อนิจจา! ชาวนาไทยจนสุดในเอเชีย 10 ปีย่ำอยู่กับที่ หนี้ท่วม เอลนีโญถล่มซ้ำ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – กว่าทศวรรษนับเนื่องจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีโครงการรับจำนำข้าว มาจนถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคร่วมรัฐบาลคือประชาธิปัตย์มีโครงการประกันราคาข้าว โดยทุ่มเทงบประมาณไปนับล้านล้านบาท แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าชาวนาไทยยังยากจนที่สุดในเอเชียและอาเซียน แบกหนี้เรื้อรัง หาทางหลุดพ้นจากความจนไม่เจอ
การวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลของ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ชี้ว่า ในช่วง 10 ปี นับจากปี 2555-2565พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้และเงินคงเหลือของชาวนาไทยน้อยกว่าคู่แข่ง ส่วนต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย
จากบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการแทรกแซงตลาดข้าวไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาข้าว หรือการรับจำนำข้าว 10 ปีที่ผ่านมา ย้ำชัดเจนว่า นโยบายการแทรกแซงตลาดไม่ได้ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าชาวนา แต่ชาวนากลับมีรายได้ลดลงและติดลบ ฐานะของชาวนาไทยถือว่ายากจนที่สุดในเอเชียและกลุ่มประเทศอาเซียน
การสำรวจและวิเคราะห์ของ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว ที่เคยกล่าวในเวทีข้าวไทย ปี 2565 จัดโดยมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าหลังจากพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมเกทับกันในเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำ และการประกันรายได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่างๆ ใช้เงินอุดหนุนราคาข้าวให้ชาวนารวม 1.2 ล้านล้านบาท ข้าวจากพืชเศรษฐกิจดีๆ วันนี้ถูกลากจูงเข้าไปสู่พืชการเมือง มีการใช้ระบบประชานิยมเป็นตัวจับ และมีการเกทับทางการเมือง จนส่งผลให้เกิดปัญหาร้ายแรง คือ เศรษฐกิจข้าวไทยทั้งระบบแม้ไม่ถึงกับพังแต่มันเสื่อมถอยลง
สำหรับโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดส่งผลกระทบอุตสาหกรรมข้าวไทยในระยะยาว เช่นเดียวกับโครงการประกันราคาข้าวที่ รศ.สมพร มองว่าเป็น “นโยบายแช่แข็งเกษตรกร” เพราะเกษตรกรไม่ปรับตัวอะไรเลยพอทำนาเสร็จก็รอเงินช่วยเหลือจนทำให้ศักยภาพการผลิตข้าวของไทยสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ ทั้งนี้ การอุดหนุนชาวนาควรช่วยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงหรือกลุ่มที่เปราะบาง รัฐบาลควรต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยข้าวแบบมีพลวัตร เพิ่มงบลงทุนวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากที่เคยได้รับจัดสรรเพียงปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินประกันรายได้ที่รัฐจ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าจะให้ข้าวไทยกลับมาเข้มแข็งต้องปรับนโยบายลดทอนการอุดหนุนราคาข้าวแล้วเปลี่ยนมาเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแทน
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แจกแจงข้อมูลการผลิตข้าวของโลก เมื่อปี 2565 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145,946 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 28.5% ของการผลิตข้าวสารโลก อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวสารของจีนลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลง 0.4% อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.5 ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งการผลิตข้าวสารของอินเดียเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 หรือคิดเป็น 3.8%
ขณะที่ การส่งออกข้าวของโลกพบว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 2565 คือ อิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน
ส่วนประเทศอาเซียนที่ส่งออกข้าวไปโลกมากที่สุดในปี 2565 ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยส่งออกเป็นมูลค่า 3,548 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2,186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 406 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 394 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญทั้งกับไทยและเวียดนาม รวมไปถึงเมียนมาและกัมพูชาด้วย
สภาพความเป็นอยู่อย่างยากจนของชาวนาไทยที่ย่ำอยู่กับที่ไม่มีอะไรดีขึ้นดังกล่าว ทางผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งว่าภาครัฐต้องเข้าไปแก้ปัญหาชาวนา และปัญหาข้าวของไทยให้ตรงจุด และต้องดูคู่แข่งเป็นกระจกสะท้อนว่าประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาข้าว ที่ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ที่ดีขึ้นได้อย่างไร ส่วนเม็ดเงินในการแทรกแซงตลาดข้าว หรือแทรกแซงสินค้าเกษตรของไทย ควรนำเงินจำนวนนั้นมาจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันจะดีกว่า
นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องคิดถึงเรื่องน้ำให้มากที่สุด เรื่องน้ำจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสำคัญต่อการทำนาและภาคเกษตรทั้งระบบ ภาครัฐควรจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่ออุดหนุนเกษตรกรรายบุคคลหรือรายกลุ่มเพื่อนำเงินไปขุดบ่อเก็บกักน้ำ เตรียมรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญซึ่งรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางรับมือ
เอลนีโญถล่มซ้ำ ภาคเกษตรเสียหาย 4.8 หมื่นล้าน
ต้องไม่ลืมว่า ปี 2566 เอลนีโญรุนแรงรอบใหม่เริ่มขึ้นแล้ว ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กเตือนถึงสภาวะอากาศที่แปรปรวนมาเป็นระยะๆ โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่า Extreme Weather จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ …. ขณะที่โลกร้อนเริ่มส่งผลหนัก ในเมืองไทยก็ป่วน เอลนีโญทำฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปรกติ แต่บางจุดก็กระหน่ำหนักจนน้ำระบายไม่ทัน
