ข่าวสารกรุงเทพฯ

อินเดียระงับส่งออกข้าว ‘ไทย-เวียดนาม’ได้ประโยชน์


อินเดียระงับส่งออกข้าว ‘ไทย-เวียดนาม’ได้ประโยชน์ โดยรัฐบาลอินเดียตัดสินใจระงับการส่งออกข้าวหักและเก็บภาษีส่งออกข้าวหลายประเภทถึง 20%เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมราคาข้าว

เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซี นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการประกาศใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าวของรัฐบาลอินเดียว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาข้าวในตลาดโลก โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวในภูมิภาคเอเชีย

รายงานชิ้นนี้ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทโนมูระ ระบุว่า ‘ประเทศอินเดีย’ ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก ตัดสินใจระงับการส่งออก ‘ข้าวหัก’ ซึ่งเป็นเมล็ดข้าวที่มีความยาวน้อยกว่า 3 ใน 4 ของความยาวโดยเฉลี่ยของเมล็ดข้าวในล็อตเดียวกัน รวมถึงเมล็ดข้าวที่หักและเหลือไม่ถึง 80% ของเมล็ด ซึ่งการห้ามส่งออกข้าวชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชีย

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า อินเดียส่งออกข้าวมากกว่า 150 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการส่งออกข้าวทั่วโลก และในปี 2564 อินเดีย สามารถส่งออกข้าวได้ถึง 21.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการส่งออกข้าว ของบรรดาประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ 4 อันดับถัดไป ได้แก่เวียดนาม ไทย ปากีสถาน และสหรัฐ

แต่รัฐบาลอินเดียตัดสินใจระงับการส่งออกข้าวหัก และเก็บภาษีส่งออกข้าวหลายประเภทถึง 20% เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมราคาข้าว และเมื่อต้นปีนี้ ได้งดส่งออกธัญพืชและน้ำตาลด้วย เพื่อควบคุมราคาสินค้าในประเทศ เนื่องจากสงครามยูเครนส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารทั่วโลก นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวของอินเดียยังลดลงมากกว่าปีที่แล้ว 5.6% เนื่องจากปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อินเดียระงับส่งออกข้าว ‘ไทย-เวียดนาม’ได้ประโยชน์

รัฐบาลอินเดียประกาศว่า ผลผลิตข้าวช่วงหน้าฝนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค. อาจลดลง 10-20 ล้านต้น หรือผลผลิตอาจลดลงมากที่สุดถึง 7.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

“โซนัล เวอร์มา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจบริการการเงิน กล่าวว่า “ช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค.สำหรับประเทศอินเดียถือเป็นช่วงวิกฤตที่ปริมาณฝนตกน้อยมาก และฝนตกไม่สม่ำเสมอนี้ ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลงไปด้วย โดยรัฐผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียอย่าง รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐพิหาร และรัฐอุตตรประเทศ มีฝนตกน้อยลงประมาณ 30%-40% และแม้ฝนตกเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นเดือน ส.ค. แต่ก็ทำให้หว่านข้าวได้ช้า และเมื่อหว่านข้าวช้ามากเท่าไร ความเสี่ยงที่ผลผลิตลดลงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ในปีนี้ ข้าวยังคงมีราคาสูง เนื่องจากราคาขายปลีกในตลาดเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบเดือน ก.ค. ปีก่อนและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของราคาข้าวทะยาน 3.6% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. ปีก่อน 0.5%

รายงานของโนมูระ ระบุว่า การระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศผู้นำเข้าข้าวจากอินเดีย รวมถึงผู้นำเข้าข้าวจากประเทศอื่น ๆ เช่นกัน เนื่องจากการระงับนี้กระทบต่อราคาข้าวโลก ซึ่งแต่ละประเทศในเอเชีย จะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่น ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จัดเป็นเทศเปราะบางต่อการระงับส่งออกข้าวครั้งนี้มากที่สุด

ขณะที่ข้อมูลจากสตาติสตา เปิดเผยว่า ประเทศฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าข้าว 20% ของความต้องการบริโภคทั้งหมด จึงเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่ราคาข้าวจะแพงขึ้นมากที่สุดในเอเชีย โดยขณะนี้ ข้าวและผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของดัชนีราคาผู้บริโภคด้านอาหาร ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในภูมิภาค

ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของประเทศในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 6.3% มากกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้เพียง 2%-4% เท่านั้น โดยสาเหตุดังกล่าวบวกกับการงดส่งออกข้าวของอินเดีย จะยิ่งส่งผลกระทบต่อฟิลิปปินส์มากขึ้น

ส่วนอินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศอันดับสอง ที่อาจได้รับผลกระทบครั้งนี้มากสุดในเอเชีย ซึ่งโนมูระ ระบุว่า ประเทศอินโดนีเซียต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าว 2.1% ของความต้องการบริโภคข้าวทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ราคาข้าวเพิ่มขึ้น 15% ของดัชนีราคาผู้บริโภคด้านอาหารแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเทศอาเซียนบางแห่งอาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่นำเข้าข้าวจากอินเดีย 28.07% ในปี 2564 แต่จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เนื่องจากสัดส่วนราคาข้าว ในดัชนีราคาผู้บริโภคค่อนข้างต่ำ แต่ผู้บริโภคในสิงคโปร์ ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในด้านการบริการ 

ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลางอาจมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ เวอร์มา มีความเห็นว่า กลุ่มประเทศเปราะบาง จำเป็นต้องดูภาพรวมทั้งผลกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภคและดูว่าประเทศพึ่งพาการนำเข้า จะนำเข้าอาหารเท่าไร

ในทางกลับกันบางประเทศ อาจพลิกวิกฤตนี้เป็นโอกาสให้ประเทศได้รับประโยชน์ โดยประเทศไทยและเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์ จากการงดส่งข้าวของอินเดียในครั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับที่ 2 และไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ทำให้ทั้งสองประเทศเป็นทางเลือกใหม่ของบรรดาประเทศผู้นำเข้าข้าว เพื่อเติมเต็มปริมาณข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

ในปี 2564 เวียดนามมีผลผลิตข้าวทั้งหมดประมาณ 44 ล้านตัน ซึ่งมีมูลค่าส่งออกข้าว 3.1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศไทยสามารถผลิตข้าวได้ 21.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.18 ล้านตัน และด้วยการส่งออกที่มากขึ้น ประกอบกับอินเดียระงับส่งออกข้าว จนสร้างความกดดันต่อราคาข้าวให้พุ่งสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยและเวียดนามสามารถได้รับประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้



Source link