เกิดอะไรขึ้นกับ “อิตาเลียนไทยฯ” บริษัทรับเหมาก่อสร้างเบอร์หนึ่ง ที่ตอนนี้เงินสดขาดมือ – BBC News ไทย
ที่มาของภาพ, Getty Images
แรงงานไซต์ก่อสร้างรวมตัวประท้วง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรียกบริษัทเข้าพบ หุ้นกู้ 5 รุ่น มูลค่ากว่า 14,455 ล้านบาท ต้องเลื่อนเวลาจ่ายออกไปอีกสองปี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตกอยู่ในวิกฤตสภาพคล่องแล้วอย่างแน่นอน ทว่าแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างชี้ว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของอิตาเลียไทยบริษัทเดียว เพราะ “มีอีกหลายรายที่น่ากังวล”
ปัญหาการเงินของอิตาเลียนไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. นี้ ที่มีรายงานข่าวว่าแรงงานตามไซต์ก่อสร้างออกมารวมตัวประท้วงเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่หลายงวด
รายงานแสดงสถานะทางการเงินของบริษัท โดยเฉพาะรายงานงบดุล (balance sheet) ประกอบกับการเคลื่อนไหวเรื่องการขอเลื่อนหุ้นกู้จำนวน 5 ชุด ออกไปเป็นเวลาสองปี รวมไปถึงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของทั้งบริษัทและของหุ้นกู้โดยบริษัทจัดอันดับเครดิต ต่างสะท้อนความ “อ่อนแอ” ทั้งสิ้น
ล่าสุด วันที่ 13 มี.ค. 2567 บริษัทอิตาเลียนไทยออกมายอมรับว่า ข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินเดือนพนักงานไม่ครบถ้วนที่ปรากฏต่อสาธารณชนก่อนหน้านี้ เป็นความจริงเนื่องจาก “ปัจจุบันบริษัทฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน”
บีบีซีไทยสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างเบอร์หนึ่งของประเทศ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ที่มาของภาพ, Getty Images
ปัญหาทางการเงินและการทำธุรกิจ ของอิตาเลียนไทยฯ
วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date) หมายถึงวันหมดอายุของตราสารหนี้/หุ้นกู้นั้น ๆ ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ชุดนั้น ๆ
อิตาเลียนไทยชี้แจงว่า ตลอดปี 2566 บริษัทประสบปัญหาจากปัจจัยภายนอกหลายประการ อาทิ สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย เท่านั้นยังไม่พอ อิตาเลียนไทยซึ่งรับงานของภาครัฐจำนวนมาก ยังเผชิญปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ล้าช้าและปริมาณงานที่ลดลง
อิตาเลียนไทยยังอยู่ระหว่างการขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน เพื่อเอาไปใช้เดินหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ และนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท โดยบริษัทชี้ว่าสินเชื่อที่จะได้มานั้น “จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้”
ที่ผ่านมา อิตาเลียนไทยเผชิญกับปัญหาความสามารถในการทำกำไร โดยบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส ออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ปีก่อน ระบุว่า “ผลงาน 20 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันความเสี่ยงที่ชัดเจน”
แม้บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะมีรายได้และโครงการต่าง ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่อิตาเลียนไทยมีความเสี่ยงจากการลงทุนที่ผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามคาดหลายครั้ง การลงทุนผิดพลาดครั้งใหญ่ ๆ อาทิ โครงการทวายในเมียนมา ที่อิตาเลียนไทยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,863 ล้านบาท แต่ถูกคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของเมียนมา (DSEZ MC) แจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2563 โดยอ้างว่าคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนที่จดทะเบียนในเมียนมา (Project Companies) ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทานและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้
ในช่วงปีที่แล้ว อิตาเลียนไทยยังมีปัญหาด้านเครื่องจักรจากโครงการเหมืองแม่เมาะ 9 รวมไปถึงปัญหาต้นทุนงานก่อสร้างบานปลายหลายโครงการ และส่วนแบ่งขาดทุนที่รับจากบริษัทร่วมในบังกลาเทศ นั่นคือ บริษัท First Dhaka Elevated Expressway Co., Ltd. ที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น หลังเงินสกุลตากาของบังกลาเทศอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินกู้สกุลดอลลาร์ของบริษัทร่วมดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้นในสกุลเงินท้องถิ่น
อิตาเลียนไทยมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าภายนอกประเทศสูงถึง 40.3% ในปี 2565 ซึ่งทำให้บริษัทตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย เอเชีย พลัส เคยระบุไว้ว่าประวัติการทำกำไรในอดีตของอิตาเลียนไทยผันผวนมาก “โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างในต่างประเทศที่มักเห็นการปรับเพิ่มประมาณการต้นทุนก่อสร้างขึ้นบ่อยครั้ง บวกกับรายการพิเศษทางลบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่า”
ต่อมาอิตาเลียนไทยได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 17 ม.ค. และ 30 ม.ค. 67 โดยผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มีมติเห็นด้วยกับการเลื่อนวันไถ่ถอนออกไปอีก 2 ปี
แม้จะสามารถรักษาสภาพคล่องของบริษัทไว้ได้ในระยะสั้น ด้วยการไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 14,455 ล้านบาทจากหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่นภายใน 2 ปีนี้ ทว่าปัญหายังไม่จบแค่นั้น
วันที่ 29 ก.พ. อิตาเลียนไทยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องส่งงบการเงิน ประจำปี 2566 ล่าช้า โดยคาดว่าจะส่งได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค. ส่งผลให้ในวัดถัดมา ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP หรือภาวะอยู่ระหว่างการห้ามซื้อขาย หุ้นของบริษัทอิตาเลียนไทย (ITD) ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทันที เนื่องจากบริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ
เงินขาดมือเพราะ “อ่อนแอและมีภาระหนี้สูง”
เมื่อพิจารณางบการเงินย้อนหลังของบริษัท พบว่าอิตาเลียนไทยขาดทุน 3 ปีต่อเนื่องระหว่างปี 2563-2565 ด้วยตัวเลข -1,104 ล้านบาท, -156 ล้านบาท และ -4,759 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับตัวเลขผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2566 ตามข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชนพบว่าบริษัทกลับมามีกำไรที่ตัวเลขราว 380 ล้านบาท แต่ก็เป็นตัวเลขแดนบวกที่มาจากสองไตรมาสแรกของปี ขณะที่ไตรมาสที่สามผลประกอบการกลับไปเป็นลบอีกครั้ง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าสิ่งนี้สะท้อน “ความผันผวน”
ลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาดูไม่ดีนัก และน่าจะไม่เติบโตในระดับที่หลายสำนักประเมินไว้ที่ 2-3% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญทั้งจากการที่ภาครัฐผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ล่าช้า รวมไปถึงภาคเอกชนที่ชะลอการลงทุน และการยืดระยะเวลารอจ่ายเงินหรือที่รู้จักกันในชื่อเครดิตเทอมออกไป “จากเดิม 2-3 เดือน ตอนนี้บางรายขอ 6 เดือนถึงจะจ่าย”
ตามปกติแล้ว บริษัทรับเหมาก่อสร้างจะถูกแบ่งเป็นบริษัทที่เน้นการรับงานจากภาครัฐ และบริษัทที่รับงานจากภาคเอกชน เมื่อผู้ว่าจ้างทั้งสองฝั่งต่างก็อยู่ในช่วงชะลอตัวในช่วงนี้ ปัญหาการเงินจึงมาตกที่ผู้รับเหมาโดยตรง
“ปกติเราจะประมูลงาน พอเราเริ่มทำงาน ทุกเดือนเราจะต้องเบิกเงินค่างวดงาน ถ้ามันล่าช้าหรือเราไม่มีโครงการใหม่ สมมติมีโครงการนึงที่กำลังจะเสร็จ แล้วงานใหม่ยังไม่มี อันนี้จะขาดสภาพคล่องแล้ว เพราะเรายังมีต้นทุนเรื่องค่าจ้างคนงานที่เราต้องจ้างไปเรื่อย ๆ งานก่อสร้างมันจะต้องมีรายได้เข้ามาทุกเดือน เพราะเรามีต้นทุนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว” นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ระบุ
ที่มาของภาพ, Getty Images
ปัญหาหนึ่งของผู้รับเหมาคือการถูกยืดระยะเวลารอจ่ายเงิน (เครดิตเทอมออกไป) “จากเดิม 2-3 เดือน ตอนนี้บางรายขอ 6 เดือนถึงจะจ่าย”
โครงสร้างรายได้ของอิตาเลียนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าบริษัทรับงานส่วนใหญ่ที่เป็นโครงการมูลค่ามหาศาลจากภาครัฐ โดยในปี 2565 งานก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ทางรถไฟ ระบบขนส่งมวลชน ระบบทางด่วน นำรายได้เข้าสู่บริษัทคิดเป็น 29.05% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ งานก่อสร้างสนามบิน ท่าเรือ และงานทางทะเล อีก 19.23% ดังนั้น เฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่สองประเภทดังกล่าวข้างต้นจากภาครัฐ ก็คิดเป็นรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทในปี 2565 แล้ว