ดูภาพรวมแล้ว ฝนในเมืองไทยปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วมากและน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี นั่นคือเอลนีโญ แต่เมื่อน้ำทะเลร้อน ไอน้ำระเหยมาก อีกทั้งอากาศร้อนจุน้ำได้เยอะ อากาศร้อนขึ้น 1 องศา เก็บไอน้ำได้เพิ่ม 7% เมฆจะมีน้ำมากขึ้น หากตกแช่เป็นเวลาสั้นเพียง 1-1.30 ชั่วโมง น้ำก็ท่วมในบางพื้นที่ได้แล้ว เพราะน้ำฝนที่ตกลงมามีปริมาณเยอะมาก ระบบระบายน้ำไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับฝนโลกร้อน น้ำจึงท่วมฉับพลัน และไม่นานก็ลดลง ซึ่งเป็นสภาพน้ำท่วมขังจากฝนกระหน่ำกรุงเทพฯในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดร.ธรณ์ ยังบอกเล่าว่าอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ น้ำร้อนผิดปรกติเคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น โดยเอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ซึ่งตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น
เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่ลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ น้ำทะร้อนจะส่งผลกระทบต่อปะการัง แพลงตอนบลูม/น้ำทะเลเปลี่ยนสี สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่าย และผลกระทบต่อพายุที่รุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เอลนีโญ รุนแรงรอบใหม่เริ่มขึ้นแล้ว สะท้อนผ่านปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำฝนในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย โดยคาดว่า เอลนีโญจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ที่จะมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ประกอบด้วย ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ คาดว่าจะมีความเสียหายรวมราว 48,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายหลักคือข้าวนาปี คิดเป็น 80% ของความเสียหายรวม
มองต่อไปในปี 2567 เอลนีโญอาจรุนแรงขึ้นและลากยาวถึงเดือนมีนาคม 2567 เป็นอย่างน้อย จะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย เพิ่มมูลค่าความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566 เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลักและปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยจนถึงวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง ทำให้ความเสียหายมีมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่นอย่างมันสำปะหลังและอ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายชัดเจน
นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567 อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 อาจปลูกไม่ได้หรือมีผลผลิตต่อไร่ลดลง ทำให้ภาพรวมในปี 2567 ความเสียหายของข้าวคงมีสูงทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2558
สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ คงต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่สูง และอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางจังหวะ ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำของไทย คงได้รับผลกระทบดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางธุรกิจและความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้นจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนด้านราคาและอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำ
ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย เช่น เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว อินเดีย เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในโลกเช่นกัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นต้น ผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบต้นน้ำจากแหล่งผลิตในแถบเอเชียคงต้องเผชิญราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง
ขณะที่ในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างประเทศในแถบอเมริกาใต้จะแตกต่างกันโดยจะมีปริมาณฝนที่มากกว่าปกติในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งแม้จะช่วยหนุนผลผลิตธัญพืชสำคัญให้เพิ่มขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น แต่เนื่องจากล่าสุด รัสเซียได้ประกาศยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านทะเลดำตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 จึงอาจส่งผลต่อภาพรวมราคาธัญพืชโลกที่น่าจะยืนในระดับสูง กระทบต่อผู้ประกอบการกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ต้องเผชิญราคานำเข้าธัญพืชต้นน้ำจากแหล่งผลิตในประเทศแถบอเมริกาใต้ที่มีราคาสูงเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปว่า จากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ จะกระทบต่อธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบให้ต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่อยู่ในระดับสูง และยังอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางจังหวะ ซึ่งไทยเองก็คงได้รับผลกระทบไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กล่าวได้ว่าสถานการณ์ภาคเกษตรของไทยและชีวิตเกษตรกรไทยยังมองไม่เห็นอนาคต อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผลผลิต สภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ยากจน ยังต้องทนทุกข์แบกภาระหนี้สินที่สะสม คล้ายกับยิ่งทำยิ่งขาดทุนหนี้สินยิ่งเพิ่มขึ้น
หนี้สินเกษตรกรสะสมต่อเนื่อง
หนี้สินครัวเรือนอ่วมอรทัย
สำหรับปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หนี้เกษตรที่เป็นปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย แต่ด้วยปัญหาทางด้านรายได้ส่งผลต่อการชำระหนี้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้เรื้อรังที่แม้จะเป็นสินเชื่อที่มีงวดจ่ายชำระชัดเจน แต่การพักชำระเงินต้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกหนี้เกษตรกรจ่ายชำระเฉพาะดอกเบี้ยและไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นเพื่อปิดจบหนี้ได้
