เฟมทวิต : ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยม และปมขัดแย้งในสังคมไทย – BBC News ไทย
แนวคิดสตรีนิยม (feminism) และกลุ่มผู้นิยมแนวคิดนี้ที่เรียกว่า “เฟมินิสต์” (feminist) กำลังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในหมู่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของไทย
#เฟมทวิต เป็นแฮชแท็กที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทางโซเชียลมีเดีย โดยเป็นคำเรียกในเชิงเสียดสีที่หมายถึง กลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ออกมารณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศระหว่างหญิงชาย และต่อต้านเรื่องการเหยียดเพศ ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง ผ่านการโพสต์ถ้อยคำในโลกออนไลน์ โดยที่ไม่ได้ลงมือทำอะไรอย่างแท้จริง แบบที่กลุ่ม “เฟมินิสต์” ตัวจริงเคลื่อนไหวรณรงค์อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
บีบีซีไทยจะพาไปดูประวัติความเป็นมาของแนวคิดสตรีนิยม และความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศนี้
กำเนิดแนวคิดสตรีนิยม
คำว่า “เฟมินิสม์” (feminism) หรือแนวคิดสตรีนิยม ได้รับการบัญญัติไว้โดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ชาร์ล ฟูรีเย ในปี ค.ศ.1837
ปัจจุบันสารานุกรมบริแทนนิกา ซึ่งเป็นสารานุกรมภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์มายาวนาน ได้นิยามความหมายของคำนี้ว่าเป็น “ความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง”
ขณะที่พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับอ็อกซ์ฟอร์ด ได้นิยามคำว่า “เฟมินิสต์” (feminist) ว่าเป็น “ผู้สนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคของสตรี”
รีเบ็คก้า เวสต์ นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษผู้วิพากษ์วิจารณ์ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศอย่างตรงไปตรงมา เคยเขียนเอาไว้ในปี 1913 ว่า “ดิฉันเองไม่เคยระบุได้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดสตรีนิยม คืออะไร ดิฉันรู้เพียงว่าผู้คนเรียกดิฉันว่า “เฟมินิสต์” เวลาที่ดิฉันแสดงทัศนะที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างตัวดิฉันกับพรมเช็ดเท้า”
พัฒนาการของแนวคิดสตรีนิยม
นาตาลี เฮนส์ นักเขียนและผู้ดำเนินรายการชาวอังกฤษได้เล่าถึงพัฒนาการของแนวคิดสตรีนิยมฉบับย่อไว้ในวิดีโอเรื่อง Feminism: What does it mean to be a feminist? ทางเว็บไซต์บีบีซีว่า นับตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 แนวคิดสตรีนิยมก็มีพัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งได้เป็นช่วงต่าง ๆ ดังนี้
คลื่นลูกแรก
เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 (ราวปี 1848-1920) เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสิทธิในการถือครองทรัพย์สมบัติ
การเรียกร้องนี้นำโดยกลุ่มสตรีชนชั้นกลางผิวขาวในอังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งไม่พอใจที่ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ชาย เช่น ต้องมีผู้ปกครองชายทำธุรกิจในนามของพวกตน เป็นต้น
คลื่นลูกที่สอง
เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 1990 โดยก่อนหน้านี้นักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ซิโมน เดอ โบวัวร์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Second Sex ในปี 1949 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสตรีตลอดยุคสมัยต่าง ๆ
เดอ โบวัวร์ ชี้ว่า คนเราไม่ได้เป็นกุลสตรีมาโดยกำเนิด แต่ได้ถูกบ่มเพาะให้เป็นในภายหลัง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้หญิงที่ถูกบีบคั้นจากความคาดหวังและค่านิยมของสังคมว่าผู้หญิงควรสงบปากสงบคำและวางตัวให้เรียบร้อย
กลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์เดอ โบวัวร์ และแนวคิดสตรีนิยม มักระบุว่า การแสดงความเกรี้ยวกราดไม่ใช่พฤติกรรมของกุลสตรี
ขบวนการเคลื่อนไหวของคลื่นลูกที่สอง มุ่งเน้นเรื่องการต่อสู้เพื่อยุติปัญหาการกีดกันและการกดขี่ทางเพศ
