หยุด “รักลูก” แบบมีเงื่อนไข? เด็กไทยเครียด-ซึมเศร้า แบกความหวังพ่อแม่
หยุด “รักลูก” แบบมีเงื่อนไข? เด็กไทยเครียด-ซึมเศร้า แบกความหวังพ่อแม่
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนไทย ที่เด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงในห้างดังกลางกรุง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ บาดเจ็บ 5 ราย
เหตุการณ์ข้างต้น นำไปสู่การตั้งคำถามของสังคม เหตุใดเด็กจึงก่อเหตุเช่นนี้ สาเหตุมาจากอะไรกันแน่ โดยบางส่วนมีการมองว่า เกิดจากการลอกเลียนแบบเกม หรือไม่ ขณะที่บางส่วนพูดถึงการเลี้ยงดู และความสัมพันธ์ในครอบครัว
ทีมข่าว TNNOnline ขอยกข้อมูลสถิติเกี่ยวกับความเครียด และโรคซึมเศร้าของเด็กไทย ที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง และนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต
สำรวจ พบเด็กไทยเครียด – ซึมเศร้า พุ่ง!
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยข้อมูล สถานการณ์เด่น จากผลสำรวจเยาวชนอายุ 15 – 21 ปี เกือบ 20,000 คน ทั่วประเทศ ใน 4 ด้าน พบ 4 สถานการณ์เด่น
1. วิกฤติโควิด ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบาง
2. ภาวะการเรียนรู้ถดถอย ในเด็กทุกระดับ
3. สุขภาพจิต ความเครียด ซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เครียดเรื่องเรียน ผู้ปกครองยังคาดหวังสูง
4. ความรุนแรง มีเด็กตกเป็นเหยื่อมากขึ้นและมีรูปแบบที่แนบเนียน
แต่ละวันมีเด็กและเยาวชน 46% เผชิญความรุนแรง เกิดในบ้านตัวเอง 18% และพบมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ มีข้อมูลการสำรวจความปลอดภัยในโลกออนไลน์ใน 30 ประเทศ ไทยติดอันดับ 29 ซึ่งจะเห็นว่าเด็กไทยจำนวนมากถูกคุกคามในโลกออนไลน์
พบเด็กไทยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
รายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและวัยรุ่น ในเอเชียตะวันออกแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย ยูนิเซฟ (unicef) กรมสุขภาพจิต และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ในประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า วัยรุ่นไทย อายุ 10-19 ปีประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทย อายุ 5-9 ปีประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
นอกจากนี้ ยังพบว่า การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจสุขภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบกับร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า มีวัยรุ่นโทรเข้ามาขอรับบริการปรึกษาในเรื่องความเครียดสูงสุด โดยกลุ่มของวัยรุ่น อายุ 11-19 ปี โทรมาขอรับบริการปรึกษา สายด่วนสุขภาพจิต ประมาณ 10,000 สาย ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกสำหรับวัยรุ่น ได้แก่ อันดับที่ 1 ความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 51.36 อันดับที่ 2 ปัญหาความรัก ร้อยละ 21.39 และ อันดับที่ 3 ซึมเศร้า ร้อยละ 9.82
หยุด “รักลูก” แบบมีเงื่อนไข?
ประเด็นนี้ อาจารย์อธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยระบุความเห็นไว้ว่า การรักลูกของพ่อแม่หลายๆ ครอบครัว อาจจะเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า โดยไม่รู้ตัว ความกดดันต่างๆ ที่ส่งตรงถึงลูก กลายเป็นดาบแหลม ทิ่มแทงตัวลูก
ความรักของพ่อแม่ในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ รักลูกแบบไม่มีเงื่อนไข รักที่ตัวตนของลูก รักในสิ่งที่ลูกเป็น จะสร้างเสริมเกาะป้องกัน ไม่ให้ลูกเกิดโรคซึมเศร้าได้ และแบบที่สอง คือ รักที่มาพร้อมเงื่อนไข ลูกจะได้รับความรักจากพ่อแม่ ก็ต่อเมื่อลูกประสบผลความสำเร็จ ที่พบมากที่สุด คือ “ลูกต้องเรียนเก่ง”
วารสารวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยนครราชสีมา โดย อ.ดร.พจ.ศญาดา ด่านไทยวัฒนา รองคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา ระบุว่า การเปรียบเทียบแข่งขันที่มากเกินไป การตั้งใจเรียนเป็นเด็กดีอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในชีวิต เด็กที่เรียนเก่งมาตลอด ไม่เคยผิดหวังเลย และเด็กที่ผิดหวัง มาตลอด เด็ก 2 กลุ่มนี้เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า เด็กและเยาวชนในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ประสบกับปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุมาจากการเรียน เช่น ในประเทศเวียดนาม โรงพยาบาลจิตเวช Mai Huong ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงฮานอยได้สำรวจนักเรียนประถมและมัธยมต้น จำนวน 1,200 คน ในกรุง ฮานอย พบว่า 19.4% ของนักเรียนมีปัญหาทางจิต สาเหตุส่วนใหญ่ของ ปัญหามาจากแรงกดดันให้เรียนหนักจากผู้ปกครอง
ข้อมูลอ้างอิง : วารสารวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยนครราชสีมา
ภาพ : TNNOnline