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแยกแยะกลุ่มหนี้ และจะมีแนวทางดูแลหนี้เกษตรกรที่สอดคล้องกับศักยภาพของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม โดยจะให้ความสำคัญกับทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ยังพอมีศักยภาพ เช่น มีแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับศักยภาพครัวเรือนมากขึ้น จูงใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกษตรกรชำระหนี้ได้มากขึ้นและบ่อยขึ้น
สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้เรื้อรังและสูงอายุ ธ.ก.ส. ได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อแทนคุณ” เพื่อจูงใจให้ทายาทมารับภาระหนี้ต่อและเป็นการรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว และมาตรการลดภาระหนี้และดอกเบี้ยในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้
นอกจากหนี้สินกลุ่มเกษตรกรแล้ว ขณะนี้ หนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการแก้ไขอย่างยั่งยืนโดยร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ ตามที่ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เผยว่า มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนโดยเร่งบังคับใช้การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ดูแลหนี้เรื้อรัง กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้และกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้นั้น ธปท.จะเข้าไปดูแลหนี้เสียให้สามารถแก้ไขได้ หนี้เรื้อรังให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ หนี้ใหม่มีคุณภาพไม่กลายเป็นภาระในอนาคต และหนี้นอกระบบให้มีโอกาสเข้ามากู้ในระบบได้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
ทางด้าน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ได้ร่วมมือกับ ธปท. แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งเสริมสภาพคล่องผ่านมาตรการดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งการแก้หนี้เดิมและโครงการพักหนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มีลูกหนี้ที่ยังอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.88 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้ที่เคยสูงสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 6.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท
นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและเกษตรกรที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยและมีความไม่แน่นอนสูง มีกันชนทางการเงินจำกัด และกลุ่มข้าราชการที่แม้มีรายได้มั่นคงแต่ค่อนข้างน้อย อาจไม่เพียงพอรองรับภาระทางการเงินที่ต้องดูแลครอบครัว ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสถาบันการเงินสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ ทั้งการแก้หนี้เดิมและเสริมสภาพคล่องผ่านมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิดของธนาคารออมสิน มาตรการขยายระยะเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของหลายๆ สถาบันการเงินของรัฐ ตลอดจนการให้ความรู้ เสริมทักษะทั้งทางการเงินและอาชีพ เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยดังกล่าวผ่านช่วงวิกฤตไปได้
สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปลงมาเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี จะช่วยให้ลูกหนี้จ่ายเงินต้นได้มากขึ้น และมีโอกาสสูงขึ้นในการปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ และการส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในพันธกิจของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสถาบันการเงินสมาชิกที่ได้ดำเนินการมาแล้วและต้องดำเนินการต่อไป
นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบางกว่าลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เช่น พนักงานบริษัทหรือพนักงานในโรงงานที่มีเงินเดือนประจำค่อนข้างต่ำ หรือพ่อค้าแม่ค้าขายของที่มีหลักฐานทางการเงินจำกัดและต้องใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยในช่วงที่ผ่านมา Non-bank ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการ ธปท. อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ด้วยลักษณะเฉพาะของลูกหนี้กลุ่มนี้ ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างจำกัด ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการ แต่ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของการผ่อนชำระขั้นต่ำที่จำกัด ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้เรื้อรังค่อนข้างสูง ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทสมาชิก เห็นถึงความจำเป็นและพร้อมนำเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจสามารถปิดจบหนี้ โดยเริ่มจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และสนับสนุนให้เกิดการเสริมความรู้พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีควบคู่กันไป
ไม่ใช่แต่เพียงชาวนาไทยที่ยากจนที่สุดในเอเชีย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือแม้แต่พนักงานบริษัทและลูกจ้างโรงงานรายได้ต่ำ ก็อยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง มีภาระหนี้สินพะรุงพะรัง ก็ล้วนแต่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพราะการกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชนด้วยมาตรการแจกเงิน ก็ไม่ต่างกับโครงการรับจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าว ที่สุดท้ายนอกจากจะไม่ช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการทำลายระบบการพัฒนาข้าวและชาวนาไทยให้ล้าหลังอย่างสุดกู่