ข่าวสารกรุงเทพฯ

“ฮุซัยน์ บรอฮีม ทาร์ฮาร์” สัญญาณฟื้นสัมพันธ์ไทย-โลกมุสลิม | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส


การที่ “ฮุซัยน์ บรอฮีม ทาร์ฮาร์” (H.E. Mr. Hissein Brahim Taha) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิส ลาม (Organisation of lslamic Cooperation : OIC) เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากจะสะท้อนให้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-OIC ในปัจจุบันแล้ว ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ คือการวางตัวเป็นพันธมิตรที่ดีของไทย ต่อทุกๆ ประเทศในแถบตะวันออกกลางมาอย่างยาวนานด้วย

กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า การที่ฮุซัยน์เดินทางเข้าไปยังชุมชนกะดีจีน (กุฎีจีน) ย่านธนบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่นับถือหลากหลายศาสนาทั้งคริสต์ อิสลาม และพุทธ ยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ยืนยันให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโลกมุสลิมดีขึ้นตามลำดับ หลังจากก่อนหน้านี้ไทยและซาอุดิอาระเบีย ได้ยุติความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันนานถึง 32 ปี

แม้ OIC จะเป็นองค์กรที่รวมสมาชิกอิสลามทั้งหมด 57 ประเทศไว้ด้วยกัน และมีจำนวนประชากรอิสลามทั้ง หมด 1,200 ล้านคน แต่ด้วยบริบทความแตกต่างและนโยบายระหว่างประเทศที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ไม่ค่อยจะดีนัก ก่อนภายหลังจะได้รับฟื้นฟูจนกลับมากลมเกลียวสมานฉันท์ กลายมาเป็นคู่ค้า ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุน และการท่องเที่ยวในเวลาต่อมา

กวี บอกว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโลกมุสลิม โดยเฉพาะอิหร่านก็คงอยู่ในระดับดีมาก แม้อาจดูขัดแย้งกันบางเรื่อง และหากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบีย-อิหร่าน ซึ่งบางกลุ่มมักถูกมองว่าเป็นดั่งอภิมหาศัตรู แต่ในปัจจุบันนี้ได้รักษาความสัมพันธ์ และหันมาเป็นพันธมิตรกันในที่สุด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีผู้นำทางศาสนาที่สำคัญ โดยซาอุฯ เป็นผู้นำของนิกายซุนนี ส่วนอิหร่านเป็นผู้นำของนิกายชีอะฮ์

การที่ทั้งสองประเทศหันมาปรองดองกัน ทำให้การ เมืองในแถบตะวันออกกลางมีแรงขับเคลื่อนไปในทางที่ดี รวมไปถึงเหตุการณ์การประชุมสันติภาพที่ยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนนานาประเทศเข้าร่วมประชุมยกเว้นรัสเซีย ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศในแถบตะวัน ออกกลางไม่ใช่อาณาเขตเดิมที่คนทั่วโลกรู้จักอีกต่อไป

นักข่าวอาวุโส ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อไทยมาก เพราะไทยวางตัวเป็นพันธมิตรที่ดีต่อทุกๆประเทศในแถบตะวันออกกลางทั้ง 57 ประเทศ ขณะที่ ฮุซัยน์ ระบุว่า แม้ประเทศทางกลุ่มตะวันออกกลาง เช่นซาอุดิอาระเบีย จะร่ำรวยมหาศาล

แต่ประเทศส่วนใหญ่ใน OIC ยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบจาก Covid-19 และต้องการไทยเข้าช่วยเหลือในเรื่องของการให้ความรู้ด้านเกษตรกรรมและการประมง

ขณะที่ประเทศเล็กๆ เช่น มาลี บูร์กินาฟาโซ ซูดาน ยังคงมีปัญหาการสู้รบภายในพื้นที่ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขผ่านการร่วมมือจาก OIC โดยต้องดำเนินนโยบายลดความยากจนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แม้ไทยจะวางตัวเป็นกลาง และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในโลกมุสลิม แต่ไทยก็เผชิญปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีการนำไปสู่การแก้ไขผ่านการเจรจากระบวนการสันติสุขซึ่งมีมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจา

ส่วนความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชาวมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ นั้น ที่ผ่านมาไทยมีบทบาทมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและการประมงในแอฟริกา เช่น บางประเทศที่อยู่ชายทะเลของแอฟริกา เช่น โกตดิวัวร์ ไอวอรีโคสต์ ไอบีเรีย ไม่มีเครื่องทำความเย็น

และไทยได้เข้าไปช่วยเหลือและพัฒนา ติดตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็ง เพื่อให้ชาวแอฟริกาสามารถเก็บรักษาปลาให้สดไว้ได้ โดยมีคนไทยเลือกเข้าไปลงทุนทำห้องเย็นในพื้นที่กานา ไอวอรีโคสต์ ไนจีเรีย ทำให้ชาวแอฟริกาขายปลาได้นานมากขึ้น

นักข่าวอาวุโส ยังระบุอีกว่า นอกจากเข้าไปลงทุนทำโรงงานน้ำแข็งในแอฟริกาแล้ว ไทยยังเข้าไปส่งเสริม หรือที่เรียกว่าโปรแกรมไทกา ผลิตเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เช่น ผลิตรถตุ๊กตุ๊ก รถไถนา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบเพราะไม่เคยเป็นข่าว

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสองยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลางของกลุ่ม OIC อยู่ในระดับดีมาก โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นหนึ่งในการผลิตอาหารฮาลาลของโลกและส่งออกอาหารฮาลาลไปประเทศต่างๆ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นช่องในการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เช่น ศูนย์อาหารไทยในดูไบ และเทศกาลอาหารไทยของโลกมุสลิมในอนาคตข้างหน้า

กวี มองว่า การที่เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลามเข้ามาในไทยนับเป็นความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนการได้รับการยอมรับว่าไทยมีนโยบายดูแลชาวมุสลิมในไทยอย่างมีมาตรฐาน และความสัมพันธ์เหล่านี้จะมีผลดีในอนาคตต่อชุมชนชาวมุสลิม และช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้ตามลำดับ รวมทั้งจะทำให้ได้รับความร่วมมือและการความช่วยเหลือจากธนาคารอิสลามของ OIC (Islamic development bank) 

ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องรักษามาตรฐานอาหารฮาลาล สำหรับส่งออกให้เป็นที่ยอมรับสำหรับชาวอิสลาม เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไทยพยายามเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานที่จะเพิ่มสถานภาพของไทย และเพิ่มการยอมรับจาก OIC ให้มากขึ้น เป็นโอกาสส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยไปยังเวทีโลกในอนาคตอันใกล้ 



Source link