ข่าวสารกรุงเทพฯ

 สภาเลื่อน โหวตนายกฯ – สยามรัฐ


บิ๊กตู่ห่วงลากยาวเลือกผู้นำปท. สภาเลื่อน โหวตนายกฯ -เพื่อไทยยกเลิก -ถก8พรรคร่วมฯ “บิ๊กตู่”เผยให้ดูความเสียหาย หากโหวตนายกฯลากยาว 10 เดือน บอกไม่ทราบส.ว. เปิดทางนายกฯคนนอก ลุงป้อม ยันยังไม่วางมือ ส่วนจะรับตำแหน่งในรัฐบาลใหม่หรือไม่ ขอให้รอดู “วันนอร์” สั่งงดประชุมโหวตนายกฯ 27ก.ค. ลดความขัดแย้ง ป้องกันปัญหาองค์ประชุมล่ม ขณะที่ พท.ยกเลิกประชุม 8 พรรคร่วม เหตุเจรจาไม่คืบหน้า 

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่พร้อมหรือไม่ที่จะรักษาการยาวถึง 10 เดือน โดยนายกฯ เพียงแต่ยิ้ม  เมื่อถามย้ำว่า กรณีที่มีข้อเสนองดโหวตนายกรัฐมนตรีไปถึง 10 เดือน มีความเห็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ควรละมั้ง เมื่อถามอีกว่า ที่ระบุการตั้งรัฐบาลไม่ควรยืดไปถึง 10 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูความเสียหายต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบและกติกา     

 เมื่อถามถึงกรณี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ระบุการตั้งรัฐบาลหากไปไม่ได้ มองว่าการเปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอกจะเหมาะสมและควรถึงขั้นนั้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ทราบๆ เมื่อถามย้ำว่า คิดว่าถ้ายืดระยะเวลาไปถึง 10 เดือนจริง จะเสียหายกับประเทศหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ก็ตอบกันเองก็ได้มั่ง      

 ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากบอกอะไรกับฝ่ายที่กำลังตั้งรัฐบาลขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไปให้ดีที่สุด เมื่อถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีประกาศวางมือทางการเมืองถือเป็นการเปิดทางให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้าร่วมรัฐบาลใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที     

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวที่บอกว่าจะพอแล้ว จะไม่รับตำแหน่งในครม. ว่า ยังไม่รู้ ๆ ต้องดูก่อน เมื่อถามว่า จะเป็นหัวหน้าพรรคดูแลพลังประชารัฐต่อไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ยังเป็นอยู่ จะให้ปิดสวิสซ์ 3 ป. หรือไง เมื่อถามว่า ยังไม่ได้ประกาศจะวางมือการเมืองใช่หรือไม่  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนยังไม่เคยพูดที่ไหนว่าจะวางมือ เมื่อถามว่า  แล้วจะเอายังไงต่อไป ในการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่บอก ให้รอดู     

 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นในวันที่ 27 ก.ค.จำเป็นต้องเลื่อนวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนหรือไม่ ว่า ได้รับทราบว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่ไม่แน่ว่าจะส่งเรื่องไปวันนี้หรือเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องด่วนคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินต้องรีบส่งโดยด่วน  เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยว่าการลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในระหว่างที่ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ประธานรัฐสภาชะลอการพิจารณาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน เกรงว่าหากพิจารณาไปแล้วอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ถามว่าทางสภาฯ จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตนได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯพิจารณาแล้วเสนอรายงานต่อตนในเวลา 14.00 น. วันนี้ว่าจะให้รัฐสภาดำเนินการอย่างไรในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้ คงต้องฟังข้อพิจารณาของฝ่ายกฎหมายของสภาฯก่อน     

 เมื่อถามว่า ประธานรัฐสภาสามารถตัดสินใจได้เองหรือไม่หากได้ฟังความเห็นของฝ่ายกฎหมายแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานสภามีอำนาจสั่งงด หรือเลื่อนการประชุมได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องฟังฝ่ายกฎหมายเสนอก่อนว่าถ้าต้องเลื่อนมีเหตุผลอย่างไร และการเลื่อนก็เช่นกัน ซึ่งยังมีเวลาก่อนที่จะถึงวันที่ 27 ก.ค. เพราะในวันที่ 26 ก.ค.ได้นัดวิป 3 ฝ่ายมาพิจารณาว่าจะมีการประชุมในวันที่ 27 ก.ค.หรือไม่ แต่ตนจะฟังข้อมูลต่าง ๆให้ครบถ้วนและจะรีบดำเนินการต่อไป     

 เมื่อถามว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รับฟัง แต่เราต้องเคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภา       

 ขณะนี้เราไม่ทราบว่าผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปแล้วหรือไม่ คิดว่าเรื่องด่วนน่าจะส่งไปแล้ว ส่วนว่าศาลรัฐธรรมนูญเมื่อรับแล้วจะรับพิจารณา หรือไม่รับพิจารณาประเด็นที่หนึ่ง ถ้าไม่รับพิจารณาสภาก็ดำเนินการต่อไป แต่ถ้ารับพิจารณาแล้ว สภาฯก็ต้องพิจารณาว่าข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรับแล้วพิจารณาด้วยหรือไม่ให้รัฐสภาหยุดดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน ซึ่งมีข้อพิจารณาของศาลอยู่ 2 ข้อคือรับ หรือไม่รับ และถ้ารับจะให้รัฐสภาฯหยุดพิจารณาไว้ก่อนหรือไม่ สภาฯก็ต้องพิจารณา ประธานรัฐสภา กล่าว      

