“หอมวาริน” พันธุ์ข้าวทางเลือกรองรับสภาพภูมิอากาศวิกฤต | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
รวงข้าวสีเหลืองในแปลงนาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คือ “ข้าวเจ้าหอมวาริน” พันธุ์ข้าวทนแล้ง
แปลงขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมวาริน (ภาพจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
รศ.ดร.สุรีพร เกตุงาม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโท ทดลองนำเมล็ดพันธุ์ปลูกในแปลงนาวิจัย เป็นผลผลิตจากการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวทนทานสภาพเครียดหลายลักษณะรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวิกฤต เพื่อพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โครงการนี้ใช้สายพันธุ์ข้าวต้นกำเนิด IR57514 เพราะมีฐานพันธุกรรมทนแล้ง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ปลูกได้ดีในลุ่มน้ำโขงและให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดี แต่มีข้อจำกัดที่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะเป็นข้าวแข็งและไม่หอม จึงคัดเลือกมาผสมกับขาวดอกมะลิ 105 ปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีผสมกลับ ใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยคัดเลือกลักษณะยีนความหอมและคุณภาพการหุงต้มให้เหมือนขาวดอกมะลิ ใช้ดีเอ็นเอช่วยคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์จนได้ต้นแบบ Jasmine IR57514 หรือ “หอมวาริน”
รศ.ดร.สุรีพร เกตุงาม (ภาพจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนศึกษาพันธุ์ ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตและคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ดีเด่น เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน จนเลือกออกมาได้พันธุ์เดียวและขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชใหม่เป็น “หอมวาริน”
ผลผลิตที่ได้จาก 10 แหล่งปลูกในภาคเหนือและภาคอีสาน เฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนการทดลองปลูกในนาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ผลผลิตสูงเกือบ 1 ตันต่อไร่
ล่าสุดมีการต่อยอดงานวิจัยเพิ่มยีนต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ต้านทานเพลี้ยกระโดด เพื่อให้หอมวารินทนทานสภาพเครียดที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดสอบผลผลิตในระดับระหว่างสถานี และจะทดสอบในนาเกษตรกรปี 2567
อ่านข่าว : ไทยส่งออกข้าวเพิ่ม 10% ยังติดหล่มพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ช้า
รวงข้าวเจ้าหอมวารินพร้อมเก็บเกี่ยว
รศ.ดร.สุรีพร บอกถึงสาเหตุที่เน้นพันธุ์ข้าวทนทานสภาพเครียดในสภาพวิกฤต มองว่าจะลำบากหากไม่มีทางเลือกของแหล่งพันธุกรรม เพราะใช้เวลานาน แต่หากมีแหล่งพันธุกรรมก็สามารถเร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวคุณภาพให้มีความแข็งแกร่งได้ในอนาคต
ยืนยันการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมวารินโดยใช้ดีเอ็นเอ ไม่ใช่การดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) เพราะระบบค้าข้าวในประเทศไทยระมัดระวังเรื่องนี้ อีกทั้งไม่อนุญาตให้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในไทย จึงมั่นใจว่าไม่มีข้าวจีเอ็มโอในประเทศ
รศ.ดร.สุรีพร กล่าวว่า ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด คิดเป็น 60% ของพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทย ปลูกข้าวหอมมะลิ 2 สายพันธุ์คือ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ได้ผลผลิตข้าวเจ้าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ไม่เกิน 400 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะเดียวกันโรงสีส่วนใหญ่ก็รับซื้อเฉพาะข้าว 2 พันธุ์นี้ แต่อยากให้เกษตรกรลองเปิดรับและนำพันธุ์ใหม่ไปใช้ ไม่จำกัดแค่หอมมะลิเท่านั้น
ข้าวของเราเป็นพันธุ์ทางเลือกที่รองรับสภาพวิกฤต ทนแล้ง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคไหม้ หอมนุ่มคล้ายขาวดอกมะลิ 105 และได้ผลผลิตสูงกว่า
บรรยากาศเยี่ยมชมแปลงงานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รศ.ดร.สุรีพร กล่าวว่า ตั้งใจพัฒนาพันธุ์เพื่อรองรับสภาพเครียด สภาพวิกฤต จะได้พันธุ์ที่เรียกว่า Resilience rice varieties รองรับสภาพเครียดในอนาคต ดังนั้นพันธุ์ข้าวต้องปรับตัวให้ทนโรค ทนแมลง ทนน้ำท่วม ทนแล้ง แต่ก็ไม่ลืมคุณภาพที่ยังคงความหอมและความนุ่ม
เป็นหนึ่งในความตั้งใจพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับวิกฤตสภาพอากาศ ทำให้ข้าวแข็งแรง มีผลผลิตมากขึ้น แต่ยังคงคุณภาพ “ข้าวหอมวาริน” จึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อเกษตรกรและผู้บริโภค
อ่านข่าวอื่นๆ
“เอลนีโญ” พ่นพิษ “ฝนแล้ง-น้ำลด ” กระทบพืชผลเกษตร
ชาวนาเฮ ! รัฐบาลไฟเขียว สั่งพักหนี้-หนุนจ่ายไร่ละ 1,000 บาท
ปล่อยฟรี!น้ำตาลหน้าโรงงานขึ้น 2 บาท กกร.เลิกคุมขายปลีก-ส่งออก
ข้าวโพดหวาน อาหารสำเร็จรูป “อานิสงส์ ” ถก FTA ไทย-เอฟตา