สสส.เตือนความเหงา อันตรายต่อสุขภาพ – สำนักข่าวไทย อสมท
กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – สสส.เตือนความเหงา อันตรายต่อสุขภาพ ก่อโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง พบสูงวัยแนวโน้มโดดเดี่ยวเพิ่ม ห่วงเหงากินเหล้า-ฆ่าตัวตาย เสนอ 6 มาตรการแก้ ชวนพัฒนาเมืองสุขภาวะลดความเหงา
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงยังคงมีความเชื่อผิด ๆ ว่าต้องลอยกระทงคู่กันกับคนรัก เทศกาลนี้จึงทำให้บางคนเกิดอารมณ์ที่สร้างความทุกข์รบกวนใจ คือ ความเหงา ที่ไม่สามารถจัดการได้ ในเรื่องของสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ความเหงาเป็นภัยคุกคามทางสาธารณสุข พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเพื่อการเชื่อมต่อทางสังคม ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่าความเหงา ความโดดเดี่ยว การแยกตัวจากสังคม การอยู่คนเดียว ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ ที่สำคัญข้อมูลทั่วโลกมีคน 1 ใน 4 คน ที่เผชิญภาวะความเหงา ไทยพบผู้สูงอายุที่มีภาวะเหงาเพิ่มขึ้น ผลจากครอบครัวขยายน้อยลง ผู้สูงวัยใช้ชีวิตโดยลำพัง ขณะที่เยาวชนส่วนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยว นำไปสู่ความเสี่ยงทางสุขภาพและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากการพึ่งพายาเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครียด และการฆ่าตัวตาย
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันความเหงาถูกยกระดับเป็นภัยสุขภาพระดับโลกเร่งด่วน โดย นพ.วิเวก เมอร์ฟี แพทย์ประจำรัฐบาล (Surgeon General of the United States) สหรัฐฯ เสนอ 6 มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหา 1.สร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม เช่น สวนสาธารณะ จุดพบปะสังสรรค์ พื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน 2.มาตรการด้านกฎหมายสนับสนุนการลาหยุดพักผ่อนระดับครอบครัว เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์ 3.จัดระบบสุขภาพ คัดกรองผู้ที่ภาวะความเหงาและปัญหาสุขภาพจิต สำหรับไทยได้สร้างกลไกนี้อย่างเป็นรูปธรรม 4.ส่งเสริมศักยภาพให้ประชาชนรู้เท่าทันดิจิทัล เป็นเครื่องมือส่งเสริมการสื่อสารออนไลน์ ทำให้ไม่โดดเดี่ยว 5.ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับความเหงาเพิ่มมากขึ้น 6.สร้างวัฒนธรรมการพบปะพูดคุย ลดการแยกตัวจากสังคม ทั้ง 6 ข้อเสนอ สามารถนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับไทยบนฐานสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย
“ความเหงาไม่ใช่เรื่องปัจเจกหรือปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สสส. มีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาเมืองที่ดีต่อสุขภาวะ ชวนผู้กำหนดนโยบายพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาความเหงาเชิงระบบ ร่วมกันออกแบบเมืองลดความเหงา ปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะต้นแบบ เข้าถึงได้ง่าย สนับสนุนให้มีกิจกรรมทางกาย เป็นพื้นที่ส่วนรวมของทุกคนในสังคม ควบคู่การรณรงค์สื่อสารสร้างความตระหนักถึงภัยของความเหงา คือ ภัยคุกคามด้านสาธารณสุข” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว. -สำนักข่าวไทย