เกษตรกรจมกองหนี้ แค่การพักชำระหนี้ไม่เพียงพอ — BenarNews ไทย
ในจังหวัดยโสธรทางภาคอีสาน อานนท์ งิ้วลาย ทำนามาหลายสิบปีโดยที่เจ้าตัวอาศัยเงินกู้จากธนาคารเพื่อมาซื้อที่ดิน วัว ควาย ปุ๋ย และเครื่องมือในการทำนา
เมื่อปีที่ผ่านมา อานนท์ขอกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ เพื่อซื้อรถแทร็กเตอร์ราคา 1.2 ล้านบาท (ราว $32,000) ในเดือนมีนาคม อานนท์จ่ายหนี้เงินกู้บางส่วนไปบ้างแล้ว แต่ตามอายุสัญญาหนี้ ยังเหลืออีกราว 8 ปีกว่าที่จะชำระหนี้หมด เมื่อถึงตอนนั้น อานนท์จะมีอายุ 73 ปี
อานนท์ก็เหมือนกับเกษตรกรชาวไทยคนอื่น ๆ ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่กระนั้นก็ยังขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามปีของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการรักษาฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัจจัยที่ผลักดันให้เกษตรกรไทยต้องประสบกับวิกฤตหนี้สินล้นพ้นตัว
“ตอนนี้เป็นเพียงการประคองคนไข้ คนไข้ก็ยังเป็นโรค” อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์กล่าว
โครงการนี้เป็นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยสำหรับเกษตรกรที่มีเงินต้นคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ไม่เกิน 300,000 บาท (ราว $8,351) มีการประเมินว่าโครงการนี้จะเข้าถึงเกษตรกรเพียงหนึ่งในสามของเกษตรกรจำนวน 8 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยเท่านั้น
งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้เฉลี่ยราว 450,000 บาท และ 57% ของจำนวนเกษตรกรที่เป็นหนี้ ไร้หนทางที่จะชำระหนี้ได้หมด
เกษตรกรช่วยกันตัดเพื่อกำจัดหญ้าในนาข้าว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 21 มิถุนายน 2556 (อภิชาติ วีระวงษ์/เอพี)
“เราเน้นไปที่เกษตรกรรายย่อย เราต้องการช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดก่อน จำเป็นที่สุดก่อน” เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
‘นโยบายประชานิยม’
นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โครงการพักชำระหนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะคืนขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร อย่างไรก็แล้วแต่ นโยบายที่คล้ายคลึงกันในอดีตหลายรัฐบาลที่ผ่านไม่สามารถแก้ไขวงจรหนี้สินที่ไม่สิ้นสุดของเกษตรกรไทยได้
ประเทศไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนมาเป็นเวลานาน ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ราวหนึ่งในสามของประชากร 71 ล้านคนกำลังประสบกับภาวะหนี้สิน โดยคิดเป็นจำนวนราว 90% ของจีดีพี โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน ในขณะเดียวกัน หนี้สินเกษตรกรที่พุ่งสูงขึ้นก็อาจเพิ่มให้วิกฤตหนี้สินทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาหนี้สินครัวเรือนของเกษตรกรไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 75%
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 5 กันยายน 2566 หลังจากนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง (ศักดิ์ชัย ละลิต/เอพี)
โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรซึ่งใช้งบประมาณของรัฐมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาทในกรอบระยะเวลาสามปี เป็นหนึ่งในบรรดานโยบาย “ประชานิยม” ที่รัฐบาลใหม่ได้นำเสนอหลังการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนสิงหาคม
โครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าจัดทำ รวมไปถึงนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ต้องอัดฉีดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทเพื่อแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลายฝ่ายกล่าวว่าเป็นการแจกเงินแบบประชานิยมในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดเพิ่มเติม เช่น ลดค่าพลังงาน และขยายการพักชำระหนี้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มข้าราชการครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า รัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการหลุดพ้นจากการเป็นหนี้แต่อย่างใด
‘เลวร้ายยิ่งกว่าโครงการจำนำข้าว’
อาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนื้ กล่าวว่า “เท่าที่ฟังเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ดี ไม่ใช่ลูกหนี้ประเภท NPL ต้องดูว่าผิดกฏหมายการเงินการคลังหรือไม่”
อาจินเปรียบเทียบโครงการดังกล่าวกับโครงการจำนำข้าวที่เกิดขึ้นในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาในท้องตลาด
ในปี 2560 ยิ่งลักษณ์ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่เธอถูกโค่นล้มโดยการรัฐประหารในปี 2557 มีการประเมินว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างหนี้สาธารณะราว 500,000 ล้านบาทด้วยกัน
“รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยเจ้าหนี้ มันยิ่งกว่าจำนำข้าวอีก” อาจินกล่าว
ประชาชนจมกองหนี้
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าว ทุเรียน และยางพารารายต้น ๆ ของโลก แต่เกษตรกรหลายล้านคนกลับตกอยู่ในวงจรแห่ง “หนี้อมตะ”
“กู้มาแล้ว ส่วนหนึ่งเอาไปกลบหนี้เดิม หนี้อมตะ รองลงมาปุ๋ย สารเคมี 35% เมล็ดพันธ์ 15%… เกษตรกรมักติดอยู่ในวังวนการผลิตเชิงเดี่ยว และจะเปลี่ยนที่ดินนั้นปลูกอย่างอื่นไม่ได้เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ว่า ราคาปุ๋ยแพงขึ้น 11 เท่า หากเทียบกับราคาเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีรายได้ราว 260 บาท ($7.25) ต่อวันเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยในปี 2565 ที่ 337 บาท ($9.40) เสียอีก
วิฑูรย์ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมาต่างออกนโยบายอุดหนุนราคาผลผลิตเพื่อรับประกันรายได้ของเกษตรกร แต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินนั้นกลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข ในประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินของตนเองแต่อย่างใด
กลุ่มเกษตรกรขับรถแทร็กเตอร์กลับบ้าน หลังการชุมนุมบนทางหลวง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 (พรชัย กิตติวงศ์สกุล/เอเอฟพี)
สมศักดิ์ โยอินชัย เกษตรกรที่จังหวัดเชียงราย เป็นกรณีศึกษาในการหลุดจากวังวนแห่งการกู้หนี้ยืมสิน สมศักดิ์ ขอกู้จากธนาคารรัฐเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อเริ่มปลูกลำไย แต่กลับพบว่าต้นลำไยต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะออกผล
“ตอนกู้ครั้งแรกปลูกลำไย สี่ปีแรกไม่ได้เลย ปีที่สามเริ่มมีปัญหา ภาระครอบครัว การศึกษาลูก เอาเงินไปใช้ตรงนั้น แต่ก่อนปลูกกระเทียม กะหล่ำ ก็เป็นรายได้ประคับประคองครอบครัวสี่ปีแรก” สมศักดิ์กล่าว
ในช่วงเวลานั้น สมศักดิ์ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องกับธนาคาร ขณะนี้ เขาเปลี่ยนมาปลูกสมุนไพรแล้ว
“ตอนนี้ปลูกขิง ข่า ตะไคร้ ผมทำน้ำมันหอมระเหยพืชสมุนไพร มีสปามาซื้อ”
อัทธ์ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า กุญแจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตหนี้สิน คือการแนะนำให้เกษตรกรปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด มากกว่าการพึ่งพิงการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงิน หรือเงินอุดหนุน
“หากจะทำให้คนไข้หรือชาวนาหายป่วย ต้องทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ลดต้นทุน และปรับแนวทางการตลาดตามผู้บริโภค” อัทธ์กล่าว