่องทางการเอาผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมตาม “มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561” ซึ่งเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้น ภายใต้บทบัญญติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 219 ที่กำหนดให้บังคับใช้กับ สส. สว. และคณะรัฐมนตรีด้วย มีนักการเมือง 4 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพจากการฝ่าฝืนจริยธรรม หลังจาก ป.ป.ช. ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา รวมทั้งกรณีของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีต สส. พรรคอนาคตใหม่ จากกรณีโพสต์ภาพที่ถูกกล่าวหาว่าพาดพิงสถาบันฯ ด้วย