อธิบดี ทช. ระบุทะเลเดือดทำปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวใน 3 จุดใหญ่ของไทยน่าห่วง
ตราด – อธิบดี ทช. ระบุภาวะโลกเดือดทำประเทศไทยพบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวใน 3 จุดใหญ่ทั้งที่ทะเลอันดามันตอนล่าง อ่าวไทยด้านตะวันตก และอ่าวไทยด้านตะวันออก โดยที่ จ.ชุมพร รุนแรงสุดถึง 90% ส่วนที่ตราดอยู่ในระดับ 30-50%
วันนี้ (9 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่าจากการลงพื้นที่ ต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเพื่อสำรวจหญ้าทะเลด้านหน้าเกาะกระดาด ต.เกาะหมาก พบว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงทั้งอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น และกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปได้ทำให้หญ้าทะเลบริเวณดังกล่าวตายเป็นจำนวนมาก
ขณะที่สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และหลายประเทศถือเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 และหลายประเทศมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น
โดยในประเทศไทยพบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวใน 3 จุด คือ พื้นที่ทะเลอันดามันตอนล่าง พื้นที่อ่าวไทยด้านตะวันตกใน จ.ชุมพร และฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกที่ จ.ตราด ซึ่งทั้ง 3 จุดมีสถานการณ์รุนแรงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ และปัจจัยเรื่องกระแสน้ำที่เปลี่ยนไป
“จากข้อมูลในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่ โดยบางจุดมีความรุนแรงมากถึง 80-90% โดยเฉพาะที่ทะเลใน จ.ชุมพร และที่ ต.เกาะกูด และ ต.เกาะหมาก จ.ตราด ที่พบปะการังฟอกขาวในระดับ 30-50% ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีที่ไม่เสียหายมากตามที่มีการคาดการณ์ไว้ครั้งแรก”
นอกจากนั้น ยังพบว่าปัญหาอื่นๆ ที่คุกคามปะการังให้ตาย มีทั้งตะกอน น้ำเสีย และครีมกันแดดที่นักท่องเที่ยวใช้ทาผิว ซึ่งหลังจากนี้ไปกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเร่งรณรงค์ไม่ให้มีการใช้ในปริมาณมากเพราะอาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว อีกทั้งอุณหภูมิของประเทศที่ยังไม่ได้ผ่านช่วงฤดูร้อนที่สุด ทำให้ปะการังเครียดต่อเนื่อง โดยคาดว่าหากอุณหภูมิลดลงปะการังอาจได้พักบ้าง
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังเผยอีกว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและหญ้าทะเลตายของประเทศไทยขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีการเกิดต่อเนื่องในหลายจุด หลายพื้นที่และหลายระดับน้ำทะเลที่ลดต่ำลงกว่าปกติ และหากสภาพอากาศร้อนนานขึ้นยิ่งจะทำให้ปะการังร้อน หญ้าทะเลจะพากันแห้งตายในอีกหลายพื้นที่
โดยแนวทางแก้ไขมี 2 วิธีการ คือ การแก้ไขแบบการทำงานเชิงรุกด้วยการปลูกปะการังและปลูกหญ้าทะเลซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นได้รวดเร็ว
อีกวิธีคือ การแก้ไขด้วยการปรับสภาพแวดล้อมของทะเล และปล่อยไปตามธรรมชาติซึ่งปะการังและหญ้าทะเลจะได้รับการฟื้นฟูในเวลา 5-10 ปี
“ในพื้นที่ จ.ตราด เราเห็นโอกาสที่ปะการังและหญ้าทะเลมีโอกาสรอดสูง ผิดกับอีกหลายพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง ทั้งชุมพร และอันดามัน ซึ่งที่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด โชคดีที่มีเครือข่ายอาสาสมัครที่เข้มแข็ง และยังได้ร่วมมือกับ ทช.ในการดูและฟื้นฟูในหลากหลายรูปแบบ”
โดยมาตรการสำคัญที่กรม ทช.จะดำเนินการต่อไปใน อ.เกาะช้าง และเกาะกูด คือการประกาศให้พื้นที่ทะเลช่วง อ.เกาะกูด เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ส่วนในพื้นที่ อ.เกาะช้าง ที่มีสภาพเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีมาตรการที่เข้มแข็งจึงไม่น่าเป็นห่วง