เมื่อถามว่า ถ้าไม่รับแล้วสั่งงดประชุมจะทำให้เกิดความเสียหายอะไรหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรายังไม่ทราบ แต่ประเด็นสำคัญคือเนื่องจากว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะมีวาระการประชุมโดยเร็ว ถ้าเรามีการประชุมหรือทำอะไรไปแล้วเกรงว่าจะเกิดความเสียหาย หรือขัดแย้งในทางปฏิบัติได้ และเกิดความสับสนด้วย วันนี้ขอประเมินสถานการณ์ก่อน     

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีกำหนดการประชุมหารือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้เปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ จากเดิมที่นัดหมายในเวลา 14.00 น. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถูกเปลี่ยนเป็นเวลา 15.00 น. ที่อาคารรัฐสภา โดยภายหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนสถานที่ประชุมในครั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันเหตุการณ์ชุลมุนที่อาจเกิดขึ้นเหมือนวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา     

 อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เวลา 11.20 น. ทีมงานประชาสัมพันธ์พรรคเพื่อไทยได้แจ้งผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนอีกครั้ง ว่า ได้มีการยกเลิกการนัดประชุม 8 พรรคร่วมดังกล่าวแล้ว และจากการสอบถามแหล่งข่าวในอีก 7 พรรคร่วมรัฐบาลให้ข้อมูลว่าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายแจ้งขอยกเลิกการประชุมวันนี้ โดยได้ขออภัยผู้ประสานงานทุกพรรค ในการของดการประชุมในวันอังคารที่ 25 ก.ค.นี้ เนื่องจากการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงของดการประชุม หากมีการนัดหมายใหม่จะแจ้งให้ทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง

  ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ได้แจ้งยกเลิกการประชุม 8 พรรคร่วมที่จะมีขึ้นในเวลา 15.00 น.ของวันนี้อย่างกระทันหัน ว่า เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยได้แจ้งผ่านข้อความในไลน์ ว่างานที่ได้รับมอบหมายยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยได้มีการโทรแจ้งตนก่อนที่จะมีการแจ้งผ่านไลน์แล้ว ซึ่งตนคิดว่าทางพรรคเพื่อไทย ยังต้องการเวลาในการทำข้อเสนอ รวมถึงอาจจะเกี่ยวกับทางส.ว. ด้วย       

สำหรับการกำหนดวันประชุมของ 8 พรรคร่วมใหม่อีกครั้งนั้น ประเด็นอาจจะอยู่ที่วันที่ 27 ก.ค.นี้ จะยังมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ เพราะหากยังมีการประชุมรัฐสภาอยู่ 8 พรรคร่วมก็ต้องประชุมภายในวันพรุ่งนี้ แต่หากการประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีถูกเลื่อนออกไป ก็เป็นไปได้ที่จะประชุม 8 พรรคร่วมหลังช่วงนั้น     

 ต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า วันนี้ เวลา 14.00น. ได้ประชุมฝ่ายกฎหมาย สภาฯ  ที่ปรึกษาประธานสภาฯ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาฯ ที่ประชุมเห็นว่าถ้าประธานรัฐสภาจะสั่งงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27ก.ค.นี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41นั้น จะได้ไม่มีความขัดแย้งกับที่รัฐสภาจะประชุมกันวันที่ 27ก.ค. หากมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในภายหลัง  และเมื่องดการประชุมวันที่ 27ก.ค.แล้ว ดังนั้นการประชุมวิป 3ฝ่ายในวันที่ 26ก.ค. จึงต้องงดไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาประชุมกัน เพราะเป็นการเตรียมการประชุมในวันที่ 27ก.ค. ประกอบกับขณะนี้มีส.ส.และส.ว.จำนวนมากมาประสานกับสำนักประธานและกองการประชุมว่า วันที่ 28ก.ค.ช่วงเช้าจะมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่ศาลาว่าการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงกทม.ด้วย ส.ส.และส.ว.เกรงว่า หากมาประชุมวันที่ 27ก.ค.และการประชุมยืดเยื้อจะไปรวมพระราชพิธีวันที่ 28ก.ค.ไม่ทัน ทำให้ส.ส.และส.ว.อาจไม่มาร่วมประชุมวันที่ 27ก.ค. องค์ประชุมอาจมีปัญหาได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าเมื่อพิจารณาแล้วควรงดการประชุมรัฐสภาวันที่ 27ก.ค.ไปก่อน แต่จะไปประชุมวันใด จะสั่งการบรรจุระเบียบวาระต่อไป ขณะที่ในวันที่ 26ก.ค.ยังคงมีการประชุมสัมมนาส.ส.ตามกำหนดการเดิม ในเวลา 08.30น.     

 นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ  กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่ประชุมรัฐสภาสามารถเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำได้หรือไม่ ว่า เรื่องนี้เราไม่ก้าวล่วง แต่ต้องดูกลไกของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับพิจารณาหรือไม่ หากรับพิจารณาจะมีระยะเวลาในการดำเนินการ แต่ถ้าไม่รับเรื่องก็จบ แต่เท่าที่เห็นมีนักวิชาการอิสระยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้แล้ว และความเห็นประเด็นดังกล่าวมีหลายฝ่าย อย่าง นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองว่าไม่สามารถยื่นได้ แต่เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่า ยื่นได้ จึงต้องไปพิจารณาดู ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ ซึ่งถ้ารับองค์คณะต้องประชุมเพื่อพิจารณา    

  นายธนกร ยังกล่าวถึงการประชุมส.ส.รวมไทยสร้างชาติวันที่ 26 ก.ค. ว่า คาดว่าจะมีการพูดคุยในหลายประเด็นโดยจะมีการนำผลการหารือกับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาล มาคุยในที่ประชุมว่าพรรคจะมีทิศทางอย่างไร ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพรรคก้าวไกล ระบุจะไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ นายธนกร กล่าวว่า “เราพูดตั้งแต่ต้นตั้งแต่เลือกตั้ง เราก็ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลเนื่องจากมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112”     

 เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ปรารภและมีความกังวลเกี่ยวกับการเสนอให้ยืดระยะเวลาการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีออกไปหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้คุยกับตนเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่าท่านมีความเป็นห่วง และพูดมาตลอดว่ามีความเป็นห่วงใยสองประเด็นคือความขัดแย้งทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของคนภายในประเทศ เพราะไม่ต้องการให้หวนกลับไปสู่จุดที่เคยเกิดปัญหาขึ้นมาอีก และในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็มีความเป็นห่วง อยากให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ววัน เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป ในสิ่งที่ได้วางรากฐานเอาไว้      

 สำหรับตนเองเคยบอกว่าเลือกตั้งเสร็จควรให้รีบตั้งรัฐบาล แต่พอตั้งไม่ได้ กลับบอกว่ารออีก 10 เดือนดีกว่า ตนมองว่าไม่ใช่เป็นการทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง เป็นการทำเพื่อตัวเองหากเป็นแบบนี้ ประเทศเราไม่ไหว เพราะนักธุรกิจ เอกชน เขารอรัฐบาลอยู่ ดังนั้น กลไกการตั้งรัฐบาลถ้าอันดับ 1 ไม่ได้ อันดับ 2 ก็ต้องจัด  ถ้าอันดับ 2 ไม่ได้ ก็ต้องเป็นอันดับ 3 เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น วันนี้เมื่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกำลังดีขึ้น จึงมีสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ควรทำต่อในหลายๆเรื่อง พร้อมย้ำว่าการรอ 10 เดือนไม่ควร ฉะนั้น ขอให้เห็นแก่ประชาชนแล้วกัน      ที่พรรคไทยสร้างไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะผู้บริหาร นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,นายสุพันธุ์ มงคลสุธี, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์  ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งหลังการประชุม มีการประกาศ 5 จุดยืนทางการเมือง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้ 1.พรรคไทยสร้างไทยยืนยันเคารพเสียง และเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยตามข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรค ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชน และสนับสนุนให้มีการเดินหน้าตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนให้สำเร็จ เพื่อนำประเทศสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง      

2.พรรคไทยสร้างไทย ขอขอบคุณและชื่นชมความเสียสละของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ระหว่างทางจะมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง แต่ขอให้กำลังใจให้เดินหน้าต่อไปเพื่อประเทศชาติ และประชาชน 3.ขอให้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคร่วมได้หาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรในการหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากส.ว.และส.ส. ขอให้นำมาพูดคุยกันด้วยความจริงใจและความเสียสละเพื่อประชาชน และถอยกันคนละก้าวเพื่อที่จะนำไปสู่ทางออกของประเทศ    

  4.พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนมั่นคงในการรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพรรคไทยสร้างไทยขอสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยถาวร ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจอย่างเด็ดขาด และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เห็นว่ารากเหง้าปัญหาของประเทศเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560 พรรคไทยสร้างไทยจึงได้เสนอให้คืนอำนาจให้กับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามร่างที่พรรคไทยสร้างไทยได้เสนอเข้าสภาเรียบร้อยแล้ว เพื่อตัดวงจรการสืบทอดอำนาจทั้งส.ว. และแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยไม่แก้ หมวด 1 และ 2 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนสำเร็จลุล่วงได้จริง    

  5.ยอมรับว่าขณะนี้บ้านเมืองต้องการรัฐบาล และปัญหาของประชาชนรอไม่ได้ แต่ถ้าหากสามารถตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยได้ตามที่ประชาชนคาดหวังก็จะดีที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง โดยระหว่างนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาและประสานงานกับคณะรัฐบาลรักษาการและหน่วยงานราชการเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนไปพลางก่อน      





Source link