อิตาเลียนไทยยังมีปัญหาสำคัญอีกประการ คือภาวะการมีหนี้สูง
ปัจจุบันอิตาเลียนไทยมีหนี้สินรวมที่ 107,600 ล้านบาท ส่งผลต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) หรือ D/E ซึ่งเป็นตัวเลขที่เอาไว้วิเคราะห์ว่าบริษัทหนึ่ง ๆ มีภาระหนี้สินคิดเป็นกี่เท่าของทุนหรือส่วนของเจ้าของ ซึ่งจะช่วยสะท้อนว่าบริษัทนั้น ๆ มีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า โดยปกติไม่ได้มีค่ากลางว่า D/E ต้องเป็นกี่เท่า ทว่าโดยทั่วไปแล้วนักลงทุนอาจยอมรับที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า (หนี้ 2 ส่วน ส่วนของเจ้าของ 1 ส่วน) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่มีค่า D/E เกิน 2 เท่าเป็นบริษัทที่มีภาระหนี้มากเกินไปจนนักลงทุนต้องหลีกเลี่ยง เพราะอาจเป็นธรรมชาติของบางอุตสาหกรรมหรือบางธุรกิจที่จะมีค่า D/E สูง
ตัวเลข D/E ของอิตาเลียนไทย อยู่ที่ระดับ 5.98 เท่าในปี 2563-2564 ก่อนพุ่งขึ้นมาเป็น 9.52 เท่าในปี 2565 และ 9.14 เท่าสำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2566
ตามรายงานแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2565-2567: ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จากวิจัยกรุงศรี พบว่าจากข้อมูลในปี 2564 บริษัทอิตาเลียนไทยมีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดในบรรดาบริษัทในธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่สัดส่วน 39.3% ขณะที่บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนไล่เลียงกันลงมาตามลำดับ
เมื่อไปดูตัวเลข D/E ของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน พบว่าตัวเลข D/E ของซิโน-ไทยในปี 2566 ทั้งปี อยู่ที่ 1.63 เท่า, ช.การช่างอยู่ที่ 2.72 เท่า, ยูนิคอยู่ที่ 4.53 เท่า และเพาเวอร์ไลน์อยู่ที่ 5.33 เท่า โดยมีเนาวรัตน์พัฒนาการที่มีตัวเลข D/E สูงถึง 8.46 เท่า เนื่องจากบริษัทขาดทุนสุทธิถึง 1,020 ล้านบาท ในปี 2566
หลังประกาศตัวเลขผลประกอบการไตรมาสที่สามออกมาในเดือน พ.ย. ต่อมาวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ทริสเรตติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตได้ออกมาปรับลดเครดิตองค์กรของอิตาเลียนไทยลง 1 ขั้น จากระดับ “BBB-” ลงมาเป็น “BB+” สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง “จากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างอ่อนแอและมีภาระหนี้ที่สูง”
ทริสเรตติ้งชี้ประเด็นสภาพคล่องที่ตึงตัว โดยระบุว่า ณ เดือน ก.ย. 2566 อิตาเลียนไทยมีเงินสดในมือ 4,600 ล้านบาท บวกกับวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกอีก 8,200 ล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท รวมแล้วราว 17,800 ล้านบาท แต่ว่ามีหนี้ที่ต้องจ่ายภายในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้ารออยู่ 26,400 ล้านบาท ซึ่งหนี้จำนวนนี้รวมหุ้นกู้ 5 ชุดที่บริษัทได้รับมติเห็นชอบให้เลื่อนวันกำหนดไถ่ถอนออกไปแล้ว
สถานการณ์ลูกจ้างและการช่วยเหลือ
ที่มาของภาพ, Getty Images
ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติในภาคธุรกิจก่อสร้างมากกว่า 650,000 คน
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศระบุว่าเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เข้าตรวจไซต์ก่อสร้างทั่วประเทศของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ แล้ว ซึ่งพบว่ามีทั้งสิ้น 25 โครงการทั่วประเทศ และพบว่ามีปัญหาหลักในไซต์งานในจังหวัดสระบุรี ปทุมธานี และระยอง “ซึ่งค้างจ่าย[ค่าจ้าง]มาตั้งแต่เดือน ม.ค.”
โสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นอกจากมีการส่งเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ลงพื้นที่ตามไซต์แรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อดูแลลูกจ้างทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคาดว่ามีทั้งสิ้น 20,000 คน ให้ได้รับค่าจ้างครบถ้วนแล้ว กรมฯ ยังได้เรียกบริษัทอิตาเลียนไทยให้เข้ามาพบในวันที่ 21 มี.ค. ที่จะถึงนี้ โดยอิตาเลียนไทยชี้แจงเบื้องต้นว่าจะทยอยจ่ายค่าจ้างที่คงค้างอยู่ให้กับแรงงาน “ภายในวันที่ 31 มี.ค.”
“คนเยียวยาคือนายจ้างก่อน เขาเริ่มทยอยแบ่งส่วนจ่ายตามที่เขาจ่ายได้ก่อน แต่ในส่วนของกรมฯ ถ้านายจ้างยังค้างค่าจ้าง แล้วเราออกคำสั่งไปแล้ว เรายังมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” โสภา กล่าว
ทางออกของยักษ์ใหญ่
ในแถลงการณ์ล่าสุดของอิตาเลียนไทยชี้ว่า “เนื่องจากรายรับจากโครงการยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายบริษัทฯ บริษัทฯ จึงต้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาบริหารกิจการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอสินเชื่อและเจรจากับธนาคารที่เกี่ยวข้อง” โดยจะใช้เวลาแก้ปัญหาระยะสั้นราว 2-3 เดือน
อิตาเลียนไทยระบุว่า หากบริษัทได้รับสินเชื่อใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณา สถานการณ์ของบริษัทฯ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2-3 เดือน
“เขา (ธนาคารพาณิชย์) จะปล่อยกู้ก็ต่อเมื่อผู้รับเหมาโชว์ให้เขาเห็นได้ว่าจะมีศักยภาพในการคืนเงินให้กับเขา เช่น งานประมูลใหม่ เวลานี้จิ๊กซอว์มันขาดไปเพราะว่าโครงการใหม่ไม่มี แล้วผู้รับเหมาก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปเป็นหลักประกันให้กับแบงก์ว่าเรามีปัญญามาใช้คืนนะ” ลิซ่า อธิบายสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในไทย
ที่มาของภาพ, Getty Images
“ถามว่า ‘too big too fail’ ไหม ต้องมองในภาพรวมว่าผลกระทบมันจะแรงขนาดไหน ถ้าปล่อยให้เขาล้มไป” นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าว
อีกส่วนที่สำคัญคือการกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชน ผ่านการลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือที่อยู่อาศัย และเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อเข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งองคาพยพ โดยเธอย้ำว่ารัฐบาลสามารถกำหนดรูปแบบการเช่าซื้อระยะยาวกับชาวต่างชาติเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินในไทยได้เช่นเดียวกัน
แม้จะมีการเคลื่อนไหวจากภาครัฐสำหรับกรณีของบริษัทอิตาเลียนไทย แต่สังคมยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบ “ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม” หรือ “Too Big Too Fail” แบบที่เกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีนที่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาอุ้มบริษัทเอาไว้ ทว่านายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ อธิบายว่า เนื่องด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีสายการผลิตกระจายไปทั่ว และเป็นกลุ่มธุรกิจที่เม็ดเงินลงไปถึงประชาชนหรือเศรษฐกิจจริงผ่านแรงงานที่สามารถนำค่าแรงไปใช้จ่ายได้ทันที หรือร้านวัสดุที่ส่งสินค้าให้กับผู้รับเหมาใช้ในแต่ละโครงการก็สามารถนำเงินที่ได้มาไปใช้สอยต่อ ดังนั้น หากบริษัทใหญ่ ๆ สักบริษัทล้มขึ้นมา หรือบริษัทระดับกลางหรือเล็ก 2-3 แห่ง ล้มขึ้นมา แรงกระเพื่อมย่อมสะท้อนออกไปยังประชาชนโดยตรง
“ถามว่า ‘too big too fail’ ไหม ต้องมองในภาพรวมว่าผลกระทบมันจะแรงขนาดไหน ถ้าปล่อยให้เขา[อิตาเลียนไทย]ล้มไป ผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจมันจะมากกว่าหรือเปล่า เวลาผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องจนถึงเจ๊ง บริษัทไม่ได้เจ๊งอย่างเดียว แต่ภาครัฐเองก็ไม่ได้งาน ภาษีก็ไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้รับเหมาก็ทิ้งงานไป กว่าจะมาเริ่มใหม่ คนเดือดร้อนที่สุดก็คือประชาชน”
สำหรับภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณ ฯ ปี 2567 ผ่านออกมาได้จริง สถานการณ์ของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างน่าจะดีขึ้น และจะทยอยเห็นโครงการภาครัฐเปิดประมูล ซึ่งน่าจะมีมูลค่าราว 300,000 – 400,000 ล้านบาท สำหรับปี 2567-2568 อาทิ โครงการทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา มูลค่า 19,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 30,000 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วทั้งคู่
ขณะที่งานอื่น ๆ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง (M9), โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง, งานสนามบินสุวรรณภูมิส่วนขยายฝั่งตะวันออก รวมกว่า 170,000 ล้านบาท คาดจะเปิดประมูลภายในครึ่งหลังของปี 2567 และโครงการอื่น ๆ อีก 150,000 ล้านบาท ในปี 2568