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แนวคิดสตรีนิยมค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทางสังคม เช่น การได้รับโอกาสที่เท่าเทียมทางการศึกษาและค่าตอบแทนในการทำงาน รวมทั้งการมีสิทธิในด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนการมีเสรีภาพในการคุมกำเนิดและการทำแท้ง
ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการอภิปรายเรื่องสิทธิสตรี รวมทั้งใช้ในการรณรงค์ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ และการขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation หรือ FGM) ที่ยังมีอยู่ในหลายวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และยอมรับถึงคุณงามความดีที่ผู้หญิงเคยสร้างไว้ในอดีต
ช่วงปลายปี 2017 นิตยสารไทมส์ ได้ยกย่องผู้หญิงที่ออกมาเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับพวกเธอให้เป็นบุคคลแห่งปี
ปรากฏการณ์ “เฟมทวิต” คืออะไร
เว็บไซต์ เฟมินิสต้า ที่นำเสนองานเขียนเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเฟมินิสต์ เรื่องเพศ ความเป็นเพศ และเพศวิถี เล่าถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ว่าเป็น “กระแสเฟมินิสต์กับปฏิกิริยาโต้กลับของกลุ่มต่อต้าน”
เฟมินิสต้าอธิบายว่า ผู้ที่มักจะนำคำว่า “เฟมทวิต” มาใช้ หลายคนมาจากกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า The sanctuary of เบียวชิบหาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผู้ชายเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีการโพสต์ข้อความที่เป็นมุกตลกเรื่องเพศ หรือโพสต์ที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ บางข้อความเป็นการสนับสนุนความรุนแรงทางเพศ เช่น คลิปผู้ชายทำร้ายร่างกายผู้หญิง คลิปของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกกลั่นแกล้ง โดยมีการเปิดให้คนในกลุ่มมาแสดงความเห็นในเชิงล้อเลียน ตีตรา เล่นมุกขำขัน โดยอ้างเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องเหล่านี้
“คำว่า เฟมทวิต ก็ถูกนำมาใช้ในลักษณะของการล้อเลียนผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นที่ถกเถียงพูดคุยเรื่องเพศ” เฟมินิสต้าระบุ
อย่างไรก็ตาม เฟมินิสต้าชี้ว่า “ผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า เฟมทวิต ได้ใช้คำนี้ในความหมายใหม่ โดยเรียกตัวเองว่า เฟมทวิต และยืนกรานในการใช้คำนี้ โดยมองว่าเฟมทวิตก็คือเฟมินิสต์ที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านพื้นที่ออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ดังนั้นคำว่า เฟมทวิต จึงพลิกกลับจากการถูกเรียกอย่างดูแคลน เป็นการภาคภูมิใจในการเป็นเฟมทวิต เห็นได้จากการที่ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์หลายคน พร้อมใจกันต่อท้ายชื่อด้วยคำว่าเฟมทวิต เพื่อยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ”
กระแสต่อต้านเฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องใหม่
เมื่อเดือน มี.ค. 2018 มีข่าวว่า แฟนเพลงชายหลายคนแสดงความไม่พอใจด้วยการเผารูปภาพของ เบ จู-ฮย็อน หรือ ไอรีน หลังนักร้องชื่อดังจากวงเค-ป็อป Red Velvet หลังจากได้รู้ว่าเธออ่านหนังสือแนวสตรีนิยมเรื่อง “คิม จี-ยอง ผู้เกิดปี 1982”
หนังสือดังกล่าว เล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดในปี 1982 และตลอดทั้งชีวิตต้องพบกับความไม่เท่าเทียมและสถานการณ์เหยียดเพศในสังคมเกาหลีใต้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากมีกระแส #MeToo ที่รณรงค์ต่อต้านการละเมิดทางเพศในเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้หญิงนับพันใช้แฮชแท็กนี้ เพื่อเปิดเผยพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศในสังคม จนนำไปสู่การลาออกของผู้กำกับและนักการเมืองหลายคน
แม้หนทางจะยังอีกยาวไกลกว่าที่ชายและหญิงทั่วโลกจะมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และกระแสต่อต้านจะไม่จางหายไปโดยง่าย แต่บางทีแนวคิดสตรีนิยมอาจค่อย ๆ นำไปสู่สิ่งที่ครั้งหนึ่ง โดโรธี พาร์กเกอร์ นักเขียนและกวีชาวอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ความคิดของฉันคือการที่เราทุกคนทั้งชายและหญิงไม่ว่าจะเป็นอะไร ควรถูกมองว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน”