เชียงรายวิกฤต ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 15 เท่า
ชาวเชียงรายเผชิญกับคุณภาพอากาศเลวร้ายอย่างหนักตั้งแต่ 26 มี.ค. ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานทั้งของประเทศไทยและขององค์การอนามัยโลกหลายเท่าตัว
ประชาชนและสื่อมวลชนท้องถิ่นใน จ.เชียงราย ได้เผยแพร่ภาพท้องฟ้าขมุกขมัวจากฝุ่นควันและรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 ซึ่งอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตลอดทั้งวัน พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียช่วยกันผลักดันแฮชแท็ก #saveแม่สาย และ #saveเชียงราย เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์
บีบีซีไทยสรุปเหตุการณ์คุณภาพอากาศวิกฤตใน จ.เขียงราย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพไปตลอดทั้งสัปดาห์นี้ (27 มี.ค.-2 เม.ย.)
ค่าฝุ่น PM2.5 ทะลุเพดาน
วันที่ 26 มี.ค. 2566
เว็บไซต์ Air4Thai ของ คพ. รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน จ.เชียงราย จาก 3 สถานี ใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงราย อ. แม่สาย และ อ.เชียงของ บีบีซีไทยตรวจสอบค่า PM2.5 รายชั่วโมงจากทั้ง 3 สถานี ระหว่างเวลา 01.00-20.00 น. พบว่าค่าสูงสุดอยู่ที่ 770 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ที่ อ.แม่สาย เมื่อเวลา 05.00 น. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานของไทย (50 มคก./ลบ.ม.) ถึง 15 เท่า และเกินค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (ไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม.) อีกหลายเท่าตัว จัดว่าอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และยังเป็นค่า PM2.5 ที่สูงสุดของ จ.เชียงราย นับตั้งแต่ คพ. มีการบันทึกข้อมูลในระบบเมื่อ 24 ก.พ. 2566
เวลา 21.00 น. คพ. รายงานเพิ่มเติมว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ใน จ.เชียงราย ยังเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทั้ง 3 สถานีตรวจวัด คือ อ.แม่สาย 549 อ.เชียงของ 243 และ อ.เมืองเชียงราย 221 มคก./ลบ.ม.
วันที่ 27 มี.ค. 2566
เว็บไซต์ Air4Thai รายงานว่า ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ดัชนีคุณภาพอากาศยังสูงถึง 656 มคก./ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ มีระดับคุณภาพอากาศสูงถึง 100-400 มคก./ลบ.ม.
วันที่ 28 มี.ค. 2566
สถานการณ์ฝุ่นและมลพิษในพื้นที่ภาคเหนือยังหนัก โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในช่วงเวลา 8.00 น. จัดอันดับพื้นที่อากาศเป็นพิษสูงที่สุด 10 พื้นที่ ได้ดังนี้
ธรรมนูญ ขอสวัสดิ์ ผู้ประกอบอาชีพด้านการผลิตสื่อ ในจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า “อยู่เชียงรายมา 20 ปี ครั้งนี้หมอกมันหนามากเลย”
เขาระบุว่า ต้องให้ลูกสาววัย 4 ขวบอาศัยอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไว้ แต่แม้จะเปิดใช้งานเครื่องอยากหนัก ระดับอากาศพิษภายในบ้านก็ยังสูงถึง 80-300 มคก./ลบ.ม.
เมื่อถามว่าลูกสาวคิดอย่างไร เขาตอบว่า “ด้วยความเป็นเด็กเขาไม่รู้นะ เขาคิดว่าหมอกธรรมชาติ แต่ความจริงคือหมอกพิษ เขาคิดว่าสวยจังเลย แต่ความจริงแล้วมันไม่สวยนะ เขาเป็นเด็กเนาะ 4 ขวบ”
“ผมสงสารลูกมากเลย” ธรรมนูญ กล่าว และเขาอยากให้ทางการไทยเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา ให้ยุติการเผาพื้นที่ทางการเกษตร เพราะจากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม และรายงานของ Air4Thai พบว่า จุดแดงที่เกิดจากการเผานั้น ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่รอบนอกประเทศไทย
สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย รายงานจาก อ.แม่สาย จ.เชียงรายว่า พบเห็นหมอกควันจากเมืองท่าขี้เหล็กของเมียนมา โดย จนท.เทศบาลของเมียนมา ต้องใช้รถดับเพลิง พ่นน้ำหลายจุดเพื่อลดระดับอากาศพิษ ที่สูงกว่า 400 มคก./ลบ.ม.
กรมอนามัยประกาศเตือนภัย
นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนใน จ.เชียงราย ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย (ณ เวลา 11.00 น. ของวันที่ 26 มี.ค.) สูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า ระดับค่าฝุ่นละอองนี้ นอกจากจะส่งผลให้มีอาการแสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่มีโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และหากได้รับฝุ่น PM2.5 ในปริมาณมากในระยะยาว จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย ระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอดถูกทำลาย ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งในระยะยาว
กรมอนามัยแนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเองโดย 1) ลดระยะเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น 2) งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ 3) อยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่น 4) ดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์
ห่วงทารกแรกคลอด
ทพ.วีระ อิสระธานันท์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.แม่จัน จ.เชียงราย เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “Doctor กล้วย” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 55,000 คน โพสต์ภาพเครื่องฟอกอากาศในห้องทารกแรกคลอดในโรงพยาบาล ที่วัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ภายในห้องได้ที่ 389 ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมกับบรรยายภาพว่า “ห้องทารกแรกคลอดในวันที่หมอกควันหนักหนาสาหัส”
“เด็ก ๆ แรกเกิด ต้องมาพบเจอมลพิษแบบนี้ ปอดน้อง ๆ ก็เพิ่งเริ่มทำงานวันแรก ขนาดใช้เครื่องฟอกหลายตัว และยังมีเด็ก ๆ ในหอผู้ป่วยในอีก อย่างที่รู้เราใส่แมสก์ให้เด็กไม่ได้ แถมเรายังทำได้แค่บรรเทาด้วยเครื่องฟอกอากาศ แต่ภาวะแบบนี้ หมอก็ไม่รู้จะปกป้องดูแลเด็ก ๆ ยังไงแล้ว สงสารจังลูก” ทพ.วีระเขียนข้อความในโพสต์ดังกล่าว ซึ่งมีผู้แชร์ไปเป็นจำนวนมาก
วิจารณ์เทศบาลนครเชียงรายฉีดน้ำไล่ฝุ่น
เทศบาลนครเชียงรายพยายามบรรเทาผลกระทบจากวิกฤต PM2.5 ด้วยการใช้ลดบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร และ 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน “ฉีดน้ำล้างถนนและฉีดพ่นหมอกน้ำ” บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง แหล่งชุมชนสำคัญ หรือพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองหนาแน่น
แต่นักวิชาการได้ออกมาทักท้วงว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาหรือแก้ปัญหา PM2.5 ได้
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่าการฉีดพ่นน้ำขึ้นฟ้าไม่ได้ช่วยลดฝุ่น PM2.5 เพราะฝุ่นมีขนาดเล็กจิ๋วมาก หยดน้ำมีผลในการจับฝุ่นได้ค่อนข้างน้อย แต่กระแสลมมีผลกระทบมากที่สุดในการพัดพาฝุ่น ทางออกที่ต้องรีบทำคือต้องหยุดการเผาไหม้ทุกจุดในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดข้างเคียง
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า การฉีดพ่นละอองน้ำไม่สามารถดักจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กจิ่วมาก ๆ อย่าง PM2.5 ได้ แต่จะช่วยลดฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ เช่น ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10)
PM2.5 ในภาคเหนือพุ่งขึ้นเพราะอะไร
ค่าฝุ่น PM2.5 ใน จ.เชียงราย ไต่ระดับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รายงานการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดย GISTDA ระบุว่า “สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา”
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 25 มี.ค. GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ว่าพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย 4,376 จุด เมียนมา 12,581 จุด ลาว 8,535 จุด กัมพูชา 744 จุด เวียดนาม 720 จุด และมาเลเซีย 31 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย พื้นที่ที่พบมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ พื้นป่าอนุรักษ์ (2,103 จุด) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (1,502 จุด)พื้นที่เกษตร (364 จุด) พื้นที่ชุมชน (196 จุด) พื้นที่ สปก. (193 จุด) พื้นที่ริมทางหลวง (18 จุด) จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ แม่ฮ่องสอน (609 จุด) น่าน (439 จุด) และ กาญจนบุรี (322 จุด)
ทางด้านกรมอนามัยคาดการณ์ว่าในสัปดาห์นี้ (27 มี.ค.-2 เม.ย.) พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้งการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อนสะสมในเดือนมีนาคมสูงถึง 25,209 จุด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