ห่วงหญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านม & มะเร็งปากมดลูก แนะตรวจคัดกรองเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-โรงพยาบาลราชพฤกษ์ห่วงหญิงไทย ป่วยมะเร็งเต้านม& มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายที่ต้องตระหนัก เผยมะเร็งเต้านม พบมากที่สุด ขณะที่มะเร็งปากมดลูก แต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มเกือบ 10,000 ราย อัตราเสียชีวิตถึงครึ่งหนึ่ง เฉลี่ยมากถึงวันละ14 ราย แนะตรวจคัดกรองเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาด
วันนี้ (24 ต.ค.) ณ ห้องประชุม ชั้น 13 โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ได้จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง มะเร็งเต้านม & มะเร็งปากมดลูก ภัยร้าย ใกล้ตัวที่คุณ รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันได้ เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเนื่องในวันมะเร็งเต้านมโลก (World Breast Cancer Day) ประจำปี 2566 มีนายแพทย์ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลราชพฤกษ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีวิทยากรให้ความรู้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประกอบด้วย รศ.พญ.จิราภรณ์ ศรีนัครินทร์ เฉพาะทางรังสีวิทยาวินิจฉัย อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง ศูนย์เต้านมครบวงจร (Breast Center),
พญ.ชนิดาภา มหาวีรวัฒน์ เฉพาะทาง ศัลยศาสตร์ คลินิกศัลยกรรม ศูนย์เต้านมครบวงจร (Breast Center), ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ เฉพาะทาง อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คลินิกอายุรศาสตร์, พญ.ชนิดาภา มหาวีรวัฒน์ เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ ผศ.พญ.ศรีนารี แก้วฤดี เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา อนุสาขา เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
มะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.2 ล้านคน เสียชีวิตราว 680,000 คน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในเดือนตุลาคมของทุกปีองค์กรต่างๆ ทั่วโลกจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านม
สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 17,043 คน หรือคิดเป็น 47 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ เฉพาะทาง อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คลินิกอายุรศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคนี้ก็ถือว่าเป็นยุคที่หลายๆคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่า มะเร็งเต้านม ก็ถือเป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงไทย ซึ่งเชื่อว่าเพียงแค่การคลำหาก้อนที่เต้านมเพื่อตรวจความผิดปกติด้วยตัวเองนั้น อาจจะยังไม่ทำให้ผู้ที่รักสุขภาพทุกท่านรู้สึกมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยกับภัยเงียบที่เรามองไม่เห็น
เพื่อประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในปัจจุบันยังมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจด้วยเครื่อง แมมโมแกรม เพราะเป็นวิธีตรวจหามะเร็งที่ดีที่สุดอันหนึ่ง โดยจะทำการฉายภาพเต้านมข้างละสองรูปรวมทั้งหมดเป็น 4 รูปเมื่อภาพของแมมโมแกรมออกมาแล้ว รังสีแพทย์จะอ่านภาพเต้านมบนจอที่มีความละเอียดสูงเพื่อค้นหาความผิดปกติของเต้านมของท่านว่ามีหรือไม่? ถ้ามี มีอย่างไร ระยะไหน ? เพราะการตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีที่สามารถเห็นก้อนเนื้อร้ายได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มหรือตอนที่ยังมีขนาดเล็ก
รศ.พญ.จิราภรณ์ ศรีนัครินทร์ เฉพาะทางรังสีวิทยาวินิจฉัย อนุสาขาภาพวินิจฉัยชั้นสูง ศูนย์เต้านมครบวงจร (Breast Center) กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เมื่อตรวจเจอไว รักษาให้หายได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดก็สามารถไว้วางใจได้เลย เพราะโรงพยาบาล สามารถรักษาโรคเต้านมแบบครบวงจร โดยทีมแพทย์และสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่หลากหลายและทันสมัย ได้มาตรฐานสากล กับคุณภาพห้องผ่าตัด และเครื่องมือที่สะอาด ปลอดภัย รักษาโดยทีมศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลห้องผ่าตัด ครบทีม มาตลอด 30 ปี
ผศ.พญ.ศรีนารี แก้วฤดี เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา อนุสาขา เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่า แม้ในปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูกจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ ร่วมกับการฉีดวัคซีน แต่มะเร็งปากมดลูกกลับเป็นมะเร็งร้ายที่พบได้บ่อยในหญิงไทย โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 10,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตถึงครึ่งหนึ่ง หรือเฉลี่ยเป็นจำนวนมากถึงวันละ 14 ราย
และตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ ยังรู้สึกอายและกลัวที่จะพบแพทย์ จนทำให้ละเลยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน ไม่รวมถึงผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ชะล่าใจ เพราะเห็นว่าร่างกายปลอดภัยดี รู้ตัวอีกทีก็มาหาแพทย์ในระยะที่ลุกลามแล้ว จะเห็นว่ามะเร็งปากมดลูกไม่ใช่โรคไกลตัว แต่เป็นภัยร้ายใกล้ตัวและเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดที่ผู้หญิงทุกคนสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันนี้ คือเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดควรฉีดวัคซีนป้องกันร่วมด้วย